อย่างไรก็ตาม การที่จะรอปรับตัวปรับใจเข้าหากัน อย่างเดียวนี้ไม่พอ เราต้องแสดงออก วิธีการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมนั้น ไม่ใช่รอให้เขาปรับตัวเข้ามาหาเรา หรือรอที่เราจะปรับตัวเข้าหาเขาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะต้องมีการแสดงออก การแสดงออกที่ถูกต้องในการร่วมอยู่ร่วมกันก็คือการให้ต่อกัน มนุษย์เรานั้นเป็นธรรมชาติว่ามีความพอใจที่จะได้ เมื่อได้รับมาเราก็มีความสุข แต่ในการฝึกฝนตัวของมนุษย์หรือในการที่มนุษย์จะเจริญพัฒนาขึ้นได้นั้น เราจะต้องออกจากการเป็นผู้รับหรือฝ่ายได้ไปสู่การเป็นผู้ให้ คนที่พัฒนาตนนั้น จะฝึกตนที่จะไม่หาความสุขจากการรับ หรือการเอา แต่ฝึกฝนตนให้มีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น แต่การที่เราให้แก่คนอื่นแล้ว จะมีความสุขได้นั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ ขอให้คิดดูว่า คนเราเมื่อให้แก่คนอื่นแล้วมีความสุขได้ไหม ที่จริงมันฝืน เราต้องได้เราต้องเอา เมื่อเราได้มาเราได้รับเราก็มีความสุข เราไปให้คนอื่นแล้วจะมีความสุขได้อย่างไร มันฝืน แต่ขอให้คิดดู บางทีเรามีความสุขจากการให้ได้เหมือนกัน ถ้าคนไหนเป็นพ่อเป็นแม่คงเห็นง่าย เป็นพ่อเป็นแม่มีลูกแล้ว ก็รักลูก คนที่รักลูกนี้ สามารถให้แก่ลูกได้อย่างมีความสุข และให้แล้วก็มีความสุข แทนที่ว่าจะเอาแล้ว รับแล้วจึงจะมีความสุข แต่ให้ลูก ทำให้ลูกมีความสุขแล้ว ตัวเองก็มีความสุข ทีนี้บางคนใจกว้างกว่านั้น รักไม่ใช่เฉพาะลูกเท่านั้น แต่รักพี่รักน้องด้วย คนไหนเรารัก เราให้แก่เขา เราก็มีความสุข แต่ถ้าเราให้แก่คนที่เราไม่ได้รัก ใจเราก็ฝืนและก็มีความสุขยาก ถ้าใจกว้างออกไปอีกคือรักเพื่อนรักพ้อง เอาอะไรให้แก่เพื่อนก็มีความสุข ตกลงว่า การให้นี้สามารถทำให้คนมีความสุขได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีใจรักก่อน ถ้าความรักนี้ขยายออกไป รักไปถึงไหน เมื่อให้เขาก็ได้ความสุขไปถึงนั่น ยิ่งรักคนมาก รักเพื่อนมนุษย์กว้างออกไปเท่าใด ก็ได้ความสุขจากการให้มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าในหมู่ผู้ร่วมงานมีความรักต่อกัน มีความรักผู้อื่นแล้ว ก็สามารถให้แก่เขาได้ และมีความสุขจากการให้นั้น กลายเป็นว่าให้ความสุขแก่คนอื่น แล้วตัวเองก็ได้ความสุข ใจที่มีความรัก ก็มีความสุขอยู่ขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อให้ด้วยความรักนั้น ก็ได้ความสุขเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง นี้คือวิถีทางของการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างหนึ่ง คือการที่จะรู้จักได้รับความสุขจากการให้แก่ผู้อื่น ในการอยู่ร่วมกันในวงการทำงาน ถ้าเราทำงานที่เห็นว่ามีคุณค่าเป็นประโยชน์ การทำงานนั้นก็เป็นทางนำไปสู่อุดมคติ เราก็ได้มีการฝึกฝนพัฒนาตนในการทำงานขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อทำงานนั้นร่วมกับผู้อื่น การที่อยู่ร่วมกันเป็นเพื่อนร่วมงาน นอกจากมีการฝึกตนในการทำงานแล้ว ก็ทำให้มีการฝึกตนในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยอีกชั้นหนึ่ง การที่จะทำตนให้มีความสุขจากการให้แก่ผู้อื่นนี้ ก็ทำได้หลายทาง เพราะการให้มีหลายอย่าง เริ่มแต่การให้วัตถุสิ่งของเป็นเบื้องแรก แต่ไม่ใช่แค่นี้หรอก เราสามารถให้ความเอื้อเฟื้อ ให้กำลังกายที่จะช่วยเหลือกัน ให้แรงงานในการทำธุระ ให้กำลังใจในการทำงาน ให้คำปลุกปลอบใจ ตลอดจนให้โอกาสแก่เขา เพื่อที่เขาจะได้เจริญเติบโต เช่น เราเห็นคนๆ หนึ่ง ทำอะไรไม่ได้อย่างใจเรา เราก็รู้สึกขัดใจเพราะเอาใจเราเป็นหลัก ทีนี้ถ้าเรารู้จักให้ คือ ให้โอกาสแก่เขาในการที่เขาจะพัฒนาตัวเองขึ้นมา พอเรารู้สึกว่าเราให้โอกาสแก่เขา ใจเราก็สว่างแล้วก็โปร่งขึ้นมา เราก็สามารถมีความสุขได้ ทนดูเขาได้ที่เขาทำไม่ได้อย่างใจของเรานี้ เรียกว่าให้โอกาส เพราะฉะนั้น การให้จึงมีหลายแบบ ให้วัตถุสิ่งของ ให้กำลังกายช่วยเหลือ ให้ความเอื้อเฟื้อร่วมมือ ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำความรู้ความเข้าใจ ให้ความเป็นกันเองสนิทสนม แล้วก็ให้โอกาส
เป็นธรรมดาว่า คนทั่วไป ตั้งแต่จะตั้งกิจการ ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำเอา คือ เก็บเอาผลประโยชน์ ถ้าเป็นคนทำงาน ก่อนเข้าทำงาน ก็ตั้งใจมาแล้วว่าจะมาเอา คือมาเอาผลตอบแทน เอาเงินเดือน เอาเครื่องเลี้ยงชีพ พอมาทำงานร่วมกับคนอื่น ก็คิดมาเอาอีก ถ้าไม่มีอะไรอื่นจะให้เอา ก็จะมาเอาเปรียบ อย่างน้อยก็ไม่ยอมเสียเปรียบใคร เมื่อมากมายหลายคนและทุกคนก็คิดแต่จะเอา สิ่งที่จะเอาได้ก็ไม่พอ ก็ต้องแย่งกัน กดขี่ข่มเหง ครอบงำกัน แล้วทุกคนนั่นแหละ ก็แห้งแล้ง โดดเดี่ยว กดดัน ไม่มีความสุข แต่ถ้าทุกคนคิดตั้งใจในทางที่จะให้ แล้วคอยหาโอกาสให้แก่กัน ก็กลายเป็นมีมากมายเหลือล้น สิ่งที่จะให้แก่กันนั้น ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือวัตถุสิ่งของ แล้วแต่จะมีอะไรและในโอกาสใด ก็ให้ไปตามแต่จะมีหรือจะให้ได้ อย่างน้อยก็ให้น้ำคำและน้ำใจ ซึ่งจะทำให้ทำงานอยู่ร่วมกันอย่างชุ่มชื่น อิ่มใจ ปลอดโปร่งและมีความสุข พูดสั้นๆ ก็คือให้ความสุขแก่กันนั่นเอง มีพุทธภาษิตว่า รู้จักให้ความสุข ก็ได้ความสุข คนที่ให้ความสุขแก่คนอื่น ถ้ามีน้ำใจจริงก็ย่อมได้ความสุขตอบแทน อย่างน้อยแทนที่จะตั้งใจว่าจะไม่ยอมเสียเปรียบใคร ก็เปลี่ยนเป็นตั้งใจเสียใหม่ว่า เราจะไม่ยอมเอาเปรียบใคร แต่ความจริงแล้ว ทุกคนมีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่นได้ ไม่อย่างโน้นก็อย่างนี้ ลองสำรวจตัวเองดูก็รู้ว่า เรามีอะไรพอจะให้แก่ผู้ร่วมงานและคนอื่นได้บ้าง ในด้านวัตถุ เรามีเงินทองสิ่งของพอจะเผื่อแผ่ช่วยเหลือใครได้ไหม ในด้านวิชาความรู้ ในด้านถ้อยคำ ในด้านแรงกาย และในด้านไมตรีสัมพันธ์ เรามีอะไรจะช่วยแนะนำ ให้กำลังใจ ให้ความสบายใจ ให้ความช่วยเหลือแสดงน้ำใจ และให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง เป็นต้น แล้วก็จะพบว่าทุกคนมีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นได้ คนละไม่น้อยทีเดียว