พระพุทธศาสนาในอาเซีย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๘.
พระพุทธศาสนาในพม่า

 

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกในพม่ายังเลือนลางอยู่ ตามตํานานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ เล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่ง พระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพระศาสนาใน สุวรรณภูมิ ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า สุวรรณภูมิได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย แต่บางท่านว่า ได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายในพม่ายุคแรกนี้

ยุคที่พอจะแน่ใจได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในพม่าแล้ว ก็คือในพุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะได้พบคําจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้ และ ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้เล่าว่า มีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพะโค พม่า และ อินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก ต่อมาไม่นานศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นําพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแพร่ ทําให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้ คงเข้ามาโดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และปรากฏว่ารุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก Pyus ที่เรียกว่าอาณาจักร ศรีเกษตร

เหตุการณ์สําคัญครั้งต่อมาคือ ใน พ.ศ. ๙๔๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว ได้เดินทางออกจากลังกาและได้มาแวะที่เมืองสะเทิมของพม่า พร้อมกับนําเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ มาที่นั่นด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตําราไวยากรณ์บาลีบ้างอภิธรรมบ้าง

มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ชาวมอญฮินดู หรือ ตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวมๆ ว่า รามัญประเทศ ได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานพอสมควร พอถึงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ ก็ปรากฏว่า เมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สําคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่ง คือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต-ดราวิเดียน) ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอํานาจของตนขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามและเรียกชื่อประเทศของตนว่า พุกาม พวกมรัมมะนี้กักขฬะ ไร้การศึกษา นับถือพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ ที่เสื่อมทรามสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๒๑) ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศี สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรุทธให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้ พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศีรอนลัทธิตันตระลง ทําพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ

รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้ เป็นยุคสําคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้ ทรงนําพระไตรปิฎก ๓๐ จบ วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉาน บรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียว และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้นไป พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา ทรงนําพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ และนํามาชําระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม ทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่างๆ การบําเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทําให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศ กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทํานุบํารุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์ ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็เสื่อมหมดไป และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรื่องนี้ พระภิกษุจํานวนมากได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ๆ สายลังกา แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕ ซึ่งทําให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษ

อาณาจักรพุกามได้สลายลงเพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของ กุบไลข่าน ใน พ.ศ. ๑๘๓๑ หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระสายแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา จนถึงรัชกาล พระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ - ๒๐๓๕) สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕) พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกันแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคง และการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองขึ้น

สองศตวรรษต่อมา ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด ทําให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่ง กับฝ่ายลดไหล่ขวาพวกหนึ่ง พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุม และได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทางพระวินัย

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงแข็งแรงดี จนมีพระสงฆ์จากลังกามารับอุปสมบทกรรมใหม่ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตน มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระเจ้ามินดง ณ กรุงมันดะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ในระยะตั้งแต่นี้มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง

อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอํานาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นต์สัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑)

เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขขึ้นใหม่สําหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่านิกายละ ๑ รูป ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน รจนาหรือนิพนธ์ตํารับตําราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจํานวนมาก รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ฉัฏฐสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงร่างกุ้ง เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่างๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจํานวนมาก และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถา และปกรณ์พิเศษต่างๆ ขึ้นใหม่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทําได้

(พุทธศักราชในเรื่องนี้นับแบบพม่า ถ้านับแบบไทยให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.