หลักแม่บทของการพัฒนาตน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

— ๔ —
หลักการพัฒนา

การพัฒนาตนที่รอบด้าน

หลักที่ ๓ คือ ภาวนา ซึ่งเป็นตัวจริงของคำว่าพัฒนา ดังที่ท่านอธิบายภาวนาว่า พัฒนา และปัจจุบันนี้เรานิยมใช้กันว่าพัฒนา ก็กลับไปตรงกับของท่านเข้า นับว่าดีมาก

ได้บอกแล้วว่า ภาวนาเป็นรูปคำนาม รูปคุณนามเป็นกริยาช่อง ๓ ท่านใช้ว่า ภาวิต แปลว่า ผู้ที่เจริญแล้ว +อัตตะ หรือ อัตตา ที่แปลว่าตน ก็เป็นภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนอันเจริญแล้ว คือ มีตนอันพัฒนาแล้ว ซึ่งตามปกติท่านหมายถึงพระอรหันต์ บางแห่งจะเน้นหมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ

ในพระไตรปิฎกบางแห่งมีคนมาทูลถามพระพุทธเจ้า เขาเรียกพระองค์ว่า ท่านผู้เป็นภาวิตัตตะ พระสารีบุตรอธิบายภาวิตัตตะไว้ว่า กถํ ภควา ภาวิตตฺโต ที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นภาวิตัตตะ ผู้มีตนพัฒนาแล้วนั้นเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ขยายความว่า ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโญ1 นี่หลักใหญ่มาแล้ว ที่ว่ามีตนอันพัฒนาแล้วก็คือ

๑. มีกายอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตกาโย

๒. มีศีลอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตสีโล

๓. มีจิตอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตจิตฺโต

๔. มีปัญญาอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตปญฺโญ

ต่อจากนี้ท่านขยายความออกไปอีก เป็น ภาวิตสติปฏฐาโน ภาวิตสมฺมปฺปธาโน ภาวิตอิทฺธิปาโท ภาวิตอินฺทริโย ภาวิตพโล ภาวิตโพชฺฌงฺโค ภาวิตมคฺโค แปลว่า ได้พัฒนาสติปัฏฐาน พัฒนาสัมมัปปธาน พัฒนาอิทธิบาท พัฒนาอินทรีย์ พัฒนาพละ พัฒนาโพชฌงค์ พัฒนามรรค แล้ว

ท่านบรรยายไว้ยาว ซึ่งก็รวมอยู่ใน ๔ ข้อ คือ ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโญ นี้คือคุณสมบัติของท่านผู้พัฒนาตนแล้ว เอามาใช้วัดได้

ถ้ามีการพัฒนาตน เราก็เอาหลักนี้มาใช้วัดดูว่าพัฒนาครบไหม ๔ ด้านนี้ คือ ๑. กาย ๒. ศีล ๓. จิต ๔. ปัญญา

ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา เป็นรูปคุณนาม เป็นคุณสมบัติของบุคคล ถ้าจะตั้งเป็นศัพท์นามให้เป็นหัวข้อธรรม ก็เปลี่ยนไปอีกรูปหนึ่งเป็นภาวนา ก็จะได้ศัพท์ดังต่อไปนี้

๑. กายภาวนา การพัฒนากาย

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล

๓. จิตตภาวนา การพัฒนาจิต

๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา

ทีนี้ จะต้องอธิบายความหมายอีกหน่อยหนึ่งว่า ที่ว่า พัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา นั้นเป็นอย่างไร

พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ

๑. กายภาวนา พัฒนากาย อาจจะสงสัยว่าคงจะต้องรับประทานกันใหญ่ ร่างกายจะได้เติบโต หรืออาจจะบริหารร่างกาย ออกกำลังอะไรต่างๆ พัฒนากายให้แข็งแรง อันนี้ก็ไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันต้องมีหลักที่ใหญ่กว่านั้น ไม่อย่างนั้นการพัฒนากายอย่างนี้อาจจะเสียก็ได้ คือจะรับประทานมาก เพียงเพื่อให้ร่างกายใหญ่โต แล้วอาจจะนำร่างกายไปใช้ในทางที่ไม่ดี

การพัฒนากำลังให้แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ ตามหลักการนี้ท่านยังไม่ถือว่าเข้าสู่ธรรม การพัฒนากายในทางธรรมมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น

ท่านไขความว่า พัฒนากายอย่างไร กายนั้นมุ่งเอาที่ทวาร ๕ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นด่านเป็นช่องทางที่จะติดต่อกับโลกภายนอก ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบันก็ว่า ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือเรื่องวัตถุสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปทางกายภาพ ซึ่งเราสัมพันธ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย

การพัฒนากาย ก็คือ พัฒนาความสัมพันธ์ทางทวารเหล่านั้นให้ดี ไม่ให้เกิดเป็นโทษ ดังจะเห็นในหลักอินทรียสังวร

การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยดี เช่น ตาของเราเห็นสิ่งแวดล้อมภายนอก จะดูอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราดูโทรทัศน์เป็น ให้เขารู้จักเลือกรับเอาสิ่งที่ดีมาใช้ประโยชน์ ไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษมา รู้จักสัมพันธ์ทางตา รู้จักสัมพันธ์ทางหู เมื่อได้ยินก็เลือกรับสิ่งที่ดี เช่นหาฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์ ไม่เอาสิ่งที่ร้าย ตลอดจนพัฒนาการใช้จมูก พัฒนาการใช้ลิ้น ฯลฯ

ลิ้นก็สำคัญ มาเข้าหลักโภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค เช่นพระก็มีหลักปฏิสังขาโย เรียกว่าปัจจเวกขณะ หรือปัจจัยปัจจเวกขณ์ หมายถึงการพิจารณาปัจจัย คือเมื่อจะบริโภคปัจจัย ๔ ก็ให้พิจารณาโดยแยบคาย โดยมีโยนิโสมนสิการ ว่าที่เรารับประทานอาหารนี้ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อย มิใช่มุ่งจะเอาโก้หรูหราสนุกสนานมัวเมา แต่รับประทานเพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อดำรงอยู่ผาสุก มีสุขภาพดี แข็งแรง แล้วจะได้ทำกิจหน้าที่ของตนด้วยดี

เมื่อรับประทานอาหาร แทนที่จะรับประทานโดยมุ่งความอร่อยหรือความโก้ ก็ไปเน้นที่คุณค่าประโยชน์ที่จะได้ มองดูว่ารับประทานอะไรจึงจะมีคุณค่า ช่วยชีวิตให้มีสุขภาพดี และเกื้อกูลแก่การเป็นอยู่ที่ดี ถ้าเป็นพระก็จะได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม โรคภัยก็จะได้เบียดเบียนน้อย นี้เป็นการพัฒนาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับรส

นอกจากนี้ ก็สัมพันธ์ให้ดีทางด้านกายกับสิ่งสัมผัส (โผฏฐัพพะ) ภายนอก

นี้คือการพัฒนากายในความหมายของธรรมะ พูดง่ายๆ ว่า พัฒนาความสัมพันธ์ของตัวเรากับสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือวัตถุทั้งหลายให้ดี

ข้อนี้ ต้องถือว่าสำคัญ เพราะเป็นหลักเบื้องต้น หลักสังวรอะไรต่างๆ ก็เข้ามาในข้อนี้หมด ฉะนั้น ในปัจจุบันการศึกษาน่าจะเน้นข้อนี้ด้วย ผู้มีการศึกษาจะต้องมีการพัฒนากาย ซึ่งไม่ใช่เพียงว่าร่างกายแข็งแรงเท่านั้น ต้องถามด้วยว่าเขามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมดีไหม หากว่ามีแต่กายแข็งแรง แต่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมไม่ดี เอากายที่แข็งแรงไปทะเลาะวิวาทแสวงหาสิ่งปรนเปรอ จะยิ่งเป็นโทษมาก จะถือว่ามีการศึกษาไม่ได้

พัฒนาทางสังคม ต่อด้วยพัฒนาจิตใจและปัญญา

๒. ศีลภาวนา คือการพัฒนาศีล ได้แก่การพัฒนาในเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านกาย วาจา กับบุคคลอื่นหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ข้อก่อนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือทางกายภาพ แต่ข้อนี้เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีงามอย่างที่ว่ามาแล้ว ที่ว่าศีลคือการไม่เบียดเบียน

แม้แต่ศีลข้อมุสาวาทที่สงสัยกันว่า พูดอย่างนั้นอย่างนี้จะเป็นพูดเท็จหรือไม่เท็จอะไรต่างๆ ถ้ารู้สาระของศีลว่า ศีลมุ่งที่ความไม่เบียดเบียนก็จะสบายใจขึ้น

แพทย์รู้สึกว่าจะมีปัญหามาก หลายท่านสงสัยว่า จะพูดกับคนไข้อย่างนี้โกหกผิดศีลข้อมุสาวาทไหม ที่จริงหลักก็มีอยู่ในเรื่องศีลนี้ ในที่บางแห่งท่านบรรยายไว้เลยว่า เว้นมุสาวาทคือเว้นจากการพูดเท็จเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่กล่าววาจาเท็จเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น

การกล่าวเท็จที่เป็นมุสาวาทนั้น สาระสำคัญอยู่ที่มุ่งจะทำลายประโยชน์ของผู้อื่นทำให้เขาเสียหาย ท่านใช้ศัพท์โบราณว่า หักรานประโยชน์ของเขา

ถ้าเป็นการพูดเพื่อให้คลาดจากความเป็นจริง โดยมุ่งหักรานประโยชน์ของเขา เป็นมุสาวาทแท้ แต่ถ้าพูดเท็จอย่างอื่นนอกจากนั้นก็มีโทษเบาบางแล้ว เพราะมันไม่เข้าตัวประเด็นแท้ๆ

ที่พูดมานี้ก็นอกเรื่องแซงออกไปนิดหนึ่ง เป็นอันว่าเรื่องศีลประเด็นอยู่ที่ว่าไม่เบียดเบียนเป็นสาระสำคัญ เมื่อไม่เบียดเบียนแล้วต่อไปก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็มีเรื่องทานเข้ามาด้วย

ด้านนี้เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นมา

๓. จิตตภาวนา คือพัฒนาจิตใจ ด้านจิตใจนี้ได้กล่าวแล้วในอธิจิตตสิกขา คือพัฒนาคุณภาพจิต พัฒนาสมรรถภาพจิต พัฒนาสุขภาพจิต นี้เป็นการใช้ศัพท์แบบสมัยปัจจุบันให้เข้าใจกันง่าย ก็ผ่านไปได้เลย

๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา ก็เหมือนกับอธิปัญญาสิกขาที่พูดมาแล้วนั้นเอง คือการรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้จนถึงขั้นสูงสุด อย่างที่มีคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้า

เมื่อพัฒนาปัญญาสูงสุด การพัฒนาข้อต้นๆ ก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมบริบูรณ์ด้วย มีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าแห่งหนึ่งว่า

    ยถาปิ อุทเก ชาตํ              ปุณฺฑรีกํ ปวฑฺฒติ
น อุปลิปฺปติ โตเยน            สุจิคนฺธํ มโนรมํ
   ตเถว โลเก สุชาโต             พุทฺโธ โลเก วิหรติ
 น อุปลิปฺปติ โลเกน            โตเยน ปทุมํ ยถา

แปลความว่า เปรียบเหมือนว่า ดอกบัวเกิดในน้ำ เจริญงอกงามขึ้นมาในน้ำ ไม่ติดด้วยน้ำ ซ้ำยังมีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ ฉันใด พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดดีแล้วในโลก ทรงอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ ฉันนั้น

นี้คือลักษณะของคนที่พัฒนาตนไปจนถึงมีปัญญาสูงสุด ตรัสรู้แล้ว หมดสิ้นกิเลส เกิดในโลก อยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำแต่ไม่ติดน้ำ มีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ

ที่ท่านกล่าวมานี้ก็เป็นคาถาสำหรับนำมาดูคุณสมบัติของผู้พัฒนาตน เป็นคติอันหนึ่งซึ่งให้แนวความคิดว่า ในการพัฒนาตนนั้น เราก็อยู่ในโลกนี้แหละ แต่เราไม่ติดโลก ไม่แปดเปื้อนด้วยโลก เหมือนดอกบัวแม้จะอยู่ในน้ำ หรือบางแห่งจะอยู่ในโคลนตม แต่ก็ไม่ติดไม่เปื้อน กลับมีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ เอาไปบูชาพระก็ได้ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นการพัฒนาตนที่สมบูรณ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็มีคุณสมบัติอย่างนี้

จุดสมบูรณ์ของการพัฒนาตน

เรื่องการพัฒนาตนนี้ ได้พูดมาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งว่าไปตามหลักวิชาหรือเนื้อหาในคัมภีร์

ขอสรุปเป็นจุดเน้นว่า พระพุทธศาสนายกย่องผู้ที่พัฒนาตนว่าเป็นบุคคลสูงสุด อย่างที่ได้ยกพุทธภาษิตมาแสดงว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

เมื่อยกย่องผู้ที่พัฒนาตนแล้ว ก็มีจุดเน้นข้อต่อไป คือ พระพุทธศาสนานี้ถือว่า มนุษย์เป็นผู้ที่ฝึกได้ หรือนับถือศักยภาพในตัวมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นได้ เมื่อพัฒนาได้ก็เน้นความสำคัญของการฝึกฝนพัฒนาตน ให้ความสำคัญมากแก่การฝึกฝนพัฒนาตน

ฉะนั้น จึงบอกว่า ความดีหรือความประเสริฐของมนุษย์นี้ อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตนนั้นเอง เพราะมนุษย์นั้น ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาแล้ว ก็ไม่มีคุณค่าอะไร ถ้าพัฒนาให้ดีแล้วก็ประเสริฐเลิศล้ำ จนกระทั่งแม้แต่เทพพรหมก็เคารพบูชา อาจเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาตน ก็อาจจะเต็มไปด้วยสิ่งชั่วทราม อาจจะเลวร้ายต่ำต้อยด้อยกว่าแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ได้ ฉะนั้น ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา จึงเน้นความสำคัญของการพัฒนาตนเป็นอย่างมาก

เมื่อพูดมาถึงนี่แล้ว ขอรวบรัดรวมความเป็นการย้ำไว้ว่า จุดหมายของการพัฒนาตนจะถือว่าสำเร็จ โดยมองที่การได้พัฒนาตนครบ ๔ ด้าน

การพัฒนาตนชนิดเต็มรูปแบบทั้ง ๔ ด้าน คือ ภาวนา ๔ นั้น ตามปกติพระพุทธเจ้าตรัสในลักษณะที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าเป็นการวัดผล ดังนั้น จึงใช้ในรูปที่เป็นคุณสมบัติของคนที่พัฒนาตนแล้ว โดยเปลี่ยนภาวนาเป็น “ภาวิต”

ดังที่ท่านเรียกคนที่พัฒนาตนแล้ว คือผู้มีตนที่ผ่านภาวนาแล้วว่า ภาวิตัตตะ หรือ ภาวิตัตต์ (ภาวิต+อัตต์)

ภาวิต ก็มี ๔ (เช่นเดียวกับภาวนา ๔) เพราะแยกเป็นด้าน กาย ศีล จิต และปัญญาตามลำดับ คนที่พัฒนาตนแล้ว จึงเป็น ภาวิต ๔ ด้าน คือ

๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ปฏิบัติต่อโลกแห่งวัตถุอย่างได้ผลดี โดยเฉพาะด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ดูเป็น ฟังเป็น ให้ได้ปัญญา และคุณค่าที่เป็นประโยชน์

๒. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างไม่เบียดเบียน แต่อยู่กันด้วยไมตรี เป็นมิตร เกื้อกูลกัน

๓. ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาจิตใจให้มีคุณสมบัติที่ดีงาม มีคุณธรรม ความเข้มแข็งมั่นคง และความสุข คือพัฒนาแล้วทั้งด้านคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต

๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เข้าถึงกฎธรรมชาติที่มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น จนทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ เบิกบานผ่องใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา

คนที่พัฒนาตนได้ผลแท้จริง จะมีคุณสมบัติเป็นภาวิต ๔ ด้านอย่างนี้

1ขุ.จู. ๓๐/๑๔๘/๗๑
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง