จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ระวัง! ถ้าไม่พัฒนาคนให้ดีล้า
จะเพลี่ยงพล้ำแก่เทคโนโลยี

ตอนนี้ ถ้าเรามองสังคมเช่นอเมริกัน ก็อย่างที่ว่าแล้ว คือเขาอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรู้ตัวว่าอารยธรรมของตนเอง โดยเฉพาะระบบสังคมที่ตัวเองได้สร้างสรรค์มา ซึ่งตัวเองได้เที่ยวแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกนั้น คือ ระบบทำลายโลก

เขารู้อยู่ แต่ก็ปรับตัวแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์ค้ำคออยู่ ฉะนั้น ก็ต้องเดินต่อไปในวิถีนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันก็จะทำลายโลกนี้

หันมาดูตัวเอง เราจะอยู่อย่างเพียงเป็นเหยื่อที่สนองระบบที่เขาแผ่เข้ามาหรืออย่างไร คนไทยจะเอาแค่นั้นหรือ

ถ้าพูดแรงๆ ก็ว่า ไทยเราจะอยู่อย่างคนโง่เขลาหรือไม่ เป็นเหยื่อแล้ว ยังไม่รู้ตัวอีก ให้ระบบที่เขาแผ่เข้ามานี้ครอบงำตัวเอง แล้วก็เป็นเหมือนกับหุ่นให้เขาเชิด แล้วใครได้ผลประโยชน์ เขาก็เอาผลประโยชน์ไป

ฉะนั้น ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่ว่า สิ่งที่เราทำกันนี้ ความหมายอย่างหนึ่งก็คือไปสนองความต้องการของเขา อย่างน้อยให้รู้ทัน ก็ยังดี แต่ที่เป็นอยู่นี้ ไม่รู้ทันเลย แถมยังภูมิใจเสียอีกด้วย จะเห็นได้ในค่านิยมอย่างนี้ อย่างน้อยในสมัยหนึ่งว่า ถ้าใครเป็นลูกจ้างฝรั่งก็รู้สึกภูมิใจ ที่มีเจ้านายเป็นฝรั่ง ยังเป็นอย่างนี้อยู่ใช่หรือไม่

ในแง่มุมของพุทธธรรม จะหาทางออกจากปัญหานี้อย่างไร ตอบว่า ก็ต้องพัฒนาคนให้ถูกต้อง

อย่าพัฒนาแค่มาเป็นทรัพยากรเฉยๆ แต่ต้องพัฒนาคนให้เป็นผู้กระทำ ซึ่งมีปัญญาที่จะมาแก้ไขปัญหาต่างๆ นำการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สามารถแม้กระทั่งจัดสรรปรับระบบสังคม และอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะเป็นปัจจัยตัวกระทำ(ให้ดี) ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยที่ถูกกระทำ

สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์ต้องเป็นผู้จัด เป็นผู้ปรับ เป็นผู้แก้ไข สังคมนี้ มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เทคโนโลยี มนุษย์ก็เป็นผู้สร้างขึ้น

มนุษย์เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา แต่แล้วเรากลับไปตกอยู่ใต้อำนาจของเทคโนโลยี แทนที่เราจะเป็นเจ้านายของเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็เลยกลายเป็นตัวเสริมให้เกิดสภาพจิตแบบที่ว่ามาแล้ว คือมันมาบำรุงบำเรอความสุขของเรา ต่อมาเราก็ลืมตัวแล้วก็เลยไม่พัฒนาตัว แล้วก็กลายเป็นทาสของมัน หรือขึ้นต่อมัน

เราเริ่มมีชีวิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น แล้วก็เอาชีวิตและเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เรามีลักษณะพึ่งพาหรือขึ้นต่อเทคโนโลยี ๒ อย่าง คือ

๑. การดำเนินชีวิตและกิจการงานต้องพึ่งเทคโนโลยี ถ้าขาดเทคโนโลยีแล้ว ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น

คนยุคนี้ ถ้าลืมตัว ไม่พัฒนาตนเอง ก็ไม่ได้ใช้ไม่ได้ฝึกอินทรีย์ของตน เพราะมีเทคโนโลยีมาทำแทนให้หมด เมื่อเทคโนโลยีทำแทนแล้ว ตัวเองก็เลยทำไม่เป็น ต่อมา ถ้าขาดเทคโนโลยี ก็อยู่ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ดำเนินชีวิตไม่ได้

อย่างเช่นสมัยก่อน คนหุงข้าวเอง ก็ต้องหัดต้องฝึกให้หุงข้าวได้ พอมาถึงสมัยนี้ มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ถ้าเกิดไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เด็กสมัยนี้หุงข้าวไม่ได้ หมดอิสรภาพ ต้องขึ้นกับเทคโนโลยี

คนแต่ก่อนนั้นต้องฝึกคิดในใจ เพราะไม่มีเครื่องคิดเลข เวลานี้มีเครื่องคิดเลข เลยลืมฝึกอินทรีย์สมอง ไม่เคยคิดเอง พอขาดเครื่องคิดเลข เลยคิดไม่เป็น ฝรั่งเจอก่อน ฝรั่งบอกว่าไม่มีเครื่องคิดเลข ตายละ คิดไม่ออก

ต่อไป ทำอะไรไม่เป็นเลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี กลายเป็นพึ่งพาเทคโนโลยี ชีวิตขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี หมดอิสรภาพ ทั้งๆ ที่ว่าเทคโนโลยีนี้เราผลิตขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ตอนนี้มันจะเป็นเจ้านาย

ฉะนั้น มนุษย์ต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยความรู้ตระหนักว่า เราพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต ในการทำงาน เราต้องเป็นใหญ่กว่ามัน อินทรีย์ของตัวเองนั้นอย่าลืมฝึกไว้ให้เป็นอิสระอยู่เสมอ

นี่แหละความทันในเรื่องพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง พัฒนาไม่ให้ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

๒. ความสุขฝากไว้และหวังจากเทคโนโลยี พอมีเทคโนโลยีมาบำรุงบำเรอความสุขมากขึ้นๆ ต่อมาความสุขของตัวเองก็ไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้ว ทุรนทุราย อยู่ไม่ได้

ทั้งที่ว่า ชีวิตของตัวเองนั้น ควรจะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง และเอาสิ่งเหล่านี้มาเสริมความสุข แต่กลายเป็นว่าเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็มีแต่ความทุกข์

จึงพูดบ่อยๆ ว่าคนสมัยนี้ เป็นคนที่ยิ่งโตขึ้น ยิ่งสุขยาก ทุกข์ง่าย คือ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก เพราะเคยชินกับสิ่งบำรุงบำเรอ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.