เมื่อธรรมดามาถึง รู้ให้ทัน และทำให้ถูก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพิธีศพ
พุทธภาษิตเกี่ยวกับความตาย

 

๑. การจัดพิธีศพ

จัดพิธีศพอย่างไร จึงจะได้บุญกุศลทั้งเจ้าภาพและแขก ?

ปัจจุบันนี้ ความคลาดเคลื่อนและเลือนรางต่างๆ ได้เกิดขึ้นในความเข้าใจและการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก ตัวอย่างง่ายๆ คำศัพท์ทางธรรมหลายคำได้กลายความหมายไป ความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ตรงกับความหมายเดิม เช่น

ทรมาน แต่เดิมหมายถึง ทำให้หายพยศ ทำให้กลับใจจากความชั่วร้าย หันมาในทางดี หรือเปลี่ยนจากเข้าใจผิดมาเป็นเข้าใจถูก เช่นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรมานชฎิลสามพี่น้อง เสด็จไปทรมานโจรองคุลิมาล เสด็จไปทรมานพรหมมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ เราเข้าใจเป็นว่า ทรมาน หมายถึงทำให้ลำบากหรือได้รับความเจ็บปวดอย่างมากมายรุนแรง

มานะ เดิมหมายถึงความถือตัว ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่งอันจะต้องละ ปัจจุบันเรามักเข้าใจว่าเป็นความเพียรพยายาม และสอนกันให้มีมานะ นี้เป็นตัวอย่างความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความเข้าใจในถ้อยคำ ซึ่งมีหลักฐานในคัมภีร์ให้สืบหาความหมายเดิมแท้ได้ แต่ประเพณีการปฏิบัติต่างๆ หลายอย่าง ไม่มีบันทึกเอกสารไว้ ได้แต่ทำตามๆ กันมาเมื่อคลาดเคลื่อนเลือนรางไป ก็ไม่มีหลักฐานตรวจสอบ ทำให้ชำระสะสางได้ยากว่า เดิมนั้นท่านทำอย่างไร และมีความมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือ เอาหลักใหญ่มาตั้งเป็นเกณฑ์ตรวจสอบ ให้การกระทำแต่ละอย่างเป็นการกระทำที่ทำแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ไม่ใช่สักว่าทำ หรือทำแล้วได้ผลตรงกันข้าม กลายเป็นอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม

ต่อไปนี้ จึงค่อยมาพิจารณาคำถามที่ตั้งขึ้นนั้นต่อไป

๒. พิธีอาบน้ำศพ

พิธีอาบน้ำศพ บางท่านก็ว่า “ขออโหสิกรรม” หรือ “ไปสู่สุคติเถิด” หรือ “มามือเปล่า ไปมือเปล่า” หรือ “ตายแล้วเป็นสุข” ?

พิธีอาบน้ำศพ จะกล่าวคำว่าอย่างไร ขอให้นึกถึงเมื่อครั้งพระพุทธ-เจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คราวนั้นพระอนุรุทธเถระก็อยู่ที่นั่น พระอานน-ทเถระก็อยู่ พระอินทร์ก็อยู่ แต่ละท่านได้กล่าวคำแสดงธรรมสังเวชท่านละคาถา ก็ว่าไม่เหมือนกันเลย เช่นว่า อนิจฺจา วตสงฺขารา ฯลฯ นี้เป็นคติให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องว่าคำอะไรเป็นอย่างเดียวกัน แต่ให้กล่าวคำอะไรก็ตาม ที่เป็นเครื่องเจริญกุศล เป็นความตั้งใจดีของผู้ตาย หรือเป็นคำสอนใจตนเองก็ได้ เพียงแต่อย่าให้เกิดจิตเป็นอกุศล เช่น โทสะ หรือ โมหะ เป็นต้น หรือสักว่าทำเปล่าๆ เลื่อนๆ ลอยๆ คำที่ให้ตัวอย่างมานั่นส่วนมากก็ช่วยในการทำใจได้แทบทั้งนั้น

๓. การสมาทานศีล

การสมาทานศีล ขณะรับศีลก็ตบยุงกันเปาะแปะ คุยกันบ้าง เสร็จแล้วก็ดื่มเหล้า เมายา เล่นการพนัน บางคนรับศีลแค่สี่ข้อเว้นศีลข้อที่ห้า ?

การสมาทานศีลมักจะมีพิธี พิธีนั้นเดิมเป็นการตระเตรียม เป็นวิธีการเพื่อช่วยให้การกระทำนั้น เรียบร้อยหนักแน่นจริงจัง เช่น จะสมาทานศีลเอง คือตั้งใจว่า กำหนดใจเอากับตัวเองว่ารักษาศีลก็ได้ แต่มีพิธีก็เพื่อให้เป็นการสำทับกับตัวเองให้หนักแน่นจริงจัง แต่เดี๋ยวนี้ คำว่า ‘พิธี’ กลายความหมายไปในทางตรงข้าม คือ กลายเป็นเรื่องไม่จริงไม่จัง อย่างที่พูดกันว่า ทำพอเป็นพิธี การสมาทานศีล เดี๋ยวนี้ก็มักทำกันอย่างพอเป็นพิธี ซึ่งก็คือ ไม่ได้สมาทานเลยนั่นเอง ตามตัวอย่างที่ท่านเล่ามานั้น ก็คงมีแต่พิธี แต่ไม่ได้มีการสมาทานศีลนั่นเอง เพราะสมาทานศีล ก็คือ เปล่งวาจา (หรือตั้งใจจริงจัง) ให้คำมั่นว่า จะรับเอาข้อปฏิบัตินั้นๆ ไปประพฤติบำเพ็ญ เมื่อไม่ตั้งใจรับก็ไม่มีการสมาทานศีลอย่างที่เล่ามา อาจจะเรียกว่าเป็นซากของการสมาทานศีล เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็ลองไปพิจารณาปรับปรุง ชักชวนกันทำให้พิธีกลับกลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมาอีก ก็จะเป็นบุญเป็นกุศล และเป็นคุณแก่พระศาสนาเป็นอันมาก

๔. การสวดพระอภิธรรม

การสวดพระอภิธรรม สวดกัน ๓-๔ จบ สวดภาษาบาลี ?

การสวดพระอภิธรรม ๓-๔ จบเป็นภาษาบาลีนั้น เกิดขึ้นอย่างไร ก็ยากจะสันนิษฐาน อาจเป็นได้ว่า เวลานั้นคนรู้ธรรมกันมากมายลึกซึ้งและรู้บาลีกันมากด้วย เมื่อมีงานศพจะต้องมานั่งชุมนุมกันนานๆ จะแสดงธรรมอะไรในหมู่ผู้รู้ก็จะจืด เลยเอาอภิธรรมมาสวดเป็นหัวข้อนำ เป็นการซักซ้อมทบทวนด้วยและอาจใช้เป็นบทตั้ง เมื่อพระสวดจบแล้วก็มาอภิปรายสนทนากันในหัวข้อนั้นๆ ต่ออีกก็ได้ แต่สมัยนี้คนไม่ค่อยรู้ธรรมและไม่รู้บาลีแล้ว พระก็ยังสวดไปตามเดิม ผลก็เลยกลายเป็นว่าไม่รู้เรื่อง พระที่สวดก็อาจจะไม่รู้เรื่อง คนฟังก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำกันพอเป็นพิธี บางวัดท่านรู้เท่าทัน หวังจะให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ไปร่วมงาน ท่านก็ปรับปรุงเสียใหม่ โดยลดการสวดลง อาจจะเหลือสวดจบเดียว (ยังรักษาพิธีไว้บ้าง) แล้วก็ให้พระมาเทศน์ให้ฟังหรือเทศน์ก่อน แล้วสวดสักจบเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ระวังให้ดี การเทศน์ก็จะกลายเป็นทำพอเป็นพิธีไปเสียอีก ถ้าที่ใดพระผู้นำดีเก่ง หรือมรรคนายกมีปัญญาสามารถก็ปรับปรุงให้มีสาระขึ้นได้ แต่ก็ได้เป็นเพียงน้อยแห่งและชั่วระยะเวลา เรื่องนี้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไปงานศพพอเป็นมารยาท ไม่ได้สนใจธรรมหรือจะหาคติจากพิธีศพ ฝ่ายพระก็คิดเพียงจัดพิธีให้เสร็จๆ ไป นี่ก็เป็นซากการสวดพระอภิธรรมอีกเหมือนกัน

๕. การฟังพระอภิธรรม

การฟังพระอภิธรรม ก็นั่งฟังพอเป็นพิธี ส่วนมากฟังกันไม่รู้เรื่อง คุยกันเสียแหละมาก ?

ข้อนี้ตอบแล้วในข้อ ๓ ถ้าไม่ต้องการให้เป็นซาก หรือให้เหลือแต่ซาก ก็เร่งกระตือรือร้นแก้ไขปรับปรุงกันเสีย เมื่อปรับปรุงได้ผลดีสักสองสามแห่งแล้ว ก็อาจจะนิยมทำตามกันกว้างขวางออกไป

๖. การแสดงธรรม

การแสดงธรรมนิยมมีเทศน์แจงปฐมสังคายนาทุกงาน พระท่านก็สรรเสริญเจ้าภาพ ยกยอคนตายว่าสละทรัพย์บำรุงศาสนาที่ไหนบ้าง ฯลฯ และก็มักบอกอานิสงส์ว่าเทศน์แจงนี้ได้บุญมากมาย เพราะมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นการสืบต่อพระศาสนา ?

การแสดงธรรมโดยเฉพาะเทศน์แจงเป็นเทศน์ใหญ่ แต่เดิมอาจจะเป็นโอกาสให้ได้แยกแยะแจกแจงเนื้อหาธรรมออกไปได้กว้างขวาง เพราะเทศน์แจงคือเทศน์เรื่องสังคายนา ย่อมเกี่ยวกับธรรมวินัยทั้งหมดทั้งสิ้น คราวหนึ่งๆ จะจับเอาจุดไหนมาแยกแยะก็ได้ และอาจจะเป็นโอกาสที่จะชำระสะสางความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แก้ไขกันให้ถูกต้อง สมชื่อว่าสังคายนา แต่ปัจจุบันก็เหมือนกับข้อก่อนๆ คือ ทำกันพอเป็นพิธี ก็เลยมีแต่ซากการเทศน์แจงอีกนั่นแหละ เมื่อเหลือแต่ซากก็เลยต้องมาเอาดีกันตรงสรรเสริญผู้ตาย แต่ถ้าเนื้อหาธรรมที่แสดงหนักแน่นดี การพูดถึงผู้ตายและเจ้าภาพก็เป็นเรื่องประกอบไปได้ ไม่เสียหาย โดยนัยนี้ จะจัดหรือไม่จัดก็พึงพิจารณาดูสาระเถิด

๗. การฟังธรรม

การฟังธรรม คนมักเบื่อการฟังเทศน์ ก็ฟังกันพอเป็นพิธีมีไม่กี่คน จะมากเอาตอนทอดผ้าบังสุกุล เจ้าภาพก็ต้อนรับแขกเตรียมจัดชื่อคนที่จะเชิญไปทอดผ้า ถ้ามี ส.ส. ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตำรวจระดับ สวญ. มาด้วย เจ้าภาพก็มีหน้ามีตา ?

การฟังธรรมก็เข้ากับคำตอบที่ชี้แจงมาแล้วในข้อก่อนๆ เมื่อตัวสาระหมดไป หดหายไป เราก็มาเอาดีกันตรงเกียรติยศชื่อเสียง เรื่องอย่างที่เล่ามาว่าเชิญผู้มีเกียรติมากมายขึ้นทอดผ้านั้น นิยมทำกันมากในชนบทไม่นานนี้เอง ในกรุงไม่ค่อยทำเพราะคนมีเวลาน้อย แต่ในแง่สาระก็ไม่ค่อยได้ด้วยกัน ทั้งในกรุงและนอกกรุง เป็นแต่ว่าในชนบทมีเวลาที่จะให้แก่เรื่องไม่เป็นสาระมากกว่า ก็เลยมีพิธียาวกว่า

ทางแก้นั้นคือ เมื่อดึงความสำคัญในส่วนที่เป็นสาระกลับมาได้ ทำสิ่งที่ควรมีสาระให้กลับมีสาระขึ้นมาได้ เรื่องปลีกย่อยเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลงไปเอง แต่เรื่องนี้ เหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แก้ไขยาก คือค่านิยมของสังคมไทยที่พอกพูนขึ้นมาว่า ต้องการเกียรติ หมดเท่าไรไม่ว่า ขอให้ได้ชื่อเสียง

๘. มาติกา

มาติกา นิยมนิมนต์พระมากกว่าอายุคนตาย เพราะถือว่าลูกหลานจะได้อายุยืน ถ้านิมนต์เจ้าคุณ พระครู มาได้มากๆ ก็ถือว่ามีเกียรติ ?

มาติกา เรื่องนี้ก็เหมือนกับข้อก่อนๆ นั่นเอง คือ เหลือแต่ซากมาติกา เมื่อเหลือแต่ซากแล้ว สิ่งที่ไม่เป็นสาระต่างๆ การถือหยุมๆ หยิมๆ ต่างๆ ก็ตามกันขึ้นมาเองเป็นธรรมดา เพราะเมื่อหาสาระจากตัวหลักไม่ได้แล้ว ก็เอาโชคลางเกียรติชื่อเสียงใส่เข้าพอให้รู้สึกว่าได้อะไรบ้าง พออุ่นๆ ภูมิๆ

(มาติกา คือ หัวข้อสิกขาบท แต่ละหมวด เช่น กุสฺลา ธมฺมา อกุสฺลา ธมฺมา อพฺยากตฺตา ธมฺมา ได้แก่ หมวด กุศล อกุศล อัพยากฤต ฯลฯ ซึ่งต้องขยายความต่อไป)

๙. การฟังพระสวดมาติกา

การฟังพระสวดมาติกา แขกก็นั่งพนมมือ ปากก็คุยกันไป เจ้าภาพก็มัวยุ่งเรื่องทอดผ้า จะเอาใครบ้าง ใครก่อนใครหลัง ใครจะเป็นประธานจุดไฟ พระคงจะสวดให้คนตายฟัง เพราะก่อนสวด ต้องไปเคาะโลงบอกทุกที ?

ข้อนี้ก็ตอบเหมือนข้อก่อนๆ

๑๐. การทอดผ้าบังสุกุล

การทอดผ้าบังสุกุล พิธีกรจะประกาศเรียกชื่อผู้มีเกียรติมาทอดชุดละ ๔ คน จนเท่ากับจำนวนพระ ขณะทอดผ้า บางท่านก็ว่า นามรูปํ อนิจฺจํ หรือ มยามริตพฺพํ ?

ข้อนี้ก็ตอบเหมือนกับข้อก่อนๆ ส่วนที่ว่าขณะทอดผ้านั้นพึงถือคติอย่างที่ตอบในข้อ ๑ (คำที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเข้าใจความหมายก็ใช้ได้ ขออย่าเพียงว่าเป็นขลังๆ ไปก็แล้วกัน)

๑๑. การพิจารณาชักผ้าบังสุกุล

การพิจารณาชักผ้าบังสุกุล พระท่านว่า อนิจฺจา วตสงฺขารา ... เตสํ วูปสโมสุโข วรรคสุดท้ายส่วนมากก็แปลกันว่า ตายแล้วเป็นสุข น่าจะถูกเพราะว่าเกี่ยวกับการตาย แต่ถ้าแปลอย่างนี้ก็ขัดกับ มรณมฺปิ ทุกขํ อีก ?

การพิจารณาชักผ้าบังสุกุล คำที่พระว่าวรรคสุดท้าย ไม่ใช่แปลว่า ตายแล้วเป็นสุข แต่แปลว่า การดับทุกข์ได้เป็นสุข (แปลตามศัพท์ว่า ความสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเป็นสุข หมายความว่า ต้องเลิกปรุงแต่งทั้งหมด ได้แก่ นิพพาน ไม่ใช่เพียงตายอย่างที่เห็นๆ กัน) สังขารเป็นอนิจจังและสังขารเป็นทุกขัง สงบระงับสังขารก็คือ สงบระงับอนิจจังและทุกขัง จึงเป็นสุข

๑๒. การกรวดน้ำ

การกรวดน้ำ บางท่านว่า “อิมินา ปุญฺกมฺเมน” หรือ “ขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ผู้ตาย” หรือ “ไม่ต้องกรวด ทำบุญแล้วถึงเอง” หรือ “ไม่ต้องกรวด ถึงกรวดก็ไม่ถึง” หรือ “ไม่ต้องกรวด เพราะญาติเขาไปเกิดแล้ว” หรือ “ไม่ต้องกรวด ญาติของเขาไม่ได้เป็นเปรต” ?

การกรวดน้ำ เป็นวิธีการตั้งจิตเป็นกุศลต่อผู้ตาย รำลึกถึงด้วยจิตใจที่สงบแน่วแน่เป็นสมาธิ เพราะตลอดพิธีเจ้าภาพไม่ค่อยมีเวลาหยุดนิ่ง โดยเฉพาะไม่ค่อยมีเวลาทำใจสงบ เพราะมัวยุ่งโน่นนี่ กับการเตรียมของและการรับคน จึงควรใช้เวลาน้อยๆ นี้ให้เป็นประโยชน์ อย่ามัวไปยุ่งวุ่นวายว่า จะใช้คำโน้นคำนี้ จะกรวดน้ำ หรือไม่กรวด เดี๋ยวจะเป็นซากการกรวดน้ำอีก จะว่าคำอะไรก็ได้ ที่จะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็นแน่วแน่ และแผ่ความตั้งใจดีต่อผู้ตาย พร้อมทั้งคิดถึงคติที่พึงได้จากงานนั้น หน้าที่ของเราคือตั้งใจดีต่อผู้ตาย และทำใจให้เจริญกุศล เขาจะไปเกิดที่ไหนหรือไม่ ไม่เป็นหน้าที่ที่จะมาเถียงกัน

๑๓. การทอดผ้าบังสุกุล

การทอดผ้าบังสุกุล ผู้ที่ทอดเป็นก็ได้บุญ การชักผ้าบังสุกุล พระที่พิจารณาเป็นก็ได้บุญ เจ้าภาพจะได้บุญหรือไม่ ?

การทอดผ้าบังสุกุล และการชักผ้าบังสุกุล ถ้าทำใจเป็นก็ได้บุญทุกคน ถ้าทำไม่เป็นก็ได้แต่ซากทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำด้วยมือตัวเอง ก็เป็นธรรมดาที่จิตจะโน้มไปได้แรง เพราะจะทำอะไรใจก็ย่อมมุ่งไปเรื่องนั้น ก็อาจจะได้ซากใหญ่ หรือได้บุญแรงกว่าคนอื่น เจ้าภาพทำใจให้ถูกกุศลธรรมเจริญ จิตผ่องใสใจเบิกบาน ก็ได้บุญทุกที่ไป

๑๔. การจุดไฟหรือวางดอกไม้จันทน์

การจุดไฟหรือเวลาวางดอกไม้จันทน์ บางท่านก็ว่า “อรหํ จุตติ” (คนเก่าๆ) หรือ “อยู่เป็นทุกข์ ตายเป็นสุข” หรือ “ไปสู่สุคติเถิด” หรือ “เราก็ตายอย่างนี้ การตายเป็นของธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้” ฯลฯ ?

การจุดไฟหรือเวลาวางดอกไม้จันทน์ ข้อนี้ตอบอย่างข้อ ๑ คำที่เขียนไปนั้น ถ้าเข้าใจความหมาย ว่าด้วยใจที่ตั้งเป็นกุศลตามความหมายนั้น ก็ใช้ได้ทุกคำ แต่คำว่า อรหํ จุติ คงคลาดเคลื่อนไป ไม่มีความหมาย จะกลายเป็นว่าขลังๆ ไป ควรเอาข้อความที่เข้าใจและเป็นคติเพื่อแสดงความตั้งใจดีอย่างที่กล่าวข้างต้น.

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง