ในวงการสื่อมวลชนมักพูดกันว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของสังคม หมายความว่า ข่าวคราวความเป็นไปในสังคมเป็นอย่างไร ก็ไปปรากฏทางสื่อมวลชน และข่าวคราวหรือข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นสภาพของสังคมในเวลานั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ภาพสะท้อนจากกระจกเงาของสื่อมวลชนนั้น จะแสดงภาวะที่เป็นจริงของสังคมได้ กระจกเงาจะต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่บิดเบี้ยว และไม่ปูดบุ๋มเป็นคลื่นเป็นลอน เพราะฉะนั้น กระจกเงาจะต้องเป็นกระจกที่ดีมีคุณภาพเรียบเสมอจริงๆ
มีข้อสังเกตอีกว่า สื่อมวลชนเป็นกระจกเงามีใจ ถึงอย่างไรก็สะท้อนภาพให้เหมือนกระจกเงาแก้วใสที่เป็นวัตถุไร้วิญญาณไม่ได้ กระจกเงาแก้วใสสะท้อนภาพทุกสิ่งทุกส่วนที่ปรากฏสุดแต่แสงสว่างจะส่องให้ แต่กระจกเงามีใจของสื่อมวลชน โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง เลือกสะท้อนบางสิ่งและบางส่วนของสังคมตามสติปัญญาความสามารถ ตลอดจนความสนใจและแรงจูงใจเป็นต้นในใจของผู้ทำงานสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น ภาพสะท้อนของสังคมจากกระจกเงาของสื่อมวลชน จึงเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตน์จำนงและศักยภาพของสื่อมวลชนด้วย
มองอีกแนวหนึ่ง กระจกเงาของสื่อมวลชนจะสะท้อนภาพได้ทั่วถึงหรือให้ภาพส่วนใดจางส่วนใดเข้มแค่ไหน ก็อยู่ที่ความสว่างแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของสื่อมวลชนนั้นๆ ดุจกระจกเงาสะท้อนภาพได้เท่าที่แสงสาดส่อง
ความเป็นกระจกเงามีใจของสื่อมวลชนนั้นเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยอยู่ในตัวเอง คนจำนวนมากใช้กระจกเงาเพื่อสำรวจตรวจดูตัวเอง แล้วเห็นจุดเห็นตำแหน่งที่จะแต่งตัวเสริมความงามความเรียบร้อย ตลอดจนแก้ปัญหาบนร่างกายของตัว กระจกเงาแก้วใสช่วยได้เพียงสะท้อนภาพเปล่าๆ ใครจะเสริมแต่งตัวอย่างไร ต้องมองหาจุดที่จะแต่งจะแก้เอาเอง ถ้าตาไม่ดี หรือมองไม่ละเอียด ก็อาจจะพลาดจุดที่ควรแต่งแก้ไปเสีย แต่กระจกเงามีใจของสื่อมวลชนนั้น นอกจากสะท้อนภาพแล้ว ยังเหมือนมีไฟฉายติดอยู่กับกระจกเงาด้วย ดังนั้น นอกจากสะท้อนภาพแล้ว ยังส่องชี้จี้จุดควรแต่งควรเสริมหรือควรแก้ให้เข้มชัดเด่นสะดุดตาขึ้นมาอีกด้วย ช่วยให้ผู้ใช้กระจกเงาสามารถสำรวจตรวจตัว และเสริมเติมแต่งกายได้ผลดียิ่งขึ้น
เป็นที่แน่นอนว่า ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนมิใช่เป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนภาพของสังคมเท่านั้น แต่ได้ทำหน้าที่ในด้านการโน้มน้าวชักจูงเจตน์จำนง ตลอดจนปรุงแต่งสภาพจิตของสังคมเป็นอย่างมากด้วย สื่อมวลชนที่ดี จึงน่าจะเป็นกระจกเงาที่เรียบเสมอมีคุณภาพดี ชนิดที่มีไฟฉายอันสว่างที่สำรวจชี้จุดและส่องนำทางให้แก่สังคมด้วย
สื่อมวลชนบางหน่วยสะท้อนภาพสังคมอย่างบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน ไม่ช่วยให้เห็นภาพของสังคมตามที่เป็นจริง
สื่อมวลชนบางส่วนเอากระแสค่านิยมของสังคมเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงว่าค่านิยมนั้นจะดีงามหรือทรามเลว เป็นไปในทางสร้างสรรค์หรือเสื่อมเสีย มุ่งสนองความต้องการด้านไหลต่ำของสังคม เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ของตน และเสริมหนุนความต้องการนั้นเพื่อเสริมหนุนผลประโยชน์ของตน
สื่อมวลชนบางส่วน เพียงสะท้อนภาพของสังคม พอให้เห็นภาวะและความเป็นไปตามเหตุการณ์ของยุคสมัย
แต่สื่อมวลชนที่พึงประสงค์ของสังคม น่าจะเป็นสื่อที่สะท้อนภาพที่แท้จริงของสังคม เป็นกระจกเงาที่เรียบเสมอ พร้อมทั้งมีไฟฉายที่ส่องให้สังคมรู้เห็นและรู้ตัวถึงจุดสำคัญที่ควรแต่งแก้เสริมตัว ตลอดจนเมื่อช่วยให้แต่งตัวได้ดีเสร็จแล้ว ยังส่องนำให้เห็นทางที่พึงเดินข้างหน้าสืบต่อไปด้วย