ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย

ต่อจากนี้ก็มีอีกอย่างหนึ่งคือพลศึกษา พลศึกษาในความหมายทางพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร พละ แปลว่า กำลัง ความเข้มแข็ง หรือแข็งแรง ความเข้มแข็งเรามีเพื่ออะไร เรามีพละกำลังร่างกาย มีสุขภาพอนามัยดี เราต้องการให้คนแข็งแรงเพื่ออะไร ตอบในแง่การศึกษาก็ต้องว่า เพื่อประโยชน์สำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว จะได้ใช้เป็นเครื่องช่วยในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดี ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ผลดีขึ้น

พละนั้นจะต้องไม่มุ่งแต่เพียงความแข็งแรงทางร่างกาย และความชำนิชำนาญในการใช้พลังกาย เพราะว่าแม้แต่โจรก็ยังหัดกันให้แข็งแรง เพื่อว่าเขาจะได้ใช้ความแข็งแรงทางร่างกายนั้นในการทำงานของเขาให้สำเร็จผล และงานนั้นก็เป็นงานร้าย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนก่อปัญหา

ถ้าพลศึกษามุ่งเพียงกำลังความแข็งแรงของร่างกายอย่างเดียว หรือความสามารถใช้กำลังกายให้ได้ผล ถ้ามุ่งเท่านี้พวกโจรก็มีพลศึกษามาก แต่ในแง่ของการศึกษาที่แท้ เราจะกำหนดได้ชัดว่า เราต้องการพละกำลังในทางร่างกาย ก็เพื่อให้มาอำนวยประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ดีของมนุษย์ หรือในการแก้ปัญหาของมนุษย์

ดังนั้นถ้าจะให้ได้ความหมายสมบูรณ์ในทางการศึกษา พละจะต้องกินความถึงกำลังความเข้มแข็งในทางจิตใจด้วย เพราะความเข้มแข็งในทางร่างกาย อาจจะพ่วงมากับความอ่อนแอในทางจิตใจก็ได้ และเมื่อมีความอ่อนแอในทางจิตใจแล้ว กำลังกายจะมีประโยชน์อะไร จะเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิตที่ดี หรือเป็นเครื่องสนับสนุนการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้อย่างไร

คนที่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ตกเป็นทาสของอวิชชาตัณหาดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำอะไรก็แสดงออกไปตามความวู่วาม ไปตามอำนาจบงการของกิเลสเหล่านั้น มันเป็นความอ่อนแอหรือความแข็งแรง แม้มีกำลังร่างกายแข็งแรงก็หาถือว่าแข็งแรงจริงไม่ ความจริงมันก็คือความอ่อนแอ คือการที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่สามารถควบคุมบังคับตน เสร็จแล้วก็แสดงออกมาตามบงการของกิเลส คือไม่มีความเข้มแข็งในการควบคุมตน หรือควบคุมตนไม่ได้นั่นเอง เมื่ออยู่ในบงการของกิเลส กำลังกายก็กลับจะกลายเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิตที่ร้าย หรือสนับสนุนการสร้างปัญหาของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น

ในทางตรงข้าม คือ ตามความหมายของการศึกษา เราต้องการความแข็งแรงมาใช้ประโยชน์ ก็หมายความว่า เราต้องการให้คนสามารถควบคุม นำเอาพละกำลังทางร่างกายนี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีและการแก้ปัญหาของมนุษย์ จึงต้องหมายถึงมีความเข้มแข็งในทางจิตใจด้วย ความเข้มแข็งในทางจิตใจนั้น แสดงออกมาในทางที่ว่า เมื่อรู้ความหมาย คุณค่ามีแรงจูงใจอะไรต่างๆ อย่างถูกต้องแล้ว ก็นำพละร่างกายนั้นไปใช้ในวิถีทางนั้นเท่านั้น ฉะนั้น พลศึกษาจะมีความหมายแค่การฝึกความแข็งแรงทางร่างกายเท่านั้นไม่ได้ จะต้องหมายถึงการฝึกความเข้มแข็งทางจิตใจด้วย เมื่อหัดกีฬา เราจะสอนกันว่าให้รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ให้รู้จักมีใจกว้าง ให้รู้จักความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ดังนี้เป็นต้น

การฝึกความมีน้ำใจเป็นนักกีฬานั้น คือการฝึกให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็งใช่หรือไม่ เริ่มต้นตั้งแต่การควบคุมตนเองได้ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสเพียงอยากได้ชัยชนะตามอำนาจภวตัณหา พอแพ้ก็ขัดใจมีวิภวตัณหา รู้สึกว่าตัวถูกทำลายเกียรติ แล้วก็แสดงออกโดยความเป็นทาสของอารมณ์ กลายเป็นการแพ้ ๒ ชั้น แพ้ข้างนอกชั้นหนึ่งแล้ว ยังแพ้กิเลสข้างในอีกชั้นหนึ่งด้วย เป็นความอ่อนแอทั้ง ๒ ประการ เพราะฉะนั้น ให้คิดดูว่าความเข้มแข็งที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน และความเข้มแข็งในการศึกษาที่แท้จริงที่เราต้องการนั้น ก็อยู่ที่จุดดังอาตมาได้กล่าวมาแล้ว

เท่าที่กล่าวมานี้ก็มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด คืออยู่ในเรื่องการศึกษา ได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรและคิดว่า ถึงแม้ท่านทั้งหลายจะให้เวลาต่อ ก็ไม่ควรพูดให้เกินเวลาจนเกินไป เพราะคงมีธุระอื่นที่จะต้องทำต่อไปอีก จึงเห็นว่า ควรจะยุติเท่านี้ก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.