ไอที: ภายใต้วัฒธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พัฒนาคนบนฐานของวัฒนธรรมแห่งปัญญาและการเพียรทำ

วัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากอย่างมั่นคง แต่เวลานี้คนไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธมีวัฒนธรรมแบบไหน อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตั้งข้อสังเกต ที่จริงเรื่องนี้เป็นหลักที่ไม่ยาก มองเห็นง่ายๆ

เราจำเป็นต้องเน้นวัฒนธรรมพุทธ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นอีกก้าวหนึ่งจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ยังไม่พอ เพราะอะไร เพราะแม้ว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จะสร้างความใฝ่รู้ มีนิสัยแห่งความคิดมีเหตุมีผล และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมจะช่วยให้สู้สิ่งยากก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่เคยพูดถึงคือการพัฒนาคน วัฒนธรรมพุทธนั้นถือการพัฒนาคนเป็นหัวใจหรือเป็นแกนกลางของทุกอย่าง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาคนเพื่ออะไร ก็เพื่อให้มนุษย์มีอิสรภาพ

จุดหมายของพุทธศาสนาพัฒนาคนเพื่อให้มีอิสรภาพ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมให้รู้เข้าใจธรรมชาติของวัตถุ เรียนรู้ความจริงของโลกแห่งวัตถุ เป็นการเรียนรู้ธรรมชาตินอกตัว แม้จะเรียนชีววิทยาก็ไม่ได้มุ่งเรียนตัวชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ แต่เรียนชีวิตทางด้านวัตถุหรือรูปธรรมด้านเดียวในฐานะสิ่งที่เราจะมองดู ซึ่งเป็นธรรมชาติข้างนอก นอกจากนั้น วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมา ยังมีความคับแคบ เพราะมุ่งสนองความคิดมุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ (ภายนอก) และมาประสานรับใช้สนองความมุ่งหมายของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อที่ว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภคอย่างพรั่งพร้อม ยิ่งเสพมากก็ยิ่งสุขมาก ซึ่งทำให้หันเหความสนใจออกไปจากการแก้ปัญหาทางด้านธรรมชาติในตัวของมนุษย์เอง มุ่งสนองความต้องการของตน ส่งเสริมโลภะหรือตัณหา เพิ่มแรงของความเห็นแก่ตัว ทำให้ชีวิตสูญเสียอิสรภาพ ขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้กลายเป็นสังคมของมนุษย์ที่มีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ฉะนั้น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จึงไม่สัมพันธ์กับเรื่องของการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ

ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องให้มีวัฒนธรรมพุทธเติมเข้ามาเพื่อที่จะได้สร้างความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพด้วย และการพัฒนาคนนั้นก็จะทำให้เทคโนโลยีไม่เป็นพิษเป็นภัยด้วย เช่นว่าในขณะที่เราพัฒนาเทคโนโลยีภายนอก เราก็พัฒนาอินทรีย์ของเราไปด้วยตลอดเวลา พุทธศาสนาเน้นความไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าพออาศัยสิ่งภายนอกได้ เราก็สบาย ปล่อยตัว การปล่อยตัวนั้นเรียกว่าความประมาท พุทธศาสนาสอนหลักธรรมใหญ่ที่สุดคือความไม่ประมาท พุทธโอวาทก่อนปรินิพพานมีว่า “เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมที่ครอบคลุม เหมือนรอยเท้าช้าง ถ้าเรามีความไม่ประมาทอย่างเดียวเท่านั้นก็ไม่ต้องกลัวความเสื่อม และจะมีแต่เจริญเท่านั้น ในทางตรงข้าม ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ถึงจะเรียนรู้ธรรมมากมายสักกี่ข้อก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ธรรมที่เรียนมาก็ไปอยู่ในตู้คัมภีร์นอนหลับหมด แต่ถ้าไม่ประมาท ธรรมเรียนมากี่ข้อก็ได้ปฏิบัติหมด พุทธศาสนาสอนเน้นความไม่ประมาท ให้มีการพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นขณะที่เราอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยทำงานทุ่นหรือแทนอินทรีย์ของเรา เราจะต้องไม่ลืมพัฒนาอินทรีย์ของเราควบคู่กันไปด้วย เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีมีอยู่ เราก็ใช้มันเป็นประโยชน์ แต่เราอยู่เหนือเทคโนโลยีนั้นตลอดเวลา และถ้ามีเหตุขัดข้องขึ้นมาเราก็ใช้อินทรีย์ของเราได้ ฉะนั้น เราก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ ทั้งในแง่อิสรภาพทางอินทรีย์คือการดำเนินชีวิตทำกิจการงาน และอิสรภาพทางความสุข

เนื่องจากเรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก และในที่นี้ยังไม่มีเวลาที่จะอธิบายขยายความให้ชัดเจนเพียงพอ เมื่อได้พูดไว้โดยย่อแล้ว ก็ขอสรุปไว้อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นการพูดซ้ำๆ ดังนี้

วัฒนธรรมไสยศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรู้และไม่ต้องทำ (ยอมสยบแก่ความเร้นลับ และหวังอำนาจดลบันดาลภายนอกทำให้)

วัฒนธรรมเทคโนโลยีเชิงบริโภค ที่ขาดลอยจากฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรู้ และไม่ต้องทำ (มุ่งหาเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาบำรุงบำเรอ หรือทำแทนให้ เพื่อจะได้เสพเสวยความสุขโดยไม่ต้องทำอะไร)

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นวัฒนธรรมแห่งการต้องรู้และต้องทำ (แต่คับแคบและเสียดุล เพราะมองด้านเดียวเพียงธรรมชาติภายนอกตัวและเฉพาะด้านวัตถุ ด้วยทัศนะแบบเป็นปฏิปักษ์ โดยถูกอิทธิพลแนวความคิดทางปรัชญาครอบงำและผลักดันให้มุ่งดิ่งไปในทางที่จะเอาชนะธรรมชาติ และถูกชักจูงด้วยแรงจูงใจแบบอุตสาหกรรมให้สนองความเชื่อที่จะบรรลุความสุขสมบูรณ์ด้วยการมีวัตถุพรั่งพร้อม นำไปสู่การพัฒนาด้านเดียวทางวัตถุและเศรษฐกิจ โดยไม่ช่วยให้มีการพัฒนาคนขึ้นไปนำทางและอยู่เหนือการพัฒนาทางวัตถุและเศรษฐกิจนั้น)

วัฒนธรรมพุทธศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการต้องรู้และต้องทำ (ถือว่าสิ่งทั้งหลาย เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่จะต้องรู้ และต้องทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น) พร้อมทั้งพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ (วัฒนธรรมแห่งความพอดี หรือมีดุลยภาพ)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง