จักรใด ขับดันยุคไอที

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำบุญครบ ๕๐ ปี ที่มีวันอาสาฬหบูชา

ต่อไปเรื่องที่สอง ก็คือการทำบุญวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นตัววันจริงที่ตรงในวันนี้ อันมีพิธีสำคัญอยู่ที่การเวียนเทียน ญาติโยมจำนวนมากมุ่งมาเวียนเทียน

เวียนเทียนนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าพรรษา แต่เป็นเรื่องของอาสาฬหบูชา และเรื่องวันอาสาฬหบูชามีความหมายว่าอย่างไร ก็แทบจะไม่ต้องอธิบาย เพราะถือว่ารู้กันอยู่แล้ว อาจจะพูดพาดพิงเพียงนิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม อาสาฬหบูชาครั้งนี้มีข้อที่ควรจะเอ่ยถึงเป็นพิเศษหน่อยหนึ่ง คือว่า วันนี้ต้องถือว่าเป็นวันฉลองครบ ๕๐ ปีของการเกิดขึ้นแห่งพิธีอาสาฬหบูชา หลายท่านลืมหมดแล้ว

วันอาสาฬหบูชาเพิ่งเกิดขึ้นมาได้ ๕๐ ปี ครบครึ่งศตวรรษวันนี้ จะถือเป็นวันฉลองก็ได้ แต่ไม่มีใครคิดฉลองเลย เรื่องเป็นอย่างไร

แต่ก่อนนี้เคยเล่าให้ฟัง ดูเหมือนจะเล่าหลายครั้งแล้วว่าประเพณีทำบุญบูชานี่ปกติแต่เดิมมาเรามีวันเดียว คือวันวิสาขบูชา คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

แล้วเนื่องกันกับวันวิสาขบูชา พอปรินิพพานแล้ว ก็เลยมีอีกวันหนึ่งพ่วงมา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่เรียกว่า“วันอัฏฐมีบูชา” คือวันแรม ๘ ค่ำ ต่อจากวันวิสาขบูชา

โบราณมีแค่ ๒ วันเท่านี้ แต่ปัจจุบันวันอัฏฐมีบูชาแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว เพราะแทบไม่ได้จัดกัน ก็เหลือเพียงวันวิสาขบูชาเป็นหลักมาตลอด

วิสาขบูชานี้ ในประเทศพุทธศาสนาก็มีทุกประเทศ แม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้ถือจันทรคติ อย่างญี่ปุ่นเขานับวันวิสาขบูชาตามแบบปฏิทินสุริยคติ คือแบบเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ฯลฯพฤษภาคม เขาไม่ได้นับเดือนหกอย่างเรา

ทีนี้ของเราก็มีวิสาขบูชามาตลอด ในสมัยอยุธยาจัดเป็นงานใหญ่ แต่พอมารัตนโกสินทร์หลังกรุงแตกแล้ว ชาวพุทธไทยแตกกระสานซ่านเซ็น ประเพณีก็เลยเสื่อมหาย จนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชมี ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงเสนอฟื้นฟูขึ้นมา ให้ทำกันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

เราต้องยอมรับว่า วิสาขบูชาของเราไม่เข้มแข็งมั่นคงเหมือนในศรีลังกา ที่เขาสืบทอดมาแต่โบราณจนปัจจุบัน เขามี ๗ วัน ๗ คืน ทำกันเป็นการใหญ่มาก

เอาละ เป็นอันว่า ของไทยเราก็มีวิสาขบูชาเป็นแกนมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเป็นผู้นำจัดให้มีพิธีบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ ขึ้น ที่เรียกว่า “มาฆบูชา”

เวลาผ่านมาๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลไทยได้จัดงานบุญใหญ่เรียกว่า “ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า ฉลองกึ่งพุทธกาล

พอทำบุญฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษเสร็จ ทางคณะสงฆ์ตอนนั้นมีการปกครองแบบเก่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งมีคณะสังฆมนตรี

ตอนนั้นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ชื่อว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ อยู่วัดมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ แต่เป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ท่านก็เสนอขึ้นมาว่า วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนานี้ น่าจะถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรฉลองหรือทำบุญบูชาด้วย

คณะสังฆมนตรีก็เสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็เห็นด้วย และได้ประกาศให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันบูชาเนื่องในการแสดงปฐมเทศนาประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

นั่นคือ ปีถัดจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ก็เป็น พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อนับมาถึงวันนี้ก็จึงครบ ๕๐ ปี

เพราะฉะนั้น วันนี้จึงเป็นวันครบ ๕๐ ปีของการมีพิธีอาสาฬหบูชา นี่ก็เลยเล่าเป็นความรู้ให้ญาติโยมฟัง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.