เดี๋ยวจะเลยออกนอกเรื่องไป ขอย้อนกลับมาเรื่องที่ว่า ฝึกจิตสำนึกในการฝึกตน และมองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้
เมื่อจิตสำนึกในการฝึกแรงเข้มขึ้น คนนั้นจะชอบปัญหามากขึ้น เจออะไรที่ยากก็ชอบ เพราะอะไร เพราะอะไรๆ ที่ง่ายมันไม่ได้ฝึก เมื่อมันง่ายทำป้บเดียวเสร็จ เราก็ไม่ได้อะไรเลย
แต่งานที่ยากจะพัฒนาได้มาก เพราะกว่าจะทำสำเร็จ ผ่านไปได้ ต้องใช้สมองคิดเยอะ ได้พัฒนาปัญญา พัฒนาทักษะในการกระทำต่างๆ พัฒนาจิตใจให้มีความขยัน อดทน มีความเพียร ใจสู้ มีความเข้มแข็งหนักแน่น พัฒนาหมดทุกอย่าง พูดง่ายๆ ว่า พัฒนาทั้งพฤติกรรม พัฒนาทั้งจิตใจ พัฒนาทั้งปัญญา ฉะนั้นเรื่องที่เป็นปัญหา เป็นแบบฝึกหัด หรือสิ่งยากนี้ คนที่ฝึกตนจึงชอบ
ต่อมาก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่า ยิ่งยาก-ยิ่งได้มาก อันนี้เป็นความจริงและเป็นคติของนักฝึกตน ยิ่งยากก็ยิ่งได้ฝึกตนเองและได้เรียนรู้มาก เพราะฉะนั้นพอเจออะไรยากก็ยิ่งชอบ เด็กพวกนี้จะมีสุขภาพจิตดี และพัฒนามาก สู้งาน
เพราะฉะนั้น เด็กสมัยนี้ต้องระวัง ถ้าตามใจแกมาก เอาเทคโนโลยีปรนเปรอ ทำอะไรๆ ให้ง่ายไปหมด แกก็ยิ่งอ่อนแอ พึ่งพา และทุกข์ง่าย - สุขได้ยาก
ทำไมจึงว่า ทุกข์ง่าย-สุขได้ยาก ก็เขาเคยแต่สบายจนชิน พอเจออะไรยากนิดหน่อยก็เลยทุกข์ กลายเป็นคนที่ทุกข์ง่ายเหลือเกิน เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือไม่ได้อะไรตามชอบใจหน่อยก็ทุกข์แล้ว
สุขยากเพราะอะไร ก็เพราะชีวิตมันง่าย และอะไรๆ ก็มีพร้อมหมดแล้ว ใจก็มองความสุขว่าคืออยู่สบายไม่ต้องทำอะไร หรือได้สิ่งที่อยากได้อยากเสพยิ่งขึ้นไป แต่การที่จะปรนเปรอยิ่งขึ้น มันก็ยาก เพราะสิ่งปรนเปรอเต็มไปหมดแล้ว จะหามาเพิ่มก็ยาก และจะอยู่โดยไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นไปไม่ได้
ส่วนเด็กที่เจอความทุกข์ เจอปัญหา เจอเรื่องยากมา ได้ฝึกมาเรื่อย ก็เลยสุขง่าย แต่ทุกข์ได้ยาก คือเจอทุกข์ มันก็ไม่ทุกข์ บางทีมันได้ความสุขจากความทุกข์อีกด้วย
เป็นอันว่า บัณฑิตอาสาสมัครควรจะฝึกภายในไว้ โดยตั้งจิตสำนึกในการฝึกตน และมองทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ อย่ามองอะไรเพียงด้วยท่าทีของความชอบใจและไม่ชอบใจ
อย่างน้อยอาจจะเริ่มด้วยการเปลี่ยนจากท่าทีการมองแบบ ชอบใจไม่ชอบใจ มาเป็นท่าทีของการมองตามเหตุปัจจัย
พวกที่ ๑ ซึ่งจมอยู่กับปัญหา คือพวกมองตามชอบใจไม่ชอบใจ
พวกที่ ๒ เริ่มฝึกตน คือมองตามเหตุปัจจัย
พอเราเริ่มมองตามเหตุปัจจัย เราก็เริ่มฝึกปัญญาทันที เพราะเราต้องเริ่มคิดพิจารณา เราจะเริ่มมีภาวะที่ว่าไม่มีอะไรกระทบตน ซึ่งต่างจากคนมองแบบชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ว่าอะไรเข้ามา ก็กระทบตนทันที แล้วก็เกิดปัญหา
ยกตัวอย่างแพทย์และพยาบาล เจอคนไข้ ถ้าทำใจมองไม่ถูกต้อง ก็จะมีปัญหากันเรื่อย พอเจอคนไข้หน้าบึงมา ก็กระทบใจแล้ว เพราะมองแบบชอบใจไม่ชอบใจ
แต่ถ้ามองตามเหตุปัจจัย ก็จะใช้ปัญญาพิจารณาว่า คนไข้คนนี้หน้าบึ้งมา เอ... เป็นเพราะอะไรนะ แกอาจไม่มีเงินมา แกอาจจะต้องลางานมา แกอาจจะห่วงลูกของแก แกอาจจะนึกว่า ถ้าเราเป็นอะไรไปลูกของเราจะเป็นอย่างไร พอนึกได้อย่างนี้ แทนที่จะไม่พอใจ กลับกลายเป็นสงสาร เห็นเขาหน้าบึ้งก็สงสารเขา ใจของเรากลายเป็นดีไป และยังคิดแก้ปัญหาให้เขาด้วย นี่แหละเรียกว่า มองตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น การมองตามเหตุปัจจัย มีคุณค่ามหาศาล ขอให้เริ่มต้นพัฒนาด้วยการเปลี่ยนอย่างนี้ก่อน คือเปลี่ยนจากมองตามชอบใจไม่ชอบใจ มามองตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่คือเรื่องง่ายๆ ในการพัฒนา แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ