ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษากับประชาธิปไตย

ในการอยู่ร่วมที่ดีนั้น เราต้องการสิ่งหนึ่งคือการปกครอง เราจึงบอกว่า การศึกษาที่ดีย่อมอำนวยประโยชน์แก่การปกครองด้วย ทีนี้ในแง่ของพระพุทธศาสนา การศึกษาจะอำนวยประโยชน์เป็นไปเพื่อการปกครองที่ดีได้อย่างไร การปกครองที่ดีคืออะไร การปกครองที่ดีนั้นอาจจะมีได้หลายรูปหลายแบบ ถ้าเราแยกลักษณะรูปแบบของการปกครองแล้ว ก็มีหลายระบอบ แต่โดยย่อคงจะมีเพียง ๒, ๓ แบบเท่านั้น คือการปกครองโดยบุคคลคนเดียว การปกครองโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งหลายคน หรือการปกครองโดยทุกๆ คนช่วยกันปกครอง ระบอบการปกครองต่างๆ กำหนดโดยผู้ปกครองก็มีอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรากำลังมีระบบการปกครองอย่างที่เรียกว่าให้ทุกๆ คนมีส่วนในการปกครอง การปกครองแบบนี้เราเรียกว่า ประชาธิปไตย

แต่ว่าการปกครองที่ดีนั้น ระบอบเป็นอย่างหนึ่ง หลักการปกครองเป็นอีกอย่างหนึ่ง ระบอบไม่ใช่ทั้งหมดของการปกครอง ระบอบอย่างเดียวไม่พอ เราจะต้องมีหลักการปกครองที่ดีด้วย อะไรคือหลักในการปกครองที่ดี ในการปกครองที่ดีนั้น เราต้องการให้ใครก็ตามที่ทำหน้าที่ปกครอง สร้างความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมชาติให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าให้เกิดผลอันนี้ได้เราถือว่าเป็นการปกครองที่ดี เราต้องการสิ่งนี้และเราต้องการให้ผู้ปกครองยึดหลักการนี้

ฉะนั้น ถ้าหากว่าบุคคลผู้เดียวปกครอง บุคคลนั้นมีความยึดมั่นในธรรม เอาความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม เป็นเกณฑ์เป็นหลักในการปกครองแล้วเราก็ถือว่าผู้ปกครองนั้นเป็นผู้ปกครองที่ดี ถ้าหากว่าเป็นคณะปกครองคณะนั้นยึดมั่นในธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามแล้ว เราก็ถือว่าได้การปกครองที่ดีเหมือนกัน และถ้าหากว่าทุกคนปกครองแล้ว เราได้รับผลอย่างเดียวกันนี้ เราก็ถือว่าเป็นการปกครองที่ดี ฉะนั้น หลักการปกครองที่ดีกับระบอบการปกครองไม่เหมือนกัน

ในทางพระพุทธศาสนานั้น สนใจหลักการปกครองเป็นเบื้องต้น ส่วนระบอบวิธีนั้นมนุษย์จะต้องมายักเยื้องเอาเอง หลักการปกครองที่ดีคืออย่างไร ในระบอบการปกครองอะไรก็ตาม จะมีการปกครองที่ดีได้ ในเมื่อผู้ปกครองนั้น ยึดธรรมเป็นหลัก คือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นเกณฑ์และสร้างธรรมนี้ให้เกิดขึ้นแก่สังคม

ในขณะนี้เรามาเห็นกันว่า การปกครองของคนเดียวนั้นถึงจะดีอย่างไรก็ตาม ผู้เดียวนั้นอาจจะผิดพลาดบกพร่องได้ คือผู้เดียวนั้นอาจจะมีสติปัญญาเข้าใจไม่ทั่วถึง รู้ปัญหาของสังคมไม่ทั่วถึง หรือความเข้าใจในความถูกต้องดีงามไม่เพียงพอ ก็ทำให้สร้างธรรมคือความงาม ความถูกต้องนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และมีโอกาสหันเหไปจากธรรมะคือความถูกต้อง และหันไปหาสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้มากกว่า เราจึงเห็นว่า ควรจะให้ทุกๆ คนช่วยกันปกครอง

การที่ทุกคนช่วยกันปกครองนั้น มันก็มีปัญหาเหมือนกันว่า เราจะต้องสร้างหลักการปกครองที่ดีให้เกิดขึ้น หาไม่แล้วการปกครองที่ดีก็ไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเราต้องการให้บุคคลผู้เดียวที่เคยปกครองเขามีปัญญา เข้าใจความดีงาม ยึดในความดีงาม และสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นแล้ว ในการปกครองโดยทุกๆ คน เราก็จะต้องให้ทุกคนนี้แต่ละคนๆ เป็นคนเข้าใจในตัวธรรมะ มีปัญญา รู้จักความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลัก และสร้างความดีงามหรือความชอบธรรมให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างคนเดียวที่ดีนั้นทั่วทั้งหมดจึงจะได้การปกครองที่ดีชนิดที่ทุกคนช่วยกันปกครอง และถ้าทำได้อย่างนี้จริง ก็เป็นการปกครองที่ดีที่สุดจริงๆ

นี้คือหลักในการปกครอง หลักการปกครองที่ดีคือตัวความจริง ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเป็นธรรมนี้ การถือหลักนี้เราเรียกว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ การถือธรรมเป็นใหญ่ เรียกตามหลักพระพุทธศาสนาว่า ธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยนั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นหลักของการปกครอง หรือเป็นรากฐานการปกครอง อยู่ในระบอบใดก็ใช้ธรรมาธิปไตยได้ ถ้าหากว่าผู้ปกครองคนเดียวถือธรรมเป็นประมาณ พยายามสร้างธรรมให้เกิดขึ้น เราเรียกผู้ปกครองนั้นว่ายึดหลักธรรมาธิปไตย ถ้าหากหมู่คณะยึดความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมนี้เป็นเกณฑ์แล้ว พยายามสร้างธรรมให้เกิดขึ้น เราเรียกหมู่คณะนั้นว่า ยึดหลักธรรมาธิปไตย ถ้าหากคนทุกคนช่วยกันปกครอง ยึดเอาธรรมเป็นประมาณ พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่า ธรรมะ ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ความถูกต้อง ความดีงามคืออะไร แล้วยึดมั่นในสิ่งนี้ได้ เราเรียกว่า การปกครองโดยทุกคนนั้นถือหลักธรรมาธิปไตย

ขณะนี้เราหันมานิยมระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่หลักในการปกครองนั้น เป็นไปได้ไหม ที่เราจะยึดหลักอื่นนอกจากธรรมาธิปไตยก็จะต้องตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องการให้เกิดธรรมะความชอบธรรม ความถูกต้อง ความดีงามขึ้นในสังคม แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อทุกคนช่วยกันปกครอง ทุกคนก็จะต้องยึดหลักนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราจึงประสบปัญหาสำหรับประชาธิปไตยคือ การที่จะต้องสร้างธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้นแก่ทุกคน ถ้าทุกคนมีธรรมาธิปไตย ยึดธรรมาธิปไตยเป็นหลักแล้ว เราก็จะได้ประชาธิปไตยที่ดี

เพราะฉะนั้น ธรรมาธิปไตยในฐานะที่เป็นหลักการปกครอง เป็นรากฐานของการปกครองที่ดีทุกแบบทุกระบบ ก็เป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ดีด้วย หากว่าไม่มีธรรมาธิปไตยแล้ว เราก็จะไม่สามารถสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ดีขึ้นมาได้

ฉะนั้น ในกรณีนี้จะต้องทำความเข้าใจว่า ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการฝึกอบรมอย่างน้อย ๒ ด้าน คือ

๑. การสร้างสาระหรือเนื้อหาของการปกครองที่ดี อันได้แก่ธรรมาธิปไตย

๒. การฝึกฝนในด้านรูปแบบหรือวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในด้านที่หนึ่ง จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคนมีปัญญาเข้าใจว่าอะไรคือความถูกต้อง ความจริง ความดีงาม ความชอบธรรม แล้วให้ทุกคนยึดในหลักธรรมหรือธรรมาธิปไตยนี้ คนที่จะยืนหยัดในหลักธรรมาธิปไตยนี้ได้ จะต้องมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจว่า อะไรคือคุณค่าแท้ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันของมนุษย์ อะไรเป็นคุณค่าเทียมสนองตัณหา เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตน แล้วเลือกเอาในทางที่เป็นไปเพื่อสนองปัญญา การจัดกิจกรรมทำการต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปเพื่อสนองปัญญา

เป็นอันว่าทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นเรื่องสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตย และระบบการศึกษาที่เกื้อกูลแก่ประชาธิปไตย เราจะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้อง คือ การศึกษาที่ทำให้เกิดปัญญาที่แท้ ที่ทำให้จิตใจคนเป็นอิสระและสามารถเผื่อแผ่อิสรภาพนี้แก่ผู้อื่น รู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อคุณค่าที่แท้จริง เป็นไปในทางเสริมปัญญา ไม่เป็นไปในทางที่ขยายพอกพูนอัตตาให้หนาขึ้น ไม่เป็นไปในทางที่สนองความเห็นแก่ตัว แต่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงามร่วมกัน แล้วอันนี้ก็จะเป็นทางมาของประโยชน์สุขที่มนุษย์ต้องการ เรียกว่าประสบผลที่มุ่งหมายในการสร้างสรรค์ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และการศึกษาที่เอื้ออำนวยแก่ระบอบการปกครองชนิดนี้

ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฝึกหัดวิธีการหรือฝึกฝนในด้านรูปแบบของประชาธิปไตย ระบบวิธีหรือรูปแบบนั้นก็เป็นภารกิจที่เราทั้งหลายจะต้องช่วยกันกระทำเช่นเดียวกัน เช่นการที่เราจะฝึกคนให้รู้จักจัดการปกครองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องของรูปแบบหรือระบบวิธี ซึ่งเกื้อกูลแก่การสร้างสาระของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น และดำรงรักษาสาระนั้นไว้ แต่ระบบวิธีนั้นไม่ใช่สิ่งสิ้นสุดหรือสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง ถ้าไม่สามารถสร้างเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ก็จะไม่สามารถยังประชาธิปไตยตามความหมายที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นหากว่าจะต้องการประกอบ ประชาธิปไตยที่ดีที่ถูกต้องแล้ว จะสร้างแต่เพียงรูปแบบ ระบบ วิธีการเท่านั้นไม่พอ จะต้องสร้างสาระของประชาธิปไตยที่กล่าวแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่การให้การศึกษาที่ถูกต้องด้วย เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน คือได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ หรือระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง

นี้คือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างธรรมาธิปไตย กับระบอบประชาธิปไตย และมีความหมายสัมพันธ์กับการศึกษาโดยนัยที่ได้กล่าวมา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.