ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ

ความจริง ภาวะที่กล่าวมานั้น มองได้หลายแง่ คือมีลักษณะหลายอย่างรวมกันอยู่ แง่หนึ่งเป็นภาวะที่จิตมีอิสรภาพ ปลอดโปร่ง แง่หนึ่งเป็นอาการที่คิดและเข้าใจคือปัญญา และอีกแง่หนึ่งเป็นความกว้างขวางเผื่อแผ่เกื้อกูลคือความกรุณา ปัญญาเป็นตัวทำการ กรุณาเป็นพลังหนุน อิสรภาพเป็นภาวะพื้นฐานของจิต ความกรุณานั้นเป็นภาวะแห่งคุณธรรมที่พ่วงมากับปัญญา ในกรณีที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าความกรุณาที่แท้จริง จะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นพุทธคุณจึงมีข้อสำคัญ ๒ อย่างคือ ปัญญากับกรุณา และกรุณานั้นก็จะพัฒนาตามปัญญาขึ้นมาจนถึงที่สุด

การมีความกรุณา ความคิดที่จะเผื่อแผ่ช่วยเหลือนี้ มีความหมายในแง่อิสรภาพด้วย ในเวลาที่มนุษย์มีตัณหานั้น เขาจะอยู่ในภาวะของความบีบคั้น อัดอั้น หรือถูกผูกมัด คือเกิดมีตัวตนที่ถูกบีบคั้นด้วยความต้องการที่ยังไม่ได้บ้าง ความไม่ได้ตามต้องการบ้าง การเผชิญกับสิ่งที่ขัดความต้องการหรือไม่ต้องการบ้าง คิดวุ่นวนเวียนอยู่แค่นั้น ภาวะนี้เรียกว่า มนุษย์มีความทุกข์เกิดขึ้น ทีนี้ภาวะอิสรภาพเป็นอย่างไร หันมาดูตัวอย่างที่เรื่องของครูอีก ถ้าครูเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา ความคิดที่ผูกขึ้นต่อจากนั้นเป็นความคิดของครูที่มีปัญหาขึ้นเองแล้ว คือ ครูเองไม่มีอิสรภาพ ครูเองได้ถูกบีบคั้นด้วยความไม่พอใจของตนเอง ตัวตนของครูถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกที่ว่า เด็กมันลบหลู่เกียรติ ไม่เคารพเกียรติเท่าที่ควร ความรู้สึกบีบคั้นเป็นทุกข์ให้ใจคับแค้นต่างๆ ครูไม่มีอิสรภาพเสียแล้ว จิตของครูถูกผูกมัดเสียแล้ว ความคิดของครูถูกจำกัดเสียแล้ว ทีนี้ถ้าคิดในวิถีทางของปัญญา ความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ปลอดโปร่ง นี้คืออิสรภาพ

ฉะนั้น ในความหมายทางพระพุทธศาสนา จึงถือว่าอิสรภาพที่แท้จริงมันมากับปัญญาด้วย การที่เราจะช่วยผู้อื่นให้พ้นจากปัญหา พ้นจากการเป็นทุกข์ จะมีได้แท้จริงก็ต่อเมื่อเราไม่มีปัญหา คือ เรามีอิสรภาพอยู่แล้ว เราจึงสามารถที่จะคิดขยายอิสรภาพให้แก่ผู้อื่นได้ หรือเราจึงจะอยู่ในฐานะที่พร้อมจะเผื่อแผ่อิสรภาพให้แก่ผู้อื่นได้ และจึงจะเป็นการเผื่อแผ่ชนิดที่แก้ปัญหาได้ถูกต้องอย่างแท้จริง

เป็นอันว่าปัญญานั้นมาควบคุมกับคุณธรรม คือความกรุณา และปัญญาที่เกิดอย่างถูกต้องแล้วจะทำจิตให้อยู่ในอิสรภาพ เมื่อเราใช้วิถีทางของปัญญาแล้ว จิตใจของเราปลอดโปร่ง ไม่ถูกครอบงำและบีบคั้นด้วยความคิดปรุงแต่งที่เราสร้างมันขึ้นมาโดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา มันก็ปลอดโปร่งและเราพร้อมที่จะเผื่อแผ่อิสรภาพไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเราเรียกว่าเป็นความกรุณา คือ การที่คิดแก้ปัญหาหรือการคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นทุกข์นั่นเอง

โดยสรุป ตัวการสำคัญที่ออกแสดงในกระบวนความคิดที่กล่าวมานี้ก็คือ ปัญญากับตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นก็ก่อให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นในตัวตน แล้วนำไปสู่การผูกมัดจำกัดตัวหรือบีบคั้นขัดแย้งกลายเป็นก่อปัญหาและไม่มีการแก้ปัญหา แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้น จิตใจมีอิสรภาพ มีความปลอดโปร่ง มีกรุณาเกิดขึ้น ก็ดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาของชีวิตอื่น หรือแก้ปัญหาของชีวิตที่เป็นกลางๆ คือช่วยเหลือผู้อื่น หรือบำเพ็ญประโยชน์ได้ และสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอก็คือ กรุณาในความหมายที่ถูกต้อง ต้องมากับปัญญาพร้อมด้วยอิสรภาพของจิตใจ มิใช่กรุณาในความหมายที่คลาดเคลื่อน หรือเฉียดความจริงเพียงเล็กน้อย อย่างที่ใช้กันบ่อยในภาษาไทย กลายเป็นความรักใคร่เสน่หาผูกพันส่วนบุคคลไปบ้าง เป็นอาการที่บุคคลผู้มีอำนาจเหนือกว่า เป็นใหญ่กว่า ยอมละเว้นการบีบคั้นหรือเปิดโอกาสให้บ้าง เป็นการสงสารพลอยโศกเศร้าน้ำตาร่วงตามไปบ้าง ซึ่งจัดว่าเป็นกรุณาเทียมหรือ กรุณาในรูปที่วิบัติ กรุณาเป็นคุณธรรมเชื่อมจิตใจมนุษย์ให้ถึงกัน ซึ่งไหลไปตามระดับของภาวะจิต ไม่ใช่ไหลไปตามระดับฐานะ ที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาห่อหุ้มตัวตนในภายนอก

ในกรณีที่บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปัญหา คือไม่มีความทุกข์หรือมีปัญหาที่จะต้องแก้ หรือมีปัญหาแต่มีปัจจัยอื่นประกอบอยู่ด้วยเป็นเรื่องซับซ้อน เมื่อจิตอยู่ในภาวะที่มีอิสรภาพเป็นพื้นฐาน และมีปัญญาเป็นตัวทำการเช่นนี้ คุณสมบัติที่จะเกิดพ่วงเข้ามา จะเปลี่ยนจากกรุณาเป็นเมตตา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา แล้วแต่กรณีของสถานการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น

แต่ในกรณีที่เราเองเป็นฝ่ายยังมีปัญหา หรือยังต้องการความเกื้อกูลบางอย่าง และเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอิสรภาพสูงกว่า มีกรุณา หรือมีลักษณะอาการเกื้อกูลแก่อิสรภาพ หรือ การแก้ปัญหาของเราได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ภาวะจิตที่เกิดขึ้นแก่เราในกรณีนี้ ถ้าเดินถูกทางก็จะเป็นไปในรูปของ ศรัทธา ซึ่งเป็นภาวะของคุณธรรมที่อยู่ในระหว่างทางสู่ปัญญา และอิสรภาพ และเป็นที่มาของแรงจูงใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่พึงสังเกตว่า เมตตาเทียม (ความรักความปรารถนาดีของจิตที่ยังไม่มีอิสรภาพแท้จริง) ก็ดี ศรัทธาของผู้กำลังแสวงอิสรภาพก็ดี อาจแสดงตัวออกมาหรือแปรรูปไปเป็นความรักใคร่ เยื่อใยติดในบุคคล ที่เรียกว่า สิเนหะ หรือ เปมะ ได้ง่าย อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะยังไม่วิเคราะห์ภาวะจิตที่ซับซ้อนอยู่ในช่วงระหว่างเหล่านี้ จะพูดเฉพาะปลายทาง ๒ ด้าน คือ อวิชชา ตัณหา และทุกข์ฝ่ายหนึ่ง กับปัญญา กรุณา และอิสรภาพอีกฝ่ายหนึ่ง เท่านั้นก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.