บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะพิเศษของปัญหาสังคมไทย

ได้บอกแล้วว่าจะไม่พยายามพูดรายละเอียดของปัญหาเหล่านี้ จะพูดแต่เรื่องใหญ่ ที่นับว่าเป็นปัญหาหลัก ซึ่งปัญหาหลักเหล่านี้เป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาอื่นและเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาด้วย ขอย้อนไปสู่ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งหมดนี้ ถ้าลองพยายามสืบสวนค้นหาดูแล้วจะเห็นว่า ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นนี้ มาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม เริ่มตั้งแต่การที่สังคมไทยที่เราเรียกว่า สังคมแบบไทยๆ เดิม ได้เปลี่ยนแปลงปรับตัวมารับความเจริญสมัยใหม่ หรือความเจริญแบบตะวันตก จากช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นต้นมา ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย รู้สึกว่าช่วงต่อนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ในเมื่อมีการปรับตัวที่ไม่พร้อมและปรับตัวที่ไม่ดี ปัญหาต่างๆ ก็เกิดมีเพิ่มพูนขึ้นมา

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่มารับความเจริญแบบสมัยใหม่ มีลักษณะพิเศษส่วนตัวมันเองที่ไม่เหมือนกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมอื่น เช่น เราอาจนึกแต่เพียงว่า สังคมไทยจะเปลี่ยนจากสังคมกสิกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ปัญหาสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงต่อในสังคมแบบนี้จึงเกิดขึ้นมา การนึกแค่นี้นับว่าไม่พอ เพราะความเจริญในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเจริญสมัยใหม่นี้ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงเสร็จสิ้นภายในตัวของมันเอง คือไม่ได้เป็นกระบวนการสืบเนื่องที่เกิดขึ้นในเนื้อตัวของมันเอง อย่างที่เกิดมาแล้วในประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว ที่เขาสร้างความเจริญขึ้นมาเอง แม้เขาจะเปลี่ยนแปลงจากสังคมกสิกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในเนื้อตัวของเขาเองที่เขาทำขึ้นต่อเนื่องมาเป็นลำดับ

แต่สังคมของเราไม่อย่างนั้น เป็นสังคมที่เกิดความเจริญแบบนี้เพราะถูกกระทบจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากเนื้อตัวของตนเอง ก็ทำให้เกิดลักษณะที่ไม่พอดีขึ้น คือมีการข้ามขั้นตอนกันได้มาก หมายความว่าเราอาจได้รับ หรือเสวยผลผลิตของความเจริญสมัยใหม่ที่ตัวเองไม่ได้สร้างขึ้น โดยที่ว่าสภาพของตัวเองนั้น ยังอยู่ห่างจากภาวะที่สร้างความเจริญนั้นตั้งหลายสิบปีก็ได้ คือเราสามารถเสวยหรือบริโภคผลผลิตของความเจริญนั้นได้ ทั้งๆ ที่เรายังไม่สามารถสร้างขึ้นมา อันนี้เป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาพิเศษของสังคมแบบของเรา ซึ่งไม่เหมือนกับสังคมตะวันตก แม้ในสมัยที่เขามีการเปลี่ยนแปลงจากกสิกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น จะเทียบกันไม่ได้ สังคมของเราต้องมีความซับซ้อนยิ่งกว่า

จากการที่มีความเปลี่ยนแปลงแบบซับซ้อนจึงมีการสับสน มีการก้าวกระโดดผิดขั้นผิดตอน ซึ่งมีผลอย่างมากต่อค่านิยมในการจะรับสิ่งจากภายนอก และการที่จะปรับตัวเข้าสู่ความเจริญ เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงจับจุดว่า สาเหตุของปัญหาสังคมไทยนี้ ข้อสำคัญอยู่ที่ช่วงต่อของความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ถ้าเราปรับตัวได้ดีเรามีความพร้อม มันก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหา หรือมีปัญหาน้อย แต่ถ้าเราไม่พร้อม เราปรับตัวไม่ดี ปัญหาก็เกิดมาก ทีนี้ ปรากฏว่าในระยะเริ่มต้นที่เราจะเปลี่ยนแปลงนั้น รู้สึกว่าเราไม่สู้จะพร้อม และการปรับตัวของเราไม่เป็นไปโดยพร้อมเพรียงกัน

การปรับตัวไม่พร้อมเพรียงกันนั้นเป็นอย่างไร? สังคมของเราต้องอาศัยสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้น เป็นผู้ช่วยดำรงรักษาและเป็นผู้ที่จะนำในการเปลี่ยนแปลง หมายความว่า ประชาชนพลเมืองต้องอาศัยสถาบันต่างๆ เป็นหลักยึดเหนี่ยว และเป็นผู้นำทางในการปรับตัว และการปรับตัวที่ได้ผลดีจะต้องเกิดจากทุกสถาบันร่วมกันทำโดยพร้อมเพรียงกัน และประสานสอดคล้องกัน ทีนี้ สถาบันในสังคมไทยในช่วงระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ความเจริญสมัยใหม่นั้น เราไม่ได้ทำการปรับตัวโดยความพร้อมเพรียงกัน และไม่ได้ทำโดยความรู้ร่วมกัน ไม่ประสานกัน เมื่อไม่พร้อมเพรียงกัน ไม่ได้ทำร่วมกัน ต่อมาในระยะยาวนานก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย รวมทั้งปัญหาที่ส่งผลสะท้อนกลับไปกระทบสถาบันนั้นๆ เอง จนกระทั่งว่าสถาบันต่างๆ เหล่านั้นกลายเป็นสถาบันที่ขาดประสิทธิภาพ หรือมองดูเหมือนว่าไร้คุณค่า ไม่มีบทบาทที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมเสียเลย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.