จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เอาสันโดษ + ไม่สันโดษ
เป็นบทพิสูจน์การสร้างสรรค์สังคมไทย

ถ้ามองความหมายของธรรม ต้องตีให้ถึงความสัมพันธ์ อย่างน้อยให้รู้ว่าจุดหมายของแต่ละข้อๆ นั้น คืออะไร

ดังเช่น “สันโดษ” เรามักไปติดกับความหมายว่าคืออะไร แต่ที่จริงนั้น ก่อนจะเข้าใจความหมายของคำว่าสันโดษ ต้องรู้ว่า สันโดษเพื่ออะไร มิฉะนั้นความหมายของสันโดษก็จะไม่ชัด

พอเราบอกได้ว่าอันนี้เพื่ออันนั้นปั๊บ ก็มองเห็นความสัมพันธ์ในระบบทันที และความหมายก็ชัดขึ้นมา

ถ้าเราเห็นความสัมพันธ์ ความหมายของมันก็จะชัดขึ้นมาด้วย ตัว “เพื่ออะไร” นี้ คือตัวความสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เกิดระบบทันที

พอมองเห็นระบบแล้ว ความหมายของแต่ละส่วนจะชัดขึ้น จะมองเห็นว่า แต่ละส่วนทำหน้าที่อะไร เพื่ออะไร ในระบบความสัมพันธ์นั้น ทุกอย่างจะชัด เพราะเห็นมันไปสัมพันธ์กับอันโน้นอันนี้

สันโดษ นั้น หน้าที่ของมัน พูดอย่างกว้างที่สุด ก็คือมาหนุนกระบวนการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา

สันโดษจะมาหนุนกระบวนการปฏิบัติไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาอย่างไร ก็ต้องดูว่ามันสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ ในระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนาอย่างไร ต้องตีให้แตก

พอเห็นระบบความสัมพันธ์ ก็จะเห็นว่าสิ่งนั้นทำหน้าที่อย่างไร ความหมายจะมาเอง เพราะความหมาย มาจากความมุ่งหมาย

สันโดษนี้เป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้สันโดษแล้ว ทำไมตรัสสอนให้ไม่สันโดษ แถมความไม่สันโดษยังเป็นหลักธรรมสูงที่กว่าสันโดษอีก แล้วยังสอนวิริยะไว้คู่กับสันโดษด้วย

ขอต่อท้ายอีกหน่อย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ที่เราตรัสรู้นี้ เพราะไม่สันโดษ ทั้งในพระสูตรและพระอภิธรรมแสดงหลักความไม่สันโดษนี้ไว้ มีสาระตามพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ที่เราตรัสรู้ บรรลุโพธิญาณนี้ ก็ได้ประจักษ์คุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษ ในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. ความไม่ระย่อ ในการบำเพ็ญเพียร

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ เราก็ต้องมาตีให้แตกว่า สันโดษก็ทรงสอนแล้ว ทำไมมาตรัสสอนเรื่องไม่สันโดษ จะตีกันวุ่นไหม

ที่จริง สองอย่างนี้อยู่ในระบบ จะไม่ยุ่งกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น ไม่หยุดแค่สันโดษเฉยๆ ต้องมีสันโดษในอะไร ก็สันโดษในสิ่งเสพ และไม่สันโดษในอะไร ก็ไม่สันโดษในกุศลธรรม พอสันโดษในวัตถุสิ่งเสพปั๊บ ก็มาหนุนความไม่สันโดษในกุศลธรรมทันที

เมื่อสันโดษในสิ่งเสพ เราก็มีความสุขได้ง่าย แต่แค่นั้นไม่ถูกทั้งหมด แค่นั้นยังไม่พอ อันนั้นดีแล้ว ได้ส่วนหนึ่ง แต่สันโดษที่ทำให้สุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยนี้ มันทำให้เราไม่เสียเวลา แรงงาน และความคิด ไปกับการหาสิ่งเสพ

คนที่ไม่สันโดษนี่ ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี และชีวิตอยู่ที่การพยายามหาวัตถุสิ่งเสพเข้ามา เวลา แรงงาน ความคิด ไปรวมอยู่ที่นั่นหมดเลย เวลาของชีวิตแต่ละวันๆ หมดไปๆ

พอสันโดษปั๊บ ตัวเองสุขสบายได้ง่าย ก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดที่จะต้องไปพยายามดิ้นรนหาสิ่งเสพนั้นไว้ แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนี้ ไปทุ่มเทให้กับการสร้างเสริมกุศลธรรม เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามด้วยความเพียร มีวิริยะ

ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว ท่านไม่ให้สันโดษเลย ต้องไม่อิ่ม ต้องไม่พอ ต้องทำยิ่งขึ้นไป เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงาม โดยเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่ได้จากการสันโดษในวัตถุเสพนี้ ไปทุ่มให้แก่ความไม่สันโดษในการสร้างกุศลธรรม นี่คือ สันโดษและไม่สันโดษ สองข้อนั้นเข้าคู่กันแล้ว ก็รับกันหนุนกันดีไปเลย

เพียงแค่ว่า ถ้าคนไทยรู้จักสันโดษในการเสพบริโภค และไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม สังคมไทยก็พร้อมจะเดินหน้า ธรรมข้ออื่นก็เรียงหน้าเข้ามารับใช้ จะไม่ต้องเป็นเหยื่อใคร และไม่นานเกินรอ ก็จะขึ้นเหนือไปนำเขา

พร้อมกันนั้น ด้วยการพัฒนาคน ที่ถึงขั้นให้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม ก็จะแก้ปัญหาของโลกได้ และนำมาซึ่งความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ชีวิตที่ดีงาม โลกที่รื่นรมย์ และสังคมที่มีสันติสุข

เรื่องธรรมที่โยงกันเป็นระบบ และหนุนกันเป็นกระบวนการนี้ พูดไว้เป็นตัวอย่างเท่านี้ก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.