การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม
การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า

ตั้งแต่เริ่มการพัฒนา ก็ต้องอาศัยธรรมมากมาย อย่างง่ายๆ เช่นความขยันหมั่นเพียร ถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียรจะทำอะไรสำเร็จ และที่พูดถึงเมื่อกี้คือความเสียสละ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาในตนเอง เพื่อให้การพัฒนาได้ผลดีจริง คือ ทำตัวให้พร้อม โดยตั้งท่าทีใหม่ต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยท่าทีแห่งการมองตามเหตุปัจจัย ท่าทีของการเรียนรู้ ท่าทีของการฝึกตน ถ้าทำได้อย่างนี้ตัวเราก็เริ่มพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ยังมีธรรมะในความหมายที่ต้องมองกว้างออกไปอีกด้านหนึ่ง

“ธรรม” มีความหมายที่สำคัญ ก็คือเป็นความจริง สิ่งทั้งหลายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเราก็ตาม ธรรมชาติแวดล้อมก็ตาม สังคมทั้งหมดก็ตาม ล้วนเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งนั้น ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เราจึงต้องรู้เข้าใจและทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

เรื่องสำคัญที่ขอพูดในตอนสุดท้ายนี้ คือ การพัฒนาจะต้องมีจุดหมาย ถ้าเราไม่ชัดในเรื่องนี้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรม หัวใจอยู่ตรงนี้ คือเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหมดที่กว้าง แล้วมองเห็นจุดหมายทางไป จึงจะมองเห็นความจริงตลอดสาย

ถ้าเราไม่เข้าใจชัดเจนจนถึงจุดหมายจริง เราก็ไปได้แค่ตามความเชื่อ เราก็จะมองอะไรไปตามที่เขาสอนเรา เขาบอกเราว่าอย่างไรก็ว่าตามกันไปอย่างนั้น

ในการพัฒนาที่เป็นมา เราก็พูดว่า การพัฒนานั้น ต้องมีจุดหมาย แต่จุดหมายของการพัฒนาคืออะไร ถ้าพูดง่ายๆ คือ เราไม่ชัดเจน หรือยังไม่รู้ตัว และเราอาจจะหลงไปตามสิ่งที่เขาบอกเล่ากระตุ้นเร้าเรามา

ยกตัวอย่างเช่น ทิฐิของคนยุคนี้ ถือว่า ประเทศที่พัฒนาคือประเทศอุตสาหกรรม ตลอดยุคที่ผ่านมา ความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือเป็นประเทศ industrialized ส่วนประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ก็คือประเทศที่ยังไม่เป็นอุตสาหกรรม จึงถือว่า การมีอุตสาหกรรมเจริญขึ้นในประเทศ หรือพูดง่ายๆ ว่า “อุตสาหกรรม” เป็นเครื่องวัดการพัฒนา

เราก็อยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้วย เราจึงต้องตั้งเป้าไว้ว่าเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยมีความเจริญทางเทคโนโลยี มีวัตถุเสพบริโภคมากๆ มีเศรษฐกิจขยายตัว เจริญเติบโต มี GDP ตัวใหญ่ๆ อะไรก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไป แต่อันนี้มักเป็นเป้าหมายที่เราเพียงนิยมชมเชื่อไปตามที่คนอื่นเขาวางไว้ แล้วเราก็ว่าไปตามเขา โดยไม่ได้วิเคราะห์วิจัยกันอย่างเพียงพอ

เกณฑ์วัดที่ว่านั้น ไม่ใช่ว่าผิด แต่เป็นการมองหนักไปด้านเดียว ไม่พอดี และไม่เพียงพอ

แน่นอนว่า เรื่องเศรษฐกิจ การมีปัจจัย ๔ ไม่ขาดแคลน มีกินมีใช้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตและสังคม แต่ต้องชัดด้วยว่าจะมีแค่ไหน และจะต้องมีอะไรอีก จึงจะเป็นจุดหมาย

เราไม่ได้มองว่า อันที่จริง จุดหมายของการพัฒนาที่แท้ ก็คือการทำให้ชีวิต สังคมมนุษย์ และโลกที่เราอยู่นี้ มันดีงามเป็นสุข

การทำให้ชีวิตดีงาม ให้ชีวิตเจริญงอกงาม มีความสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน มีความสัมพันธ์กันดี โลกนี้น่าอยู่อาศัย มีธรรมชาติแวดล้อมสดชื่นสวยงาม นี่คือจุดหมายที่แท้ของการพัฒนา หมายความว่า การพัฒนานั้นควรจะทำให้เราอยู่กันดี หรือให้คนทั้งหลายอยู่กันดี โดยมีชีวิตที่ดี มีสังคมที่ดี ในโลกที่ดีอย่างนี้ๆ

ที่จริง ไม่ว่าเราจะทำอะไร ไม่เฉพาะการพัฒนา หรือการไม่พัฒนา มันก็เพื่อจุดหมายอย่างนี้ แต่ถ้าเราขึ้นพัฒนาไปตามที่เขาตั้งหัวข้อเป็นเกณฑ์วัดให้เรายึดกันอย่างนั้น เราอาจจะเพลินมอง อยู่เพียงด้านเดียวว่า เราพัฒนา เพื่อว่าเราจะได้มีอุตสาหกรรม และในที่สุดก็มาเจอ เมื่อไม่นานนี้ ปี ๒๕๓๐ สหประชาชาติประกาศการพัฒนาที่ผ่านมานี้ว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะเหตุที่ได้พัฒนาด้วยมุ่งอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์จะมีความขยายตัวเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เราเริ่มยุคพัฒนาในปี ๒๕๐๓ นั่นเป็นทศวรรษแรกของการพัฒนา สหประชาชาติประกาศขึ้นมา เราก็พลอยตามไปด้วย เขาประกาศ ปี ๑๙๖๐ - ๑๙๗๐ เป็น Development Decade คือ เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาช่วงที่ ๑ ไทยก็เริ่มเลย ยุคพัฒนาเริ่มต้นแล้วเดินหน้ามา

พอผ่านไปแค่ ถึงปี ๑๙๗๒ คือ พ.ศ. ๒๕๑๕ เท่านั้นเอง มี Earth Summit ครั้งแรก เป็นการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเสียหาย พอถึงปี ๒๕๓๐ สหประประชาชาติประกาศว่าการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะตัวการสำคัญคือเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม

นี่ก็คือ การที่เราไปหลงตามภาพความเจริญที่เขาตั้งให้และตัวเรานิยมชมชื่น ตื่นเต้น อยากเอาอยากเป็น โดยไม่ได้มองลงไปให้รู้เข้าใจชัดเจนถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิต สังคมและโลกที่อยู่อาศัย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.