ส่วนการทำความผิดด้านที่ ๓) เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของชาวพุทธทุกคน เพราะเป็นการกระทำผิดต่อหลักการหรือเนื้อตัวของพระศาสนา ดังจะเห็นได้จากลักษณะการกระทำความผิด คือ
๓. การทำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผิดเพี้ยน โดยลบล้างดัดแปลงและบิดเบือนพุทธพจน์หรือพุทธบัญญัติ หรือ นำคำสอนของลัทธิศาสนาภายนอก มาสอนปนปลอมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนตั้งบัญญัติของตนขึ้นใหม่ซ้อนทับแทนบัญญัติในพระไตรปิฎก อย่างที่เรียกว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือพูดด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำลายพระพุทธศาสนานั่นเอง
การทำความผิดในข้อนี้ แม้จะมีพระวินัยบัญญัติไว้บ้าง ก็เป็นเรื่องเฉพาะบางแง่บางลักษณะ (เช่น มีพระวินัยบัญญัติข้อหนึ่งว่า ภิกษุคัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวไม่ฟัง สงฆ์สวดประกาศห้าม ๓ ครั้ง ไม่สละความเห็นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์) เพราะการทำความผิดประเภทนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีแง่มุมมาก อาจออกมาในหลายรูปแบบ บางครั้งก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนามากพอสมควร จึงจะแยกแยะวินิจฉัยได้ แต่ก็ถือกันเป็นหลักทั่วไปว่า ชาวพุทธทุกคน โดยเฉพาะพระสงฆ์ จะต้องเอาใจใส่ป้องกันแก้ไขภัยอันตรายต่อพระธรรมวินัย และรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด ดังที่ปรากฏว่าเมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อพระธรรมวินัย มีผู้นำลัทธินอกพระศาสนาเข้ามาสอนปลอมปน ก็ได้มีการประชุมสงฆ์ทำสังคายนา ทำนองเดียวกับเมื่อมีการประพฤติย่อหย่อน คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องชำระสะสาง
ว่าที่จริง การช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยอย่างนี้ ถึงแม้สมมติว่าจะไม่มีพุทธดำรัสสั่งหรือแนะนำไว้ ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องเอาใจใส่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เอาใจใส่รับผิดชอบกันอย่างนี้ พระศาสนาก็ยืนยงคงอยู่ไม่ได้ ผู้ที่รักพระศาสนาก็จึงต้องรักษาพระศาสนาไว้ ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม ก็ต้องรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม แต่นี่มีพุทธพจน์ตรัสกำชับไว้ด้วยซ้ำ และถึงกับทรงวางเป็นเงื่อนไขทีเดียวว่า ชาวพุทธทุกฝ่ายในบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม จะต้องรู้เข้าใจพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี พร้อมที่จะชี้แจงแก้ไขกำราบลัทธิภายนอกที่แปลกปลอมเข้ามา (ปรัปวาท) ให้สำเร็จโดยชอบธรรมได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน (ดู ที.ม.๑๐/๙๕/๑๒๒)
การดัดแปลงบิดเบือนพุทธพจน์ หรือนำไปอ้างให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และการใช้ความเท็จ ชักจูงประชาชนให้เข้าใจผิดนั้น ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้นที่จะต้องเอาใจใส่ แต่เป็นเรื่องซึ่งผู้ที่รักความจริง หรือผู้รักสัจจะทุกคนจะต้องสนใจช่วยกันแก้ไข ประชาชนควรรู้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ควรเข้าถึงสาระของข่าวสาร และข้อนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของเอกสารนี้
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ การทำความผิดของโพธิรักษ์ต่อพระธรรมวินัย และความผิดต่อความจริงในข้อ ๓) นี้ จึงเป็นกรณีระหว่างโพธิรักษ์กับชาวพุทธ และผู้รักความจริงทุกคน หรือพูดให้เข้าหลักขึ้นอีกว่า เป็นกรณีสำหรับชาวพุทธและผู้รักความจริงทุกคน