พระพุทธศาสนาในอาเซีย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑๑.
พระพุทธศาสนาในศรีลังกา

 

ประวัติศาสตร์ลังกาเริ่มต้นพร้อมกับพุทธศักราช คัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารและตํานานพระพุทธศาสนาของลังกา เล่าว่า เจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหพาหุ กษัตริย์แห่งลาฬประเทศในชมพูทวีป (อยู่ในเขตแคว้นเบงกอล) ได้เสด็จโดยทางเรือพร้อมด้วยบริวารเจ็ดร้อยขึ้นสู่เกาะลังกา ณ ถิ่นที่เรียกว่า ตัมพปัณณิ ในวันเดียวกับที่พระบรมศาสดาเสด็จสู่ปรินิพพาน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ชนเผ่าสิงหลเข้าสู่ลังกา และพระเจ้าวิชัยเป็นกษัตริย์องค์แรกของลังกาทวีป ในการเสด็จเข้าครองลังกาทวีป เจ้าชายวิชัยคงจะได้นําพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแพร่หลายอย่างใด

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปที่แท้จริงเริ่มต้นในรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พ.ศ. ๒๓๖ - ๒๗๖) ผู้ครองราชย์ ณ เมืองอนุราธปุระ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีไมตรีสนิทสนมกับพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งชมพูทวีป พระเจ้าอโศกทรงส่งพระมหินทเถระ พร้อมด้วยคณะ (พระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป อุบาสก ๑ คน) มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป คณะศาสนทูตได้รับการต้อนรับจากพระมหากษัตริย์และประชาชนลังกาอย่างดียิ่ง พระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีผู้อุปสมบทมากมาย

พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจํานวนมากปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสํานักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป

การอัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชนชาติลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะโปรดให้ปลูกกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไว้ ณ พระนครอนุราธปุระ ต้นโพธิ์นี้ปัจจุบันเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก สิ่งสําคัญนอกจากนี้คือ ได้ทรงสร้าง มหาวิหาร และ ถูปาราม อันเป็นเจดีย์องค์แรกของลังกาไว้ ณ พระนครเดียวกัน

หลังรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแล้ว ลังกาทวีปตกอยู่ในความครอบครองของกษัตริย์ทมิฬ และกษัตริย์ต่างชาติอื่นๆ อยู่เกือบศตวรรษ ต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณี (พ.ศ. ๓๘๒ - ๔๐๖) ทรงกู้ราชบัลลังก์คืนได้ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าได้ทรงสร้าง โลหปราสาท ๗ ชั้น เป็นโรงอุโบสถของมหาวิหาร และ มหาสถูป หรือเจดีย์รุวันเวลี ณ พระนครอนุราธปุระ

ยุคสําคัญอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของลังกา คือรัชกาลพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย (พ.ศ. ๔๓๙ และ พ.ศ. ๔๕๔ - ๔๖๖) เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ไม่นาน พวกทมิฬชิงอํานาจได้และเข้าครองอนุราธปุระอยู่ ๑๔ ปี ระหว่างนี้ประเทศเกิดยุคเข็ญถึงต้องกินเนื้อมนุษย์ พระมหาเถระทั้งหลายจํานวน ๕๐๐ รูป เกรงพระศาสนาจะสูญสิ้นจึงประชุมกันที่ อลุวิหาร ณ มาตเล ทําการจารึกพุทธพจน์ลงในใบลานเป็นครั้งแรก (ไทยนับเหตุการณ์นี้เป็น สังคายนาครั้งที่ ๕ แต่วงการทั่วไปนับเป็น ครั้งที่ ๔) พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยทรงเที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ แต่ในที่สุดทรงเอาชนะทมิฬได้ แล้วได้ทรงสร้าง อภัยคีรีวิหาร ถวายแด่พระมหาติสสเถระผู้มีอุปการคุณแก่พระองค์และพวกขุนพลในคราวตกยาก

การข้อนี้ได้กลายเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ลังกาแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายมหาวิหาร ซึ่งเป็นผู้ยึดมั่นในคําสอนและแบบแผนประเพณีดั้งเดิม กับ ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกนิกายธรรมรุจิ มีความคิดเห็นเป็นอิสระ ต้อนรับทัศนะใหม่ๆ จากต่างประเทศ ศึกษาทั้งเรื่องฝ่ายเถรวาทและมหายาน อภัยคีรีวิหารนี้ ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาอยู่สมัยหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ยุคต่อมา มีความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเกี่ยวพันกับคณะสงฆ์อีกเป็นอันมาก ถึงกับทําให้มหาวิหารที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งรกร้างไปคราวหนึ่ง แต่อิทธิพลอันมั่นคงลึกซึ้งก็เป็นเหตุให้ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ ส่วนอภัยคีรีวิหารก็ยังเป็นศูนย์กลางสําคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาต่อมา

ในรัชกาล พระเจ้าสิริเมฆวรรณ เมื่อครองราชย์มาได้ ๙ ปี (พ.ศ. ๘๕๔) ได้มีการอัญเชิญ พระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากทันตปุระในกลิงครัฐมายังลังกาทวีป พระราชาโปรดให้รักษาไว้ภายในพระนคร และนําออกให้ประชาชนนมัสการที่อภัยคีรีวิหารเป็นประจําทุกปี (เมืองที่ตั้งวิหารพระทันตธาตุนี้ ปัจจุบันเรียกว่า เมืองแกนดี พระทันตธาตุเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สําคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาวลังกาตลอดมาจนปัจจุบัน) ครั้นถึงรัชกาล พระเจ้ามหานาม (พ.ศ. ๙๕๓ – ๙๗๕) พระพุทธโฆษาจารย์ อรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางจากชมพูทวีปมาพํานัก ณ มหาวิหาร และแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ

หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางมาในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เล่าไว้ว่า อภัยคีรีวิหารมีพระภิกษุ ๕ พันรูป ส่วนมหาวิหารมีพระภิกษุ ๓ พันรูป ช่วงเวลาระยะนี้นับว่าลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา วัดต่างๆ มีชื่อเสียงว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา ทําให้มีปราชญ์จากแดนไกลมาเล่าเรียนค้นคว้า

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ การศึกษาอภิธรรมได้รับความนิยมและรุ่งเรืองขึ้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลังกาย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระมาอยู่ที่ โปโลนนรุวะ หรือ ปุรัตถิปุระ เพราะเหตุผลในทางยุทธศาสตร์เป็นสําคัญ จากนี้ศูนย์กลางวัฒนธรรมก็เปลี่ยนมารวมอยู่ที่เมืองหลวงใหม่ อนุราธปุระกลายเป็นเมืองเก่า มีความหมายไปทางศักดิ์สิทธิ์ เรื่องของมหาวิหาร อภัยคีรีวิหาร เป็นต้น ก็จางเลือนลง

ตอนต้นสมัยเมืองหลวงใหม่นี้ เกิดนิยมยกย่องพระพวกปังสุกูลิกะ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) กันขึ้น ทํานองเป็นปฏิกิริยาต่อชีวิตที่สุขสบายมั่งมีของพระสงฆ์สมัยนั้น และต่อมาได้มีความนิยมนับถือข้อปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์มากขึ้น มีการสร้างเทวรูป เทวสถาน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์

กล่าวโดยสรุป ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในระหว่างยุคนี้เองที่ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้น และพระภิกษุสงฆ์เสื่อม จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ทรงมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูศาสนาใน พ.ศ. ๑๖๐๙ ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องได้แทบไม่ครบ ๕ รูป และต้องทรงอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทําอุปสมบทกรรมในลังกา

ต่อมาถึงสมัยแห่งมหาราชที่สําคัญที่สุดพระองค์หนึ่งของลังกา คือ พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๗ - ๑๗๓๐) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ พระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงจัดการปกครองได้เรียบร้อย จัดการชลประทานและการเกษตรได้ดี กล่าวกันว่าพระองค์มีดํารัสว่า จะไม่ยอมให้หยาดน้ำฝนแม้น้อยหนึ่งไหลลงคืนสู่ทะเลโดยมิได้ทําให้บังเกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ในด้านการพระศาสนา ทรงชําระการพระศาสนาให้บริสุทธิ์ ยังคณะสงฆ์ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอาราม เป็นยุคที่มีศิลปกรรมงดงาม และลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ปรากฏเกียรติคุณแพร่ไปทั่ว มีพระสงฆ์และปราชญ์เดินทางจากประเทศใกล้เคียงมาศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วนําไปเผยแพร่ในประเทศของตนเป็นอันมาก พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังรัชกาลนี้แล้ว พวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีกและได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงขยายอาณาเขตออกเรื่อยๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นลงทางใต้ ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ทําให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก นอกจากจะเพียงธํารงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้น เหตุการณ์สําคัญครั้งหนึ่งคือ ใน พ.ศ. ๒๐๑๙ พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่าได้มารับอุปสมบทกรรมที่ลังกา และนําคัมภีร์ภาษาบาลีเท่าที่มีอยู่ไปยังพม่าโดยครบถ้วน

ระหว่างที่ลังกาอ่อนแอเพราะการต่อสู้แข่งอํานาจระหว่างคนสองเผ่าอยู่นี้ พอถึงประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐ ชนชาติโปรตุเกสก็เข้ามารุกรานซ้ำเติม ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย พร้อมกันนั้นก็แสวงประโยชน์จากความขัดแย้งของชนสองเผ่านั้น เข้าครอบครองดินแดนบางส่วนไว้ได้ และพยายามบีบบังคับประชาชนที่อยู่ในยึดครองให้เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก คราวหนึ่งถึงกับยึดอํานาจกษัตริย์ลังกาได้ สถานการณ์พระพุทธศาสนาได้เสื่อมทรามลง ถึงกับว่าต้องนําพระสงฆ์จากพม่ามาประกอบอุปสมบทกรรมอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะนี้ ชาวฮอลันดาได้ประกอบการค้าขายมีอํานาจมากขึ้นในดินแดนแถบนี้ ลังกาจึงต้อนรับชาวฮอลันดาเพื่อให้เข้ามาช่วยขับไล่โปรตุเกสจนสําเร็จใน พ.ศ. ๒๒๐๐ แต่แล้วฮอลันดาก็ครอบครองดินแดนส่วนที่ตนยึดไว้ได้ เข้าแทนที่โปรตุเกส ฮอลันดาพยายามประดิษฐานคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ และห้ามกันพระพุทธศาสนา แต่ไม่สําเร็จ กษัตริย์ลังกาได้รับคําแนะนําจาก พระสรณังกร เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๔ (ไทยนับ ๒๒๙๓ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ให้ส่งคณะทูตไปยังประเทศไทย แล้วนําพระภิกษุคณะหนึ่งจํานวน ๑๐ รูป มี พระอุบาลี เป็นหัวหน้า มาประกอบอุปสมบทกรรม ณ เมืองแกนดี มีผู้เข้ารับการอุปสมบทถึงสามพันคน พระสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทใหม่คราวนี้ได้รับสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ให้เป็น สมเด็จพระสังฆราช เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ อุบาลีวงศ์ หรือ สยามวงศ์ หรือ สยามนิกาย ในลังกาทวีป

ฮอลันดาครองอํานาจอยู่ไม่นานก็เสื่อมลง อังกฤษได้เข้าครองอํานาจแทนในแถบชายทะเลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ และอีก ๑๙ ปีต่อมาอํานาจปกครองของอังฤษก็ขยายออกไปทั่วลังกาทวีป โดยอังกฤษรบชนะกษัตริย์แห่งแกนดี และกระทําสนธิสัญญารับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและการคุ้มครองพระศาสนา ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒ เกิดกบฏรุนแรงขึ้น ครั้นอังกฤษปราบกบฏสําเร็จ และดัดแปลงข้อความในสนธิสัญญาเสียใหม่ วงศ์กษัตริย์ลังกาแต่โบราณก็ถึงอวสานลง

เมื่อลังกาทวีปตกอยู่ในปกครองของอังกฤษระยะแรก คณะสงฆ์ได้อิสรภาพมากขึ้น เนื่องมาแต่สนธิสัญญาให้ความคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ได้มีพระสงฆ์หลายคณะไปรับอุปสมบทกรรมใหม่ในพม่า กลับมาตั้งศูนย์กลางสืบอุปสมบทวงศ์ของตน อิสรภาพของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้ประมาณกึ่งศตวรรษเท่านั้น รัฐบาลก็ถูกบีบจากคริสต์ศาสนาให้ยกเลิกความเกี่ยวข้องทุกประการในกิจการพระพุทธศาสนา บาทหลวงคริสเตียนได้ดําเนินการเผยแพร่ศาสนาของตนและต่อต้านพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ถึงกับโจมตีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะ นับว่าพระพุทธศาสนาได้รับภยันตรายเป็นอันมากจากขบวนการต่อต้านและทําลายพระพุทธศาสนาที่รัฐบาลต่างชาติสนับสนุน เป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี ข้อนี้เป็นเหตุสําคัญให้ชาวลังกาดิ้นรนต่อสู้แสวงอิสรภาพ เพื่อนําศาสนาประจําชาติของตนกลับคืนมา ลังกาได้อิสรภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (นับแบบไทย ๒๔๙๐) การโจมตีบีบกดจากผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา ก่อปฏิกิริยากระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูในพระพุทธศาสนา และทําให้เกิดความเข้มแข็งกระตือรือร้นและความเอาจริงเอาจังในการคุ้มครองรักษาศาสนาวัฒนธรรมประจําชาติของตนยิ่งขึ้น ซึ่งอาการเช่นนี้ เป็นไปอยู่จนถึงทุกวันนี้

คณะสงฆ์ในลังกาปัจจุบันมี ๓ นิกายคือ สยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์ อมรปุระนิกาย และ รามัญวงศ์ ข้อแตกต่างกันมีเพียงเล็กน้อย และเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ คือ เกิดจากการที่ว่า อุปสมบทวงศ์สืบมาจากสายไทยหรือพม่า.

 

_____________

หมายเหตุ: (พ.ศ. ในเรื่องนี้นับอย่างลังกา ถ้านับอย่างไทย ให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

 

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.