ศาสนาและเยาวชน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศาสนาและจริยธรรมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ในการที่ศาสนาและจริยธรรม จะทำบทบาทให้สำเร็จนั้น จุดสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องให้ความสนใจมาก ก็คือ เรื่องเยาวชน เพราะเราก็ยอมรับกันอยู่แล้วว่าเยาวชนนั้นเป็นอนาคตของชาติ เป็นอนาคตของสังคม เด็กวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า คติอย่างนี้เรามีกันทั่วไป พูดกันบ่อยๆ ในทางพุทธศาสนาเองก็มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ "ปุตฺตา" ลูก หรือบุตรทั้งหลายนั้น แปลง่ายๆ ก็คือเด็กๆ นั่นเอง พุทธภาษิตนี้จึงขอแปลง่ายๆ ว่า "เด็กๆ เป็นผู้รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ" หรือ "เด็กทั้งหลายคือผู้รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ" อันนี้เราคงยอมรับกันว่า ถ้าไม่มีเด็กๆ แล้ว มนุษยชาติก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเด็กนั้นจะเป็นที่รองรับมนุษยชาติไว้ได้เป็นอย่างดี ก็ต้องให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพ

การที่เด็กจะมีคุณภาพนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งมาจากบ่อเกิดที่สำคัญ คือหลักพระศาสนา ทีนี้ เมื่อศาสนาเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนแล้ว เราจะดำเนินการกันอย่างไร ในการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีศาสนาและจริยธรรม เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตให้เจริญเติบโตขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศที่พรั่งพร้อมไปด้วยศาสนาและจริยธรรม โดยที่ว่าทั้งคนที่แวดล้อมและตัวเด็กนั้น ต่างก็เป็นคนมีศาสนาและจริยธรรมด้วยกัน

ในการพิจารณาเรื่องนี้ก็อาจจะมองได้หลายแง่ อย่างหนึ่งก็คือ มองดูว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ในแง่ที่เกี่ยวกับเด็กนี้ในการที่จะทำให้มีศาสนาและจริยธรรม มีขอบเขตอะไรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง เริ่มต้นคิดว่าต้องมองดูที่ตัวเด็กเองนั่นแหละ คือพิจารณาเด็ก โดยสัมพันธ์กับตัวของเด็กเอง จากนั้นก็พิจารณาตัวเด็กนั้น โดยสัมพันธ์กับชุมชนของเขา และสังคมประเทศไทยทั้งหมดนี้ แล้วก็พิจารณาเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับโลกทั้งโลก แล้วเราก็จะมองเห็นแง่ต่างๆ ที่ศาสนา และจริยธรรมจะเข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ

เริ่มพิจารณาตั้งแต่ในแง่ที่หนึ่งว่า เด็กนั้นกับตัวเขาเอง หรือเยาวชนกับตัวของเขาเองนั้น ศาสนาจะมีอะไรให้แก่เขาบ้าง เราจะพัฒนาเด็กและเยาวชนขึ้นมาให้เป็นคนอย่างไร ให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ทำอย่างไรจะให้เขามีชีวิตที่มีความสุข เป็นต้น นี้เป็นเรื่องในแง่ของเด็กกับตัวของเขาเอง หรือเยาวชนกับตัวของเขาเอง เป็นแง่ที่หนึ่งที่เราจะต้องสนใจ เป็นแง่พิจารณาว่า ศาสนาและจริยธรรมมีอะไรให้เขา และจะช่วยหล่อเลี้ยงพัฒนาชีวิตเขาอย่างไร

ทีนี้แง่ที่สอง ก็คือการพิจารณาตัวเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย ขณะนี้เราพูดกันในประเทศไทย ก็กำหนดเอาสังคมไทย สังคมไทยนี้แยกย่อยออกไป อาจจะแบ่งง่ายๆ คร่าวๆ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง ได้แก่ ตัวเด็กโดยสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นของเขาเอง และระดับที่สองในวงกว้างออกไป เหนือขึ้นไป ได้แก่ เด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทยทั้งหมด ข้อนี้หมายความว่า เราจะให้เด็กของเราเป็นคนที่บำเพ็ญประโยชน์ หรือมีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างไร มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมของเขาอย่างไร รวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆ ในทางสังคมที่มีอยู่

อาจจะพูดได้ว่า สังคมปัจจุบันนี้มีปัญหามาก ปัญหาสังคมนั้น เป็นไปทั้งในด้านความเสื่อมโทรมย่อหย่อนอ่อนแอ เช่น การมีอบายมุขมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของยาเสพติด การพนัน และการประพฤติผิดวิปริตทางเพศเป็นต้น ตลอดจนการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เสื่อมโทรมในทางสังคมที่แวดล้อมตัวเด็กอยู่ ซึ่งเด็กจะต้องไปประสบเผชิญและอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องพัฒนาตัวเด็กขึ้นไป เพื่อไม่ให้เป็นอย่างนั้น และเพื่อจะสร้างสรรค์สังคมใหม่ ให้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นกระแสที่ไม่ดี หันมาเป็นแนวทางที่ถูกต้อง อันนี้ในด้านหนึ่ง คือ ความอ่อนแอ และเสื่อมโทรมที่เราเห็นกันทั่วไปและก็บ่นกันมาก

ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง ได้แก่ การเบียดเบียน และการทำลาย ความขัดแย้งในทางสังคม การต่อสู้ การข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบอะไรต่างๆ ตลอดจนทำลายกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาของสังคมอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็มีมาก ปัญหาทั้งสองด้านนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเสื่อมโทรมอ่อนแอ และการเบียดเบียนรุนแรงต่อกันและกัน เป็นปัจจัยที่อิงอาศัย ส่งเสริมหนุนซึ่งกันและกันให้ทวีเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เราจะต้องมองดูศาสนาและจริยธรรมที่จะให้หรือจะนำมาพัฒนาตัวเด็ก โดยสัมพันธ์กับปัญหาสังคมนี้ ว่าจะช่วยทำให้เด็กของเราพัฒนาขึ้นมาในลักษณะที่แก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ให้เขาเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมเหล่านั้น แต่เป็นผู้ที่จะไปช่วยพัฒนาสร้างสรรค์สังคมต่อไป

แง่ที่สามก็คือ มองตัวเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับโลกทั้งหมด เมื่อกี้นี้เรามองในแง่สังคมไทย คือมองในแง่ที่ว่าจะสร้างพลเมืองที่ดี หรือสมาชิกของสังคมไทยที่ดี ทีนี้ เด็กนั้นนอกจากเป็นพลเมืองก็เป็นพลโลกด้วย จึงต้องมองดูเด็กในฐานะที่เป็นพลโลก เราจะสร้างเด็กให้เป็นคนอย่างไร ให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกมนุษย์ ของอารยธรรมของมนุษย์ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาอารยธรรมของมนุษย์อย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เรามักจะมองจำกัดแคบในแง่ของสังคมไทยเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน โลกของเรานี้แคบมากแล้ว เราจะพิจารณาแค่นั้นไม่ได้ โดยเฉพาะในการที่จะให้ชาติของเรามีความพัฒนาเจริญก้าวหน้า เราจะต้องมองกว้างถึงสังคมโลกหรือประชาคมโลกทั้งหมด ในแง่ที่ว่าเรานี้มีอะไรที่จะให้แก่โลกบ้าง หรือมีส่วนร่วมอะไรในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกมนุษย์ ชาติไทยเรานี้ได้สร้างสรรค์พัฒนาสังคมของตัวเองเรื่อยมา แล้วเราได้มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติบ้าง อันนี้ก็เป็นข้อที่ต้องคิดพิจารณา การสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกนั้น ในปัจจุบันจะต้องเน้นการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ เพราะเวลานี้โลกมนุษย์ที่ว่าเจริญมากมายนั้น ก็เจริญไปพร้อมกับปัญหาที่มากขึ้นด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.