จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนาคน จะวางเป้าหมายกันแค่ไหนดี?

ตามที่ถูกนั้น มนุษย์จะต้องมีคุณสมบัติบางอย่างเหนือสังคม

หมายความว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างสังคม และเป็นผู้ที่จะนำสังคม ถ้าสังคมมีความผิดพลาด มนุษย์จะต้องแก้ไข

แต่ขณะนี้กลายเป็นว่า มนุษย์ไม่ทันสังคม ไม่เป็นผู้นำสังคม แต่กลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างที่ว่า แทนที่จะเป็นผู้กระทำต่อสังคม ฉะนั้น เราจึงหลงใหลไปตามกระแสสังคม แล้วแต่สังคมจะเป็นอย่างไร บางทีเราก็เพลิดเพลินและหลงยินดีในระบบที่เป็นอยู่ เช่นระบบแข่งขันหาผลประโยชน์

ยิ่งกว่านั้น เรายังถูกล่อด้วย

หนึ่ง ถ้าเราประสบความสำเร็จ คือเราชนะเขา เราก็ยินดี เราก็ไปติด เราก็ไปชอบ เราก็ไปหลงกับคำว่าสำเร็จ พอชนะเขาได้ เกิดผลสำเร็จ ก็ลำพองยินดี

สอง ติดหลงในค่านิยมบริโภค มองความสำเร็จในความหมายว่ามีวัตถุมาก มีผลประโยชน์มาก ได้เสพมาก นั่นคือชัยชนะ นั่นคือความสำเร็จ ยินดีอยู่แค่นั้น

นี้คือสิ่งที่กำลังเป็นปัญหา

เวลานี้ คำว่า “ความสำเร็จ” ของมนุษย์ จึงคับแคบ มีความหมายอยู่แค่ว่า ความสำเร็จ คือการได้ผลประโยชน์ ด้วยการชนะการแข่งขัน

แต่ความสำเร็จที่แท้คือ ทำอย่างไรจะให้ชีวิตของเราดีงาม ทำอย่างไรจะให้เป็นชีวิตที่มีความสุข ทำอย่างไรจะให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ทำอย่างไรโลกจะอยู่ได้ด้วยดี ความสำเร็จขั้นนี้คนไม่คิดแล้ว

ความสำเร็จที่แท้คืออะไร? ความสำเร็จของมนุษย์ เวลานี้คิดกันแค่ว่า ฉันชนะในการแข่งขัน ฉันได้ผลประโยชน์สมประสงค์ นี่คือความสำเร็จของมนุษย์จริงหรือ?

ความสำเร็จแบบนี้ก็คือความสำเร็จในการเบียดเบียนกันในหมู่มนุษย์ ด้วยการแย่งชิงกันและทำลายกัน ความสำเร็จอยู่แค่นั้น

มนุษย์มองไม่ถึงว่า ความสำเร็จ คือการที่ชีวิตนี้บรรลุความดีงาม เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ สังคมนี้ร่มเย็น มีสันติสุข โลกนี้อยู่ในสภาพที่ดี สภาพแวดล้อมทุกอย่างเรียบร้อยน่ารื่นรมย์ นี่คือความสำเร็จที่แท้จริง

ถ้าเราใช้ภาวะนี้เป็นมาตรฐานวัด เราก็จะมองเห็นว่า โอ้โฮ! เราไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเลยสักอย่าง สังคมร่มเย็นเป็นสุขไหม ก็ยังไม่สำเร็จ ชีวิตเราดีงามไหม มีความสุขดีไหม ก็ไม่สำเร็จ โลกนี้ธรรมชาติแวดล้อมดีไหม ก็ไม่สำเร็จ

แต่ในหมู่มนุษย์เวลานี้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครมองที่จุดหมายนี้ ไม่ได้ใช้เกณฑ์นี้วัดเลย เขามองความสำเร็จกันแค่การแข่งขันชนะแล้วได้ผลประโยชน์มา เอาทรัพย์และอำนาจเป็นตัวกำหนด

เพราะฉะนั้น ความสำเร็จ จึงหมายถึงความหายนะของมนุษย์นั่นเอง

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ใช้วัด ไปไม่ถึง เพราะมีวิสัยทัศน์ที่มองสั้นๆ แคบๆ นี่ก็คือ ปัญญาที่มองไม่ถึง และติดในทิฏฐิความเห็น ความเชื่อถือ ถูกค่านิยมของสังคมกำหนด

คนที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบของสังคม ก็มองได้แค่นี้ ไม่มีปัญญาที่จะมองเหนือเลยขึ้นไป ให้เห็นว่า สังคมขณะนี้มีภาวะที่เป็นปัญหา จะต้องแก้ไข เราจะแก้ได้อย่างไร แต่กลับไปยินดีเพลิดเพลินหลงมัวเมา ฉะนั้น จึงต้องคิดกันว่า ทำอย่างไรจะพัฒนามนุษย์ให้ขึ้นเลยขั้นนี้ไปได้ นี่คือปัญหาในการพัฒนามนุษย์

เมื่อพูดว่าจะพัฒนามนุษย์ หลายคนมองแค่จะพัฒนามนุษย์อย่างเป็นทรัพยากร คือทำอย่างไรจะให้ไปเป็นกำลังหรือเป็นทุนที่มีคุณภาพ เพื่อเอาไปสนองความต้องการของสังคมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่นที่ว่าเป็นแรงงาน จึงเป็นเพียงสนองความต้องการของสังคมให้ได้ผลตามระบบที่เป็นอยู่ คือระบบแข่งขัน หรือหาผลประโยชน์ ซึ่งต้องการชนะในการแข่งขัน

เราก็จึงมองคนที่มีคุณภาพ ในความหมายว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ ที่จะสนองความต้องการของระบบ แล้วเราก็บอกว่านี่คือการพัฒนาคน

ที่ถูกต้องนั้น เราควรพัฒนาคนในฐานะไหน

เราควรพัฒนาคนในฐานะเป็นทรัพยากร เป็นทุน เป็นแรงงาน เป็นอุปกรณ์สนองความต้องการของสังคม ในระบบที่เป็นอยู่

หรือว่า ควรจะพัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่ดี มีความสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่

เวลานี้คำว่า “พัฒนาคน” จึงคลุมเครือ แม้จะหันมาเน้นว่าต้องพัฒนาคน แต่ในวงการของนักวิชาการ ก็ยังหลงยังติดอยู่กับคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์”

พอบอกว่าพัฒนาคน ก็นึกว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือยังมองมนุษย์เป็นทุน เป็นแรงงาน เป็นเครื่องมือสนองความต้องการของสังคมตามเดิม ก็วนอยู่นั่นเอง ไม่หลุด

ฉะนั้น จึงถึงเวลาจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดในเรื่องการพัฒนาคนว่า จะต้องพัฒนาคนจนถึงขั้นเป็นผู้ขึ้นไปอยู่เหนือกระแสสังคมได้

การพัฒนานี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ว่าตัวเองเข้าใจคำนี้แค่ไหน มองแค่ไหน มีวิสัยทัศน์แค่ไหน มิฉะนั้นจะเป็นการพัฒนาคนเพียงเพื่อมาสนับสนุนระบบที่เป็นอยู่ มาเสริมแรงของระบบนี้ให้หนักเข้าไปอีก

เมื่อพูดถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ที่หันมาเน้นการพัฒนาคนนั้น เราเข้าใจกันว่า พัฒนาคนนั้นอย่างไร ปรากฏว่ายังพูดกันมากถึงทรัพยากรมนุษย์

ถ้าเราเข้าใจแค่นี้ ก็ได้แค่สนองความต้องการของสังคมนี้เต็มที่ ก็เข้าสู่ระบบเก่า คือพัฒนาคนมาให้มีคุณภาพในกรอบความหมายทางเศรษฐกิจเป็นต้น เพื่อให้เป็นปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ จะได้ไปทำการแข่งขันให้ระบบนี้แข็งแรงยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง กลายเป็นร่วมกันทำลายหนักเข้าไปอีก

เป็นอันว่า คนมาติดกันอยู่ที่นี่ แม้แต่ถ้อยคำก็มองไม่ทะลุ ตรงนี้แหละเราจึงต้องการความหมายอย่างที่ว่า พัฒนาคนให้มีสติปัญญารู้เท่าทันสภาพปัญหาของโลกนี้ ว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร แล้วจะได้แก้ไข นำโลกให้หลุดไปจากระบบที่เป็นอยู่

นี้คือมนุษย์ที่เราต้องการ จะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้แค่สนองความต้องการของระบบที่เป็นอยู่

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.