ฉะนั้น ตามหลักที่ถูกต้อง เมื่อมีอามิสไพบูลย์ก็ต้องให้อามิสไพบูลย์นั้นเป็นพื้นฐานแก่ธรรมไพบูลย์ เวลานี้บ้านเมืองของเราเขาว่ากันว่ามีเศรษฐกิจดีพอสมควร คนที่ยากจนก็มี บางคนก็พูดว่าเศรษฐกิจบ้านเมืองเราก็ไม่ดีเท่าไร ยังมีความยากจนมาก คนจนก็ยังเยอะแยะ กระจายความเจริญไปไม่ทั่วถึง ฐานะคนห่างกันมาก อันนั้นก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเทียบกับบางประเทศ ประเทศเราก็มีฐานะเศรษฐกิจดีไม่น้อย คนที่อยู่กันสุขสำราญ ถึงขนาดที่ว่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไปก็เยอะ ปัญหาอยู่ที่ว่า เราเอาสภาพอามิสไพบูลย์ ที่มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมาเป็นฐานให้แก่ธรรมหรือเปล่า หรือเกิดความหลงละเลิงมัวเมาไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ
ถ้ามีความพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว ความพรั่งพร้อมของวัตถุกลายเป็นปัจจัยให้เราเกิดความประมาทมัวเมา อันนั้นก็เป็นทางเสื่อม แต่ถ้าเอาอามิสไพบูลย์ที่มีวัตถุพรั่งพร้อมนั้นมาเป็นอุปกรณ์เสริมธรรม สร้างสรรค์ความดีงามทำประโยชน์ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสามัคคีกัน ก็กลายเป็นความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก ปัญหาประเทศรวย แต่ประชาชนยากจนก็จะหมดไปเองด้วย การกระทำอย่างนี้ก็เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชตอนที่พระองค์มีอำนาจและกลับพระทัยหันมาประพฤติธรรมแล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ตอนแรกพระองค์ก็เป็นราชาที่เหี้ยมโหด เรียกว่า พระเจ้าจัณฑาโศก แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย คือคิดแต่จะแสวงหาความยิ่งใหญ่และการบำรุงบำเรอความสุขของตน ยกกองทัพไปรุกรานรบราฆ่าฟันประเทศอื่น เพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ และแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น พอปราบเขาได้ตนเองก็เป็นใหญ่สมปรารถนา แต่เมื่อพระองค์ได้มาสดับธรรมก็เปลี่ยนพระทัยกลับใจใหม่ แลเห็นว่าเราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติหาความยิ่งใหญ่ไปทำไม ไม่มีสาระแท้จริง แล้วยังก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่คนมากมาย
แต่ก่อนนี้หาทรัพย์สมบัติมาเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง และไปปราบปรามเขาเพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ แต่ตอนนี้เห็นว่าทรัพย์และอำนาจไม่มีความหมาย มองเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องชอบธรรมที่จะไปแย่งชิงเงินทองเขาและไปปราบปรามเบียดเบียนเขา
ทีนี้ พระเจ้าอโศกจะทำอย่างไร ลองทายกันดู พระเจ้าอโศกจะสละทรัพย์สมบัติและสละความยิ่งใหญ่นั้นทั้งหมดหรืออย่างไร พระเจ้าอโศกคิดออกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องสละโภคทรัพย์และความยิ่งใหญ่ แต่พระองค์เปลี่ยนใหม่ เอาทรัพย์สมบัติและอำนาจความยิ่งใหญ่มาเป็นอุปกรณ์ของธรรม แต่ก่อนนี้ ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือหาสิ่งบำเรอความสุขสำราญของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่คราวนี้เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในแนวทางใหม่ให้เป็นเครื่องมือแผ่ขยายธรรม สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และประโยชน์สุขแก่ประชาชนและโลกทั้งหมด
การปฏิบัติของพระเจ้าอโศกนี้ เป็นคติสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในเรื่องทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์อำนาจ คนบางคนมีความคิดดี มีสติปัญญาความสามารถ แต่ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ทำได้นิดเดียวและสำเร็จยาก เพราะไม่มีเครื่องมือในการทำงาน ไม่มีคนเชื่อฟัง แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีทรัพย์และอำนาจ พอมีความคิดดีๆ ก็เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในทางทำความดีและทำการสร้างสรรค์ ก็ออกเป็นงานเป็นการได้ผลดีอย่างกว้างขวางและสำเร็จทันทีเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ คือเอามาเป็นเครื่องมือของธรรม หรือรับใช้ธรรม ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
พระเจ้าอโศกก็ได้เปลี่ยนทันทีว่า ต่อไปนี้จะเอาทรัพย์สมบัติและอำนาจมาใช้เป็นอุปกรณ์เผยแผ่ธรรม ขยายความดีงามและประโยชน์สุขออกไปในโลก ทรงประกาศไว้ในศิลาจารึกมีสาระสำคัญว่า ยศ (ความยิ่งใหญ่ อำนาจ ตลอดจนทรัพย์สมบัติ) ไม่มีความหมาย ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้คนประพฤติธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยส่งเสริมการเผยแผ่ธรรม สนับสนุนการประกาศพระศาสนาเป็นการใหญ่ การที่เราได้พบเห็นพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมของพระเจ้าอโศก ที่ได้ทรงใช้ทรัพย์สมบัติและยศอำนาจในทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม คือใช้เป็นอุปกรณ์เผยแพร่ธรรม
ตามที่อาตมภาพได้พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คนเราจะอยู่กันในโลกได้ดีก็ต้องอยู่ด้วยการสงเคราะห์ ๒ ประการ คือ อามิสสงเคราะห์โดยมีธรรมสงเคราะห์ด้วย สำหรับอามิสสงเคราะห์นั้นในแต่ละครอบครัวก็เริ่มมาจากบิดามารดา คือคุณพ่อคุณแม่ของเรา และถ้าท่านให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ในบ้านเรือนในครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานก็มีความสามัคคีกัน ลูกหลานนั้นก็จะเอาอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ ออกไปเผยแผ่ขยายกว้างขวางออกไปด้วย เมื่อแต่ละครอบครัวปฏิบัติได้ตามหลักอย่างนี้ ประชาชนทั่วทั้งสังคมก็จะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข
การที่ลูกหลานมีความสามัคคีก็เป็นการประพฤติธรรม แสดงว่าต้องมีธรรมสงเคราะห์อยู่ในครอบครัว และเมื่อเรามีทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์แล้ว ก็จะมีอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ต่อไป
หมายเหตุ: ธรรมกถาในการบำเพ็ญทักษิณานุประทาน ครบ ๑๐๐ วัน คุณพ่อคุนเกา แซ่ตั้ง วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕