ถ้าพ่อแม่สงเคราะห์ลูกด้วยอามิสสิ่งของอย่างเดียว ไม่สงเคราะห์ด้วยธรรม ไม่ให้คำแนะนำสั่งสอน ไม่รู้จักอบรม เลี้ยงดูลูกแต่กาย ไม่เลี้ยงดูจิตใจ ต่อไปอาจจะเกิดโทษได้เพราะอามิสสิ่งของนั้นเป็นที่ตั้งของความโลภได้ พอมีความโลภแล้วก็จะมีความต้องการขยายออกไป อยากได้ไม่สิ้นสุด แล้วก็มีความหวงแหน ทำไปทำมาก็กลายเป็นการสงเคราะห์ที่นำมาซึ่งการแก่งแย่งกัน และเกิดการทะเลาะวิวาทได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ให้แต่อามิสสงเคราะห์อย่างเดียว ไม่ให้ธรรมสงเคราะห์ อย่างน้อยลูกก็ไม่มีความสามัคคีกัน จึงเกิดโทษได้
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ต้องสงเคราะห์ด้วยธรรม โดยแนะนำอบรมสั่งสอนปลูกฝังจริยธรรม ศีลธรรม ให้คุณธรรมความดีงามเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของลูก ให้ลูกมีความซาบซึ้งในความดีงาม และซาบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงามให้เป็นการเลี้ยงดูชนิดที่ เลี้ยงทั้งกาย เลี้ยงทั้งใจ หรือ กายก็ให้ ใจก็เลี้ยง ไม่ใช่เลี้ยงแต่กาย ใจไม่เลี้ยงด้วย ถ้าเลี้ยงแต่กายไม่เลี้ยงจิตใจด้วย ก็จะเกิดผลเสียมากมายต่อชีวิตของเด็กเอง และต่อสังคม ฉะนั้นจึงต้องเลี้ยงใจด้วย ให้ใจเจริญงอกงาม เป็นใจที่ดีงาม เป็นคนที่เจริญสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมไว้เป็นคู่กัน ให้มีทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกถูกต้อง โดยให้ทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์อย่างนี้แล้ว ธรรมสงเคราะห์ก็จะมาจัดอามิสสงเคราะห์ให้เกิดขึ้นและพอดีอีกทีหนึ่ง เช่นอย่างลูกๆ นี้ ได้ธรรมสงเคราะห์จากพ่อแม่แล้ว ลูกๆ มีธรรมก็มีความรักใคร่กัน มีความสามัคคีปรองดองกัน พอได้อามิสจากพ่อแม่ ก็เอาอามิสวัตถุสิ่งของที่ได้นั้นมาเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ทำให้พี่น้องรักกันมีความสามัคคีกันยิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความสุข ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และลูกแต่ละคนนั้นก็มีทุนดีทางจิตใจและทางปัญญา ที่จะดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อไปในสังคม
ต่อแต่นั้น จากการที่มีอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ในครอบครัวระหว่างพี่น้อง ก็ขยายออกไปสู่ญาติมิตรเพื่อนบ้านและวงสังคมชุมชน ทำให้มีการสงเคราะห์กันกว้างขวางออกไป เพราะการสงเคราะห์ด้วยอามิสวัตถุสิ่งของและการสงเคราะห์ด้วยธรรม ที่มีดุลยภาพ เป็นไปอย่างสมดุลต่อกัน จะไม่ขัดขวางทำลายกัน แต่จะเสริมกันขยายวงกว้างขวางออกไปสู่ความไพบูลย์ แล้วก็จะทำให้สังคมร่มเย็นสุขสันต์กันโดยทั่ว การสงเคราะห์ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในบ้านของเรา จากการตั้งต้นของพ่อแม่ก็แผ่ขยายไปกว้างขวางทั่วทั้งสังคม
ด้วยการดำรงอยู่ในฐานะของผู้ให้กำเนิด พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณธรรม และปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลของลูก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งสำคัญ ๓ อย่างคือ
๑. เป็นพระพรหม ของลูก โดยเป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้ลูกได้ชีวิตนี้มาดูและเป็นอยู่ในโลก พร้อมทั้งบำรุงเลี้ยงให้เจริญเติบโตทั้งกายและใจ ด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสังคหวัตถุ ๔ อย่าง คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา
๒. เป็นบูรพาจารย์ ของลูก โดยเป็นอาจารย์คนแรก หรือครูต้น ผู้อบรมสั่งสอนให้รู้จักวิธีการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เริ่มแต่วิธีกินอยู่ หลับนอน ขับถ่าย หัดยืน หัดเดิน หัดพูดจาปราศรัย รู้วิธีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่น นำลูกเข้าสู่สังคมของมนุษย์ ตลอดจนสอนวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ฝึกฝนความคิดและคุณธรรม ก่อนอาจารย์ใดอื่น
๓. เป็นอาหุไนยบุคคล ของลูก โดยเป็นดุจพระอรหันต์ ที่มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด ซื่อตรง ไม่มีภัยอันตราย เข้าใกล้และอยู่ด้วยได้อย่างไว้วางใจ และสนิทใจโดยสมบูรณ์ เป็นผู้พร้อมที่จะให้อภัย และปลอบขวัญยามมีภัย ควรแก่การกราบไหว้เคารพบูชาของลูกตลอดกาล
พ่อแม่เป็นหลักโดยเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองสูงสุดและเป็นศูนย์กลางการบริหารในบ้าน ครอบครัวเป็นสังคมพื้นฐาน บ้านเป็นโลกเริ่มแรกของลูกๆ เมื่อพ่อแม่ทำหน้าที่สมบูรณ์ดี และลูกๆ ดำเนินเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้อง ครอบครัวมีความสุขเจริญงอกงาม ความดีงามและความสุขสันติ์ก็แผ่ขยายออกไปในสังคมตามหลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ดังได้กล่าวมา ทำให้โลกอยู่ดีมีสันติสุข
แม้ในทางพระศาสนาก็เหมือนกัน การที่ญาติโยมถวายปัจจัย ๔ และไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ในแง่หนึ่งก็เป็นอามิสสงเคราะห์เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของบุญกุศลที่มีความหมายเลยต่อไปถึงการบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ในเวลาเดียวกันนั้น พระสงฆ์ก็จะสงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมสงเคราะห์ คือสงเคราะห์ด้วยธรรมเพื่อให้โลกนี้อยู่ในภาวะที่สมดุล หรือให้มีดุลยภาพเกิดขึ้น คือให้มีอามิสและธรรม ๒ อย่างคู่กันไป โดยเอาธรรมมาช่วยเสริม ตรึง และนำทางแก่อามิส แต่ต้องยอมรับว่าโดยทั่วไป ความสมดุลอย่างนี้ หาไม่ค่อยได้ เพราะคนมักทำไม่ครบถ้วน สังคมจึงมีปัญหาอยู่เรื่อย อย่างน้อยก็รักษาความเจริญไว้ไม่ได้ พอสังคมหนักไปทางอามิสด้านเดียวก็เกิดปัญหาทุกที มีปัญหาอย่างไร