ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยี

เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดแล้ว ก็มาเริ่มกันที่เรื่องเทคโนโลยีก่อน เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังได้พูดไปแล้วว่าเทคโนโลยีทำให้โลกเจริญ จนเป็นอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งเข้าสู่ยุค Information Age และสังคมของโลกก็เป็น Information Society ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นทั่ว แต่เอาเฉพาะประเทศผู้นำที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง

ความจริงสังคมไทยก็ยังไม่ได้เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล สังคมไทยกำลังพยายามที่จะก้าวจากการเป็นสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป พอดีสังคมไทยนี้มาอยู่ท่ามกลางความเจริญของโลกแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากสภาพความเป็นไปของโลกในความเจริญทั้ง ๓ ขั้น ของวิวัฒนาการ คือ ทั้งเป็นสังคมเกษตรกรรมด้วย สังคมอุตสาหกรรมก็พยายามจะเป็น และสภาพสังคมแบบข่าวสารข้อมูลก็พลอยได้รับผลมากมาย สังคมไทยจึงมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนสังคมที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีลักษณะจำเพาะของตัวเองที่จะเอาแบบอย่างคนอื่นไม่ได้ เราจะเอาอย่างสังคมอเมริกันก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นสังคมที่ก้าวมาเป็นลำดับจนเขาพูดได้เต็มปากว่าเขาพ้นจากสังคมเกษตรกรรมมานานแล้ว และก็ก้าวข้ามพ้นยุคสมัยของการเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วด้วย จนมาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล แต่ของเราพูดอย่างนั้นไม่ได้เลย เราได้รับอิทธิพลและผลที่ปะปนกันจากความเป็นไปในสังคมทั้ง ๓ ขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตามในที่นี้เราพูดในแง่ของประเทศผู้นำ เมื่อพูดถึงโลกทั้งหมด เราก็เอาประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นแบบอย่าง จึงเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล

เมื่อโลกมนุษย์เจริญมาอย่างนี้ก็มีแง่พิจารณาซึ่งขอย้ำไว้ว่า มันได้ทำให้มนุษย์ปัจจุบันนี้มองเห็นภาพของการมีอำนาจและอิทธิพลเหนือโลกธรรมชาติ เพราะว่าจิตสำนึกที่เป็นรากฐานของการสร้างความเจริญของปัจจุบันนั้น มาจากแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และเวลานี้เราก็รู้สึกกันไม่น้อยว่าโลกมนุษย์มีอำนาจเหนือโลกธรรมชาติ จนกระทั่งบางทีบดบังโลกธรรมชาติไว้ ทำให้มนุษย์เข้าไม่ถึงโลกธรรมชาติ และในการที่มีอำนาจเหนือและบดบังโลกแห่งธรรมชาตินั้น เป้าหมายของมนุษย์ก็คือการมุ่งจะพิชิตข่มบีบบังคับและจัดการโลกแห่งธรรมชาติ จนไปๆ มาๆ กลายเป็นทำลายและเบียดเบียนโลกแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีผลสะท้อนกลับมากระทบต่อความเจริญของโลกมนุษย์เอง

ทีนี้ความสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็มักว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นเครื่องทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่ความจริงมิใช่แค่นั้น มีความหมายมากกว่านั้นอีก พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า เทคโนโลยีเป็นฤทธิ์เดช หรือเป็นปาฏิหาริย์ทางวัตถุ อำนาจสำคัญของเทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ขยายอย่างไร คือเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่อินทรีย์ธรรมดาของมนุษย์ทำไม่ได้

อินทรีย์คืออะไร ก็คืออวัยวะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานต่างๆ เช่น ตาเป็นเจ้าหน้าที่ดู หูเป็นเจ้าหน้าที่ฟัง มือเป็นเจ้าหน้าที่จับยึดฉวยไว้ เท้าเป็นเจ้าหน้าที่ในการเหยียบการเดิน จนกระทั่งสมองก็เป็นเจ้าหน้าที่ใช้ความคิด

อินทรีย์เหล่านี้ของเรามีขอบเขตจำกัด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว มันก็ช่วยขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของเราออกไป เช่น เมื่อเราขุดดินด้วยมือ ก็ขุดได้น้อยและเจ็บมือด้วย ลำบากยากเย็น เราก็ไปเอาไม้ท่อนหนึ่งมาบากเหลาเข้า ไม้ท่อนนี้ใช้ขุดดิน ก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราขุดดินได้สะดวกยิ่งขึ้น ต่อมาเราก็พัฒนาเป็นจอบเสียมขึ้นมา ก็ขุดได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาก็พัฒนาเป็นรถขุด ซึ่งขุดได้ชนิดที่ว่าคนเป็นร้อยเป็นพันก็ขุดสู้ไม่ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราใช้ตาเปล่าดูไปในท้องฟ้า ก็ดูได้ไม่ไกล เห็นดาวระยิบระยับ ก็ดูไม่ออกว่าเป็นดาวอะไร ต่อมามีคนประดิษฐ์กล้องดูดาวหรือกล้องโทรทัศน์ ก็เห็นได้ไกลออกไปอีกมากมาย เพราะเทคโนโลยีนั้นขยายวิสัยแห่งตาของเราออกไปอีก หรือในทางตรงกันข้ามอย่างที่ดูของเล็กๆ ก็เหมือนกัน เช่น จะดูเซลล์ หรือไวรัส ตาเราก็ไม่เห็น จะทำอย่างไร เราก็ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา ตาก็ได้รับการขยายวิสัยออกไปทำให้มองเห็นได้ แต่ก่อนโน้น เราเห็นเหตุการณ์ในที่ใกล้ๆ พอเราทำทีวีขึ้นมา เราก็เห็นเหตุการณ์ในที่ไกลๆ ได้ เวลานี้เทคโนโลยีที่สำคัญก็คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งอย่างน้อยก็ใช้แทนเครื่องคิดเลขได้ ถ้าใช้สมองคิดทศนิยมสี่ห้าหลัก เราก็แย่แล้ว แต่พอใช้เครื่องคิดเลขตลอดจนคอมพิวเตอร์ ทศนิยมหลายๆ สิบหลักเราก็ทำได้ ไม่มีปัญหา ง่ายและรวดเร็ว ประมวลผลได้ครบถ้วนแม่นยำ

อย่างเวลานี้พระไตรปิฎกก็เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ลง CD-ROM ทำให้เราสามารถค้นคำได้ครบถ้วนและแม่นยำด้วย อย่างเช่น เราจะค้นพระไตรปิฎกที่มีจำนวนหน้าถึง ๒๒,๐๐๐ หน้า โดยประมาณ ถ้าเราค้นคำว่า “สภา” กว่าจะค้นครบอาจใช้เวลาเป็นเดือน แล้วก็ไม่แน่ว่าจะครบทุกตัว เพราะใช้ตาดูบางทีก็อาจจะผ่านไปได้โดยไม่เห็นเสียอีก ต้องดูทวนไปมาหลายรอบ แต่ถ้าเราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็ดูคำว่า “สภา” ได้ครบถ้วน เช่นดูได้ว่าอยู่หน้าไหนข้อไหน หรืออย่างในเวลาที่จะศึกษาพุทธศาสนา เวลานี้ก็มีบางท่านเอา Lord Buddha's Philosophy ลงใน Internet ทำให้สามารถศึกษาไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีที่จัดได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง โดยเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง