ชีวิตกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศรัทธากับกำลังใจ

ศรัทธาที่มองเห็นคุณค่า ความหมาย และประโยชน์ของงาน ก็จะทำให้มีกำลังใจเกิดขึ้น ศรัทธานี้เป็นแรงส่งไปสู่เป้าหมาย คนเราต้องมีแรงอันนี้ที่เรียกว่า กำลังใจ ถ้าไม่มีกำลังใจ จะทำอะไรจิตใจก็ห่อเหี่ยว เมื่อกำลังใจไม่มี กำลังกายแม้จะมีก็ไม่มีความหมาย บางทีมีกำลังกายแข็งแรง แต่ไม่สามารถนำกำลังกายนั้นออกมาใช้ได้ กำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง คนที่แข็งแรงซึ่งเห็นว่ามีกำลังกายมาก เป็นนักมวยที่เก่งกล้าสามารถ หรือเป็นนักวิ่ง วิ่งได้รวดเร็วแข็งแรงมาก แต่ถ้าเมื่อใดเขาหมดกำลังใจแล้ว เขาก็ไม่สามารถที่จะชกมวย ไม่สามารถที่จะวิ่งแข่งให้สำเร็จได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ นักเรียนไปสอบเข้าเรียนที่แห่งหนึ่ง หรือบางคนไปสอบเข้างานแห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็ไปดูผลการสอบ เขาเป็นคนแข็งแรงมาก เมื่อไปดูประกาศผลสอบ ก็มีความมุ่งหวังมาก อยากจะสอบได้ และการสอบได้ก็จะมีความหมายต่อชีวิต ต่อความหวังข้างหน้าของเขาเป็นอย่างมาก เมื่อไปดูรายชื่อ พอไม่เห็นชื่อ ไม่มีชื่อของตนในประกาศ รู้ตัวว่าตกแน่ ทั้งๆ ที่ร่างกายแข็งแรง แต่เข่าอ่อน บางทียืนแทบไม่อยู่ นี่ละ กำลังกายทั้งๆ ที่แข็งแรงแต่ไม่มีความหมายเพราะไม่มี กำลังใจ กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทีนี้ในทางตรงกันข้าม คนที่กำลังกายก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร แต่ถ้าเกิดกำลังใจขึ้นมา กำลังใจก็ทำให้เขาแข็งแรงทำอะไรได้ ยกตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ที่กำลังไม่สบาย ร่างกายก็ค่อนข้างอ่อนแอ พอดีมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ลูกๆ ซึ่งพ่อแม่รักมาก มีความเอาใจใส่มีเมตตา เรื่องที่จะต้องทำให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญ ความรักลูกทำให้พ่อแม่มีกำลังใจ ทั้งๆ ที่ร่างกายกำลังอ่อนแอ ก็ลืม บางทีตอนนั้นโรคไม่รู้หายไปไหน ทำเรื่องทำราว ทำธุระให้ลูกได้ จนกระทั่งเสร็จ พอเสร็จแล้วก็มานอนแบ็บต่อไป อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจแล้วกำลังกายก็มาได้ง่าย ถ้าไม่มีกำลังใจ แม้จะมีกำลังกาย กำลังกายนั้นก็เหมือนกับไม่มี หายหมด ดึงออกมาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นการมองด้านหนึ่งให้เห็นว่า กำลังใจเป็นหลักสำคัญ ถ้าให้ดีก็ต้องมีทั้งกำลังกายและกำลังใจ ถ้ากำลังใจดีแล้ว กำลังกายมาเสริม ก็ทำกิจทำการงานได้ สำเร็จผลเป็นอย่างดี กำลังใจนี้ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ต้องมีศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ

ศรัทธา คือความเชื่อ ความมั่นใจในคุณค่า ในประโยชน์ของสิ่งที่ตนกระทำอยู่ เมื่อทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเรามีศรัทธา เราเข้าใจความหมายของงานที่ทำ เรามีความเชื่อมั่นในคุณค่า ในประโยชน์ของงานนั้น เราก็มีกำลังใจที่จะทำ งานการก็ก้าวหน้าไปเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เรื่องศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งต่างๆ นี้ก็ไม่แน่นอนเสมอไป บางครั้งจิตของเราก็เปลี่ยนแปลง เราเคยมีศรัทธาในงาน แต่ต่อมาเราอาจจะเกิดปัญหา รู้สึกไม่แน่ใจในคุณค่าของงานนั้นขึ้นมา กำลังใจก็ถดถอย มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ จึงจะต้องมีศรัทธาที่ลึกซึ้งลงไปอีก ศรัทธาในงานในการก็จึงมาสัมพันธ์กับศรัทธาหรือความเชื่อในวิถีชีวิตของเราด้วย มันสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ถึงแม้ว่างานนั้นจะมีความหมายมีประโยชน์ แต่เรามองเห็นไม่สัมพันธ์กับแนวทางชีวิตที่เราคิดว่าดีงาม บางทีก็เกิดความขัดแย้ง ฉะนั้น ศรัทธาที่ลึกลงไปก็คือ ความเชื่อความมั่นใจต่อความหมายของวิถีชีวิตของเราว่า ชีวิตแบบไหนเป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ถ้าเราเชื่อในวิถีชีวิตแบบใดแล้ว ได้ดำเนินในวิถีทางนั้น อยู่ในวิถีชีวิตแบบนั้น แบบที่เราเห็นว่าดีมีคุณค่า ศรัทธาก็เกิดขึ้นลึกซึ้งลงไป ทีนี้ ถ้าศรัทธาในวิถีทางดำเนินชีวิตว่าชีวิตที่ดีเป็นอย่างนี้ และวิถีชีวิตนั้นก็เข้ากับงานอย่างนี้ด้วย สองอย่างสอดคล้องกัน ก็จะทำให้ศรัทธานี้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วก็จะเกิดผลและเกิดกำลังใจที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดีก็ต้องให้ทั้งสองอย่างนี้มาสอดคล้องกัน คนจำนวนไม่น้อยจะมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องนี้ คือ ในแง่งานการก็มองด้วยเหตุผล และเห็นแล้วว่า มันก็มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่มันไม่สอดคล้องกับชีวิตที่ดีงามที่เราเข้าใจ ไม่เข้ากับชีวิตแบบที่เราต้องการ ศรัทธาในวิถีชีวิตก็ไปขัดกับศรัทธาในเรื่องงาน ไม่กลมกลืนกัน ก็เกิดความขัดแย้ง ศรัทธาหักล้างกันเอง ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ก็เกิดความห่อเหี่ยว เกิดความท้อถอยขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของคน จะทำอย่างไรดีจึงจะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องมีศรัทธาที่ลึกซึ้งลงไปอีก ซึ่งเป็นเครื่องนำทาง และให้คุณค่าแก่วิถีชีวิตอีกชั้นหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.