ค่านิยมแบบพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมกับกาม1

เจริญพรท่านชาวพุทธบริษัททั้งหลาย

หลังจากได้ฟังอภิปรายมาแล้วอาตมาขอแสดงความเห็นแทรกสักเล็กน้อยว่า หัวข้อเรื่องพูดที่ว่า ธรรมะกับกาม นั้น ในเรื่องความหมายของธรรมก็ได้พูดกันไปแล้วว่ามีความหมายกว้างมาก ถ้าจะพูดกันละเอียดก็คงเสียเวลามาก อาตมภาพอยากจะแสดงความคิดเห็นไว้นิดหน่อย ระหว่างธรรมะกับกามนั้น ความจริงการปฏิบัติถูกต้องต่อกามนั้นแหละคือความหมายอย่างหนึ่งของธรรมะ เพราะฉะนั้นเมื่อมาพูดถึงเรื่องกาม และพูดถึงว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้ดีต่อกาม อันนี้เราจะได้ธรรมะขึ้นมา ฉะนั้น เราอาจจำกัดวงการพูดของเราไว้เพียงเท่านี้ ก็คงจะได้ประโยชน์พอสมควร อันนี้เป็นแง่ที่หนึ่งคือ ธรรมะในฐานะการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกาม

ทีนี้ได้มีผู้พูดถึงว่า การปฏิบัติธรรมจะทำให้เรามีความเจริญในโลกแห่งกามนี้ได้หรือไม่ คำว่า ความเจริญหรือไม่เจริญก็พูดได้กว้าง เราอาจจะไม่ต้องพูดถึงเฉพาะแต่ธรรมะอย่างเดียว เราอาจจะพูดว่า ธรรมะเจริญ หรืออธรรมเจริญก็ได้ บางคราวธรรมะเจริญ บางคราวอธรรมก็เจริญได้ ท่านว่าสมัยใดธรรมะเจริญ สมัยนั้นก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ประพฤติธรรมก็พลอยได้รับความเจริญไปด้วย ถ้าสมัยใดอธรรมเจริญ ก็ย่อมเป็นธรรมดาว่าผู้ประพฤติอธรรม หรือผู้ไม่ประพฤติธรรมจะเจริญ ผู้ที่ประพฤติธรรมก็ต้องตกในที่นั่งที่ชาวโลกชอบพูดว่า ทำดีทำไมไม่ได้ดี “ดี” ในที่นี้หมายถึงความหมายอย่างที่โลกสมมติ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความหมายในทางธรรมทีเดียว ฉะนั้น เราต้องเข้าใจความหมายอันนี้ด้วยว่า ถ้าหากในสมัยใดที่อธรรมเจริญ คือคนทั่วไปทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประพฤติธรรม และได้รับความเจริญอย่างที่โลกนิยมสมมติ สมัยนั้นสังคมไม่มีความสุข คนที่เรียกว่า เจริญด้วยการประพฤติอธรรม ก็ไม่มีความสงบสุขแท้จริง เพราะโลกมีแต่ความเดือดร้อน พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ในสมัยที่คนเห็นว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วได้ดีนั้น จะเป็นยุคที่สังคมส่วนรวมเดือดร้อนไม่มีความสงบสุข และโดยแท้จริงแล้วไม่มีใครมีความสุขแท้จริง ปัญหามีอยู่ว่า เราจะให้ธรรมะเจริญหรืออธรรมเจริญ ถ้าหากเรายอมรับว่าให้อธรรมเจริญแล้ว มวลมนุษย์ย่อมไม่เป็นสุข มีแต่ความเดือดร้อน เราก็ต้องพยายามทำให้ธรรมะเจริญขึ้น เมื่อธรรมะเจริญแล้ว คนที่ประพฤติธรรมก็พลอยเจริญด้วย เวลานั้นสังคมส่วนรวมจะร่มเย็นเป็นสุข ชาวโลกจะพูดกันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เงื่อนไขสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ในการที่ธรรมจะเจริญ อธรรมจะเสื่อมนั้น คนจะต้องมีความเห็นถูกต้องว่าธรรมดี หรือดีคือธรรม และอธรรมไม่ดี หรือชั่วคืออธรรม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเป็นยุคสมัยที่คนชอบธรรม ไม่ใช่ชังธรรม นี่เป็นความหมายแง่หนึ่ง

ทีนี้พูดให้ลึกลงไป ความหมายของคำว่า กาม มี ๒ อย่างคือ วัตถุกาม และกิเลสกาม วัตถุกาม คือสิ่งทั้งหลายที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ กล่าวโดยสรุปก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่ และเมื่อพูดขยายความออกไปก็รวมถึงทรัพย์สมบัติต่างๆ เรือกสวนไร่นา ลาภยศ สุขสรรเสริญต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องกาม เป็นวัตถุกาม ส่วนกิเลสกามก็คือ ตัวกิเลสความอยากได้ที่อยู่ในใจของคน หรือตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้อยากให้ใคร่ มีพุทธพจน์อยู่แห่งหนึ่งตรัสว่า ความอยากได้ใคร่ติดที่เป็นความดำรินึกคิดอยู่ในใจของคนนี้แหละเป็นกาม สิ่งทั้งหลายที่วิจิตรงดงามตระการในโลก หาใช่เป็นกามไม่ ใจคนที่นึกคิดอยากได้ใคร่เอานั่นแหละคือกามแท้ ส่วนสิ่งวิจิตรสวยงามทั้งหลายมันก็ตั้งอยู่ตามปกติของมัน ทีนี้ถ้าหากพูดในความหมายขั้นสุดท้ายแล้ว กามจะไม่มีเหลือเลย เหลือแต่ตัวธรรมะอย่างเดียว ทุกอย่างเป็นธรรมะไปหมด ดังนั้น อาจจะต้องตั้งคำถามว่า เราจะพูดถึงเรื่องธรรมกับกามในระดับไหน? อาตมภาพได้แสดงความหมายไว้อย่างหนึ่งว่า ธรรมะในฐานะเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อกาม นี้ก็เป็นการพูดในระดับหนึ่ง

กามยังมีความหมายอย่างหยาบและอย่างละเอียด อย่างหยาบเป็นความหมายในภาษาไทย หมายถึงเรื่องเพศซึ่งเป็นความหมายที่แคบ แต่ความหมายทางพุทธธรรมหมายถึง กามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าชอบใจ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งกินความหมายครอบคลุมมาก มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า สมณพราหมณ์ก็ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกามก็มีหลายระดับ มีทั้งระดับที่ตกเป็นทาสของกามก็มี พวกนี้ต้องตกอยู่ในความทุกข์ ถูกกามบีบคั้น สำนวนท่านว่า ถูกมารทำเอาตามใจชอบ เพราะว่าความสุขความทุกข์ในใจคนขึ้นกับกาม คือ หมดอิสรภาพโดยสิ้นเชิง พวกนี้เป็นเหมือนเนื้อที่ติดบ่วง ชั้นที่ ๒ เหมือนกับเนื้อที่ไม่ติดบ่วง แต่นอนทับบ่วงอยู่ พวกนี้ได้แก่พวกที่ยังเสวยกามอยู่ แต่ปฏิบัติต่อกามอย่างถูกต้อง จึงไม่ถูกกามทำพิษเอามากนัก แต่ยังต้องมีความหวาดระแวงบ้าง ไม่พ้นจากอำนาจกามโดยสิ้นเชิง ส่วนพวกที่ ๓ นั้นเป็นเหมือนเนื้อที่อยู่ในป่าห่างไกลจากนายพรานชนิดที่มองไม่เห็นหลังแล้ว พวกนี้ชื่อว่าเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง การที่จะเป็นอิสระได้นี้ ท่านว่าต้องได้ประสบกับปีติสุขอันประณีตและสูงกว่ากาม และมีพระสูตรเช่น มาคัณฑิยสูตร ได้ตรัสสำทับไว้ว่า พระพุทธองค์เองหากยังไม่ได้ประสบปีติสุขที่ประณีตสูงกว่ากามแล้ว จะปฏิญาณพระองค์ไม่ได้เลยว่า จะไม่หวนกลับมาสู่กามอีก ฉะนั้น เรื่องกามนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ตราบใดที่เรายังไม่ได้ประสบกับปีติสุขที่ประณีตสูงกว่ากามแล้ว เราจะไม่หลุดพ้นเป็นอิสระจากกามแท้จริงได้ จนกระทั่งเห็นกามหมดความหมายไปเอง ตราบใดที่เรายังไม่ได้ประสบปีติสุขอย่างนั้น ถึงจะปฏิบัติธรรมแค่ไหนก็ตาม เราก็ยังอยู่ในระดับของผู้ฝึกหรือผู้พยายามปฏิบัติ เราอาจมีความภูมิใจหรืออาจยกย่องกันว่าท่านผู้นี้เพียรพยายามปฏิบัติตนเพื่ออิสระ ให้พ้นไปจากกาม แต่การพ้นไปจากกามนั้นยังไม่มีความหมายแท้จริง ตราบใดที่เรายังไม่ได้ไม่ได้ประสบความสุขที่ประณีตสูงส่งกว่ากามนั้น

มีพระสูตรอีก ๒ สูตร จะขอยกเรื่องในพระไตรปิฎกมาเล่าเป็นคติ หรือเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ท่านที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องธรรมและเรื่องกาม พระสูตรหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งพระอานนท์ได้ไปที่บ้านของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ชื่อว่า มิคสาลา เมื่อไปถึงบ้าน อุบาสิกาท่านนั้นก็พูดบ่นขึ้นมาว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ จะให้ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างไรกันแน่ พระอานนท์ก็ถามว่า ทำไม ท่านบ่นเรื่องอะไรหรือ อุบาสิกาก็เล่าบอกว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ บิดาของข้าพเจ้าชื่อ ปุราณะ ท่านเป็นพรหมจารี ถือพรหมจรรย์ งดเว้นจากเรื่องของชาวบ้าน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเลย และบัดนี้ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว และในเวลาเดียวกันท่านอิสิทัต ซึ่งเป็นเพื่อนรักของบิดาของข้าพเจ้า ท่านผู้นี้ไม่ได้ถือพรหมจรรย์เลย ท่านเพียงแต่ว่ายินดีในคู่ครองของท่านเท่านั้น และท่านก็ถึงแก่กรรมไปแล้วเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า ทั้งท่านปุราณะบิดาของข้าพเจ้าและท่านอิสิทัต เพื่อนรักของบิดาข้าพเจ้านี้ เป็นผู้มีคติเสมอกัน นี้จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ก็บิดาของข้าพเจ้าเป็นพรหมจารีถือพรหมจรรย์ จะมีคติเดียวกับท่านอิสิทัตซึ่งไม่ได้ถือพรหมจรรย์ ยังอยู่ครองเรือน และยินดีในคู่ครองของตนได้อย่างไรกัน พระอานนท์ฟังแล้วก็ไม่ได้ว่าอย่างไร นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ฟังว่า เรื่องนี้อุบาสิกามิคสาลาไม่เข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ท่านเรียกว่า ปุคคลปโรปริยญาณ แล้วพระองค์ก็ตรัสถึงความแตกต่างของบุคคลว่า บุคคลนี้อาจจะยิ่งทางโน้น หย่อนทางนี้ หลายคนก็มีหลายอย่าง แล้วตรัสสุดท้ายบอกว่า ท่านอิสิทัตและท่านปุราณะนั้นมีศีลเท่ากัน มีปัญญาเท่ากัน มีคติเสมอกัน นี้เป็นเรื่องที่นำมาเล่า อาจจะให้ข้อคิดบางประการ

อีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ตรัสเรื่องอดีตของพระองค์กับพระสงฆ์คณะหนึ่ง เรื่องมีว่า เมื่อได้เสด็จไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ คือยิ้มน้อยๆ พระสงฆ์ก็รู้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ แล้วมักจะมีเรื่องน่าสนใจ ซึ่งควรได้ยินได้ฟัง พระภิกษุสงฆ์ก็ทูลถามพระองค์ว่า ทำไมพระองค์จึงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ เช่นนั้น พระองค์จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า สถานที่นี้เคยเป็นเมืองใหญ่ในอดีตแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยรุ่งเรือง และมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติและมีอุบาสกท่านหนึ่งพร้อมด้วยคณะอุบาสกอีก ๕๐๐ คน ได้อยู่ในสถานที่นี้ด้วย วันหนึ่งท่านอุบาสกที่เป็นหัวหน้าชื่อ ภเวสี คิดได้ว่าเรากับลูกน้องบริวารทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ทีนี้เราเป็นหัวหน้าเขา เราควรจะทำอะไรให้เป็นพิเศษกว่าเขาบ้าง จึงตั้งใจว่าเราจะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ท่านจึงบอกกับบริวารทั้งหลายว่า ให้ทราบไว้ด้วยว่าต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะเป็นผู้บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ทีนี้ฝ่ายอุบาสกบริวารของท่านก็มาคิดกันว่า หัวหน้าของเราบำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์ เราซึ่งเป็นบริวารเป็นผู้ประพฤติตามนี้ เราอยู่ในหมู่เดียวกัน เราก็ควรจะทำได้อย่างหัวหน้า ฉะนั้นเราจะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เช่นเดียวกัน ก็จึงพยายามปฏิบัติเป็นผู้บำเพ็ญศีลโดยบริบูรณ์เสมอกัน ต่อมาท่านภเวสีหัวหน้าก็มาคิดว่า บัดนี้เรากับลูกน้องบริวารทั้งหมดก็มีความประพฤติบำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์เหมือนกัน เราเป็นหัวหน้าควรจะทำอะไรให้พิเศษกว่าบริวารบ้าง ท่านจึงคิดว่า เราจะประพฤติพรหมจรรย์ละ และท่านก็บอกแก่บริวารว่า แต่นี้ไปข้าพเจ้าจะประพฤติพรหมจรรย์ ทีนี้ฝ่ายบริวารของท่านก็คิดกันว่าหัวหน้าของเราก็ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พวกเราก็น่าจะทำได้อย่างหัวหน้าบ้าง จึงเลยตกลงกันว่าต่อไปนี้เราจะประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกันหมดทุกคนด้วย ต่อมาหัวหน้าก็มาคิดว่า บริวารของเราก็ประพฤติได้อย่างเรา เราเป็นหัวหน้าควรจะสามารถทำอะไรได้พิเศษกว่าบ้าง ก็จึงบอกว่าต่อไปนี้เราจะรับประทานอาหารมื้อเดียว เป็นเอกภัตติโก งดกินในเวลาวิกาล ฝ่ายบริวารทั้งหลายพอทราบอย่างนั้นก็ไปคิดตกลงกันว่า เราเป็นพวกเดียวกันควรทำให้ได้เหมือนกัน จึงทานอาหารมื้อเดียว เป็นเอกภัตติกาหมด ทีนี้ต่อมาหัวหน้าก็มาคิดว่า บริวารก็ทำได้เหมือนเราหมด เราควรจะทำอะไรเป็นพิเศษกว่า จึงคิดว่าเราจะต้องออกบวช จึงไปหาพระสงฆ์และขอบวชเป็นพระภิกษุ ทีนี้ฝ่ายบริวารเห็นว่าหัวหน้าของเราก็บวชแล้ว เราเป็นคณะเดียวกันควรทำให้ได้เหมือนกันบ้าง ก็เลยออกบวชกันหมดทั้ง ๕๐๐ คน เรื่องก็จบ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญชนกลุ่มนี้ว่า เขาพยายามบำเพ็ญคุณธรรมความดี ให้สูงยิ่งขึ้นๆ ไป ควรเป็นตัวอย่างได้อย่างหนึ่ง ที่อาตมภาพยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ก็เพื่อเป็นคติว่า เรื่องการถือพรหมจรรย์ก็ดี การรับประทานอาหารมื้อเดียวก็ดี สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลายก็เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ท่านเรียกว่าเป็นวัตร เป็นคนละตอนกับการบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ จริงอยู่เราชาวบ้านเรียกอุโบสถศีลว่าเป็นศีล แต่ในพระไตรปิฎกท่านเรียกว่าเป็นวัตร วัตรคือข้อปฏิบัติพิเศษ เพื่อให้เคร่งครัดหรือดีมากยิ่งขึ้น วัตรนั้นบางทีเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เหมาะสมกับบุคคลบางท่าน แต่มิใช่ข้อปฏิบัติทั่วไป ฉะนั้น สำหรับคฤหัสถ์แล้ว การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ไม่ใช่ว่าจะต้องมาถือพรหมจรรย์หรือว่าจะต้องมารับประทานอาหารมื้อเดียว งดอาหารในเวลาเย็นค่ำอะไรหรอก ถ้าพิจารณาเรื่องราวที่อาตมายกขึ้นมาพูดว่า อุบาสกภเวสีได้ประพฤติศีลให้บริบูรณ์ได้แล้ว ต่อไปท่านจึงคิดว่าเมื่อประพฤติศีลได้บริบูรณ์แล้วต่อไปนี้เราจะทำให้พิเศษกว่าบริวาร ท่านจึงถือพรหมจรรย์ และรับประทานอาหารมื้อเดียว อันนี้เป็นส่วนพิเศษขึ้นไป

หลักการที่เล่ามาตามพระสูตรนี้หมายความว่า คนทั่วไปนั้น เรามีหลักเกณฑ์ความประพฤติดีงามระดับกลางอย่างหนึ่งซึ่งนับว่าทุกคนควรประพฤติให้ได้ เพื่อเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ถ้าจะทำยิ่งกว่านั้นขึ้นไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่เป็นเรื่องที่จะทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นเป็นพิเศษออกไป สำหรับคนที่ประพฤติได้ดีกว่าเราก็ยกย่องให้เกียรติว่าท่านผู้นี้ประพฤติความดีในแง่นั้นๆ ได้เป็นส่วนพิเศษ ส่วนผู้ที่ประพฤติได้ก็ควรจะยกย่องท่านที่ไม่ได้ประพฤติอย่างตน แต่เขาก็ยังเป็นคนดีเช่นเดียวกัน เช่น ยกย่องคฤหัสถ์ที่มีสันโดษ ยินดีในคู่ครองของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เพราะจะเอาข้อปฏิบัติพิเศษนี้เป็นหลักวัดความดีประเสริฐกันก็อาจไม่ถูกต้อง เพราะว่ายังมีแง่ต้องคิดหลายอย่าง เช่นการถือวัตรพิเศษ บางทีบางคนต้องถือข้อปฏิบัติเข้มงวดพิเศษด้วยเหตุผลเฉพาะกรณีเช่น เคยมัวเมาในเรื่องนั้นมาก่อน อยากจะฝึกตนงดเว้นให้สำเร็จก็ต้องเน้นด้านนั้นแข็งแรงเป็นพิเศษ จึงต้องถือวัตรเข้มงวดในเรื่องเช่นนั้น ดังนี้เป็นต้น มิใช่ว่าเป็นเรื่องที่จะทำดีวิเศษกว่ากัน

หรืออย่างพระพุทธเจ้าก็เคยประสบมาด้วยพระองค์เองแล้ว ในมหาสกุลุทายิสูตร คือมีผู้มาสรรเสริญพระองค์ว่าเป็นผู้ประพฤติความดีพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ สาวกทั้งหลายจึงได้เคารพบูชา พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านเห็นข้าพเจ้าประพฤติอะไรดีเด่นพิเศษท่านจึงว่าอย่างนั้น ท่านผู้นั้นบอกว่า ๑. พระพุทธเจ้าทรงฉันอาหารน้อย ๒. ทรงสันโดษด้วยจีวร ๓. ทรงสันโดษในเสนาสนะ ๔. ทรงสันโดษในอาหารบิณฑบาต ๕. ทรงยินดีในที่สงัด พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ที่ท่านจะเอาเรื่องนี้มาเป็นเหตุสรรเสริญข้าพเจ้านั้นไม่ถูกต้อง หากท่านจะสรรเสริญข้าพเจ้าด้วยเหตุอย่างนี้แล้ว สาวกของข้าพเจ้าประพฤติได้ดีกว่าข้าพเจ้าทั้ง ๕ ข้อนี้หลายท่าน เช่นบางท่านฉันอาหารน้อยกว่าข้าพเจ้ามากมาย และสันโดษด้วยจีวร เสนาสนะ บิณฑบาตยิ่งกว่าข้าพเจ้า ในเรื่องยินดีในความสงัดก็เช่นเดียวกัน บางท่านก็ไปอยู่ป่าตลอดชีวิต วิเวกสงัดยิ่งกว่าข้าพเจ้ามากนัก ข้าพเจ้านี้ยังคลุกคลีด้วยหมู่ชนเป็นอันมาก อะไรทำนองนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คติของชาวพุทธก็คือ ให้รู้ว่าอะไรเป็นหลักกลางในระดับความประพฤติทั่วไป และเราพยายามประพฤติกันให้ได้ ส่วนข้อปฏิบัติที่เกินกว่านั้นแล้ว ใครประพฤติได้เราก็ยกย่อง ส่วนคนที่ประพฤติวัตรได้ก็ต้องรู้ว่าเราประพฤติด้วยเหตุใด อันนี้เป็นแง่ดีที่เราทำได้ ส่วนคนอื่นก็อาจทำดีในแง่อื่นๆ เราก็ควรจะส่งเสริมหรือยกย่องท่านเหล่าอื่นในแง่นั้นๆ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสพระสูตรเช่น กามโภคีสูตร เป็นต้น เพื่อให้เราแยกแยะได้ว่า บุคคลนั้นๆ มีส่วนดี ส่วนเสียอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ตีคลุมไปหมดทีเดียว ขอให้ระลึกหลักง่ายๆ ว่า เพียงแต่ปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้องตามหลักเรื่องกามโภคี ๑๐ นั้น เราก็มีการประพฤติธรรมแล้วครบถ้วนตั้งแต่ขั้นโลกียะถึงโลกุตระ อาตมภาพก็ได้ชี้แจงมายืดยาว ก็ขอยุติลงเพียงเท่านี้ก่อน

คำกล่าวสรุปตอนท้าย

อาตมภาพขอบอกความรู้สึกว่า ไม่สู้สะดวกใจที่จะต้องสรุปในตอนท้ายการสนทนาเพราะเป็นเหมือนว่า เรื่องนี้ลงข้อยุติได้ในแนวหนึ่ง แต่เท่าที่พูดกันมา รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก อาตมภาพเองก็เห็นว่า ยังมีเรื่องที่จะต้องพูดถกเถียงกันอีกมากมายทีเดียวในหัวข้อนี้ และอยากขอแสดงความรู้สึกต่อไปด้วย เป็นความรู้สึกอย่างกว้างๆ ต่อสังคมชาวพุทธในปัจจุบันโดยทั่วๆ ไปไม่เฉพาะในที่ประชุมนี้เท่านั้นว่า แม้แต่การประกาศสอนเผยแพร่ธรรม เราก็มักจะเดินในทางสุดโต่ง สมัยหนึ่งเราอาจจะเคยหมกมุ่นวุ่นวายไปกับเรื่องโลก เรื่องกามกันมาก ต่อมาเราหันมาสนใจกันทางพระศาสนา และเมื่อมาสอนกันก็มักฉุดเลยไปเสียอีกทางหนึ่ง ไม่ยอมรับรู้เรื่องของชาวโลกที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง จะพูดแต่เรื่องนอกโลก ไม่สนใจความเป็นไปปกติในชีวิตของเขา แยกตัวออกไปเสียอีกทิศหนึ่ง ปฏิเสธการดำเนินชีวิตของเขาเสียทั้งหมด อันนี้ไม่ใช่เรื่องสุดโต่งในมัชฌิมาปฏิปทา แต่ก็เป็นสุดโต่งที่น่าระวังเหมือนกัน อันนี้เป็นความรู้สึกของอาตมภาพ

อีกข้อหนึ่ง อาตมภาพเห็นว่า แม้ว่าจะได้พูดกันไปอย่างไรก็ตาม อยากจะย้ำไม่ให้ลืม เรื่องเบื้องต้นหรือเรื่องพื้นฐานที่อาตมภาพได้พูดไปตอนต้นนั้นก็อยากจะนำมาย้ำอีก เกี่ยวกับเรื่องของคฤหัสถ์ชาวบ้าน เรื่องศีล ๕ ที่จะบริบรูณ์ได้นั้น ไม่ใช่จะต้องไปงดเว้นจากกาม จากการครองเรือนไปทีเดียว และเมื่อเราปฏิบัติถูกต้องอย่างนั้นก็เป็นธรรมะ อันนี้ก็อยากจะย้ำอีกว่า ที่ว่าปฏิบัติถูกต้องต่อกามนั้นเป็นธรรมะในความหมายชั้นหนึ่งแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องกามโภคี ๑๐ ประเภท คือกามในความหมายของทรัพย์สมบัติ ให้เราแสวงหามาโดยชอบธรรม เมื่อได้มาแล้วให้เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้เลี้ยงคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราให้เป็นสุข และให้เผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้วก็ให้ทำความดี ยิ่งกว่านั้นให้ทำจิตใจให้สงบ เป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของความหลงใหลในทรัพย์สมบัติและวัตถุต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้อง เป็นธรรมตั้งแต่โลกียะถึงโลกุตระ อาตมภาพว่า เราควรจะยอมรับความจริงว่าโลกนี้ได้มีการผลิตกาม เกี่ยวข้องกับกามอยู่ตลอดเวลา เราควรจะสอนเขาให้รู้ว่าควรจะปฏิบัติต่อกามอย่างไรในแต่ละขั้น แม้ตลอดจนการละจากกามนั้นก็เป็นการปฏิบัติต่อกามเช่นเดียวกัน แต่เป็นการปฏิบัติโดยความหมายถูกต้องอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเห็นแก่ประโยชน์สุขของพหูชนตามพระพุทธโอวาทแก่นักเผยแผ่ธรรมแล้ว ก็ควรจะคำนึงถึงสิ่งที่ชาวโลกทั่วไปเขาต้องเกี่ยวข้อง แนะนำธรรมในแง่ที่เป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อกามตั้งแต่ระดับต้นๆ ให้มาก ไม่ควรจะเอาแต่เรื่องที่ตนเองสนใจเป็นประมาณ และที่อาตมภาพพูดว่าให้ระลึกถึงหลักเบื้องต้นเป็นจุดกลางไว้ก่อนนี้ เพื่อไม่ให้เราลืม แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราหยุดกันอยู่แค่นั้น เราก็ต้องเดินหน้าเรื่อยไปเหมือนกัน ระลึกว่าเราจะต้องปฏิบัติธรรมก้าวหน้า คนไหนปฏิบัติได้ยิ่งกว่านี้เราก็ให้เกียรติยกย่องสรรเสริญ

อนึ่ง อาตมภาพขอทบทวนเรื่องพุทธบริษัท ๔ อีกครั้ง ได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างกันไปบ้าง มีธรรมะที่ต้องปฏิบัติผิดแผกกันไปตามระดับของตน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามทุกบริษัทก็สามารถดำรงอยู่ทั้งในโลกียธรรมและโลกุตรธรรม โดยมีโลกุตรธรรมเป็นเป้าหมาย (อาจจะเป็นเรื่องที่เสมือนว่าน่าอนาถที่ในวงการพุทธศาสนา เรายังต้องมาขัดแย้งกันวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องโลกียธรรมและโลกุตรธรรมว่าแค่ไหนเพียงใด ใครควรเกี่ยวไม่ควรเกี่ยว ทั้งที่หลักในเรื่องนี้ก็ชัดเจนพอควรอยู่แล้ว เพียงแต่ยอมสละเวลาตรวจสอบหลักกันสักหน่อยเท่านั้น) ในฝ่ายคฤหัสถ์อย่างในมหาปรินิพพานสูตร เมื่อแสดงถึง อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ก็กล่าวถึง อุบาสก อุบาสิกาบริษัท ทั้งฝ่ายที่มีครอบครัวและทั้งที่ไม่มีครอบครัว เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นการประนีประนอม ๒ ฝ่ายที่ได้พูดถกเถียงกันว่าถูกด้วยกันทั้งคู่ คืออุบาสกอุบาสิกามีทั้ง ๒ ฝ่าย ท่านบอกว่ามีทั้งคิหิโอทาตวสนาที่เป็นพรหมจารีก็มี ที่เป็นกามโภคีคือผู้บริโภคกามก็มี ฉะนั้น เรื่องขอบเขตของธรรมะนั้นมีหลายระดับ และกว้างขวางพอสมควร แต่เมื่อเผยแพร่หรือประกาศอะไรก็พยายามอย่าให้ลืมจุดพื้นฐานเบื้องต้น ซึ่งในระดับที่เกินจากพื้นฐานไปนี้ เราไม่ถึงกับพูดว่าใครถูกใครผิด แต่เราจะพูดในแง่ว่า ใครทำได้ดียิ่งขึ้น อันนั้นก็เป็นที่นิยมยกย่องและเราก็ควรปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ทีนี้มีอีกอันหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องกาม ที่เป็นพุทธพจน์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้ส่วนดีของกามตามที่เป็นส่วนดี ไม่รู้ส่วนที่เป็นโทษของกามตามที่เป็นโทษ ไม่รู้ทางออกจากกามตามที่เป็นทางออกแท้จริง สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมจะไม่เข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายของความเป็นสมณพราหมณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็จะยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหลักของพุทธศาสนาคือรู้ตามความเป็นจริง แม้จะเป็นส่วนดีหรือส่วนโทษต้องรู้ทั้ง ๒ อย่าง และรู้ตามที่เป็นจริง และพระองค์ได้ตรัสถึงพระองค์เองว่า พระองค์เองได้ทรงรู้ประจักษ์ชัดแล้วซึ่งคุณของกามตามที่เป็นคุณ โทษของกามตามที่เป็นโทษ และทางออกหรือเป็นอิสระตามที่เป็นทางหลุดพ้น ฉะนั้นพระองค์จึงสามารถปฏิญาณพระองค์เองได้ว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เรื่องกามและธรรมะนั้นยังมีเรื่องที่จะพูดถึงอีกมากมาย แต่ต้องลงท้ายด้วยพุทธพจน์ดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อเราถึงโลกุตรธรรมจริงๆ แล้ว กามมันไม่มีไปเอง เพราะว่าได้ยกพุทธพจน์มากล่าวแล้วว่า กามนั้นที่แท้อยู่ที่จิตของมนุษย์ไปคิดไปดำริ สิ่งทั้งหลายที่งดงามตระการนั้นมันดำรงอยู่ของมันตามปกติ ฉะนั้นเมื่อถึงโลกุตรธรรมแล้วกามมันไม่มี มีแต่ธรรม ฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนผู้ที่จะบรรลุถึงโลกุตรธรรมจะต้องรู้จักวิธีปฏิบัติต่อกามให้ถูกต้องและนั่นแหละคือธรรมที่จะช่วยให้เราพ้นจากกาม เข้าถึงโลกุตรธรรม

อาตมภาพก็ขออนุโมทนาต่อที่ประชุมเพียงเท่านี้

1แสดงในที่ประชุมเสวนาของลุมพินีธรรมสมาคม ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๔
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.