จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รื้อฟื้นความหมายที่แท้ของสังฆะขึ้นมา
ก็กอบกู้พระพุทธศาสนาให้กลับรุ่งเรืองมั่นคงได้

แต่น่าเสียดายว่า เวลาผ่านมานานๆ ความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป ก็ชักแคบและคลาดเคลื่อน หรือเพี้ยนไป เวลานี้

๑. พูดถึงพระสงฆ์ ก็มักเข้าใจแค่ว่าเป็นพระภิกษุแต่ละรูปๆ แยกไม่ออกระหว่างพระภิกษุกับพระสงฆ์

๒. ถวายสังฆทาน ก็มองอยู่แค่ตัวพิธี ไม่เห็นความหมาย ซึ่งมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนรวมเพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่

พระภิกษุแต่ละรูปแต่ละองค์ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นบุคคลเท่านั้น จะมีความหมายเป็นสงฆ์ได้ต่อเมื่อสงฆ์จัดท่านมาเป็นตัวแทน หรือเรามองท่านในฐานะเป็นตัวแทนที่สื่อโยงความคิดจิตใจของเราไปสู่สงฆ์ส่วนรวม

ผู้ถวายสังฆทานจะต้องมีเจตนาที่ตั้งใจว่า สิ่งของซึ่งเราถวายแก่พระภิกษุที่มานั่งประชุมอยู่นี้ เป็นการถวายในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยกันดำรงพระศาสนาไว้ และช่วยกันนำหลักธรรมคำสั่งสอนมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ถ้าทำใจอย่างนี้ จิตใจก็จะกว้างขวาง และทำให้เกิดความอิ่มใจ มีปีติ และความสุขว่า การที่ได้ถวายทานนี้ เป็นการถวายเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งหมด เราได้มีส่วนร่วมช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ และพระพุทธศาสนานี้เมื่อดำรงอยู่ ก็จะได้ช่วยให้ธรรมคงอยู่ในสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก

ทั้งนี้ เป็นไปตามคติของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระศาสนานี้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน ก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

สรุปว่า คนไทยจะต้องรื้อฟื้นความคิดความเข้าใจและจิตสำนึกเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่สำคัญ ๒ อย่าง และเรื่องสังฆทานอีก ๑ รวมเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ต้องเข้าใจคำ “พระสงฆ์” ว่าหมายถึงสงฆ์ส่วนรวม ที่รักษาสืบทอดธรรม และดำรงวิถีชีวิตแห่งวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงจัดวางไว้ จนมาถึงพวกเรา

๒. ต้องระลึกอยู่เสมอถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ให้เคารพสงฆ์ เห็นแก่ความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวม ซึ่งเป็นที่อาศัยและเกื้อหนุนให้เราแต่ละบุคคลสามารถพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามมีความสุขยิ่งขึ้นไป

๓. ต้องถวายสังฆทานโดยมองเห็นความหมายว่า เป็นการที่เราได้ร่วมทำนุบำรุงสงฆ์นั้นให้ดำรงอยู่ด้วยดี เพื่ออำนวยธรรมและประโยชน์สุขแก่บุคคลทั้งหลายสืบต่อไปอย่างยั่งยืนนาน

นี้คือหลักการในเรื่องสังฆทาน เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ผู้ที่ถวายสังฆทานก็จะมีความเข้าใจ และความตั้งใจที่ถูกต้อง คือทั้งทำด้วยปัญญา และทำด้วยจิตใจที่มีความโปร่งโล่งกว้างขวางเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใสอย่างแท้จริง คือได้ทั้งจิตใจดีงาม และได้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลสมบูรณ์

ทำไปแล้วก็รู้ว่า ผลนี้จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เราได้มีส่วนร่วมเกื้อหนุนให้สงฆ์ดำรงธรรมไว้ด้วยดีเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

เมื่อพูดถึงหรือนึกถึง สงฆ์ก็ดี สังฆทานก็ดี ก็ขอให้ชาวพุทธระลึกถึงหลักการเคารพโดยเห็นความสำคัญของส่วนรวม ถือความดีงามและประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่อย่างอิงอาศัยกันกับความดีงามและประโยชน์สุขของแต่ละบุคคล ดังกล่าวมานี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.