เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (รวมทั้งบทความพิเศษและบทพิสูจน์)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การตีความพระธรรมวินัย

บางครั้งการตีความของโพธิรักษ์อาจเป็นปัญหาขึ้นมาบ้าง ในเมื่อเป็นการกระทำที่เลยขอบเขตของการตีความอย่างอิสระ ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้

แม้พระพุทธศาสนา จะให้อิสรภาพในการตีความมาก ก็ต้องเข้าใจว่า การตีความอย่างอิสระนั้น ไม่ใช่เป็นการตีความตามใจชอบ การตีความแม้ที่เป็นอิสระก็มีหลัก คืออยู่ในขอบเขตของหลักสำคัญ ๒ ประการ

๑) ผู้ตีความเข้าใจถ้อยคำถูกต้อง รู้ว่าตนกำลังพูดถึงคำพูดคำไหน พูดถึงเรื่องอะไร ตรงกับความหมายของถ้อยคำที่ผู้พูดเดิมกล่าวไว้ คนตีความต่างกัน ๒ คนขึ้นไปมีความเข้าใจในความหมายเบื้องต้นของถ้อยคำนั้นตรงกันก่อน หรือรู้ว่ากำลังพูดกันถึงคำพูดคำไหน

ชายคนหนึ่ง ยืนอยู่ริมถนนในชนบทซึ่งไม่มีรถประจำทาง เห็นรถบรรทุกคันหนึ่งผ่านมาก็โบกมือเรียกให้หยุดรับ เสียงคนบนรถตะโกนลงมาว่า "คันหลัง" ชายคนนี้ได้ตอบสวนขึ้นไปว่า "คันหลัง ก็เกาสิ" กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ ไม่ใช่เป็นการตีความ เพราะผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจต่างกันไปคนละเรื่องละราว แต่ถ้าชายที่ยืนรอนั้นฟังคำว่า "คันหลัง" แล้ว คิดถึงรถที่จะตามมา โดยเข้าใจว่าคนบนรถต้องการบอกให้รู้ว่า มีรถอีกคันหนึ่ง กำลังตามมาซึ่งสะดวกที่จะหยุดรับมากกว่า หรือว่ามีรถตามมาซึ่งไม่ใช่รถบรรทุกมีที่นั่งสบายกว่า หรือว่าคนบนรถนั้นบอกปัดให้รอรถที่อาจจะมีมาต่อไป โดยไม่มีความหวังที่แน่นอน หรืออาจจะคิดเลยไปถึงว่า คนรถนั้นรังเกียจตนไม่อยากให้ขึ้นรถของเขา หรืออาจจะกลัวว่าคนที่เรียกนั้นเป็นโจรผู้ร้ายจึงไม่กล้าหยุดรับ หรือเขากำลังรีบไปหยุดรับไม่ได้ ฯลฯ อย่างนี้จึงจะเป็นเรื่องของการตีความ

อีกตัวอย่างหนึ่ง ชายสูงอายุจากต่างจังหวัด นั่งมาในรถโดยสาร ใกล้จะถึงที่หมายจึงร้องบอกคนรถว่า "เบาหน่อย" มีเสียงสวนกลับมาว่า "เบาเข้าไปได้ยังไงล่ะลุง บนรถ" อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของการเข้าใจผิด ในความหมายของถ้อยคำ ซึ่งใช้ในการตีความไม่ได้ เพราะผู้พูดกับผู้ฟังไม่ได้พูดถึงถ้อยคำเดียวกัน ไม่มีจุดร่วมที่จะเริ่ม แต่ถ้าคนรถฟังคำว่า "เบาหน่อย" นั้นแล้ว คิดต่อไปว่า ลุงนั้นต้องการให้เบาเครื่องรถเพื่อเตรียมหยุดให้ลง หรือคิดว่ารถวิ่งเร็วแรงกระเทือนมากลุงนั้นนั่งไม่สบายจึงขอร้องให้วิ่งเบาๆ หรืออาจจะคิดว่าลุงนั้นบอกให้รถวิ่งชะลอเพราะทางตอนนั้นขรุขระหรืออาจจะมีอะไรกีดขวาง หรือให้วิ่งชะลอเพราะใกล้อะไรบางอย่างที่ลุงนั้นอยากมองให้ชัดสักหน่อย หรือผ่านร้านตลาดที่ควรเบารถเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งมาก ตลอดจนอาจจะคิดว่าลุงนั้นต่อว่าตนว่าขับรถไม่ดี อย่างนี้ ล้วนเป็นการตีความ ซึ่งในความหมายบางอย่างอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ต่างกัน

ตัวอย่างที่ได้ยกมาให้ดูในกรณีท่านโพธิรักษ์ เช่น ที่ท่านอธิบาย พหุสัจจะ (ที่จริงคือพาหุสัจจะ) โดยเข้าใจว่า เป็นพหุ+สัจจะ แล้วแปลว่า รู้ในสัจจะมาก ดังนี้เป็นต้น เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ เพราะในขั้นนี้ปัญหายังติดอยู่แค่ว่าเป็นคำไหน คำอะไร ยังไม่สามารถก้าวไปถึงว่าจะตีความว่าอย่างไร ดังนั้น ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับรูปศัพท์ และความหมายของศัพท์ ก็ต้องสืบค้นหลักฐานทางภาษา อย่างนั้นไม่เรียกว่าเป็นปัญหาในการตีความ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักภาษาและที่มาของคำเป็นต้น เป็นคนละเรื่องกัน

๒) การตีความจะต้องไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานของพระธรรมวินัย เช่น ถ้าตีความหลักปฏิจจสมุปบาทจนกลายเป็นว่า พระเจ้าตั้งกฎปฏิจจสมุปบาทขึ้นมา แล้วมอบหมายให้พระพุทธเจ้ามาสอน (อย่างที่เคยมีนักสอนศาสนาบางกลุ่มทำมาแล้ว) หรือว่า พระเจ้าส่งพระพุทธเจ้ามาสอนคำสอนเบื้องต้น เป็นการกรุยทางไว้รอพระบุตรของพระเจ้ามาสอนคำสอนที่แท้ อย่างนี้เป็นการตีความที่นอกหลักการของพระพุทธศาสนา ขัดกับหลักธรรมวินัย เป็นการเกินขอบเขตนี้แล้ว คือออกไปนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นการตีความเลย แต่เป็นการใช้คำว่าตีความมาบังหน้าแล้วบัญญัติคำสอนอย่างอื่นแทนเข้ามา หรือเป็นการดัดแปลงธรรมวินัยนั่นเอง ในกรณีเช่นนี้ ผู้นั้นควรปฏิบัติตรงไปตรงมา โดยซื่อตรงที่จะไม่ใช้รูปแบบของพระพุทธศาสนา หรือใช้สิทธิเสรีภาพให้ถูกต้องโดยออกไปสอนคำสอนของตนข้างนอก หรือแม้แต่จะประกาศไม่เห็นด้วยกับพระพุทธศาสนาก็ได้ เป็นสิทธิของเขา แต่ต้องตรงไปตรงมา การที่โพธิรักษ์สอนว่าพระโพธิสัตว์เป็นอรหันต์ด้วยในเวลาเดียวกัน หรือว่าพระอรหันต์เกิดใหม่ได้ เป็นต้น ก็เข้าลักษณะนี้

ประเพณี หรือความเป็นมาในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องศาสนานี้ ต่างกันมากระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และความแตกต่างในเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการตีความคำสอนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทั้งหมดทีเดียว ตะวันตกเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แห่งการบีบคั้นกดขี่บังคับในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนการรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามน้อยใหญ่ ทำให้ฝรั่งดิ้นรนเพื่ออิสรภาพในการตีความคำสอน และในการนับถือหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นเวลายาวนาน และด้วยความยากลำบาก จนออกผลสำเร็จในรูปของการวางกฎเกณฑ์ เช่น สิทธิเสรีภาพในกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ และกฎบัตรสิทธิมนุษยชนเป็นต้น เพื่อเป็นหลักประกัน ไม่ให้มีการบังคับบีบคั้นกันอย่างในอดีต แต่ก็ยังเป็นความสำเร็จในแง่ลบ คือไม่ให้เบียดเบียนกัน ยังไม่เป็นหลักประกันในทางบวกว่า คนต่างลัทธิศาสนาจะปรองดองสามัคคีสัมพันธ์กันด้วยเมตตา แต่ในตะวันออก เรามีประเพณีที่คนมีอิสรภาพในการนับถือศาสนา มีความเชื่อต่างกัน ตีความต่างกันก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่เพียงแต่ไม่เบียดเบียนบีบคั้นบังคับกันเท่านั้น แต่อยู่ร่วมกันได้โดยสามัคคี รับฟังกันและกัน ถกเถียงเอาชนะกันทางปัญญา เป็นประเพณีสืบมา จนไม่ต้องตราเป็นกฎเกณฑ์กฎหมายข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม บางศาสนาในตะวันออกก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้บ้างในบางยุคสมัย เช่นที่ผู้ปกครองฮินดูเคยกระทำต่อชาวพุทธเมื่อล้มราชวงศ์โมริยะแล้ว เป็นต้น มีแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มีประวัติบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเพณีแห่งการตีความและเชื่อถือทางศาสนาอย่างเป็นอิสระนี้ มีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งเคียงคู่ เป็นหลักประกันกำกับอยู่ด้วย คือความซื่อตรงต่อความจริง เมื่อนับถือลัทธิศาสนาใด ก็ว่านับถือ และถือตามศาสนานั้น เมื่อไม่นับถือ ก็ว่าไม่นับถือ และไม่ถือตามศาสนานั้น เมื่อก่อนเคยนับถือพระพุทธศาสนา ถึงกับเข้ามาบวช ต่อมาไม่นับถือ ก็ว่าไม่นับถือ และแสดงความซื่อตรงด้วยการสึกออกไป เมื่อชอบศาสนาใด ก็นับถือศาสนานั้นได้ ถ้าอยากเป็นนักบวช เข้าไปบวชแล้ว ก็ยอมรับถือตามหลักการของศาสนานั้น เมื่อเลิกนับถือ จะไม่ถือตามหลักการอย่างนั้น ก็สละรูปแบบของศาสนานั้นออกมา เป็นทั้งการมีเสรีภาพและการปฏิบัติโดยซื่อตรงต่อความจริง แต่เมื่อใดมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็กลายเป็นปัญหา เช่น เมื่อแสดงตัวว่านับถือศาสนาหนึ่ง และเข้าไปบวชในศาสนานั้น แต่ไม่ถือตามหลักการของศาสนานั้น แล้วก็ไม่ปฏิบัติการตรงไปตรงมาด้วยการสลัดออกมาเสีย หรือยิ่งกว่านั้น กลับเอาความเชื่อถือของตนหรือลัทธิอื่นเข้าไปสอนว่าเป็นศาสนานั้น หรือปะปนกับศาสนานั้น อย่างนี้เรียกว่า เป็นความไม่ซื่อตรงต่อความจริง และการอยู่ในศาสนานั้นของผู้นั้น ก็กลายเป็นการแอบแฝง

ในกรณีอย่างนี้ กลุ่มชนผู้นับถือศาสนาที่เขาเข้าไปแอบแฝง ก็มีสิทธิโดยชอบธรรม ที่จะปฏิบัติการตรงไปตรงมา ให้เกิดความซื่อตรง คือ ให้บุคคลผู้แอบแฝงนั้นออกไปเสียจากรูปแบบหรือระบบหรือกลุ่มชนแห่งศาสนาของตน ดังที่ในพระวินัยของพระพุทธศาสนาบัญญัติ ให้ดำเนินการกับภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ โดยตัดสิทธิบุคคลที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งเป็นภิกษุ ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาได้อีก แม้จะบวชเข้ามาแล้วก็ไม่เป็นภิกษุ สงฆ์รู้เข้าเมื่อไร ให้ดำเนินการให้หมดสภาพจากความเป็นภิกษุ คือให้สึกเสียเมื่อนั้น (ให้นาสนะเสีย) การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางศาสนา แต่เป็นการปฏิบัติให้เกิดความถูกต้องซื่อตรง ตามความจริงที่เขาเป็น และเป็นการปฏิบัติเพื่อให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพทางศาสนาอย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา

ตัวอย่างเหตุการณ์ทำนองนี้ครั้งใหญ่คือ ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ มีคนนอกพุทธศาสนานับถือลัทธิความเชื่ออย่างอื่นเข้ามาบวชจำนวนมาก และนำหลักความเชื่อนอกพุทธศาสนาเข้ามาสอนปะปนกับหลักการของพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับต้องร่วมมือกับคณะสงฆ์ ดำเนินการสอบสวนลัทธิความเชื่อถือของภิกษุทั้งหลาย พบผู้ที่นับถือลัทธิภายนอกแอบแฝงเข้ามาอยู่ในสงฆ์มากมาย แล้วให้สึกออกไปเสีย การปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นการบีบคั้นบังคับ และไม่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ เพราะไม่ได้ฆ่าฟันคุกคามทำร้ายอะไรเขา หรือทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพใดๆ เลย แต่เป็นเพียงการทำให้เขาไปอยู่ในสภาพ ที่ตรงกับที่เขาเป็นจริงเท่านั้นเอง

เราหวังให้เขาอยู่และทำการต่างๆ อย่างซื่อตรง และไม่แอบแฝงเข้ามาทำลาย หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนาให้กลายเป็นลัทธิศาสนาอย่างอื่น ในขณะที่สถาบันพุทธศาสนาเสื่อมโทรมมาก ชาวพุทธจะต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้คืนคงความเป็นพระพุทธศาสนาที่แท้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้คนที่มีความเชื่อถือนอกพุทธศาสนาฉวยโอกาสแอบแฝงเข้ามาปลอมปนคำสอน หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนาไปเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะโดยหลงผิด หรือโดยมุ่งเอาพระพุทธศาสนาไปสนองรับใช้อุดมการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม

เท่าที่เขียนมานี้ ก็ด้วยเห็นว่าข่าวสารข้อมูลทั่วไปยังสับสนพร่ามัวอยู่มาก และยังมีความเข้าใจเคลื่อนคลาดอยู่ทั่วไป จึงมุ่งหมายจะชี้แจงให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และขอร้องท่านโพธิรักษ์ให้เห็นแก่พระศาสนา แล้วแสดงความซื่อตรงต่อความจริง เมื่อจะช่วยพระศาสนา ก็ควรมุ่งมาแก้ไขปรับปรุงกิจการ กับความประพฤติและความรู้ความเข้าใจของคน แต่หลักการหรือเนื้อตัวของพระศาสนาคือพระธรรมวินัย ควรช่วยกันรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หากคำพูดใดคล้ายจะล่วงเกินหรือกระทบกระเทือนต่อท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกบ้าง ก็ขออภัยด้วย เพราะเรื่องต้องเกี่ยวข้องถึงเอง ตามวิถีของงานที่ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มิได้ถือเป็นเรื่องระหว่างบุคคล หรือเป็นคู่กรณี แต่มีเจตนาที่มุ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปกป้องพระธรรมวินัย และรักษาไว้ซึ่งความจริง

ผู้เขียนยังเชื่อว่า หลายคนในสันติอโศกมีความตั้งใจที่จะทำความดี แต่ยังมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอ ตามที่ชาวสันติอโศกได้เขียนลงในเอกสาร ที่เผยแพร่ตอบโต้ออกมานั้น ในส่วนที่เป็นการแสดงอารมณ์บ้างก็เข้าใจและน่าเห็นใจ เพราะท่านเหล่านั้นย่อมมีความรู้สึกกระทบกระเทือนใจ และโทมนัสบ้าง แต่ในด้านความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะที่เป็นพื้นฐานทางพระศาสนา ถ้าตั้งใจศึกษาโดยไม่ประมาท และวางใจเป็นกลาง พินิจพิจารณาโดยมุ่งอรรถมุ่งธรรม พุ่งตรงต่อความจริง ไม่หมายปกป้องท่านโพธิรักษ์ ให้มากไปกว่าที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมวินัยและความสัจจริง ก็จะช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งแก่พระศาสนา แก่สังคมทั้งหมด และแก่ชีวิตของทุกคน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.