ค่านิยมแบบพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมสำหรับนักศึกษาแพทย์1

ขอเจริญพรท่านศาสตราจารย์คณบดีและท่านผู้เป็นประธานในที่นี้ ท่านอาจารย์และท่านนักศึกษาแพทยศาสตร์

ในเบื้องต้นนี้อาตมภาพต้องขออนุโมทนา ในการที่เรื่องคุณธรรมได้รับความสนใจจากสถาบันวิชาชีพชั้นสูง มีการนำมาตั้งเป็นปัญหาสำหรับพิจารณาและให้ขบคิดกันเช่นนี้ เรื่องคุณธรรมกับอาชีพแพทย์นี้มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่มองเห็นชัดกันอยู่แล้ว ซึ่งท่านผู้อภิปรายท่านอื่นๆ ก็ได้กล่าวถึงมาพอสมควร ในประเด็นที่ท่านมอบหมายให้อาตมภาพพูดถึงคือเรื่องที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร อันนี้อาตมภาพเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงความจำเป็นของธรรมที่มีต่ออาชีพการแพทย์ด้วย เรื่องธรรมที่มีความจำเป็นต่ออาชีพแพทย์นั้น มันมีเป็นพิเศษมากกว่าที่มีอยู่ตามปกติ คือในอาชีพการงานทุกอย่างนั้นคุณธรรมเป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้ว อย่างน้อยเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราจะทำการงานอะไร ผู้ที่จะทำการงานนั้นจะต้องมีคุณธรรม เช่นความเอาใจใส่ต่อหน้าที่ ความรู้จักรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นคุณธรรมที่ช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยดี แล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการงาน ในอาชีพทุกอย่าง ไม่จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทีนี้สำหรับวิชาแพทย์นั้น คุณธรรมมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ไม่เหมือนกับอาชีพอย่างอื่น ที่ว่ามีความจำเป็นเพิ่มขึ้นนั้นเพราะว่า คุณธรรมดูเหมือนว่าจะเป็นคุณสมบัติหรือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของอาชีพแพทย์ทีเดียว

ความเป็นส่วนประกอบในอาชีพของแพทย์นั้นจะมองเห็นได้ง่าย เพราะว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ไม่ใช่เกี่ยวกับวัตถุ แต่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เกี่ยวข้องกับชีวิต ทีนี้การที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจนั้น เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะเกี่ยวข้องกับวัตถุอย่างอื่นๆ อย่างน้อยแพทย์มีหน้าที่ในการที่จะช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ การช่วยเหลือนี้เป็นคุณธรรมอยู่แล้ว และการช่วยเหลือที่จะให้ได้ผลสำเร็จด้วยดีก็ต้องอาศัยคุณธรรม ซึ่งทำให้ผู้รับความช่วยเหลือนั้นเกิดความรู้สึกไว้วางใจ เกิดความรู้สึกที่จะมอบจิตใจให้คิดที่จะพึ่ง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากว่าคนที่ได้รับความช่วยเหลือมอบความไว้วางใจให้ คิดที่จะพึ่ง ก็คือเขามอบชีวิตของเขาไว้ในกำมือของแพทย์นั่นเอง เมื่อแพทย์ได้รับชีวิตของมนุษย์ไว้ในกำมือแล้ว คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะปฏิบัติต่อชีวิตนั้น

ฉะนั้น คุณธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแพทย์มากยิ่งกว่าอาชีพอื่นๆ คนทั่วไปนั้นเมื่อเจ็บไข้ได้รับความทุกข์ทรมานก็นึกถึงแพทย์นึกถึงโรงพยาบาล พอมาถึงโรงพยาบาล แม้กำลังได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเป็นอันมาก กำลังครวญครางอยู่ พอรู้ว่าถึงโรงพยาบาลบางทีก็หยุดคราง หยุดการโอดครวญ หยุดแสดงความเจ็บปวดได้ทันที เพราะเกิดความอบอุ่นใจขึ้น และยิ่งเมื่อได้เห็นนายแพทย์หรือพยาบาลด้วยก็เกิดความอบอุ่นใจมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้เห็นสีหน้าของแพทย์ที่มีความรู้สึกโอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณา แสดงให้เห็นน้ำใจที่จะช่วยเหลือเขาจากใจจริงแล้ว คนไข้นั้นก็เหมือนกับหายไปครึ่งหนึ่งแล้วจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องคุณธรรมของแพทย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้งานอาชีพของแพทย์สำเร็จผล และเป็นไปในทางที่จะเกิดประโยชน์แท้จริงสมกับหน้าที่ที่แพทย์ต้องรับผิดชอบอยู่

นอกจากแพทย์จะต้องมีความรู้สึกในทางเมตตากรุณาที่จะให้คนไข้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจแล้ว อาชีพของแพทย์ยังมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย และอาจจะทำให้เกิดความหดหู่ได้ง่าย เพราะได้เห็นแต่สภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ ไม่เจริญตาเจริญใจ ภาพของคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานความเจ็บปวดต่างๆ และคนที่ป่วยไม่เป็นเวลา สิ่งเหล่านี้มีแต่บั่นทอนความสุขส่วนตัวของแพทย์ เช่นว่าคนป่วยอาจจะป่วยขึ้นมาเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ แต่แพทย์ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวมาช่วยเหลือคนเหล่านั้น ถ้าหากว่าแพทย์ไม่มีคุณธรรมแล้วความเบื่อหน่ายก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นภาพของคนเจ็บป่วยทุกข์ทรมานซึ่งเป็นภาพที่ไม่เจริญตาเจริญใจ แล้วก็เกิดจากการที่ว่าจะต้องเสียสละผลประโยชน์ความสุขส่วนตัวให้กับคนไข้ที่เจ็บป่วยไม่เลือกเวลาเหล่านั้น คุณธรรมมีความจำเป็นสำหรับแพทย์อย่างนี้ คือเป็นส่วนประกอบโดยตรงของอาชีพแพทย์ทีเดียว เป็นคุณสมบัติประจำตัวของแพทย์อย่างหนึ่ง

ส่วนการที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร เราสามารถอนุมานได้จากการที่ว่าธรรมมีความจำเป็นสำหรับแพทย์อย่างไรนั่นเอง จากที่อาตมภาพได้พูดมานี้จะเห็นว่าคุณธรรมสำคัญของแพทย์มี ๒ อย่างเป็นอย่างน้อยคือ ความเมตตากรุณา ซึ่งทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่คนไข้ แล้วก็ความเสียสละ ที่ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อที่จะมาช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนไข้เหล่านั้น โดยไม่เลือกกาลเวลา เมื่อแพทย์ทำหน้าที่ของตนได้โดยถูกต้องแล้ว แพทย์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นที่พึ่งของประชาชน อยู่ในฐานะที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นที่เคารพส่วนหนึ่งในสังคมอยู่แล้ว ถ้าแพทย์ได้มีคุณธรรมอย่างที่เขาต้องการ คือความเมตตากรุณาที่ให้เกิดความอบอุ่นใจ แล้วก็ความเสียสละอย่างนี้ด้วยแล้ว ความรู้สึกเคารพของประชาชนที่มีต่อแพทย์นั้น ก็จะมีขึ้นโดยสมบูรณ์ เมื่อแพทย์ขาดธรรม คุณสมบัติเหล่านี้ก็จะหายไป คือ ความเมตตากรุณาก็ดีความเสียสละก็ดี ก็จะหายไป บุคลิกบางอย่างของแพทย์ก็หย่อนลง บุคลิกเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดความเชื่อถือ ความเคารพ แพทย์ที่มีคุณธรรมในตัวแล้ว เมื่อคนไข้เห็นก็มีความรู้สึกรักใคร่ตั้งแต่ต้นๆ ช่วยให้โรคภัยของเขาหายไปหลายส่วน แต่เมื่อแพทย์ขาดธรรม คุณสมบัติเหล่านั้นในตัวแพทย์ขาดไป บุคลิกของแพทย์ก็เปลี่ยนไป ฉะนั้นความอบอุ่นใจที่คนไข้จะมีขึ้นก็จะน้อยลง แล้วความสำเร็จผลในการรักษาเยียวยาก็อาจหย่อนลงไปได้ด้วยเหมือนกัน อันนี้อาตมภาพเห็นว่าเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยากนัก ในเรื่องที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดคุณสมบัติขาดธรรมแล้วจะมีลักษณะอย่างไร เมื่อบุคลิกลักษณะความเชื่อถือไว้วางใจหย่อนแล้ว การทำหน้าที่ของตนเองของแพทย์นั้นก็จะบกพร่องไปด้วย คุณสมบัติของแพทย์ก็จะหย่อนลงไปด้วย

มีเหตุผลอย่างหนึ่งว่าแพทย์ก็เป็นผู้อยู่ในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างในคำปรารภของท่านอาจารย์คณบดี พูดถึงว่าการที่เราจะดำรงคุณธรรม หรือการที่จะส่งเสริมคุณธรรมในอาชีพแพทย์นั้นจะทำได้ผลแค่ไหนเพียงไร ในเมื่อแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนี้ เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ไม่ดี ที่เราถือว่ามีคุณธรรมเสื่อมทรามลง ศีลธรรมเสื่อมทรามลง อิทธิพลของสังคมก็ย่อมมีผลต่อแพทย์แต่ละบุคคลไปด้วย ข้อนี้อาจจะทำให้การที่จะส่งเสริมคุณธรรมนั้นเป็นไปได้ยากหรือไม่สู้ได้ผล ในเรื่องนี้อาตมภาพเห็นว่าสังคมนั้นมีอิทธิพลต่อบุคคลแต่ละคนที่เป็นส่วนประกอบในสังคมนั้นแน่นอน เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีก็ย่อมมีผลต่อความประพฤติปฏิบัติของบุคคลแต่ละคน แต่ในเวลาเดียวกันสังคมก็ประกอบขึ้นจากบุคคลนั่นเอง ถ้าหากว่าไม่มีบุคคลที่จะคิดในทางดำรงรักษาคุณธรรมไว้เลย ก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยกันชักนำสังคมนั้นให้เสื่อมลงไปยิ่งขึ้น

มองในทางมุมกลับ แพทย์นั้นก็เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งในสังคมเหมือนกัน คือสถาบันแพทย์เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งในสังคมที่มีอิทธิพลต่อสังคมส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าสถาบันแพทย์เป็นสถาบันที่ควรแก่ความเคารพนับถือเป็นที่พึ่งของประชาชน ก็เท่ากับเป็นการช่วยหน่วงเหนี่ยวสังคมไว้ไม่ให้ตกต่ำส่วนหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นแทนที่เราจะไปเป็นผู้อยู่ใต้อิทธิพลของสังคม เราน่าจะกลับคิดในแง่ที่ว่าในฐานะที่แพทย์เป็นผู้นำเป็นอาชีพชั้นนำ เป็นอาชีพที่ได้รับความนับถือส่วนหนึ่งในสังคมนั้น เราควรจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยทำสังคมให้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตามสังคมนั้นไปในทางเสื่อมลง สถาบันแพทย์นั้นโดยแท้จริงแล้ว เราจะต้องยอมรับว่าเป็นสถาบันที่ได้รับความรู้สึกจากประชาชนในทางที่ดีงามในทางที่สูง หากว่าสถาบันแพทย์ยังสามารถดำรงคุณธรรมไว้ได้แล้ว ฐานะของแพทย์ในสังคมก็อยู่ในความเคารพต่อไป แล้วก็เคารพนับถือยิ่งๆ ขึ้นด้วย วิชาการนั้นก็เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้อาชีพแพทย์ได้มีผลก้าวหน้า แต่ในเวลาเดียวกันคุณธรรมก็เป็นส่วนประกอบที่ควบคู่กันซึ่งขาดเสียมิได้ ซึ่งช่วยให้สถาบันแพทย์หรืออาชีพของแพทย์นั้นมีความเจริญทั้งในด้านการปฏิบัติหน้าที่ได้ผล แล้วก็รักษาฐานะในความเชื่อถือของประชาชนไว้ด้วย อาตมภาพขอชี้แจงสั้นๆ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

เมื่อสักครู่นี้ อาตมภาพได้รับมอบให้พูดในประเด็นเกี่ยวกับการขาดธรรม ซึ่งเมื่อพูดในเรื่องนั้นก็ย่อมเป็นการพูดในแง่ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือในทางที่ไม่น่าพึงพอใจ คราวนี้ได้รับประเด็นใหม่ในเรื่องธรรมที่มีคุณพิเศษสำหรับนักศึกษา และท่านผู้ดำเนินการอภิปรายต้องการให้พูดยกตัวอย่างธรรมที่จะมาใช้ประโยชน์ในทางประยุกต์เกี่ยวกับด้านนี้โดยตรงด้วย เรื่องธรรมที่มีคุณพิเศษสำหรับนักศึกษานั้น อาตมภาพเห็นว่า สำหรับนักศึกษาแพทย์เห็นจะแยกได้สองแง่ คือในฐานะที่ท่านเป็นนักศึกษาอย่างนักศึกษาทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียนค้นคว้าอย่างหนึ่ง และในฐานะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ คือผู้ที่จะรับผิดชอบดำเนินงานในอาชีพของแพทย์ต่อไปอีกอย่างหนึ่ง สำหรับประเด็นแรกนั้นอาตมภาพขอยกไว้ก่อนคือในแง่นักศึกษาทั่วไปยังไม่ขอพูด จะพูดในแง่ที่ท่านเป็นนักศึกษาผู้เตรียมตัวที่จะเป็นแพทย์ต่อไป

ในตอนที่ผ่านมา อาตมภาพได้พูดถึงเรื่องคุณธรรม ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับแพทย์ แล้วก็เกี่ยวโยงไปถึงการที่ว่าเมื่อแพทย์ขาดธรรมเหล่านั้นแล้วจะมีลักษณะเป็นอย่างไร อันนั้นก็เกี่ยวเนื่องมาถึงประเด็นข้อนี้ด้วย เพราะว่าการที่เราจะให้นักศึกษามีคุณธรรมหรือคุณพิเศษอย่างไรนั้นก็คือ ต้องเตรียมปลูกฝังธรรมที่จำเป็นสำหรับแพทย์ให้แก่นักศึกษาแพทย์นั่นเอง ฉะนั้นอันนี้ก็ไปเกี่ยวถึงข้อแรก อาชีพของแพทย์นั้นต้องเกี่ยวข้องกับคนมาก เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของบุคคลอย่างที่อาตมภาพได้พูดถึงในคราวก่อน ที่นี้การเกี่ยวข้องกับคนมากนั้นก็ย่อมได้พบอย่างที่เรียกว่า นานาจิตฺตํ คือว่าคนเรามีจิตใจต่างกัน ในเมื่อแพทย์ได้พบกับคนที่มีลักษณะจิตใจต่างๆ กัน ต่างคนก็หวังจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมทำให้แพทย์อาจเกิดความเคร่งเครียดทางจิตใจ ในการทำงานก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ท่านอาจารย์สุชีพได้กล่าวมาแล้ว คือว่าอาจจะแสดงอาการบางอย่างออกไปได้ในกาลบางคราวซึ่งแม้เป็นเรื่องที่มีเพียงน้อยเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีคนนำไปพูดได้ ซึ่งเป็นข้อที่ควรเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ก็เป็นความจริง และโดยเฉพาะผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับแพทย์นั้นไม่ใช่คนที่มีนานาจิตฺตํอย่างทั่วๆ ไปเท่านั้น ยังเป็นจิตชนิดที่อ่อนแอเป็นจิตที่มีโรคแล้ว เวลาที่เป็นโรคทางกายนั้นเราต้องยอมรับว่าจิตใจก็เป็นโรคด้วย คือสุขภาพทางจิตก็จะไม่สมบูรณ์ด้วยเหมือนกัน ทีนี้นอกจากการที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนที่มีอารมณ์จิตใจที่ต่างๆ กันตามปกติ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับคนมาก จะต้องได้รับความเห็นใจแล้ว ยังไปเกี่ยวข้องกับคนที่มีสุขภาพทางจิตใจไม่ปกติเข้าอีกด้วย อันนี้ก็ย่อมต้องเห็นใจแพทย์มากยิ่งขึ้น ในการที่จะเห็นใจแพทย์นั้น อาตมภาพมองดูในส่วนมากเท่าที่ตนเองรู้สึกก็เห็นว่าแพทย์ส่วนมากยังเป็นผู้มีใบหน้าที่เยือกเย็น มีอารมณ์ที่สุขุม อันนี้มิใช่ว่าอาตมภาพจะมาพูดในที่ประชุมนี้ในสถาบันนี้เพื่อเอาใจ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้สึกที่ได้ประสบมา คือแพทย์ส่วนมากก็ยังเป็นผู้ที่มีความสุขุมเยือกเย็นโดยการเปรียบเทียบกับสถาบันหรือการอาชีพอย่างอื่นอยู่นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดีในเมื่อแพทย์มีหน้าที่ที่จะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากที่มีอารมณ์ต่างๆ กัน โดยเฉพาะที่มีสุขภาพทั้งกายทั้งจิตต่ำลงอย่างนี้ แม้ว่าแพทย์ควรจะได้รับความเห็นใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันเรามาพูดในแง่ของแพทย์เองในฐานะที่ว่าเป็นผู้ที่จะปรับปรุงตัวเอง คือเราจะทำงานอาชีพของเราให้ดีขึ้น เราก็ต้องพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของตนให้ดีขึ้น คือรู้ว่าเราจะต้องเกี่ยวข้องกับคนมาก มีอารมณ์และจิตใจต่างๆ กัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนป่วยคนไข้แล้ว แพทย์ก็ต้องเตรียมใจที่จะฝึกอบรมคุณธรรมในการที่จะเป็นผู้สุขุมเยือกเย็นให้มีมากยิ่งกว่าผู้ที่จะไปประกอบอาชีพในด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นอันนี้แสดงถึงความจำเป็นมากยิ่งขึ้นไปอีกในการที่ว่าจะต้องให้แพทย์มีคุณธรรม คุณธรรมอะไรที่จะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับแพทย์ อันนั้นก็เป็นคุณธรรมที่เราจะต้องปลูกฝังไว้สำหรับนักศึกษาแพทย์ คุณธรรมที่แพทย์จะต้องมีก็เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักศึกษาแพทย์ด้วย ที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ที่อาตมภาพพูดมาแล้วคุณธรรมเช่นความเมตตากรุณา ความเสียสละ เป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝังขึ้นในแพทย์ ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่มีโอกาสมากกว่าตอนเป็นแพทย์แล้ว แล้วก็เป็นระยะเวลาที่จะต้องเตรียมตัวในการฝึกอบรมทั้งในด้านบุคลิกลักษณะ คุณสมบัติต่างๆ ที่จะไปเป็นแพทย์ที่ดีด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ ทั้งในด้านความสุขุมเยือกเย็น ความมีเมตตากรุณาและความรู้สึกเสียสละ รวมไปถึงความมีขันติคือความอดทน คุณธรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในทางพระพุทธศาสนานั้นถือว่า การปลูกฝังคุณธรรมนั้นให้ปลูกฝังด้วยปัญญา คือให้เกิดจากความรู้ความเข้าใจของเราเอง

อาตมภาพเห็นว่าอาชีพของแพทย์หรือลักษณะงานของแพทย์นั้น มีโอกาสหรือมีสภาพที่อำนวยให้มีการปลูกฝังคุณธรรมได้มากกว่าอาชีพการงานอย่างอื่นๆ ส่วนมาก สิ่งที่ว่าเป็นสภาพที่อำนวยนี้ ที่มองเห็นได้ง่ายๆ ก็คือสภาพของคนเจ็บไข้ ซึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ของเราที่ได้รับความเจ็บป่วย ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ อันนี้ก็เป็นสภาพที่เป็นโอกาสอำนวยให้เกิดการปลูกฝังคุณธรรม อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ได้เห็นสภาพธรรมดาของสังขารที่เป็นไปอย่างที่ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ไตรลักษณ์ หรือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อมาเรียนแพทย์ นักศึกษาแพทย์จะเห็นลักษณะเหล่านี้ได้ดียิ่งกว่าที่เป็นนักศึกษาหรือทำการงานอาชีพอย่างอื่นๆ คือได้เห็นสภาพของชีวิตที่เป็นจริงว่าเมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาแล้วจะมีความเป็นไปอย่างไร ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ทรมานเป็นอย่างไร เราควรจะตั้งทัศนคติต่อสภาพที่อำนวยนี้อย่างไร ธรรมดาคนที่มีพื้นฐานทางคุณธรรมอยู่แล้วได้รับได้เห็นสภาพต่างๆ เหล่านี้ คุณธรรมอาจเกิดขึ้นได้เอง เช่นว่าเมื่อเห็นคนป่วยได้รับความทุกข์ทรมานก็อาจจะเกิดความเมตตาสงสารขึ้น ถ้ามีคุณธรรมในด้านนี้เป็นพื้น หรือได้เห็นสภาพของธรรมดาชีวิต ความเป็นไปในชีวิตที่เป็นสามัญ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ก็อาจจะทำให้เข้าถึง รู้ถึงความจริงได้ดีขึ้น แต่สำหรับคนทั่วไป สภาพเหล่านี้ไม่แน่นักว่าจะทำให้เกิดคุณธรรมที่ต้องการอย่างนี้ขึ้นได้ เพราะว่าความจำเจหรือว่าสิ่งที่ชักจูงในด้านอื่นอาจจะทำให้เขวไปก็ได้ เราจึงจะต้องมีการคอยสะกิด คอยผูกใจ คอยระมัดระวัง คอยพูดถึงกันไว้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สภาพอำนวยที่จะให้มีคุณธรรมอยู่แล้วเหล่านั้นเกิดเป็นผล คือมีคุณธรรมขึ้นได้อย่างแท้จริง อาตมภาพเห็นว่าแม้แต่ภาษิตของสถาบันแพทย์แห่งนี้ท่านผู้ตั้งก็คงจะได้นึกถึงเหตุผลข้อนี้ด้วย จึงได้ตั้งภาษิตขึ้นว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” ซึ่งแปลว่า พึงกระทำตนให้เป็นอุปมา คือคอยเตือนใจแพทย์อยู่เสมอในเมื่อได้เห็นคนได้รับความทุกข์ทรมานว่า ให้เอาตนเองเข้าไปเปรียบเทียบว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ก็รักชีวิต มีความรักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกับตัวเรา ต้องการที่จะสงวนชีวิตของตนให้ยั่งยืน เมื่อแพทย์เอาตนเองเข้าไปเปรียบเทียบอย่างนี้แล้ว ก็เห็นใจเขา ก็จะช่วยเหลือเขาได้เต็มที่ ความเมตตากรุณาก็อาจจะเกิดขึ้น ความเสียสละช่วยเหลือก็อาจจะได้เกิดขึ้นด้วย แต่การที่จะนำตนเข้าไปเปรียบเทียบโดยตรงอย่างนี้ อาตมภาพเห็นว่าบางทีเรายังมองเห็นไม่ชัด ก็เอาสิ่งที่ใกล้ตัวเข้าไปเปรียบเทียบ ถ้าเรามองเห็นคนป่วยคนไข้ในระดับวัยเพศต่างๆ กัน ก็ให้นึกไปถึงบุคคลที่เรารักใคร่ เช่นบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง แม้แต่บุตรธิดาของเรา ท่านที่ได้เห็นคนไข้แล้ว เมื่อเห็นคนที่สูงอายุหน่อยก็นึกไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ของตนเอง คุณปู่ คุณย่าของตนเอง เมื่อเห็นเด็กอายุน้อยก็นึกถึงดังว่าเป็นลูกของตนเอง หรือนึกถึงพี่น้องของตนเอง อย่างนี้เป็นการเปรียบเทียบที่เนื่องกับตนก็จะช่วยให้คุณธรรมในทางเมตตากรุณาเกิดขึ้นได้ อาตมภาพเห็นว่าสภาพที่อำนวยนั้นไม่ใช่ว่าให้เกิดคุณธรรมได้เสมอไป บางทีชินชาไป เราจะต้องมีการชักจูงแนะนำสะกิดกันไว้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีการพูด การอภิปรายอะไรกันบ้างนี่อาตมภาพเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งจะช่วยได้ แต่ว่าถึงโดยสภาพในลักษณะงานอาชีพของแพทย์แล้ว มีลักษณะอำนวยอยู่โดยตรงที่จะเกิดคุณธรรม

อาตมภาพขอสรุปว่า เรื่องนี้มีได้สองอย่าง คือ คุณธรรมในฐานะหน้าที่อย่างหนึ่ง และคุณธรรมในฐานะสิ่งซึ่งพึงปลูกฝังโดยการชักจูงอบรมอย่างหนึ่ง ในฐานะหน้าที่นั้นถ้าเรายอมรับว่าแพทย์ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติทั้งในทางวิชาการ คือการที่จะรู้วิชาแพทย์และรักษาตามวิชาการนั้นได้ และจะต้องมีคุณสมบัติในทางจรรยาในการที่จะสร้างบุคลิกให้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนและคนไข้ด้วย ถ้าเรายอมรับว่าหน้าที่ของแพทย์จะทำได้โดยสมบูรณ์ แพทย์เองจะต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องทำให้ท่านผู้เป็นนักศึกษาแพทย์มีความสำนึกอยู่ในตัวเสมอว่า ถ้าปรารถนาที่จะบำเพ็ญหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์แล้วเราจะต้องมีทั้งวิชาการและทั้งคุณธรรม เมื่อแพทย์มีความสำนึกอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในการที่จะปลูกฝังคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นในตน คุณธรรมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากการที่ได้ทำบ่อยๆ และการที่ทำบ่อยนั้นๆ เกิดจากการที่ปรารภขึ้นในจิตใจของตน เกิดศรัทธาความเชื่อว่าอย่างนี้ดีแน่ ทีนี้เมื่อเห็นว่าท่านจะเป็นแพทย์ที่ดีได้จะต้องมีคุณสมบัติทั้งในด้านวิชาการและในทางคุณธรรม เมื่อท่านเชื่ออย่างนี้และยอมรับความจริงแล้ว ท่านก็ต้องตั้งใจตั้งแต่บัดนี้ว่าเราจะต้องเรียนทั้งวิชาการ แล้วจะต้องปลูกฝังคุณธรรมให้มีขึ้นในตน อย่างนี้เรียกว่าการอธิษฐานใจ เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา

การอธิษฐานนั้นหมายถึงการตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะทำอย่างนั้นให้ได้จริงๆ ไม่ใช่ความหมายว่าอธิษฐานขอให้ผลอย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้นโดยไม่กระทำ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดพลาดในเรื่องคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เมื่อเราอธิษฐานใจอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะต้องเป็นแพทย์ที่ดี เป็นผู้มีคุณสมบัติของแพทย์ที่ครบถ้วน จะต้องทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ถ้าตั้งใจอย่างนี้แล้วการคิดที่ว่าจะปลูกฝังคุณธรรมขึ้นมันก็ต้องมีขึ้นเอง เมื่อเห็นคนไข้มาก็จะไม่เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเมตตากรุณาสงสารขึ้นมาได้ในตัว เพราะความรู้สึกที่ว่าเราจะทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แต่ทีนี้ถ้าว่าในทางตรงกันข้ามสภาพที่อำนวยเหล่านี้แหละอาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นได้ ถ้าแพทย์ไม่ได้คิดอธิษฐานใจในการทำหน้าที่ของตนโดยสมบูรณ์ เช่นเห็นคนไข้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก็เป็นสภาพที่ไม่เจริญตาเจริญใจ เป็นสภาพที่เข้ามาขัดขวางความสุขส่วนตน อันนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายนั้นก็แสดงออกมาในทางหน้าที่ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อจากนั้นก็แสดงออกในการปฏิบัติต่อคนไข้ในทางที่ไม่น่าพึงใจ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วงานที่ปฏิบัติก็ได้ผลไม่เต็มที่ ทีนี้ถ้าเราจะทำงานให้ได้ผลให้เต็มที่เราบอกตัวเองว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของแพทย์ เราจะทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ พอเราคิดว่าจะทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์เท่านั้นแหละ คุณธรรมเหล่านี้มันจะเกิดมีขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าหน้าที่ก็คือธรรม ธรรมก็คือหน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ของเราโดยสมบูรณ์แล้วอันนั้นคือการปฏิบัติธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคคลแต่ละคน ธรรมนั้นอาจจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลแต่ละคนใกล้ชิดที่สุดคือหน้าที่ของตนเอง ธรรมอย่างอื่นอาจจะเกี่ยวข้องน้อยเราอาจใช้เพียงบางโอกาสเท่านั้น แต่เรื่องหน้าที่แล้วเป็นเรื่องจำเพาะแต่ละบุคคล ทุกคนมีหน้าที่อยู่แล้ว โอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้ดีที่สุดก็คือการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นคุณธรรมที่แพทย์จะต้องปลูกฝังให้ได้มากที่สุดตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็คือ การอธิษฐานใจว่าเราจะทำหน้าที่ของแพทย์ให้สมบูรณ์ให้ดีที่สุด เมื่อตั้งใจอย่างนี้แล้วตั้งแต่เป็นนักศึกษา คุณธรรมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้เอง เพราะว่าท่านจะปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นข้อหนึ่ง

ทีนี้ในแง่ของการปลูกฝังอบรม เมื่อพูดในแง่สภาพที่อำนวยเมื่อกี้ สำหรับบางคนสภาพที่อำนวยเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความจำเจชินชา จนไม่อาจให้เกิดความรู้สึกในการที่จะปลูกฝังคุณธรรมขึ้นก็ได้ ทั้งนี้สุดแต่ความคิดเห็นในเบื้องต้น เมื่อความคิดเห็นในเบื้องต้นเป็นอย่างไรแล้ว ความดำริ การกระทำ วาจาอะไรต่างๆ ก็ตามไปในทางนั้นด้วย ถ้าไม่มีการชักจูงในทางที่ดี พอเห็นสภาพที่ไม่ดีก็อาจจะมีสิ่งชักจูงในทางที่เสียเกิดขึ้น เช่นเห็นภาพคนไข้ที่ได้รับทุกข์ทรมานก็เกิดความเบื่อขึ้น พอเกิดความเบื่อนี่ถือว่ามีความเห็นผิดขึ้นหน่อยแล้วก็ชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เมื่อเห็นภาพของการเจ็บการตายอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งนั้น อาจชวนให้เกิดความเบื่อหน่าย คนที่จะเข้าสู่คุณธรรมก็ต้องอาศัยเหตุผลสองประการ คือ หนึ่งเกิดจากตนเอง ตนเองที่มีพื้นฐานคุณธรรมดีอยู่แล้วไม่ต้องมีใครมาชักจูงก็อาจจะเกิดเมตตา เกิดความรู้เข้าใจสภาพความจริงได้ ทีนี้สำหรับคนบางคนไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้นต้องอาศัยการชักจูงจากภายนอกก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ในเมื่อมีผู้มาพูดมาชักจูงสะกิดใจไว้เป็นบางคราว ก็ทำให้ผู้เป็นนักศึกษาแพทย์นั้นได้นึกถึงเรื่องที่ดีที่งามและหน้าที่ของตนขึ้น ไม่ทันที่จะปล่อยใจไปในทางเบื่อหน่ายนั้นแต่ฝ่ายเดียว อาจจะกลับมาทำในทางที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มที่ หันกลับมาผูกใจไว้กับคุณธรรมได้ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้คุณธรรมของแพทย์เกิดขึ้นได้สมความปรารถนานั้น ก็เกิดจากการปลูกฝังของนักศึกษาแพทย์แต่ละคนในการคิดตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์อย่างหนึ่ง และการที่มาคอยช่วยกันสะกิดคอยพูดคอยตักเตือน ซึ่งก็อาจจะอาศัยการที่มีกิจกรรมต่างๆ เช่นการอภิปราย สัมมนา การเชิญบุคคลภายนอกมาบรรยายให้ฟังเป็นครั้งคราว ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังเรื่องการสะกิดใจผูกใจไว้กับคุณธรรมแล้ว ก็ยังจะได้รับฟังความคิดของบุคคลภายนอกที่มีต่อสถาบันแพทย์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง

สภาพที่อำนวยอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคุณธรรม คือเรื่องสภาพธรรมดาของชีวิตอันได้แก่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สิ่งเหล่านี้ความจริงมันเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ว่าถ้าไม่มีการสะกิดกัน บางทีก็มองไม่เห็น ถ้าได้มีการพูดถึง คอยคิด คอยดำริกันอยู่บ้าง ก็ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชีวิตที่เป็นจริง ทำลายความยึดมั่น ถือมั่น หรือทำให้น้อยลงได้บ้าง เมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น ทำลายความผูกพัน ก็มองเห็นอนัตตา เห็นอนัตตาก็หมายถึงการที่มีความยึดมั่นในตัวตนน้อยลง มีความยึดมั่นในความคิดเห็นของตนน้อยลง มีทิฏฐิน้อยลง ตลอดจนกระทั่งมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขส่วนตัวน้อยลงด้วย เพราะเห็นสภาพธรรมดาของชีวิตที่มันเป็นไป คือเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ เห็นสภาพอนัตตาแล้วว่าสิ่งทั้งหลายมันก็มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนอะไร เมื่อทำลายความยึดมั่นในตัวตนแล้วก็จะทำงานด้วยเห็นอนัตตา ทำงานด้วยเห็นอนัตตาหมายความว่า ไม่ยึดมั่นกับตัวเองความคิดเห็นของตนเองเกินไปแต่ยึดถือเอาความถูกต้อง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาตนเป็นที่ตั้ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของคุณธรรมที่พึงปลูกฝังขึ้นในผู้เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งอาตมภาพเห็นว่ามีวิธีการที่ต้องทำทั้งตนเองและอาศัยการสะกิดการแนะนำ ชักจูงผูกใจจากภายนอกด้วย ทั้งสองอย่างประกอบกัน ขอเจริญพรยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน

1เรียบเรียงจากการอภิปรายเรื่อง “ธรรมกับการศึกษาแพทยศาสตร์” ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ (ผู้นำการอภิปราย) พระราชโมฬี วัดพระเชตุพน กิติวุฑโฒภิกขุ (มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และจิตตภาวันวิทยาลัย) นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง และนายสุชีพ ปุญญานุภาพ
พิมพ์ครั้งแรกใน สารศิริราช ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๓ หน้า ๖๑๓ – ๖๖๘
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.