จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สังฆทาน เตือนใจให้นึกถึงคติที่ถือส่วนรวมเป็นใหญ่

การถวายสังฆทานนั้น เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันมา ถือว่าได้บุญมาก และมีความสำคัญทั้งในแง่ของพระพุทธศาสนา และในแง่วัฒนธรรมประเพณี

ในแง่วัฒนธรรมประเพณีนั้น ก็เป็นเรื่องที่สืบต่อกันมาในสังคมของเรา โดยเกิดจากการนับถือพระพุทธศาสนานั่นเอง หมายความว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา

การที่เรานิยมกันว่า การถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้ผลมาก ก็เพราะมีพุทธพจน์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้น มีผลมากกว่าถวายแก่บุคคล

ตามหลักธรรม จำแนกทานเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. ทานที่ถวายแก่สงฆ์ ซึ่งในพระไตรปิฎกแท้ๆ เรียกว่า “สังฆคตา ทักขิณา” แปลว่า ของถวายที่ไปในสงฆ์ หรือทานที่ถวายอุทิศสงฆ์ (สงฺฆํ อุทฺทิสฺส ทานํ) แต่เรามาเรียกกันสั้นๆ ภายหลังว่า สังฆทาน

๒. ทานที่ถวายจำเพาะบุคคล เช่นถวายแก่ภิกษุ ก ภิกษุ ข เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน หรือเรียกตามภาษาของพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเองว่า ปาฏิปุคคลิกา ทักขิณา

พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกไว้ว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์นั้นมีหลายอย่าง ตั้งต้นแต่ทานที่ถวายแก่สงฆ์ครบทั้งสองฝ่าย คือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี่เรียกว่าสังฆทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์

รองลงมา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เหลือแต่สงฆ์สองฝ่าย มีภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

ต่อจากนั้นก็อาจจะเป็นภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว เป็นต้น จนกระทั่งแม้แต่ทานที่ญาติโยมแจ้งแก่สงฆ์ว่าขอให้จัดพระภิกษุจำนวนหนึ่งเป็นตัวแทนของสงฆ์มารับ ก็เป็นสังฆทาน

ส่วนทานที่ถวายเป็นปาฏิปุคคลิก คือจำเพาะบุคคลนั้น ก็ตั้งแต่ถวายแด่พระพุทธเจ้า ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายแก่พระอรหันตสาวก ตลอดจนทานที่ให้แก่คนทั่วไป แม้แต่ให้แก่คนที่ไม่มีศีล จนกระทั่งให้แก่สัตว์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าเป็นทานที่ให้จำเพาะบุคคล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีทานจำเพาะบุคคลอันใดที่จะมีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์ ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญทานที่ถวายแก่สงฆ์ คือส่วนรวม

คำว่า “สงฆ์” นั้นแปลว่า หมู่ หรือชุมชน หมู่หรือชุมชนที่จะเป็นสงฆ์ ก็คือหมู่หรือชุมชนที่มีการจัดตั้งวางระบบระเบียบเป็นอย่างดี มีอุดมคติ มีจุดมุ่งหมาย ว่าจะอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ เพื่อประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม อย่างพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็คือชุมชนที่อยู่ร่วมกันเพื่อเจริญไตรสิกขา เพื่อจะได้ฝึกฝนตนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเคารพธรรม และเมื่อสงฆ์(ที่พระองค์ตั้งขึ้น) เจริญใหญ่ขึ้น ก็ทรงเคารพสงฆ์ด้วย (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) คือ ทรงให้ความสำคัญแก่ส่วนรวม ถือส่วนรวมเป็นใหญ่ มุ่งที่ประโยชน์ส่วนรวม

ชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่นำเราให้เข้าถึงธรรม ชาวพุทธถือธรรมเป็นใหญ่เป็นมาตรฐานสูงสุด ชาวพุทธเคารพสงฆ์มุ่งทำนุบำรุงสงฆ์ส่วนรวมที่ดำรงรักษาหลักการและวิถีชีวิตแห่งธรรมวินัยสืบมา

พระพุทธศาสนานี้มิใช่ดำรงอยู่ได้ด้วยบุคคล แต่ต้องอาศัยสงฆ์ คือส่วนรวมทั้งหมด ชาวพุทธเราถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จึงนิยมถวายสังฆทานกันสืบมา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.