จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เพียงแค่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน
จะสอบผ่านไหวไหม

อันนี้เป็นหลักความจริงห้าประการที่เราควรจะได้พิจารณาเนืองๆ ถ้าพิจารณาบ่อยๆ แล้วจะเห็นความจริงมากมาย สำหรับชุดแรก ๓ ข้อที่ว่า เรามีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดานั้น เป็นของที่มองเห็นได้ง่าย อย่างที่กล่าวแล้วว่าชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายอื่นในแง่ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามกฎของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป คือเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง การระลึกถึงความจริงข้อนี้จะได้ประโยชน์ในเบื้องต้นอย่างที่พูดไว้แล้ว คือความไม่ประมาท ซึ่งทำให้เราไม่เกิดความลืมตัวมัวเมา ไม่มัวเมาในความมีสุขภาพดีว่าเราจะแข็งแรงอยู่ตลอดไป ไม่มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวว่าเราจะสนุกสนานอยู่ได้ตลอดกาล ไม่มัวเมาในชีวิตเหมือนกับจะอยู่ได้ตลอดไปไม่รู้จักตาย

คนจำนวนมากจะมีความหลงมัวเมาใน ๓ ประการนี้ ประการแรกอยู่ในวัยต้นๆ ก็มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนึกถึงความจริงว่าตัวเองนี้ต่อไปก็ต้องแก่ต้องเฒ่าเหมือนกัน ก็เลยดำเนินชีวิตด้วยความหลงละเลิง ไม่รีบขวนขวายทำกิจที่ควรทำ ไม่เร่งศึกษาหาความรู้ ไม่ตั้งใจทำการงาน ไม่พัฒนาตัวเอง มัวระเริงในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น เวลาผ่านไป ๑๐-๒๐ ปีนี้ไม่นานเลย ความสดสวยแข็งแรงก็ร่วงโรยไป พ้นวัยหนุ่มวัยสาว แต่ตนเองไม่ได้ตระเตรียมอะไรไว้ เคยดำเนินชีวิตด้วยความประมาท หาแต่ความสนุกเพลิดเพลินปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า ก็เลยไม่ได้สร้างเนื้อสร้างตัว พอถึงวัยแก่เฒ่าก็พบปัญหามีทุกข์ ต้องเป็นอยู่ด้วยความลำบากเดือดร้อน

พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นคาถาเปรียบเทียบว่า บางคนนั้น ตอนที่ยังหนุ่มสาวทรัพย์สินก็ไม่หาไว้ ชีวิตที่ดีงามก็ไม่ได้สร้างสรรค์บำเพ็ญ พอถึงวัยชราแก่ลงก็ต้องสิ้นท่าหมือนนกกระเรียนแก่ ที่ซบเซาอยู่กับเชือกตมที่ไร้ปลาและมีแต่จะแห้งไป หรือเหมือนลูกศรที่เขายิงไป เมื่อหมดกำลังแรง หล่นลงแล้ว ก็หมดฤทธิ์ ไม่มีพิษสง ทำอะไรใครไม่ได้ นอนนิ่งเฉยอยู่บนพื้นดิน

อันนี้ก็เป็นเรื่องของชีวิต ท่านให้ระลึกความจริงนี้ไว้ เพื่อจะได้เป็นคนไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว เราก็กลับใช้วัยหนุ่มวัยสาวนั้นในทางที่เป็นประโยชน์ว่า เออ เวลานี้เรามีเรี่ยวแรงกำลังวังชา เป็นเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนทำกิจการงานได้ผลดีที่สุด ก็เอาเวลาในวัยหนุ่มวัยสาวมาเร่งรีบขยันขันแข็ง มุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนและทำการงาน ก็กลับได้ประโยชน์มากขึ้น ตรงข้ามกับคนที่มัวหลงละเลิงในความเป็นหนุ่มเป็นสาว เอาความสดสวยแข็งแรงไปหาความสุขความเพลิดเพลินอย่างเดียว ก็เลยเสียเวลาสูญเปล่าไป

คนบางคนก็มัวเมาในความไม่มีโรค ทะนงตนว่าเป็นคนแข็งแรง เป็นคนมีสุขภาพดี ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมการอะไรไว้ แต่ชีวิตของคนเรานี้ไม่แน่นอน บางทีเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายก็เกิดขึ้น เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บบ้าง เป็นเรื่องของอุบัติเหตุบ้าง แม้แต่ปัญหาเล็กๆน้อยๆ เมื่อเงินทองไม่ได้เตรียมไว้ ในยามที่เกิดความคับขัน หรือในยามที่ผจญเผชิญเคราะห์ร้าย ก็เกิดความลำบาก

ฉะนั้น แม้แต่การใช้ทรัพย์พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสไว้ เราควรจัดสรรแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน ส่วนที่หนึ่งเอามาใช้เลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงครอบครัวและคนที่เรารับผิดชอบให้มีความสุข และทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ อีกสองส่วนลงทุนประกอบกิจการงานแล้วส่วนที่สี่ก็เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น ถ้าเราระลึกถึงเรื่องความเจ็บไข้ที่เป็นธรรมดาของชีวิตแล้ว เรามีความไม่ประมาท เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนระลึกถึงความตาย ก็ทำให้ไม่มัวเมาที่จะเอาชีวิตนี้ไปทำสิ่งที่ชั่วร้าย

คนที่ถือว่าตัวเองมีความสามารถ มีอำนาจ มีทรัพย์มาก ก็แสวงหาความสุขใส่ตัวเอง เบียดเบียนข่มเหงคนอื่น ก่อความเดือดร้อน แต่พอระลึกถึงความตายในแง่ต่างๆ ที่ถูกต้องว่า เอ เราจะทำอย่างนั้นไปทำไม ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป ทุกคนก็ต้องแยกพลัดพรากกันไป เราควรจะใช้ทรัพย์นี้ทำสิ่งที่ดีงาม อยู่กับเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุขด้วยกันจะดีกว่า

เพราะฉะนั้น ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็อยู่ที่ว่าจะใช้ความคิดได้ถูกต้องหรือไม่ คนที่ระลึกถึงความแก่ ความชรา ความเจ็บไข้ ความตายอย่างถูกต้อง ก็เกิดความไม่ประมาท ทำให้รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ใช้ความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้เป็นประโยชน์ ใช้ความมีสุขภาพแข็งแรงให้เป็นประโยชน์ และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ เป็นอันว่าการระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นเป็นประโยชน์สารพัด แต่อยู่ที่การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.