มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สื่อมวลชนกับความเป็นผู้นำของสังคม

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ได้บอกแล้วว่าสื่อมวลชนนั้นมีฐานะเป็นผู้นำสังคม โดยเฉพาะบทบาทตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้นำที่สำคัญ ในสังคมไทยปัจจุบันนี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการเป็นผู้นำของสังคม สื่อมวลชนจะทำหน้าที่นี้ได้ดีจะต้องเข้าถึงรากฐานและพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมของตัวเองด้วย เรียกง่ายๆ ว่า ต้องรู้จักสังคมของตนเองอย่างเพียงพอ อีกด้านหนึ่งก็คือ ต้องรู้เท่าทันสังคมโลกด้วยความเป็นไปในสังคมที่พัฒนาแล้ว โลกส่วนที่เจริญอย่างที่สุด คือประเทศที่เจริญสูงสุดเขาเป็นอย่างไร ต้องรู้เท่าทันทั้งสองด้าน จึงจะนำสังคมนี้ไปสู่ความเจริญได้

ในด้านที่หนึ่งคือ ต้องรู้จักสังคมของตนเอง ต้องเข้าถึงรากฐานทางวัฒนธรรมของตน เพราะถ้าเราไม่รู้จักสังคมของตนเองดี เราจะสร้างสรรค์สังคมนั้นได้อย่างไร เราจะสร้างสรรค์สังคมที่เราไม่รู้จักได้อย่างไร ถ้าเราจะสร้างสรรค์สังคมใด เราจะต้องรู้จักสังคมนั้นอย่างดีก่อน แล้วเราจึงจะรู้จุดอ่อนจุดแข็ง จุดบกพร่อง จุดดีจุดเด่น และอะไรอื่นๆ ที่เราควรจะแก้ไขหรือส่งเสริม

ปัจจุบันนี้ เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นความบกพร่องของการศึกษาของสังคมไทยโดยทั่วไป ที่ทำให้คนของเราไม่ค่อยรู้จักสังคมของตนเอง ในการไม่รู้จักสังคมของตนเองนี้ ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง เช่น พระพุทธศาสนา ในกรณีนี้เราอาจจะไม่มองในแง่ของศาสนาก็ได้ แต่เราอาจจะมองในแง่ของวัฒนธรรมไทย เช่นในเรื่องถ้อยคำหรือภาษา ซึ่งเข้าไปอยู่เป็นคำพูดสามัญในหมู่ประชาชนแล้ว ถ้อยคำเหล่านั้นซึ่งมาจากพระพุทธศาสนาก็จริง แต่เมื่อไปอยู่ในหมู่ประชาชนและประชาชนไม่มีการศึกษา ความเข้าใจต่อถ้อยคำเหล่านั้นก็คลาดเคลื่อนผิดพลาดไป เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่มีในสังคมของตนเอง การพัฒนาสังคมก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้นำประชาชน จะต้องรู้ศัพท์รู้ถ้อยคำอะไรต่างๆ ที่มีมาในวัฒนธรรมไทยนี่ดีกว่าประชาชนทั่วไป จึงจะนำประชาชนได้

ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวข้องขึ้นมา อย่างที่กำลังเป็นอยู่นี้ ถ้อยคำต่างๆ เช่นคำว่า พระโพธิสัตว์ พระอริยะ พระอรหันต์ อย่างนี้ อาตมาว่าสื่อมวลชนต้องทราบ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมนี้ที่ถ่ายทอดกันมา ในฐานะที่สื่อมวลชนเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ประชาชนจะต้องมีความเข้าใจ เรื่องนี้อาจจะต้องโทษการศึกษานิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ด้วย ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์นั้น อาจจะต้องมีการเพิ่มวิชาเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น ให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจซึ่งจะทำให้สามารถนำสังคมได้

อย่างคำว่า 'ปวารณา' นี่สื่อมวลชนก็ไม่เข้าใจ หรืออย่างคำว่า 'พระไตรปิฎก' 'อรรถกถา' สื่อมวลชนก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ที่จริงจำเป็นจะต้องรู้จะต้องเข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องของรากฐานทางวัฒนธรรม สื่อมวลชนจะต้องนำชาวบ้านได้ ประชาชนทั่วทั้งสังคมไม่ใช่มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ และสื่อมวลชนก็มีอิทธิพลออกไปในบ้านนอกเยอะด้วย คนชนบทยังพูดศัพท์เหล่านี้อยู่ แต่ศัพท์เหล่านี้มาถึงประชาชนชาวบ้านเหล่านั้นโดยการถ่ายทอดกันมา จึงมีความหมายไม่สู้สมบูรณ์ และเลือนรางไป สื่อมวลชนจะต้องรู้ดีกว่าชาวบ้านเหล่านั้น จึงจะให้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่รู้ดีกว่าชาวบ้านเท่านั้น ต้องรู้ดีแม้กว่าพระทั่วๆ ไปด้วย ในสภาพปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยและความรู้ที่เป็นเรื่องของสังคมไทยได้เสื่อมลงและจืดจางลงไปมาก แม้แต่พระสงฆ์เองซึ่งเป็นลูกชาวบ้านมาบวช เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ได้ยินศัพท์แสงที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งเป็นศัพท์ทางพุทธศาสนานั่นแหละ แต่พระเองก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนจะต้องรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องดีแม้กว่าพระด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะพระทั่วๆ ไปในชนบท อันนี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้เพื่อความเป็นผู้นำที่ถูกต้อง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.