ตามตำนานฝ่ายจีนเล่าไว้ว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศจีนตั้งแต่ ๒๑๗ ปีก่อน ค.ศ. (คือราว พ.ศ. ๓๒๖) แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในทางราชการ ค้นได้ว่าเมื่อ ค.ศ. ๖๕ (พ.ศ. ๖๐๘) พระจักรพรรดิมิ่งตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่น ทรงส่งคณะทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนา ณ เมืองโขตาน (ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเกียงในประเทศจีน ในสมัยโบราณ โขตานเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย และพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่โขตานตั้งแต่ ๒๑๗ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) หลังจากนั้น ๒ ปี คณะทูตก็ได้กลับมายังประเทศจีน พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระกาศยปะมาตังคะ กับ พระธรรมรักษะ และ คัมภีร์พระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง พระภิกษุทั้ง ๒ รูปได้มาพำนักอยู่ ณ วัดม้าขาว แห่งนครโลยาง (ลกเอี๋ยง) และได้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาจีนหลายคัมภีร์
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น นับแต่นั้นมา (ค.ศ. ๖๕ - ๒๒๐) แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับความเคารพเลื่อมใสและการอุปถัมภ์บำรุง แต่ก็ยังเสียเปรียบและถูกต่อต้านจากอิทธิพลของลัทธิศาสนาเดิมของจีน (คือ ขงจื้อและเต๋า) จนกระทั่งถึงปลายราชวงศ์นี้ จึงมีปราชญ์ผู้สามารถ เช่น โม่วจื้อ แสดงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เห็นความลึกซึ้งจริงแท้เหนือกว่าลัทธิศาสนาเดิมของถิ่น กับได้อาศัยความประพฤติอันบริสุทธิ์ของพระสงฆ์เป็นเครื่องจูงศรัทธา พระพุทธศาสนาก็ได้รับความนิยมเลื่อมใสยิ่งกว่าลัทธิศาสนาอื่นๆ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์เว (หรือ วุยก๊กในสมัยสามก๊ก) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ พระพุทธศาสนาก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจีน ตั้งแต่รัชกาลของพระจักรพรรดิพระองค์แรก ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และ ๕ นี่เอง พระภิกษุผู้ทรงเกียรติคุณเป็นปราชญ์หลายท่าน เช่น กุมารชีวะ เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาจากอาเซียกลางและอินเดีย ช่วยแปลพระคัมภีร์ รจนาอรรถกถา และเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ลัทธิอมิตาภะก็ได้เข้ามาเผยแพร่ในสมัยนี้ด้วย
เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ พระโพธิธรรม ได้นำพระพุทธศาสนานิกาย ฉาน (บาลีว่า ฌาน, สํสกฤตว่า ธยาน, ญี่ปุ่นว่า เซน) เข้ามาเผยแพร่เมื่อประมาณ ค.ศ. ๕๒๖
พระพุทธศาสนาในประเทศจีนได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อๆ มาโดยลำดับ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีผู้นำลัทธิลามะ (พระพุทธศาสนานิกายหนึ่งแบบในทิเบต) เข้ามาเผยแพร่ในจีนเหนือ และทางฝ่ายอาณาจักรได้สนับสนุนลัทธินั้น ต่อนั้นมาพิธีกรรมต่างๆ ก็เจริญแพร่หลายออกหน้า ส่วนศาสนธรรมที่แท้ก็เลือนรางจืดจางไปจากความสนใจ
พ.ศ. ๔๒๓
พระเจ้าบู่ตี่ ทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณ (อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ)
พ.ศ. ๖๐๘
พระเจ้ามิ่งตี่ หรือ เม่งตี่ ทรงส่งทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนาในปัจจิมทิศ ทูตกลับมาพร้อมด้วย พระกาศยปะมาตังคะ ใน พ.ศ. ๖๑๐ ทรงสร้างวัดถวายชื่อวัดแปะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) พระกาศยปะมาตังคะ แปล “พระสูตรพุทธวจนะ ๔๒ บท” เป็นสูตรแรก
พ.ศ. ๖๙๘
พระเจ้าฮ่วงตี่ โปรดให้หล่อพระพุทธรูปครั้งแรก (เป็นพระพุทธรูปทองแดง)
พ.ศ. ๗๓๔
ในสมัย พระเจ้าเฮี่ยนตี่ พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ภาคใต้ของจีน และมีปราชญ์ชื่อ โม่วจื้อ เขียนคำบรรยายแสดงหลักธรรมเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เป็นข้อเขียนแสดงหลักธรรมเรื่องแรกของชาวจีน
พ.ศ. ๘๐๐
ในรัชกาล พระเจ้าฮุ่ยตี่ มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในปีต่อมา (๘๐๑) มีการอุปสมบทพระภิกษุจีนรูปแรก (ก่อนหน้านี้ราชการห้ามชาวจีนอุปสมบท พระเจ้าโจผี เป็นผู้ทรงยกเลิกข้อห้ามนี้)
พ.ศ. ๘๕๓
ในรัชกาล พระเจ้าไว่ตี่ มีพระภิกษุชาวอาเซียกลางชื่อโฟเถอเตง จาริกมายังนครโลยาง นำหลักธรรมนิกายมนตรยานเข้ามาเผยแพร่ และมีการบวชภิกษุณีรูปแรกของจีน
พ.ศ. ๙๑๕
ในรัชกาล พระเจ้าเฮาบูตี่ ประเทศเกาหลีส่งทูตมาขอพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ เป็นแรกเริ่มที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เกาหลี
พ.ศ. ๙๓๔
มีพระภิกษุชื่อ ฮุ่ยเอี้ยง เริ่มประกาศหลักธรรมในนิกายสุขาวดี ณ ภูเขาโลซาน
พ.ศ. ๙๔๒
ในรัชกาล พระเจ้าอ่านตี่ หลวงจีนฟาเหียน (ฮวบเฮี้ยน) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป
พ.ศ. ๙๔๔
พระกุมารชีวะ จากแคว้นกุฉะหรือกูจา มาถึงนครเชียงอาน ปฏิบัติศาสนกิจอยู่จนถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๙๕๖
ประกอบด้วยราชวงศ์ สุง หรือ ส่อง ชี้ เลี้ยง และ ตั้น ในภาคใต้ กับเผ่าทั้ง ๕ ในภาคเหนือ
พ.ศ. ๙๖๒ - ๙๙๐
ในระหว่างการรุกรบโจมตีระหว่างแคว้น ได้มีการประหารพระสงฆ์ ทำลายพระพุทธรูปและพระคัมภีร์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง เริ่มแต่ที่นครเชียงอานเป็นต้นไป
พ.ศ. ๙๘๔
มีอุบาสกเผาตนเป็นพุทธบูชาครั้งแรก
อนึ่ง นับแต่ พ.ศ. ๙๔๕ เป็นต้นมา ได้มีการตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งในทางราชการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์เข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการบ้านเมืองไปด้วย
พ.ศ. ๑๐๓๘
รัชกาลพระเจ้าเม่งตี่ มีการสร้างถ้ำพระพุทธรูป โดยสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำ ทำเป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เป็นแบบฉบับของพุทธศิลป์ต่อมา
พ.ศ. ๑๐๕๓
ในรัชกาล พระเจ้าบู่ตี่ ได้สถิติตามการสำรวจว่ามีวัด ๑๓,๐๐๐ วัดเศษ ในนครโลยาง มีภิกษุและภิกษุณี ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปเศษ พระชาวต่างประเทศ ๓,๐๐๐ รูปเศษ
พ.ศ. ๑๐๕๕
พระเจ้าบู่ตี่ ทรงเสวยเจและขอให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้
พระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๔๖ ถึง ๑๐๙๒ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า และทรงพยายามดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า มีการก่อสร้างวัดวาอารามที่สวยงามใหญ่โต และเกิดประเพณีทางพุทธศาสนาแบบจีนหลายอย่าง
พ.ศ. ๑๐๖๓ หรือ ๑๐๖๙
พระโพธิธรรม จาริกจากอินเดีย ถึงนครโลยางแล้วขึ้นไปอยู่จำพรรษาในภาคเหนือ ตั้งพุทธศาสนานิกาย ฉาน หรือ ธยาน (ญี่ปุ่นเรียก เซน) และเป็นปฐมประมุขแห่งนิกายนั้น
พ.ศ. ๑๐๙๖
ในรัชกาลพระเจ้าง่วนตี่ พระภิกษุอินเดียชื่อปรมิตร จาริกมาเผยแพร่นิกายธรรมลักษณ์ และในระยะเดียวกัน พระพุทธศาสนาได้แพร่จากเกาหลีเข้าสู่ญี่ปุ่น
พ.ศ. ๑๑๑๘ - ๑๑๒๓
รัชกาลพระเจ้าซวนตี่ เป็นระยะเวลาแห่งการทำลายล้างพระพุทธศาสนา เริ่มแต่ในแคว้นจิว ให้ยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ต่อมาแคว้นจิวยกทัพเข้ามาโจมตีแคว้นชี้ได้ แล้วทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยการบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด ทำลายพระพุทธรูป เอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดจึงอนุญาตให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าใหม่อีก แต่ให้ถือภิกษุเป็นโพธิสัตว์แต่งตัวอย่างสามัญชน ไม่ต้องครองจีวร
กล่าวโดยสรุป ระยะเวลาประมาณ ๓๖๐ ปีที่ประเทศมีแต่ความแตกแยกระส่ำระสาย รบราฆ่าฟันกัน นับแต่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมานี้ กลับเป็นระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของจีน ตลอดจนคงเป็นพลังช่วยให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในที่สุด ดังจะเห็นได้ในสมัยต่อไป
พ.ศ. ๑๑๒๔
พระเจ้าบุ่นตี่ ทรงรวบรวมประเทศจีนทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมดเข้าได้เป็นอันเดียวกัน พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โปรดให้พระสงฆ์กลับครองจีวรตามเดิม ทรงแต่งตั้งประมุขสงฆ์ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทั่วประเทศโดยเฉพาะ ณ ภูเขาแห่งที่สวยงาม กับให้มีที่นาประจำสำหรับบำรุงวัด ให้ทำสารบาญรายชื่อพระสูตรรวบรวมพระไตรปิฎกขึ้นให้เรียบร้อย
พ.ศ. ๑๑๖๓
พระเจ้าเกาโจ มีพระบรมราชโองการกำหนดเดือน ๑ เดือน ๕ เดือน ๙ ตลอดเดือนและวันที่ ๑, ๘, ๑๔-๑๕, ๑๘, ๒๓-๒๔, ๒๘-๒๙-๓๐ ของทุกเดือนเป็นวันอุโบสถ ห้ามการประหารชีวิต ตกปลา ล่าสัตว์ ตามวินัยของมหายาน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติธรรมของชาวพุทธจีนมาจนปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ทรงสละพระราชวังเดิมให้เป็นวัด
พ.ศ. ๑๑๗๒
ในรัชกาลพระเจ้าถังไทจง พระถังซัมจั๋ง (บางทีเรียก หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉาง) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป กลับมาถึงจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๘ ทรงอาราธนาให้สถิต ณ เมืองโลยาง ทรงอุปถัมภ์ในการแปลพระสูตรมากมายที่นำมาจากอินเดีย พระถังซัมจั๋งได้เขียนบันทึกการเดินทางชื่อ “บันทึกแคว้นตะวันตก” ไว้ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย และได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อมาจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๐๘ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง
พ.ศ. ๑๑๘๕
พระเจ้าถังไทจง โปรดเกล้าฯ ยกพระราชธิดาบุ่นเซ้ง ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระนางบุ่นเซ้งทรงริเริ่มสร้างอักษรทิเบตขึ้นตามแบบอักษรอินเดียที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต และทรงสร้างสรรค์ความเจริญแก่ทิเบตเป็นอันมาก จนชาวทิเบตยกย่องเป็นพระแม่เจ้าตราบถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๑๒๑๔
ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง หลวงจีนเต่าซวนผู้ริเริ่มนิกายวินัย ได้ถึงมรณภาพและในปีเดียวกัน หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี กลับถึงจีนใน พ.ศ. ๑๒๓๘ พระนางบูเจ็กเทียน เสด็จไปรับถึงนอกประตูวัง หลวงจีนอี้จิงพูดได้หลายภาษา แปลคัมภีร์พระวินัยและพระสูตร และประพันธ์หนังสือเรื่อง “ประวัติสงฆ์จีนจาริกไปอินเดีย” และ “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในเกาะแถบทะเลใต้” ท่านถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕
พ.ศ. ๑๒๑๘
หลวงจีนเว่ยหล่างหรือฮุยเหนิง ได้รับตำแหน่งเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของนิกายเซน และถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕ (ปีเดียวกับหลวงจีนอี้จิง)
พ.ศ. ๑๒๕๒
พระเจ้าตงจง โปรดให้มีการสอบคัดเลือกผู้ที่จะบวชเป็นครั้งแรก และต่อมาใน พ.ศ. ๑๒๕๘ พระเจ้าเฮียนจงก็โปรดให้พระที่ไม่ศึกษาปริยัติธรรมลาสิกขา ๑๒,๐๐๐ รูป เพราะมีผู้บวชเพื่อหลีกเลี่ยงการงานมาก และทรงห้ามการสร้างวัดหล่อพระพุทธรูปและคัดพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๐๒ ผู้จะบวชจะต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า หรือเสียค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ)
พ.ศ. ๑๒๖๐
โปรดให้ต้อนรับ พระศุภกรสิงห์ แห่งนิกายมนตรยาน ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ทรงแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลาย
พ.ศ. ๑๓๗๔
ในรัชกาลพระเจ้าบุ่นจง มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ มีรับสั่งให้ภิกษุและภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชการยื่นคำขอใหม่ ในการนั้นมีผู้ยื่นคำขอถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปเศษ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๘๑ โปรดให้ทุกวัดมีโบสถ์บูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนบัดนี้
พ.ศ. ๑๓๘๕
ได้เริ่มมีการทำลายล้างพระพุทธศาสนา โดย พระเจ้าบู่จง ผู้ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้ววางแผนทำลาย โดยเริ่มให้มีการโต้วาทะหน้าพระที่นั่งระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ใน พ.ศ. ๑๓๘๙ แต่ฝ่ายเต๋าปราชัย ไม่สมพระทัยจึงทรงจัดการเองโดยพลการ คือ ให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา ๒๖๐,๐๐๐ รูป ริบที่ดินของสงฆ์ ยุบวัด หลอมพระพุทธรูป เผาคัมภีร์ เป็นต้น เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมแต่นั้นมาอีกหลายร้อยปี (การทำลายล้างหยุดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. ๑๓๙๑ พระเจ้าซวนจงทรงห้ามการทำลายวัด นำประมุขลัทธิเต๋ากับพวกก่อการไปประหารชีวิต และให้มีการบวชพระได้อีกโดยสอบความรู้ ออกบัตรอนุญาตอุปสมบทให้ และให้มีการปฏิสังขรณ์วัดเฉพาะวัดใหญ่ๆ)
พ.ศ. ๑๔๕๙
มีพระรูปหนึ่ง ลักษณะอ้วนร่าเริงจาริกเผยแพร่พระศาสนา ครั้นถึงมรณภาพมีผู้เชื่อว่าท่านเป็น พระเมตไตรย์โพธิสัตว์ ทำให้เกิดความนิยมสร้างรูปของท่านเป็น พระอ้วน สมบูรณ์ ร่าเริง ถือถุงย่ามใบหนึ่ง ไว้ที่หน้าวัดจีน ถือเป็นพระที่ให้ความสุข ความมั่งมี และให้บุตร
พ.ศ. ๑๔๙๙
มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อีก โดย พระเจ้าซีจง แห่งแคว้นจิว ทรงกวดขันการบวช ยึดและยุบวัดที่ไม่มีพระบรมราชโองการให้สร้าง หลอมพระพุทธรูปตามวัดเอาไปทำเงินตรา และบังคับราษฎรให้ขายพระพุทธรูปและเครื่องบูชาที่เป็นทองแดงให้แก่ราชการทั้งหมด
พ.ศ. ๑๕๐๔
พระเจ้าเกาโจ้ว เริ่มทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้สร้างวัด ณ สถานที่ที่เคยมีการรบใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย และใน พ.ศ. ๑๕๑๖ โปรดให้แกะไม้แผ่นพิมพ์พระไตรปิฎกรวม ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หลังจากนั้นมาได้มีผู้มีคุณสมบัติบวชมากขึ้น การศึกษาธรรมวินัยเจริญขึ้น มีพระจาริกมาจากอินเดีย และพระจีนจาริกไปอินเดียมากขึ้น ปรับปรุงประเพณีพิธีกรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๑๕๗๘ (รัชกาลพระเจ้ายินจง) มีภิกษุ ๓๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๔๘,๐๐๐ รูป
พ.ศ. ๑๖๑๒
ราชการเริ่มหารายได้จากการบวชพระ โดยการขายบัตรอุปสมบท ทำให้การบวชเป็นการซื้อขาย คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินไม่มีโอกาสบวช เป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมของการศึกษาธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๘๙ ถึงกับให้พระภิกษุต้องเสียภาษีทุกรูป เว้นแต่อายุครบ ๖๐ ปีหรือพิการ และใน พ.ศ. ๑๖๙๕ ก็ให้นำผลประโยชน์จากที่นาสวนของวัดไปบำรุงโรงเรียนหลวงแทน
พ.ศ. ๑๖๖๑
พระเจ้าฮุยจง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนา โปรดให้ทุกอำเภอมีศาลเจ้าของเต๋า เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้าลัทธิเต๋า เช่น เรียกพระนามพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ เป็น "เซียน” เปลี่ยนชื่อวัดเป็นศาลเจ้า ถวายเครื่องครองพระพุทธรูปเป็นแบบเต๋า เป็นต้น จนถึง พ.ศ. ๑๖๖๕ จึงโปรดให้พระพุทธศาสนาคืนสู่ฐานะเดิม คืนนาสวนที่ยึดไปให้แก่วัด และในที่สุด พ.ศ. ๑๖๖๘ ก็ให้เลิกนับถือลัทธิเต๋า
พ.ศ. ๑๖๘๗
ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง พระฮวบฮุ้น เรียบเรียงหนังสือ "ศัพท์พุทธศาสนา” ขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษามาก และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้เคยมีพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงหนังสือสำคัญคล้ายกันขึ้นมาแล้วหลายคราว เรียกชื่อว่า “การออกเสียงและความหมายของศัพท์ในพระไตรปิฎก” คือ ใน พ.ศ. ๑๓๕๑ จำนวน ๑๐๓ เล่ม ใน พ.ศ. ๑๔๘๓ จำนวน ๔๘๐ เล่ม และใน พ.ศ. ๑๕๑๒ เรียก “ศัพท์ในพระไตรปิฎก” ๖๖๐ เล่ม)
โดยสรุป ในราชวงศ์นี้ กษัตริย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีศรัทธาในพระศาสนาดี พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาพอสมควร แต่เพราะราชการมัวพะวงกับการหารายได้แม้จากวัด เพื่อใช้ในการป้องกันราชวงศ์จากอริราชศัตรู ความเจริญจึงไม่มีเท่าที่ควร
พ.ศ. ๑๘๐๒ - ๑๘๓๗
รัชกาลพระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ยกเลิกเก็บภาษีวัด เป็นต้น โดยเฉพาะทรงส่งเสริมพระลามะเป็นพิเศษ โดยมุ่งผลทางการปกครองเป็นสำคัญ จึงไม่สู้เป็นผลดีแก่พระศาสนาเท่าใดนัก แม้กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาในราชวงศ์หงวน ก็ยึดถือนโยบายอย่างนี้
พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๔๓
รัชกาลพระเจ้าไท่โจ้ว หรือ ฮุ่งวู หรือ ฮั่งบู๊ พระมหากษัตริย์เคยผนวชมาก่อน จึงทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้กลับเจริญมั่นคงขึ้นอีกมาก
พ.ศ. ๒๐๖๙ - ๒๑๐๙
รัชกาลพระเจ้าซีจง กษัตริย์องค์นี้เลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงถูกทำลายครั้งใหญ่อีก เริ่มแต่ทำลายพระพุทธรูป ทำลายวัด ให้นักบวชเต๋าเข้าอยู่ในวัด วัดถูกแปลงเป็นสำนักเต๋า ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า พิธีกรรมพุทธกับเต๋าปะปนกันไปหมด
พ.ศ. ๒๑๔๔ - ๒๑๘๖
คริสต์ศาสนาซึ่งเริ่มเข้ามาเผยแพร่ที่มาเก๊า ตั้งแต่ขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก และได้ช่วยถ่ายทอดวิชาการสมัยใหม่แก่จีน ในสมัยราชวงศ์เช็งต่อไปเป็นอันมาก
พ.ศ. ๒๑๘๗ - ๒๓๓๘
เมื่อราชวงศ์เช็ง ซึ่งเป็นเผ่าแมนจู ขึ้นครองมหาอาณาจักรจีน ก็ได้บังคับให้ประชาชนไว้ผมเปีย แทนไว้ผมยาว และให้แต่งกายแบบแมนจู มีชาวจีนที่ขัดขืนถูกประหารชีวิตไปนับล้าน ในครึ่งแรกของราชวงศ์นี้ มีกษัตริย์ยิ่งด้วยบุญญาธิการ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าคังฮี และ พระเจ้าเคียงล้ง ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็นนักปกครองที่สามารถ ส่งเสริมวรรณกรรมการศึกษา วิชาการต่างๆ แต่ในทางพระพุทธศาสนา กลับทรงกวดขันการบวช ต้องให้ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ห้ามสร้างวัดใหม่หรือขยายเขตวัดเก่า ส่วนในทางวิชาการทรงช่วยสนับสนุนบ้าง เช่น ให้รวบรวมพระไตรปิฎกถวายวัดทุกวัด ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาแมนจูเรีย ทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระลามะเท่านั้น
พ.ศ. ๒๓๙๗
เกิดขบถผมยาวของพวกนับถือคริสต์ศาสนานานถึง ๑๕ ปี ทำให้วัดและพระคัมภีร์ในภาคใต้ถูกทำลายเกือบหมดสิ้น
พ.ศ. ๒๔๐๙ - ๒๔๕๕
ข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ ยางวานฮุย ได้ขวนขวายฟื้นฟูการศึกษาพุทธศาสนา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ ช่วยให้สถานการณ์พระพุทธศาสนาซึ่งกำลังเสื่อมโทรมดีขึ้นบ้าง
พ.ศ. ๒๔๔๗
ราชการปรับปรุงระบบการปกครองใหม่ตามแบบตะวันตก ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้คนที่คิดร้ายได้โอกาสเข้ายึดวัดและนาสวน โดยอ้างว่าจะดัดแปลงเป็นโรงเรียน วัดถูกทำลายไปมากมาย
พ.ศ. ๒๔๕๑
มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นปีเดียวกับที่ พระเจ้ากวงซู้ และ พระนางซูสีไทเฮา เสด็จสวรรคต
โดยสรุป พระพุทธศาสนาในจีนเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง หลังจากนั้นก็เสื่อมโทรมลง กลับฟื้นฟูทรงตัวขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง ก็เสื่อมโทรมลงอีกนับแต่สมัยราชวงศ์หงวนของมงโกลเป็นต้นมา มีแต่พระเจ้าไท่โจ้ว ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งองค์เดียว ที่บำรุงพระพุทธศาสนาจริงจัง เพราะเคยผนวชมาก่อน นอกนั้น ยกย่องพระพุทธศาสนาบางคราวเพียงเพื่อผลในการปกครอง โดยเฉพาะเอาใจพระลามะเพื่อครอบครองทิเบตไว้โดยง่าย เป็นเหตุให้การศึกษาธรรมวินัยเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง มีแต่ความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมอ้อนวอน หนำซ้ำกษัตริย์บางองค์ยังเลื่อมใสลัทธิเต๋าแล้วทำลายพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาเสื่อมถึงขั้นที่วัดใหญ่พระต้องทำนาและอาศัยค่าเช่านาเป็นอยู่ ส่วนวัดเล็กก็อาศัยการให้เช่ากุฏิบ้าง ประกอบพิธีกงเต๊กบ้าง ไม่มีกำลังบำรุงให้ศึกษาธรรมวินัยได้ จนถึงปลายราชวงศ์เช็ง จึงมีข้าราชการบางท่านช่วยฟื้นฟูประคับประคองไว้บางส่วน
พ.ศ. ๒๔๕๕
กษัตริย์แมนจูองค์สุดท้ายซึ่งยังเป็นพระกุมารสละราชสมบัติ จีนประกาศตั้งเป็น สาธารณรัฐตงฮั้ว หรือ สาธารณรัฐจีน
พ.ศ. ๒๔๖๕
เฟงยูเซียง ผู้นับถือคริสต์ศาสนาและมีสมญาว่า “นายพลคริสต์” ได้เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลโฮนาน ท่านผู้นี้ได้สั่งทำลายวัดพระพุทธศาสนาและสำนักเต๋าในโฮนานลงทั้งหมด วัดแปะเบ๊ยี่ ที่สร้างครั้งพระพุทธศาสนาแรกเข้าสู่ประเทศจีน ก็ได้ถูกทำลายลงในครั้งนี้ด้วย
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์พระพุทธศาสนานับแต่ตั้งสาธารณรัฐจีนจนตลอดสมัยก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ไม่ดีขึ้นกว่าสมัยราชวงศ์เช็งของแมนจู แม้ว่าจะมีอิสรภาพดีขึ้น รัฐไม่เป็นปฏิปักษ์รุนแรง แต่ก็ไม่สู้อุดหนุนอะไรนัก โดยเฉพาะแนวความคิด ลัทธิมาร์กซิสม์ ได้แพร่หลายออกไปมาก มีการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนา สนับสนุนการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา และเอาสถานที่วัดไปใช้ในกิจการบ้านเมือง บุคคลสำคัญที่ช่วยกู้ฐานะพระพุทธศาสนาไว้ได้บางส่วน คือ พระอาจารย์ไทซี หรือ ไท้สู (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๙๐)
พ.ศ. ๒๔๖๕
เนื่องจากสถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนาเสื่อมทรามลง และมีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนามาก พระอาจารย์ไท้สูจึงดำเนินการปฏิรูปพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่แม้ว่าจะมีกำลังเพียงเล็กน้อย เริ่มด้วยการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่ วูชัง เอ้หมึง เสฉวน และหลิ่งนาน เพื่อฝึกผู้นำทางพระพุทธศาสนาให้พระสงฆ์รู้วิชาทั้งธรรมวินัยและวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก แล้วดำเนินงานทางการศึกษา การเผยแผ่และการบำเพ็ญประโยชน์ จนถึงจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๒ การประกาศพระศาสนาในแนวใหม่ของท่าน ทำให้ปัญญาชนเข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น ท่านได้ติดต่อกับพุทธศาสนิกต่างประเทศ ส่งนักศึกษาไปเล่าเรียนในลังกา ไทย และญี่ปุ่น เข้าถึงกิจการของรัฐระดับชาติ แสดงให้รัฐมองเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในการประสานชนต่างเชื้อชาติ ๕ สายของจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นต้น ทำให้มีการยอมรับอิสรภาพของศาสนาเพิ่มขึ้น มีการออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินของวัดและหยุดยั้งการยึดเอาทรัพย์สมบัติของวัดไปใช้ในกิจการภายนอก
พ.ศ. ๒๔๗๓
มีสถิติแสดงว่า ในประเทศจีนมีพระและชี (จีนว่า ภิกษุ และ ภิกษุณี) ๗๓๘,๐๐๐ รูป และวัด ๒๖๗,๐๐๐ วัด
คอมมูนิสต์ ได้เข้าครองอำนาจในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในระยะหลังจากนี้ ไม่สู้เป็นที่รู้กระจ่างชัด ในที่นี้จะกล่าวตามแนวที่ เคนเนธ เฉิน แสดงไว้ในหนังสือ “พระพุทธศาสนาในประเทศจีน”
ในฐานะที่ชาวคอมมูนิสต์นับถือลัทธิมาร์กซ์ อันเป็นลัทธิหนึ่งต่างหาก และมีพื้นฐานคำสอนขัดแย้งกับศาสนาทั้งหลาย จึงมิได้ต้องการให้มีพระพุทธศาสนาอยู่ร่วมด้วย แต่เบื้องต้นเห็นว่า พระพุทธศาสนาแม้จะเสื่อมลงแล้ว แต่ก็มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในหมู่ประชาชน จึงยังไม่เห็นเป็นโอกาสที่จะเกี่ยวข้อง โดยใช้มาตรการตรงหรือแสดงออกชัดเจน เริ่มแรกจึงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก่อน แต่ย้ำเสรีภาพในการที่จะไม่เชื่อและยอมให้มีการตีความเสรีภาพนี้ ไปในแง่สิทธิที่จะต่อต้านความเชื่อถือทางศาสนา
พ.ศ. ๒๔๙๓
ออกประกาศข้อกำหนดว่า พระสงฆ์เป็นกาฝากสังคม พร้อมกันนั้นก็สร้างความรู้สึกให้มีการแบ่งแยกชาวบ้านกับพระสงฆ์ และพระสงฆ์ทั่วไปกับพระผู้บริหารว่าเป็นคนต่างชนชั้นกัน
พ.ศ. ๒๔๙๔
เพิกถอนสิทธิของวัดในการยึดครองที่ดิน เป็นการบีบรัดในด้านการดำรงชีพ เท่ากับบังคับโดยอ้อมให้พระภิกษุและภิกษุณีสึก ส่วนผู้ที่ไม่สึกก็ต้องประกอบอาชีพ เช่น ทำนา ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปลูกชา สอนโรงเรียน เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็พยายามกล่อมเกลาให้ละเลิกความเชื่อถือในลัทธิคำสอนอันนอกเหนือจากลัทธิมาร์กซิสม์
พ.ศ. ๒๔๙๖
เมื่อจำนวนพระสงฆ์ลดน้อยและอ่อนกำลังลง จึงตั้ง “พุทธสมาคมแห่งประเทศจีน” ขึ้นในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม โดยวัตถุประสงค์ว่า เพื่อผนึกชาวพุทธทั้งปวงภายใต้การนำของรัฐบาลประชาชน เพื่อแสดงความรักต่อปิตุภูมิและรักษาสันติภาพของโลก แล้วจำแนกวัตถุประสงค์ออกเป็น ๔ ข้อ คือ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับพุทธศาสนิกชน เพื่อฝึกพุทธบุคลากร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา และส่งเสริมความร่วมมือทางพุทธศาสนากับนานาชาติ
ทั้งนี้ผู้เขียนหนังสือ “พระพุทธศาสนาในจีน” นั้น สรุปว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อเป็นศูนย์สำหรับให้รัฐบาลสอดส่องดูแลและควบคุมพุทธศาสนิกชนทั้งหมดได้ และเป็นช่องทางที่รัฐจะได้เป็นผู้แทนของชาวพุทธในกิจการระหว่างชาติ นอกจากนั้น เพื่อสนองนโยบายนี้ก็ได้ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “พุทธศาสนาสมัยใหม่” (Modern Buddhism) ส่วนในด้านแนวความคิด ก็มุ่งให้หันเหจากหลักเมตตากรุณาไปสู่หลักความขัดแย้งและการต่อสู้
นอกจากนี้ รัฐได้ทำการทะนุบำรุง ดูแลรักษาวัดและศิลปกรรมสวยงามในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ถือว่าเป็นผลงานของประชาชน แต่ต่อมาปรากฏว่าศิลปวัตถุและศาสนสถานต่างๆ ได้ถูกพวกเรดการ์ดทำลายลงเสียเป็นจำนวนมาก
พระพุทธศาสนาในจีนได้เสื่อมโทรมลง ตลอดเวลายาวนานในยุคหลังๆ เพราะประสบความบีบคั้นต่างๆ และความอ่อนแอภายใน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมวินัย การทำหน้าที่ต่อประชาชน และการหันเหไปหาลัทธิพิธีต่างๆ สภาพเหล่านี้แม้คอมมูนิสต์ไม่เข้าครองถ้าไม่มีการทำลายต่อให้ถึงดับสูญเสียก่อน ก็จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจนได้ เช่นที่ท่านไท้สูได้ริเริ่มขึ้นเป็นต้น แม้พระมหากษัตริย์ในปางก่อนก็ได้ทรงกระทำแล้วหลายครั้งหลายคราว สิ่งที่ยังค้างวินิจฉัยมีอย่างเดียวคือ ที่ทำอย่างนั้นๆ เป็นการปรับปรุงเพื่อฟื้นฟู หรือเป็นการทำลาย หรือเป็นการปรับปรุงเพื่อทำลาย ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไป
เนื่องจากจีนเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนามาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในยุคหลังนี้ ชาวพุทธภายนอกไม่มีโอกาสทราบข่าวความเป็นไปเท่าที่ควร เมื่อไม่ทราบข่าวทางศาสนาโดยตรง จึงขอนำเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของชาติโดยส่วนรวมมาลงไว้ พอเป็นทางประกอบการพิจารณา สำหรับสันนิษฐานภาวการณ์ทางพระศาสนาในประเทศนั้น
หลังจาก พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว มีเหตุการณ์น่าสนใจในสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง ได้รวบรวมจากหนังสือเหตุการณ์ประจำปี และเอกสารบางเรื่องที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ แสดงไว้เฉพาะที่สำคัญและควรแก่การพิจารณา ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๐๒
นับแต่ปี ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ได้เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศทิเบต จนกระทั่งมีการจลาจลร้ายแรงในแคว้นขาม เพราะชาวทิเบตโกรธแค้นในการที่ชาวจีนหลายแสนคนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และมีการนำเอาเยาวชนทิเบตไปยังประเทศจีนเพื่อการฝึกอบรมชั้นสูง ต่อมาได้มีการจลาจลเกิดขึ้นใน กรุงลาซา นครหลวงของทิเบต เพราะจีนจะจับองค์ ทะไลลามะ ประมุขของพระพุทธศาสนานิกายลามะ และประมุขของประเทศทิเบต ทำให้พระองค์เสด็จหนีออกจากประเทศทิเบตมาลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ แต่นั้นมารัฐบาลทิเบตก็สลายตัว มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาบริหาร โดยมีปันเชนลามะเป็นประมุข
พ.ศ. ๒๕๑๑
นับแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๖ จีนได้กลับกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียต โดยถือว่าโซเวียตเป็นพวกลัทธิแก้ ซึ่งเป็นศัตรูที่ร้ายแรงของจีน พอๆ กับจักรวรรดินิยมอเมริกัน หลิวเซ่าฉี ซึ่งได้สืบตำแหน่งจากเหมาเจ๋อตงเป็นประธานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๒ เป็นต้นมา ได้มีความขัดแย้งแข่งอำนาจกับเหมาเจ๋อตงและหลินเปียว โดยร่วมกับเลขาธิการพรรคชื่อ เตงเฉียวปิง ต่อต้านนโยบายของผู้นำทั้งสองท่านนั้นอย่างลับๆ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมีสหภาพกรรมกรเป็นที่มั่น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ วารสารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมูนิสต์จีนได้ประณาม หลิวเซ่าฉี ว่าเป็นพวกลัทธิแก้ฝ่ายกฏุมพี จากนั้นพวกเรดการ์ด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเหมาเจ๋อตง ได้ดำเนินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ตลอดระยะเวลานั้น หลิวเซ่าฉีถูกกักขังอยู่ในบ้าน และถูกเรียกว่าครุสชอพแห่งประเทศจีน ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ หลิวเซ่าฉีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ จากตำแหน่งทุกตำแหน่งในพรรคคอมมูนิสต์และขับออกจากพรรค หายตัวไปในที่สุด ส่วนสหภาพกรรมกรก็ได้สลายตัวไปในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นด้วย (ตั้งขึ้นใหม่อีกเมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดแล้ว)
พ.ศ. ๒๕๑๔
หลินเปียว รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำฝ่ายทหาร ซึ่งได้ร่วมกับเหมาเจ๋อตงในการต่อสู้กับหลิวเซ่าฉีมาแต่ต้น ได้มีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๒ ซึ่งเริ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับความคิดแบบกฏุมพี และเป็นกำลังอำนาจเพื่อสนับสนุนเหมาเจ๋อตง คณะกรรมการปฏิวัตินี้เป็นไตรภาคี ประกอบด้วยกองทัพบก พรรคคอมมูนิสต์ และพวกเรดการ์ด (ผู้พิทักษ์แดงประกอบด้วยเยาวชนชายหญิง) ในการนี้หลินเปียวมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการสูงสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๙ และได้เป็นทายาททางการเมืองของประธานเหมาเจ๋อตงแทนหลิวเซ่าฉี ครั้นถึงวันที่ ๔ กันยายน ปีเดียวกัน ก็เป็นหัวหน้าเรดการ์ด พวกเรดการ์ดนอกจากทำลายอำนาจฝ่ายหลิวเซ่าฉีแล้ว ยังปรากฏว่าได้ทำลายศิลปวัตถุ โบราณสถาน วัดวาอาราม เป็นอันมากด้วย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด
ด้วยเหตุการณ์นี้ หลินเปียว และผู้นำฝ่ายทหารได้เรืองอำนาจมากจนจะกลายเป็นผู้ครอบงำพรรคคอมมูนิสต์ ความยิ่งใหญ่ของหลินเปียวปรากฏอยู่จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๑๔ ก็กลับหายเงียบไป ในระยะนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕) จีนได้หันไปมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ต่อมาภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่า หลินเปียวได้คบคิดวางแผนสังหารประธานเหมาเจ๋อตง และสถาปนาระบบเผด็จการทหาร แต่แผนไม่สำเร็จ จึงขึ้นเครื่องบินหนีไปรัสเซีย แต่เครื่องบินตกถึงแก่กรรมในระหว่างทางที่ประเทศมองโกเลีย
นับแต่นั้นมา ก็มิได้มีการแต่งตั้งทายาทการเมืองของเหมาเจ๋อตงอีก จนท่านประธานเหมาสิ้นชีวิตใน พ.ศ. ๒๕๑๙
นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เติ้งเสี่ยวผิงได้มีอำนาจมากขึ้นและได้จัดดำเนินโครงการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัยตามนโยบายการค้าแบบเสรี ต่อมา อุดมการณ์และโครงสร้างการเมืองแบบเหมาก็ถูกหยุดเลิก นอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองจะหันเหมาในทางเสรีมากขึ้นแล้ว การบังคับควบคุมความเชื่อถือและกิจกรรมทางศาสนาก็ผ่อนคลายความเข้มงวดลงด้วย สภาวการณ์ทางศาสนาจึงเริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นในที่ทั่วๆ ไป