จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จัดระเบียบสังคมได้ผลดี
เมื่อมีการจัดสรรเศรษฐกิจไปด้วย

“วินัย” นั้น แปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่า คนเรานี้ตามปกติก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสหนา เราจึงมีวิธีการจัด เช่น การฝึก การศึกษา เพื่อทำให้คนดีขึ้น นำเขาไปสู่คุณสมบัติ หรือภาวะที่วิเศษขึ้นไป นี่คือวินัย

ฉะนั้น วินัยจึงมีความหมายเป็นการฝึก โดยเฉพาะเป็นเรื่องของสงฆ์ เป็นเรื่องของชีวิตส่วนรวมหรือสังคมทั้งหมด

เมื่อวินัยได้ผล คนก็มีศีล หมายความว่า ศีลคือการที่คนตั้งอยู่ในวินัย เริ่มด้วยมีศีล ๕ ซึ่งทำให้สังคมมั่นคงปลอดภัย อาชญากรรมแทบไม่มีเหลือ คนสามารถดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกคล่องตัว ไม่ติดขัดหวาดกลัว

วินัยที่จะกำกับให้สังคมมีระเบียบและสงบเรียบร้อยมั่นคงอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก ก็คือ ระบบการปฏิบัติหน้าที่ต่อกันของคนที่อยู่ในสถานะต่างๆ ให้ถูกต้องตามสถานะแห่งความสัมพันธ์ต่อกัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในหลักทิศ ๖ คือ การปฏิบัติต่อกันระหว่าง บิดามารดา-บุตรธิดา ครูอาจารย์-ศิษย์ สามี-ภรรยา เพื่อน-เพื่อน คนงาน-นายงาน พระสงฆ์-ชาวบ้าน

ถ้าประชาชนปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้อง แม้แต่เพียงแค่ในครอบครัว ที่ทำให้บ้านมีความสุข สังคมก็แทบจะหมดปัญหา จะมีแต่ความผาสุกสามัคคี และความมั่นคงที่ท่านเรียกว่าความสวัสดี

แต่สังคมที่สงบเรียบร้อยนั้นจะดำรงอยู่ด้วยดีได้ ก็ต้องทำทานควบคู่ไปด้วย พร้อมกับการใช้วินัยเพื่อทำให้คนมีศีล

ทานก็คือการแบ่งปัน จัดสรรอำนวยวัตถุปัจจัยทรัพย์สินเงินทองเครื่องยังชีพ เพื่อให้มีเศรษฐกิจพอเพียง

ทานจะช่วยเสริมวินัยด้านลบ ช่วยให้คนที่ด้อยกำลัง ด้อยโอกาส ไม่ต้องละเมิดศีล ๕ หรือละเมิดวินัย เพราะถูกบีบคั้นด้วยความขาดแคลนยากไร้หรือความจำเป็นของชีวิต ในขณะที่วินัยด้านบวกช่วยให้คนที่แม้จะมั่งมี ก็ไม่ก่อความชั่วร้ายเพราะความมัวเมา และเอาทานมาส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการให้ทุนส่งเสริมสนับสนุนคนทำความดี

ทานเป็นการทำบุญข้อที่หนึ่ง ทานนี้มาพยุงศีลไว้ เพราะมนุษย์จะอยู่ดีสงบไม่ได้ถ้าขาดปัจจัยสี่เป็นจุดเริ่มต้น ฉะนั้นจึงต้องมีอาหารเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แต่มนุษย์ในสังคมนี้ มีกำลัง มีความสามารถ มีโอกาส ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน

ถ้าแต่ละคนต่างก็คิดจะเอา จะได้อย่างเดียว คนที่ไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถ ด้อยโอกาส ก็จะอยู่ได้ด้วยความยากแค้นลำบาก ทำให้มีการแย่งชิงเบียดเบียนกันมาก สังคมก็ไม่มีความสงบสุข

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นด้วยข้อปฏิบัติเบื้องแรกคือให้มีการให้ ว่าท่านทั้งหลายอย่าคิดแต่จะเอาจะได้อย่างเดียวนะ ต้องมีการให้คู่ไปด้วย จะได้มีชีวิตและสังคมที่มีความสมดุล

เมื่อมีการให้ก็จะได้ไปปิดช่องอีกในแง่ที่ว่า ความชั่วร้ายจำนวนมากเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีทาง เช่นทำมาหากิน เกิดความยากไร้ ทำให้เสียภูมิต้านทานในการที่จะดำรงตนในความดี หรือในภาวะปกติคือศีล ก็เลยต้องไปละเมิดก่อการเบียดเบียนกัน เช่น มีการลักขโมยเป็นต้น

ฉะนั้น ท่านจึงให้มีทานมาช่วยค้ำจุนสังคมไว้ เป็นการปิดช่องที่จะทำให้เกิดความชั่วร้าย การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ทานนี้ก็ต้องเป็นทานที่เกิดจากการพินิจพิจารณา รู้จักพิจารณาแล้วจึงให้ ที่เรียกว่าวิไจยทาน

มิฉะนั้น ก็อาจจะกลายเป็นทานที่ไปส่งเสริมให้คนเกียจคร้านเป็นต้น หรือให้แก่คนทำการร้าย ซึ่งช่วยให้เขามีกำลัง แล้วยิ่งทำการร้ายได้มากขึ้น เมื่อมีวิไจยทาน ก็เป็นทานที่ให้ด้วยพิจารณา จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา

ทานนี้เป็นข้อแรก ในหลักการยึดเหนี่ยวประสานสังคม ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ หมายความว่า นอกจากทาน คือการให้การแบ่งปันแล้ว ก็ต้องมีการช่วยเหลือกันด้วยวาจา ที่เรียกว่า ปิยวาจา การช่วยเหลือกันด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ ที่เรียกว่า อัตถจริยา และการมีความเสมอภาค เอาตัวเข้าสมาน ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน ที่เรียกว่า สมานัตตตา ด้วย จึงจะเป็นหลักประกันให้สังคมมั่นคงมีเอกภาพและสงบสุขอย่างแท้จริง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.