มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สื่อมวลชนกับการสร้างความเป็นผู้นำให้แก่สังคมไทย

อีกด้านหนึ่งก็คือ สังคมแห่งยุคสมัย โดยเฉพาะสังคมที่เจริญก้าวหน้าพัฒนาสูงสุด ตลอดจนสังคมภายนอก หรือสังคมโลกทั่วไป สื่อมวลชนก็ต้องมีความรู้เท่าทัน สภาพอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องแก้ให้ได้ ก็คือว่า สังคมไทยได้สร้างสมสภาพจิตอันหนึ่งที่เรียกว่า สภาพจิตแบบผู้ตามและผู้รับมานาน คือ มีความเคยชินทางจิตใจที่คอยรอตามฟังตามดูว่ามีอะไรใหม่ๆ ในสังคมตะวันตก หรือสังคมที่เรานับถือว่าเจริญกว่า แล้วก็คอยรับเอา โดยการที่คอยรับเอาๆ นี้ เราก็กลายเป็นผู้ตามมาโดยตลอด คนไทยเราสั่งสมสภาพจิตนี้กันมาตั้งเป็นเวลาเกือบร้อยปีหรือหนึ่งศตวรรษ จนกระทั่งกลายเป็นการตามเขาโดยไม่รู้ตัว คิดแต่จะรับท่าเดียว คือ เราจะคอยฟังว่ามีอะไรใหม่บ้างในสังคมตะวันตก พอได้ข่าวว่ามีผลิตภัณฑ์ใหม่ มีสิ่งบริโภคใหม่ มีวิชาการความรู้อะไรใหม่ เราก็แข่งกันรับเอา โดยวิธีการรอรับนี้เราก็กลายเป็นผู้ตาม สภาพจิตแบบผู้ตามและรับ หรือคอยรับแล้วเป็นผู้ตามนี้สะสมมานานในสังคมไทย

การที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ในเวลานี้ จะต้องมีการปลุกจิตสำนึก หรือแทบจะเรียกว่าจะต้องมีการปฏิวัติทางจิตใจเลยทีเดียว คือจะต้องปลุกจิตสำนึกในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ให้มีความสำนึกว่า เรานี้ก็สามารถเป็นผู้นำเขาได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็บางด้าน เราจะเป็นผู้นำได้ เราต้องมีอะไรให้แก่เขา สังคมของเราก็ไม่ใช่สิ้นไร้ไม้ตอก มันก็มีดีเหมือนกัน คือยังมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นอยู่บ้าง ถ้าเรามีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้นำขึ้นมาบ้างแล้ว เราก็จะหันมาสำรวจมองดูตัวเอง และเมื่อมองดูเราก็จะเห็นว่า เรามีอะไรอยู่บ้าง แล้วเราก็จะมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น เขาก็จะต้องคอยรับจากเราบ้าง เราก็จะเป็นผู้นำ

ความเป็นผู้นำกับเป็นผู้ให้นั้นไปด้วยกัน ถ้าเรามีอะไรให้แก่เขา เราก็ได้เป็นผู้นำเขาด้วย เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นด้วย อย่างน้อยก็ต้องทำตนให้สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นผู้คอยตามรับเขาอยู่เรื่อย ถ้าเป็นผู้ตามรับเขาอยู่เรื่อยอย่างนี้ ก็จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษยชาติกับเขาเลย ได้แต่คอยดูเขาสร้างสรรค์กันไป เราก็รอรับจากเขาอยู่เท่านั้นเอง อาตมาว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย

สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่และมีบทบาทอันนี้ คือ จะต้องช่วยพัฒนาสังคมไทย ในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยนี้มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ในสังคมโลกบ้าง เรื่องนี้สื่อมวลชนสามารถทำได้ แต่เราจะทำได้เราต้องมีความรู้เท่าทันสังคมโลก คือ มีความรู้เท่าทันว่า สังคมที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างไร เขามีความเจริญ มีความเสื่อม มีปัญหาอย่างไร สังคมที่พัฒนาอย่างสูงแล้ว จะเป็นอเมริกาก็ตาม หรือญี่ปุ่นก็ตาม มีจุดอ่อนจุดแข็ง จุดดีจุดด้อยอย่างไร เราต้องรู้ทัน ถ้าเรามีสภาพจิตแบบผู้ตามผู้รับ เราจะมองเห็นแต่ส่วนดีของเขามากจนกระทั่งว่าส่วนบกพร่องของเขาเราแทบมองไม่เห็น เพราะเราคอยจ้องแต่จะรับส่วนดีที่จะเอา หรือจ้องจะเอาจนเห็นแต่ส่วนที่ดี ตลอดจนคอยตามรับเอาจนมองเห็นทุกอย่างที่เขาจะให้เป็นสิ่งที่ดี

ถ้าจะแก้ปัญหานี้ เราจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต้องมองตามเป็นจริง และมองในแง่ที่จะให้หรือช่วยแก้ไขปัญหาบ้างแล้ว เราก็จะมองเห็นปัญหาของเขา เราจะมองเห็นเหตุปัจจัยแห่งความเจริญและความเสื่อมทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรื่องนี้เราจะต้องตั้งเป็นแนวทาง เป็นความมุ่งหมาย ถ้าไม่ตั้งขึ้นมา มันก็ไม่มีการริเริ่มกระทำ ตอนนี้ต้องถือว่าสื่อมวลชนของเรายังมีสภาพปัญหา คือมีจุดอ่อนอันนี้ ยังเอื้อต่อสังคมได้น้อย ทั้งด้านการรู้เขาและรู้เรา สังคมของตัวเองก็รู้จักน้อยเกินไป แล้วสังคมโลกก็ยังรู้จักไม่เพียงพอ เพราะเราอยู่ในสภาพเป็นผู้คอยตามอยู่อย่างนี้ มันก็ขาดความรู้เท่าทันทั้งสองด้านนั้นไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.