จักรใด ขับดันยุคไอที

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำบุญ อยู่แค่สังฆทานไม่พอ ต้องต่อให้ครบสาม หรือสิบ

เรื่องถวายสังฆทานนั้น ถ้าทำอย่างวันนี้ ก็เต็มที่เลย แต่ถ้ามาถวายสังฆทานกันแบบกระจัดกระจาย อย่างที่พบบ่อยๆ นั่นสิเป็นปัญหามาก พระก็อยากจะฉลองศรัทธาโยม แต่กำลังตัวเองก็ไม่พอ โดยเฉพาะกำลังในแง่เวลา

จึงต้องทั้งขอทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือโยมว่าการทำบุญอุปถัมภ์พระนั้น ไม่ใช่เฉพาะด้วยทาน หรือบำรุงด้วยวัตถุปัจจัย ๔ เท่านั้น แต่เราสามารถอุปถัมภ์ด้วยการสนับสนุนศาสนกิจ คือ ให้พระมีเวลาไปทำงานของท่าน ไปให้การศึกษา ไปอบรม ไปสั่งสอนต่างๆ ถ้าโยมช่วยอย่างนี้ ก็เป็นการทำบุญด้วย

การที่พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ยั่งยืนนานนั้น ทานหรือพวกวัตถุปัจจัยนั้นเป็นเพียงเครื่องอุดหนุนนะ โยมต้องเข้าใจ คือเป็นเครื่องอุดหนุนเพื่อให้พระมีกำลังทำงานที่เรียกว่า ศาสนกิจ

พระศาสนาอยู่ได้ด้วยศาสนกิจ ที่แท้ คืองานของพระที่ไปให้การศึกษา อบรม สั่งสอน เผยแพร่ธรรมะนี่แหละ

เพราะฉะนั้น โยมจะต้องนึกไว้ว่า การที่เรามาถวายทาน ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีกำลังไปทำงานเหล่านี้

ทีนี้ ถ้าทานมีพอแล้ว วัตถุปัจจัยมีมากแล้ว โยมก็อุปถัมภ์ให้พระมีกำลังไปทำงานด้วยการให้เวลา เป็นต้น โยมก็ได้บุญได้กุศลเพิ่มขึ้นไป

แม้แต่เพียงทราบว่าพระท่านทำงานสอนในวัดก็ตาม ไปสอนนอกวัดก็ตาม แล้วโยมชื่นใจด้วย นี่โยมก็ได้บุญแล้ว เรียกว่าเป็นปัตตานุโมทนามัยกุศล

ลองไปดูซิ หลักการทำบุญมีตั้ง ๑๐ อย่าง ที่เรียกบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ไม่ใช่ติดอยู่แค่ทาน เมื่อไรก็ทานๆ ๆ ๆ แต่ศีล ภาวนา ไม่ก้าวหน้าไปเลย

แล้วที่แบ่งย่อยเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น ควรจะทำกันให้ครบ แล้วบุญที่สำคัญมากในที่สุดก็มาบรรจบที่ปัญญา

รวมแล้วก็คือ เราทำบุญทางวัตถุ (ทาน) แล้วก็บุญทางพฤติกรรม กาย วาจา (ศีล) ต่อด้วยบุญทางจิตใจ (จิตตภาวนา) ไปเต็มกันที่บุญทางปัญญา (ปัญญาภาวนา)

ถ้าอยู่แค่ทาน เราก็อยู่แค่ขั้นวัตถุเท่านั้น

จริงอยู่ ถ้าเราทำทานอย่างถูกต้อง ก็ไม่ใช่อยู่แค่วัตถุอย่างเดียว เวลาถวายทานเราก็ต้องมีจิตใจ ต้องมีเจตนา มีศรัทธา ใจจึงมาด้วย ช่วยทำให้พฤติกรรมต้องดีไปเอง คือเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกื้อกูล ทำนุบำรุง นี่คือศีลก็มา และจิตใจก็ดี ตั้งแต่มีเมตตาปรารถนาดี มีความเคารพ สดชื่นเบิกบานผ่องใส ทำทานพร้อมกับได้บุญทางจิตใจ

พอถวายทานแล้ว ก็ได้ฟังพระสงฆ์แนะนำสั่งสอนให้ความรู้ธรรมะ ได้ปัญญารู้เข้าใจ แล้วก็ได้พิจารณามองเห็นประโยชน์ของทานที่ตัวได้บำเพ็ญไปว่า พระท่านได้อาศัยทานที่เราถวายไปนี้แล้ว ท่านมีกำลังแล้ว ท่านก็จะไปปฏิบัติธรรม จะไปเล่าเรียนศึกษา ไปบำเพ็ญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เพราะท่านมีกำลังจากทานที่เราถวาย แล้วท่านก็ไปสั่งสอนญาติโยมประชาชน ทำให้พระศาสนาแผ่ขยายไพศาล ช่วยให้ประชาชนหรือสังคมอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข

เมื่อมองเห็นว่า ทานที่เราทำนี่ เรามองเห็นด้วยปัญญาว่ามีประโยชน์ มีคุณค่ามหาศาล โยมก็มีปีติ ปลาบปลื้มใจ อย่างนี้จึงจะได้บุญจริง เต็มความหมาย

ไม่ใช่นึกแค่ว่าไปถวายสังฆทาน พอถวายเสร็จก็จบ แล้วก็ไปนึกวาดภาพว่าเดี๋ยวเราคงจะถูกล็อตเตอรี่ที่หนึ่ง ร่ำรวยได้เป็นเศรษฐี ไม่ใช่แค่นั้น

ต้องมองให้กว้าง อย่างน้อยใจต้องดี ต้องสดชื่นเบิกบานผ่องใส ให้ได้ความสุขตั้งแต่เวลาที่ถวายไปเลย แล้วก็สุขยั่งยืนด้วย นึกเมื่อไรก็มีปีติ ปลาบปลื้มใจ อิ่มใจ มีความสุขทุกทีไป

เพราะฉะนั้น แม้แต่ทำทาน ก็ต้องให้ได้ครบ ให้ได้ทั้งศีลพ่วงมากับทาน ด้านจิตใจก็ได้สมาธิมาพ่วงกับทาน จนกระทั่งปัญญาก็พ่วงมากับทานเสร็จ นี่คือถวายทานอย่างถูกต้อง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.