จากสุขในบ้าน สู่ความเกษมศานติ์ทั่วสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ดูให้ดี ปัญหาอยู่ที่คนร้าย หรืออยู่ที่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าทรงระวังมากในเรื่องอามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์ ทรงเตือนให้เตรียมสร้างธรรมไพบูลย์ไว้ให้พร้อม และให้ไม่ประมาทในเวลามีอามิสไพบูลย์ เช่น ก่อนที่จะปรินิพพาน พระองค์ก็ได้ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องให้พุทธบริษัททุกฝ่ายมีคุณสมบัติ อย่างน้อย ๓ ประการ จะเป็นพระคือภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ทุกคนควรจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ จึงจะถือว่ามีธรรมไพบูลย์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาวได้

พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไข ๓ ประการนี้ไว้ในตอนจะรับอาราธนาปรินิพพาน มีเรื่องว่ามารมาอาราธนาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่าจะยังไม่ปรินิพพาน และพระองค์ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ ๓ ประการ ต่อมาครั้งสุดท้ายมารก็มาอาราธนาอีกโดยทวงว่าเงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว ขอนิมนต์ปรินิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสำรวจดู ปรากฏว่าเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๓ ประการ ครบแล้วจริง พระองค์ก็เลยรับอาราธนาปรินิพพานแล้วทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน ในที่นี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปลงพระชนมายุสังขาร ก็คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ว่า

พุทธบริษัททุกประเภท คือทั้ง ๔ พวก จะต้องมีความสามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะต้องทำหน้าที่ของพระศาสดาต่อไป หมายความว่าพระองค์ทรงฝากพระศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ที่มีความสามารถ ๓ ประการ ความสามารถ ๓ ประการนี้มีอะไรบ้าง

๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรม เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้นๆ ว่า รู้คำสอนและปฏิบัติได้ถูกต้อง

๒. ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น

(๑) จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และ

(๒) ต้องมีน้ำใจประกอบด้วย เมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอน ก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอาธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป

๓. ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่าจาบจ้วงนี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่ากำราบปรัปวาทได้

เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓ ประการนี้ เราจะต้องเอามาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชนว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าโดยหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว ก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน

เราไม่ต้องไปคำนึงมากนัก เรื่องพระที่ประพฤติเสียหายอะไรนั้นเป็นเรื่องรองลงไป คุณสมบัติ ๓ อย่างของตัวเราเองนี้แหละสำคัญกว่า เรื่องพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีนั้น ถ้ามีขึ้นมาเราถือว่าเป็นโจร เป็นคนร้ายเข้ามาทำลายพระศาสนา เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนานี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเรา แต่ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนั้น โจรจะเข้ามาหรือไม่ เราก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ดีร้ายตัวเราอาจจะกลายเป็นโจรไปเสียเอง แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติสามประการนี้แล้วเราก็รักษาพระศาสนาของเราไว้ได้ ขอทวนอีกครั้ง

๑. รู้เข้าใจธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเอง

๒. มีความสามารถและเอาใจใส่ที่จะบอกกล่าว ชี้แจงสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น

๓. เมื่อมีลัทธิคำสอนที่ผิดพลาดแปลกปลอมขึ้นมาก็สามารถกล่าวชี้แจงกำราบได้

สามประการนี้แหละเป็นธรรมไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เราปฏิบัติถูกต้อง ธรรมก็ไพบูลย์อยู่ในตัวเราแล้ว เมื่อเราเอาไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติกันกว้างขวางยิ่งขึ้น ธรรมก็ไพบูลย์กว้างขวางออกไปทุกที แม้จะมีคำสอนอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นมาก็ชี้แจงแก้ไขได้ อุปสรรคก็หมดไป นี่แหละเป็นธรรมไพบูลย์ที่แท้จริง

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.