ค่านิยมแบบพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาค ๒ คนหนุ่มสาวและนักศึกษา

ศาสนาจำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาว?1

ถ้าพิจารณาในทางสังคม ปัญหานี้ก็ไม่สู้ยาก คนทุกคนไม่จำเพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม เมื่อเกี่ยวข้องกับสังคมก็ย่อมมีกิริยาและปฏิกิริยาต่อกันกับสังคม โดยเป็นผู้กระทำต่อสังคมฝ่ายหนึ่งและเป็นผู้ได้รับการกระทำจากสังคมฝ่ายหนึ่ง

ศาสนาเป็นส่วนประกอบและเป็นบ่อเกิดอันสำคัญของวัฒนธรรมชีวิตของบุคคลที่เจริญเติบโตขึ้นมาในสังคม ย่อมเป็นผลของการฝึกอบรมที่สืบเนื่องมาจากศาสนาด้วย และบุคคลนั้นย่อมอาศัยผลแห่งการอบรมนั้นเองเป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีวิต และนำผลแห่งการฝึกอบรมนั้นมาแสดงออกต่อสังคม ส่วนในฝ่ายสังคม การฝึกอบรมและองค์ประกอบต่างๆ ในทางสังคม ที่เป็นเครื่องหล่อหลอมชีวิตของบุคคลนั้นก็ดี การกระทำของบุคคลทั้งหลายอื่นผู้ร่วมสังคม ที่แสดงออกต่อบุคคลนั้นก็ดี สภาพและลักษณะของสังคมที่บุคคลนั้นดำรงชีวิตอยู่ก็ดี ล้วนเป็นผลที่ศาสนาได้มีส่วนบันดาลให้เกิดขึ้น หรือช่วยชักนำให้เป็นไปด้วยทั้งสิ้น ความที่ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคคล จึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียจนบุคคลแทบไม่รู้สึกถึงคุณค่า ความข้อนี้อาจมีส่วนที่เปรียบได้กับอากาศที่แวดล้อม ซึ่งมนุษย์ใช้หายใจ หรือหย่อนลงมาเหมือนน้ำที่ใช้บริโภคโดยปกติเป็นของหาง่าย หรือไม่ต้องหา แม้จำเป็นก็เหมือนไม่สำคัญ ต่อเมื่อใดเกิดเหตุขาดแคลนหรือเสียคุณสมบัติปกติไป มนุษย์จึงจะรู้สึกถึงความเดือดร้อน และมองเห็นคุณค่าของมัน ที่ไม่มีราคา หรือราคาต่ำต้อย ว่ามีค่าแม้กว่าเพชรกว่าทองคำ ในแง่นี้ ศาสนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งแห่งการดำรงชีวิตของบุคคล จำเป็นในการที่จะเข้าใจสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ และจำเป็นสำหรับการเข้าใจตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

ถ้าพิจารณาในแง่ความหมายต่อชีวิตจิตใจอันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตนเองเป็นพิเศษ ศาสนาย่อมเป็นเครื่องกำหนดความเข้าใจของบุคคล ต่อคุณค่าและจุดหมายของชีวิต และย่อมมีส่วนบันดาลแม้แต่แนวความคิดในศาสนาใหม่ของผู้ที่ปฏิเสธศาสนาซึ่งมีอยู่เดิมในสังคมของตน แล้วคิดสร้างคุณค่าและจุดหมายของตนขึ้นมาใหม่

ในแง่นี้ ควรพิจารณากันใหม่แต่เริ่มต้น คำว่าศาสนาในที่นี้ คงมิใช่ศาสนาในความเข้าใจของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ และคำว่าคนหนุ่มสาวในที่นี้ คงมิได้หมายเพียงคนหนุ่มสาวที่เป็นนิสิตนักศึกษา หรือที่อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่เท่านั้น จนถึงบัดนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดสามารถให้นิยามคำว่า ศาสนาลงได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือทั่วกัน เป็นที่แน่นอน สำหรับชาวบ้านและนักศึกษาบางคน ศาสนาหมายถึงพิธีกรรมต่างๆ นักบวชผู้ประกอบพิธีกรรม และวัดอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเหล่านั้น สำหรับศาสนิกชนบางคน ศาสนาอาจหมายถึงคำสั่งสอนของพระศาสดาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่บางคน ศาสนาอาจหมายถึงความรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำ ในความเป็นไปอย่างมีระเบียบแห่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติอันเป็นแรงบันดาลใจให้เขายอมพลีตนเพียรสืบค้นข้อเท็จจริงต่างๆ ในธรรมชาติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ และดื่มรสแห่งสัจจธรรมอันเป็นอมตะ

ศาสนาในความเข้าใจของคนหนึ่ง อาจไม่ใช่ศาสนาในความเข้าใจของอีกคนหนึ่ง และสิ่งที่มิใช่ศาสนาในความเข้าใจของคนหนึ่ง อาจเป็นศาสนาในความเข้าใจของอีกคนหนึ่ง ศาสนาในความเข้าใจของศาสนิกอาจไม่ใช่ศาสนาอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์ และศาสนาที่เข้าใจตามคัมภีร์อาจไม่ใช่ศาสนาอย่างที่พระศาสดาทรงมุ่งสั่งสอน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับคนเหล่านั้นทุกคน คือการไขว่คว้าและยึดถือเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง มาเป็นพลังนำทางในการดำรงชีวิตและชักจูงบัญชาการกระทำต่างๆ ของตน ท่ามกลางทะเลชีวิตที่เวิ้งว้าง ไม่รู้ต้นปลาย ขอบเขตตำแหน่งแห่งที่ ตลอดถึงความหมายแห่งตัวของตัวเอง

คนบางคนอาจกล่าวว่า เขาไม่พอใจกับศาสนาทุกศาสนา และประกาศตนเป็นผู้ไม่มีศาสนา แต่ในภาวะที่เข้าใจว่าตนไม่มีศาสนานั้นเอง อวิชชาได้ผลักดันให้เขาไขว่คว้าหาคุณค่าและจุดหมายขึ้นมาสำหรับตนเอง ตามระดับความรู้ความเข้าใจของเขาต่อความหมายของชีวิต ข้อนี้หมายความว่า เขามีศาสนาตามความหมายของเขาเอง ซึ่งไม่พ้นที่จะได้รับอิทธิพลจากศาสนาเดิมในวัฒนธรรมที่ได้ฝึกอบรมหล่อหลอมชีวิตเขาขึ้นมา และย่อมตรงกับศาสนาในใจของคนอื่นๆ ที่อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งของวิวัฒนาการแห่งความเข้าใจทางศาสนา จะต่างกันก็แต่เพียงระดับแห่งตัณหา มานะ และทิฏฐิเท่านั้น เรื่องจึงกลายเป็นว่ามนุษย์ปุถุชนทุกคนไม่เฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น ถ้ามีสติปัญญาพอรู้คิดได้ มิใช่คนสติวิปลาส ย่อมเป็นผู้มีศาสนาในรูปใดรูปหนึ่ง ปัญหาจึงไม่อยู่ที่ว่าศาสนาจำเป็นสำหรับคนหนุ่มสาวหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าศาสนาที่เขามีควรจะเป็นอย่างไร และเขาควรจัดการกับศาสนาที่มีอยู่นั้นอย่างไร บุคคลผู้ไม่มีศาสนา คือไม่มีอย่างแท้จริง มิใช่เพียงไม่มีโดยความเข้าใจของตน ต้องเป็นผู้ที่ได้เข้าถึงความรู้แล้วอย่างแท้จริง จนพ้นสิ้นเชิงจากอวิชชา สามารถกล่าวยืนยันด้วยความจริงใจว่า ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ในเรื่องชีวิตของตน บุคคลเช่นนั้นนับว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด หรือบุคคลในอุดมคติตามความหมายของพุทธศาสนาเพราะบุคคลนั้นเป็น "พุทธ" ผู้ตื่นแล้ว พ้นจากหลับและพ้นจากฝัน

จุดหมายสูงสุดของศาสนา คือ ความรู้แจ้งที่ทำให้หมดอวิชชา ซึ่งทำให้พ้นจากความติดข้องยึดมั่นอยู่ในทฤษฎีใดๆ ศาสนาที่แท้จึงได้แก่ศาสนาที่นำไปสู่ความรู้นั้น และศาสนาเช่นนี้เท่านั้น ที่สามารถทำบุคคลให้เป็นผู้ไม่มีศาสนาได้ หรือทำให้ศาสนาหมดความจำเป็นสำหรับบุคคลได้ จุดมุ่งหมายของศาสนาอย่างสามัญ คือการทำให้มนุษย์มีความสุขศาสนาที่ดีตามความหมายสามัญจึงได้แก่ ศาสนาที่มีอุดมคติกับการปฏิบัติเพื่ออุดมคติที่ตรงกัน คือให้ความสุขทั้งระหว่างปฏิบัติ และเมื่อถึงจุดหมาย

ศาสนาที่เคลื่อนคลาดจากความหมายมากที่สุด ก็คือศาสนา หรือระบบความเชื่อถือความเข้าใจใดๆ แม้ที่เรียกตนว่าเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาซึ่งมีอุดมคติกับการปฏิบัติไม่ตรงกัน และซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความยึดมั่นถือมั่นติดแน่นอยู่กับความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จนไม่สามารถรับรู้และทำความเข้าใจอย่างอื่นได้ และเที่ยวแล่นไปบีบบังคับผู้อื่นให้มีความเห็นเหมือนกันกับตน

สำหรับคนหนุ่มสาว ศาสนาน่าจะมีความสำคัญและจำเป็นเป็นพิเศษในข้อที่ว่า ชีวิตซึ่งกำลังจะย่างก้าวออกมาแสดงบทบาทของมันอย่างแท้จริงนั้น กำลังกำหนดความเข้าใจของมันต่อคุณค่าและจุดหมายต่างๆ ความเข้าใจเหล่านี้ย่อมเป็นตัวการที่จะบันดาลบทบาททั้งปวงที่เขาจะแสดงสืบไป เมื่อเช่นนี้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถรู้ความจริงถึงที่สุดจนปราศจากอวิชชาถึงขั้นไม่มีศาสนาได้ ตราบนั้น การสร้างความเข้าใจต่อความหมาย คุณค่า และจุดหมายต่างๆ ให้ดีที่สุด ก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และความจำเป็นของศาสนาสำหรับคนหนุ่มสาว ก็เกิดขึ้นโดยนัยนี้

1จากคอลัมน์ "คนหนุ่มรุ่นใหม่" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๘ ก.พ.- พ.ย. ๒๕๑๓ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.