ศาสนาและเยาวชน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะปัญหาในการพัฒนาของสังคมไทย

อนึ่ง ในเรื่องของกาลเวลานี้ ขอยกตัวอย่างสักหน่อย คือ เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า เราพิจารณาปัญหาศาสนาและจริยธรรมของเด็กและเยาวชนนั้น ในแง่ที่ ๑ คือในแง่ของเวลาที่เป็นกลางๆ ยืนตัวอยู่ทุกยุคทุกสมัย และในแง่ที่สองว่า เฉพาะยุค เฉพาะสมัย ทีนี้ เราจะพิจารณาอย่างกว้างๆ ว่าสังคมไทยของเรานี้ ในแง่เฉพาะยุคสมัยปัจจุบันนี้มีปัญหาอย่างไร สภาพของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ในแง่หนึ่ง อาจจะมองได้โดยเทียบกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในสังคมที่พัฒนาแล้ว บางทีเขาแบ่งระยะเวลาการพัฒนาของมนุษย์เป็น ๔ ยุคสมัย

ยุคที่ ๑ คือ ยุคบุพกาล เป็นยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการสร้างสรรค์ของตนเอง ต้องอาศัยธรรมชาติ โดยไปเที่ยวหาเก็บอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คือพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มันขึ้นเอง เก็บเอาข้าวเอาผลไม้ต่างๆ มา แล้วก็เที่ยววิ่งล่าสัตว์ จับสัตว์มากินเป็นอาหาร ต่อมาเจริญขึ้นก็เป็นยุคที่ ๒

ยุคที่ ๒ คือ ยุคเกษตรกรรม มนุษย์เริ่มรู้จักทำมาหากิน ปลูกข้าวปลูกต้นไม้ของตนเอง และจับสัตว์มาเลี้ยง เป็นการรู้จักทำของของตนเอง โดยเรียนรู้ธรรมชาติ แล้วก็ดำเนินชีวิต ปฏิบัติจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนให้สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ แล้วสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ตามความต้องการของมนุษย์ เหมือนกับว่ามนุษย์ทำสิ่งของต่างๆ เป็นของตนเองได้ มีอาหารเป็นของตนเอง โดยที่ว่าปลูกพืชเอง แล้วก็เลี้ยงสัตว์เอง สภาพนี้เป็นยุคเกษตรกรรม ในยุคเกษตรกรรมนี้ นอกจากทำมาหากินเองแล้ว ยังนำมาแลกเปลี่ยน ค้าขายกันด้วย ทำให้สังคมมนุษย์เจริญขึ้นมามาก

ยุคที่ ๓ คือ ยุคอุตสาหกรรม เมื่อมนุษย์เจริญขึ้นไปอีกโดยรู้จักสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตของกินของใช้ได้ทีละมากๆ ผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำเนินชีวิตให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ในยุคเกษตรกรรมก็มีเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน แต่พอถึงยุคอุตสาหกรรมก็มีเทคโนโลยีขั้นพัฒนา ตอนนี้ความสำคัญหรือบทบาทของเทคโนโลยีมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง แล้วต่อมาในปัจจุบันนี้ สังคมก็เจริญพัฒนามากขึ้นไปอีก จนก้าวขึ้นไปสู่ยุคใหม่ ที่เขาเรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล

ยุคที่ ๔ คือ ยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคสารสนเทศ แล้วแต่จะบัญญัติศัพท์กันไป ยุคนี้เป็นยุคที่กำลังเริ่มเด่นขึ้นมา ถือว่ามนุษย์กำลังก้าวพ้นยุคอุตสาหกรรม หรือผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว

นี้เป็นเรื่องการแบ่งยุคสมัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศไทยของเรานี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแท้จริง คือเราไม่ได้ก้าวมาตามลำดับอย่างนั้น เรามาอยู่ในยุคเกษตรกรรมและยังไม่ทันจะก้าวพ้นยุคเกษตรกรรมเลย ระบบอุตสาหกรรมก็เข้ามาจากต่างประเทศ เราก็อยากจะรับเอาอุตสาหกรรมเข้ามาไว้ โดยที่คนไทยส่วนมากก็ยังดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรรมอยู่ แล้วทีนี้ขณะที่ยุคอุตสาหกรรมก็ยังไม่ทันตั้งตัวได้ คนไทยเรายังไม่ได้ทำสังคมของตนให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมสักหน่อย ก็พอดียุคข่าวสารข้อมูลเข้ามาอีก คอมพิวเตอร์เข้ามา ทีวี ดาวเทียม ข่าวสารข้อมูลต่างๆ แพร่สะพัดไปหมด พอระบบข่าวสารข้อมูลมาถึง คนไทยก็จะเอาอีก ตกลงยุคเกษตรกรรมก็ยังไม่ผ่าน ยุคอุตสาหกรรมก็ยังไม่ถึง ยุคข่าวสารข้อมูลก็มาอีก ปะทะกัน ๓ ยุคเลย คนไทยเรานี้อยู่หมดทั้ง ๓ ยุค

ดังนั้น เราจะต้องรู้จักสังคมไทยในลักษณะที่ต่างจากสังคมอื่น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่เหมือนกับสังคมที่พัฒนาแล้ว การแก้ปัญหาของสังคมไทยนั้น จะไปเอาอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น อเมริกา ไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะของตนเอง ที่เป็นสังคมซึ่งคล้ายกับว่ามีทั้งยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคข่าวสารข้อมูลอยู่ด้วยกัน มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เราจะต้องมีความเข้าใจในปัญหา และเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ถูกต้อง

ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ จะยกตัวอย่างว่าเรามีปัญหาในยุคเกษตรกรรมอย่างไร สังคมยุคเกษตรกรรมของคนไทยขณะนี้ ส่วนมากอยู่ในชนบท โดยที่ชาวชนบทส่วนมากเป็นชาวนาถึง ๗๕-๘๐% แต่เราก็มีปัญหา เช่นว่า เวลานี้ ชาวชนบทรวมทั้งเด็กและเยาวชน พากันอพยพออกจากภาคเกษตรกรรมในชนบท เข้ามาหางานทำในภาคอุตสาหกรรมในกรุง ทำให้ชนบทและภาคเกษตรกรรมขาดแรงงานที่จะพัฒนาตนเอง เราต้องการให้ประเทศไทยได้พัฒนา แต่ในขณะที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนบท ชนบทนั้นก็ขาดแรงงานที่มีคุณภาพ แล้วจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร เมื่อคนที่มีคุณภาพในชนบทเข้ามาทำงานในกรุงหมด ชนบทก็ขาดแคลนแรงงาน มีแต่คนแก่ และเด็กเล็กๆ ชนบทก็พัฒนาได้ยาก เพราะไม่มีปัจจัยที่สำคัญ คือ แรงงานที่จะทำ

การพัฒนาด้านเกษตรกรรมของเรานี้ นอกจากจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน ที่ออกจากถิ่นฐานไป แล้วก็อ่อนแอ เหลือแต่แรงงานที่ไร้คุณภาพแล้ว ก็ยังมีปัญหาทางด้านค่านิยมของคนอีกด้วย ในสังคมไทยโดยทั่วไป คนค่อนข้างจะดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนาต้องการที่จะไปดำเนินชีวิตแบบอื่น เด็กโตขึ้นมาแล้วก็ดูถูกอาชีพของพ่อแม่ ไม่อยากทำนาทำไร่เหมือนอย่างพ่อแม่ แต่ต้องการอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างอื่นที่หวังว่าจะทำให้เป็นผู้มีฐานะ เป็นนักธุรกิจ เป็นคนมีหน้ามีตาอยู่ในกรุง นี้เป็นเรื่องของค่านิยม

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเกี่ยวกับอาชีพนี้ อิงอยู่กับค่านิยมนับถือฐานะทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ถ้าทำให้อาชีพเกษตรกรรมมีรายได้ดี การดูถูกอาชีพเกษตรกรรมก็จะผ่อนเบาลง ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ก็ปรากฏว่ามีลักษณะที่เป็นแนวโน้มในทางที่พึ่งตนเองไม่ได้ จะพาชีวิตและสังคมของตนเองไปสู่ภาวะที่หมดอิสรภาพ คนไทยนี้มีลักษณะที่รับง่าย รับเก่ง เข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็ว เทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาเท่าไรรับหมด ในภาคเกษตรกรรมในชนบท เทคโนโลยีก็เข้าไปถึง

เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้ เราจะทำงานด้านเกษตรกรรมด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีกันอย่างมาก เดี๋ยวนี้จะหาควายก็หาได้ยากเต็มทีแล้ว ไปต่างจังหวัด บางจังหวัดมองไม่เห็นเลยสักตัว รถวิ่งไปตลอดตั้งหลายชั่วโมง ไม่มีควายเหลือให้เห็นเลย หมายความว่า เดี๋ยวนี้เราหันมาใช้ควายเหล็ก เอารถไถอะไรต่างๆ มาใช้แทนควายแทบหมดแล้ว ข้อสำคัญคือ เทคโนโลยีนั้นเราก็ผลิตเองไม่ได้ จึงนำไปสู่ภาวะพึ่งพาเป็นประการที่ ๑ คือ พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก

ประการที่ ๒ เมื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเรายังต้องอาศัยนำเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เราก็นิยมใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยวิทยาศาตร์ ซึ่งก็ผลิตส่งเข้ามาจากภายนอกสังคมของตนเอง นอกท้องถิ่นของตน ล้วนแต่เป็นการที่ต้องพึ่งพาอาศัยภายนอกไปหมด ยิ่งกว่านั้นยังต้องใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ยาฆ่าปู ยาฆ่าหญ้า อะไรต่างๆ อีก เป็นการใช้สารเคมีที่ต้องนำเข้ามาจากภายนอกสังคมของตนทั้งสิ้น เพราะเป็นผลิตผลที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งตนเองไม่มีและไม่รู้จักผลิต เมื่อไม่มีก็ต้องไปซื้อหามาใช้ เป็นการพึ่งพาผลิตผลจากภายนอก ยิ่งกว่านั้น เมื่อไม่มีเงินพอที่จะซื้อก็ต้องไปกู้ยืมทุนจากภายนอกสังคมของตนอีก กลายเป็นการพึ่งพาในด้านทุนดำเนินกิจการ หรือทางด้านทุนทรัพย์ด้วย รวมความว่า เป็นลักษณะของการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินชีวิตในแบบพึ่งพา ซึ่งจะนำสังคมไปสู่ความหมดอิสรภาพ ไม่เป็นสังคมที่ผลิตเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เป็นของตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยขึ้นต่อภายนอก เกษตรกรรมในสภาพอย่างนี้เป็นเกษตรกรรมที่มีความหวังน้อย มีความหวังที่ค่อนข้างเลือนลาง เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไข และจะต้องรู้ตระหนักว่า ปัญหาเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับศาสนาและจริยธรรมด้วย อย่ามองแค่เพียงว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ที่จริงศาสนาและจริยธรรมเป็นตัวแกนสำคัญของเรื่องทีเดียว เช่น ในเรื่องค่านิยมเป็นต้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อเรื่องเหล่านี้อย่างมาก

จะขอยกตัวอย่างเช่นว่า ทำไมเทคโนโลยีจึงเข้าไปในชนบท และเข้าไปในลักษณะไหนบ้าง เทคโนโลยีเข้าไปในชนบท ในลักษณะใหญ่ ๒ ประการ คือ

๑. ในด้านการผลิต อย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งเป็นการผลิตที่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เป็นเทคโนโลยีที่ขึ้นต่อผู้อื่น

๒. ในด้านการเสพหรือบริโภค คือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบำรุงบำเรอชีวิต เพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือย เช่น เห็นเขามีรถเครื่อง ก็ต้องมีบ้าง ตอนนี้เขามีรถปิคอัพ ก็ต้องมีบ้าง และมีโดยมุ่งเพื่อโก้เก๋มากกว่าจะมองถึงประโยชน์ในการใช้สอย หากยังไม่มีทุนทรัพย์พอ ก็กู้หนี้ยืมสินมา พอใครมีทีวี มีวีดีโอ มีสิ่งฟุ่มเฟือยหรูหราอะไร ก็ต้องมีกันให้หมด ต้องแข่งกันมี แต่เมื่อได้มาแล้วก็ไม่ได้ใช้หาข่าวสารข้อมูล ไม่ได้หาความรู้ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสังคมไทย คือ สิ่งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลเข้าไปถึงประชาชน แต่ไม่สื่อสารเข้าไป สื่อสารไม่นำสารแต่กลับไปสื่อไร้สาร

สาร ก็คือ สาระ คำว่าสื่อสาร หมายความว่า นำพาสิ่งที่เป็นสาระเข้าไป คือนำข้อมูลความรู้ต่างๆ หมายความว่า เรามีเทคโนโลยี มีทีวี มีวีดีโอนี่ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างสรรค์ความรู้ ทำให้เกิดสติปัญญา และการได้แบบอย่างต่างๆ ที่จะเอามาใช้พัฒนาชีวิตและสังคมของตนเอง แต่เราซื้อหาสิ่งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เป็นเทคโนโลยีเหล่านี้ไป โดยที่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการสื่อสาร แต่ใช้เพื่อการบันเทิง สนุกสนานรื่นรมย์ มัวเมา แม้แต่การพนัน โดยใช้ทีวีเล่นมวยตู้เป็นต้น เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะในชนบทไม่พัฒนา ทำให้มีลักษณะพึ่งพายิ่งขึ้น

ตกลงว่า เทคโนโลยีเข้าถึงประชาชนในชนบทในลักษณะการผลิตที่เป็นการพึ่งพา แล้วก็สนองค่านิยมบริโภคในลักษณะที่นำเอาความสนุกสนานบันเทิง ความฟุ้งเฟ้อหรูหราเข้าไป ไม่ได้นำเอาความรู้ หรือสาระที่จะใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าไป ถ้าอย่างนี้ มันก็ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น

ถ้าชุมชนชนบทอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก็จะเป็นชุมชนที่หมดอิสรภาพ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ขึ้นต่อผู้อื่นทั้งหมดเรื่อยไป ภาคเกษตรกรรมและภาคชนบททั้งหมดก็จะไปไม่รอด ไม่สามารถจะพัฒนาให้ได้ผล รากฐานสำคัญของปัญหานี้ คือ ความขาดแคลนบกพร่อง หรือความผิดพลาดทางศาสนาและจริยธรรม ทำอย่างไรเราจะแก้ค่านิยมเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อหรูหรา ค่านิยมบริโภคให้เบาบางลงได้

ทำไมเราจึงหาสิ่งฟุ่มเฟือยกันนัก บางทีเราก็หาเพียงเพราะว่าเพื่อนเขามีกัน ฉันไม่มีแล้วจะน้อยหน้าเขาเป็นต้น ซึ่งเป็นค่านิยมของการอวดโก้ ซึ่งทำให้คิดแข่งกันว่า ถ้าใครมีของใหม่สุดหรือแพงที่สุด คนนั้นโก้กว่าเขาอะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรม โยงไปถึงการไม่มีนิสัยรักงาน หรือการที่ไม่มีค่านิยมในการผลิต ซึ่งก็ล้วนเป็นปัญหาทางด้านจริยธรรมทั้งสิ้น เราจะต้องมองปัญหาเหล่านี้โดยสัมพันธ์กับศาสนาและจริยธรรม

ดังนั้น ผู้ที่มีความรับผิดชอบทางฝ่ายศาสนาและจริยธรรม จะต้องมองถึงบทบาทของตนเองว่า ควรจะเข้าไปทำอะไร หรือจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างในภาคเกษตรกรรม

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.