หลักแม่บทของการพัฒนาตน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

— ๒ —
หลักการฝึก

จุดเริ่มต้น ของการพัฒนาตน

ต่อไป เมื่อได้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ควรพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในเมื่อการพัฒนาตนมีความสำคัญ และบุคคลที่พัฒนาตนแล้วเป็นบุคคลที่บรรลุจุดหมายในทางพระพุทธศาสนา เราจะมีวิธีการพัฒนาตนอย่างไร

ทีนี้ ก่อนจะมีการพัฒนาตนว่าจะทำอย่างไร ก็จะต้องมีความเชื่อพื้นฐานก่อนว่า คนเรานั้นพัฒนาได้ อันนี้เป็นความเชื่อที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา คือเชื่อว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อย่างในพระพุทธคุณถ้าท่านสังเกต สวดไปจะมีคำว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีคนอื่นยิ่งกว่า

ขอให้สังเกตว่า ในคำว่า ปุริสทมฺม นั้น ตัว ทมฺม ไม่ใช่ ธมฺม ที่แปลว่า ธรรม ที่เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม หรือ ธรรม ความดี ความชั่ว เป็น ท. ไม่ใช่ ธ.

ทัมมะ นี้เป็นรูปหนึ่ง เป็นรูปคุณนามของ “ทมะ” ที่กล่าวมาเมื่อกี้ แสดงว่า ทมะ มีความสำคัญ จึงมาปรากฏตัวอยู่ในบทพุทธคุณนี้ด้วย

ทมฺม หมายความว่า คนเรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนได้ ฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังมีสัญชาตญาณป่าเถื่อน ไปจนกระทั่งสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า อย่างในคาถาเมื่อกี้ว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ พระองค์ฝึกอบรมตนแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ท่านบรรยายคุณสมบัติต่อไปอีกหลายอย่าง แล้วลงท้ายว่า แม้แต่ทวยเทพทั้งหลายก็นมัสการ นอบน้อมเคารพบูชา

เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาสรรเสริญการฝึกฝนตน และถ้าจะเทียบศัพท์ปัจจุบันก็เรียกว่า มนุษย์มีศักยภาพ พุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก

แม้แต่ในหลักพระรัตนตรัย ข้อแรกในพระรัตนตรัยก็คือพระพุทธเจ้า ความหมายอย่างหนึ่งของพระรัตนตรัยก็คือ สร้างความมั่นใจให้พุทธศาสนิกชนว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำของเราที่แสดงว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พระองค์ก็เคยเป็นมนุษย์ปุถุชนมาก่อน แต่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีสร้างสมคุณธรรม จนกระทั่งผลที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

ถ้าเราทั้งหลายเชื่อในพระองค์ เชื่อในพระปัญญาที่ตรัสรู้ เราก็จะเชื่อในตนเองด้วยว่าเรานี้ก็มีความสามารถ มีศักยภาพในตัวที่จะฝึกฝนตนเองได้อย่างพระองค์

เราจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเน้นประวัติการฝึกตนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านมีคัมภีร์ชาดกกันมากมาย ๕๕๐ ชาตินั้น จุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการฝึกหัดอบรมตนหรือการพัฒนาตนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นปุถุชน ตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วต้องมีกำลังใจ อย่าไปท้อว่าเราไม่สามารถพัฒนาตนได้ แม้แต่จะปรารถนาพุทธภูมิเป็นพระพุทธเจ้าก็สามารถเป็นได้ด้วยการบำเพ็ญบารมี หลักพุทธคุณเป็นองค์พระรัตนตรัยข้อที่หนึ่ง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นอันนี้ขึ้นมา

ที่กล่าวมานี้เป็นหลักเป็นฐานเบื้องต้นทีเดียว และพระพุทธศาสนายังสอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย เช่น การจำแนกบุคคลเป็น ๔ ประเภท เป็นดอกบัว ๔ เหล่า เป็นการสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

พระพุทธเจ้าก็จะต้องมีญาณหยั่งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ท่านเรียกว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ต้องรู้ว่ามนุษย์ยังอยู่ในระดับการพัฒนาตนต่างกันอย่างไร คนไหนควรจะสร้างความพร้อม ทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นไปอย่างไร และทรงมีวิธีการของพระองค์ เพราะทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ยอดเยี่ยม พระองค์จึงทรงหาวิธีมาฝึกให้เขาพร้อม ให้มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ

หรืออีกข้อหนึ่งใน ทศพลญาณ เป็น นานาธิมุตติกญาณ ญาณหยั่งรู้อธิมุตติ คือความสนใจและแนวโน้มเอียงในบุคคลที่แตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งทำให้พระองค์เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในการสั่งสอนให้บรรลุผลสำเร็จ

เป็นอันว่า ในทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรืออย่างที่ใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันว่า มีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะพัฒนาได้ พอมีหลักความเชื่อพื้นฐานอันนี้ โดยมีความสัมพันธ์กับหลักพระรัตนตรัย ก็มาถึงหลักการพัฒนาตนต่อไป

การพัฒนาตน หรือหลักการพัฒนาตนนี้ อาตมภาพขอพูดในขอบเขตของคำศัพท์ธรรม ๓ คำเมื่อกี้ คือคำว่า ภาวนา ทมะ และ สิกขา แต่ตอนนี้จะเปลี่ยนลำดับใหม่ จะเริ่มด้วยคำว่า ทมะ ไปยัง สิกขา แล้วจึงไป ภาวนา

ต้องทำความเข้าใจก่อนอีกอย่างหนึ่งว่า ศัพท์ทั้ง ๓ นี้ ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน คือเป็นเรื่องการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งสิ้น แต่ท่านพูดด้วยศัพท์ต่างกัน หรือเน้นย้ำแง่ด้านแปลกกัน ที่จะให้ความหมายเด่นไปคนละด้านๆ หรือมาเสริมกันให้บริบูรณ์ ทีนี้เราลองมาดูการเน้นการย้ำในการพัฒนาตนนั้นว่าเป็นอย่างไร

ขั้นตอนคร่าวๆ ของการพัฒนาตน

หลักที่ ๑ เริ่มด้วยข้อ ทมะ ซึ่งแปลว่าการฝึก อย่างที่กล่าวเมื่อกี้แล้ว ทมะนี้ท่านเลียนศัพท์มาจากการฝึกสัตว์ ขอให้สังเกตเรื่องการฝึกสัตว์ แล้วจะเข้าใจเรื่องทมะด้วย

การฝึกสัตว์นั้นหมายถึงตั้งแต่ตอนแรกที่สัตว์อยู่ในป่าในไพร เถื่อน พยศมาก แล้วเราก็เอามาฝึกๆ จนกระทั่งมันเชื่อง จนกระทั่งใช้งานได้ดี ทำอะไรได้แปลกๆ ที่นึกไม่ถึงว่ามันจะทำได้

ในการฝึกสัตว์นั้นมีลำดับอยู่ ๒ ขั้นตอน

ตอนที่ ๑ กำราบปราบพยศ เรียกว่า ข่ม หรือทำให้หายพยศ ทมะในแง่นี้เรามักแปลว่า การข่มใจ ตรงกับในหลักที่ว่าทำให้หายพยศ หรือกำราบปราบพยศอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือสัตว์ป่า เอามาจากป่าใหม่ๆ เอามาจากดงดิบ จากไพร ตอนแรกก็ทำให้หายพยศ ให้เชื่อง ทำให้พ้นจากอำนาจของสัญชาตญาณป่าเถื่อนนั่นเอง ตอนนี้เป็นขั้นที่ ๑ เป็นกระบวนการฝึกเริ่มแรก ทีนี้พอปราบหายพยศดีแล้ว

ตอนที่ ๒ คือฝึกฝนปรับปรุงให้ทำอะไรๆ ได้ดียิ่งขึ้นไป จนกระทั่งสัตว์มีคุณสมบัติพิเศษมากมายเรียกว่า ทำให้วิเศษ เช่นช้าง เราอาจจะฝึกเอามาใช้งาน เอามาลากซุง และใช้ทำอะไรต่างๆ อย่างพวกละครสัตว์ เอาไปเล่นในทางสนุกสนานรื่นเริงก็ได้ เอาช้างมายืนด้วยขาหลัง ๒ ขา เอา ๒ ขาหน้าจับงวงไหว้ หรือจะเอาขาทั้ง ๔ มารวมกัน ฯลฯ เรื่องนี้ทางญาติโยมรู้ดี

รวมความว่า สัตว์นี้ฝึกแล้วจะทำอะไรได้แปลกๆ ไม่ว่าช้าง ม้า ไม่ว่าสัตว์อะไร แม้แต่ลิงที่ว่าซนนักหนา คนก็ยังนำมาฝึกใช้งานและทำอะไรได้แปลกๆ อันนี้ท่านว่าเป็นเรื่องของการฝึก ฝึกแล้วก็ทำอะไรๆ ได้ดี เป็นอัศจรรย์

ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพียงเดรัจฉานนั้น ฝึกแล้วยังมีคุณสมบัติที่ดี มีประโยชน์มากมาย ถ้าเป็นคนที่ฝึกดีแล้ว จะดีปานใด ท่านเลยกล่าวเป็นคาถาออกมา ถ้าท่านอ่านคัมภีร์พระธรรมบท จะพบคาถาว่า

วรมสฺสตรา ทนฺตา      อาชานียา จ สินฺธวา
     กุญฺชรา จ มหานาคา      อตฺตทนฺโต ตโต วรํ

นี่พบอีกแล้ว คำว่า อตฺตทนฺโต ผู้ที่ฝึกตนแล้ว หรือพัฒนาตนแล้ว

ท่านให้คติว่า อัสดร สินธพ อาชาไนย ช้างสามัญ และช้างใหญ่ทั้งหลาย ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐยิ่งกว่านั้น

นี้แหละเรื่องของการฝึกตนที่เรียกว่าทมะ เอาหลักการฝึกสัตว์นั้นเองมาใช้ คนเราก็จะคล้ายๆ อย่างนี้ ถ้าเราจะฝึกตัวเราเอง ก็คือ

๑. รู้จักข่มคุมบังคับใจ ควบคุมตัวได้ ไม่ยอมตามกิเลสที่ทำให้เราพยศ ที่ดึงลงไปสู่ความชั่วร้าย ล่อเร้า เย้ายวน ยั่วยุ อะไรต่างๆ และข่มกำราบปราบพยศ ระงับความเคยชินที่ชั่วร้ายได้

๒. ปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้นไป ฝึกในคุณความดีให้มีปัญญาความสามารถเจริญก้าวหน้างอกงามจนเป็น อตฺตทนฺต

ขั้นต้น รู้จักตั้งรับ

เมื่อพูดถึงหลัก ทมะ แล้ว ก็อยากจะพูดถึงหลักธรรมที่อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งมี ๓ อย่าง ความจริงก็ถือว่า ทมะ นั้นเองเป็นตัวจริง แต่บางคราวในการสอนธรรมนั้น ท่านต้องการแยกแยะแจกแจง สอนกระจายให้เห็นแง่ด้านขั้นตอนข้อธรรมย่อย เพื่อให้มองเห็นวิธีปฏิบัติได้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

เรื่องทมะนี้ บางทีก็ซอยให้เห็นลำดับชั้นขั้นตอนเบื้องต้นละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ก็เลยแจงออกไป ธรรมในกลุ่มนี้ที่ควรนำมาเทียบกันมี ๓ อย่าง คือ

๑) สังวร คำนี้มีใช้ในภาษาไทย เข้าใจว่าได้ยินกันพอสมควร

๒) สัญญมะ หรือ สังยมะ คำนี้ไม่ได้ยินบ่อยนัก แต่ที่จริงใช้มากในทางธรรม ผู้เรียนหลักธรรมน่าจะเอามาศึกษาดู

๓) ทมะ เป็นตัวหลักใหญ่ กระจายลงไปข้างล่างเพื่อจะให้เห็นขั้นตอนยักเยื้องออกไปมากขึ้น ทำให้เห็นวิธีการที่จะเจริญก้าวหน้าในธรรม หรือการดำเนินชีวิตที่ดี ๓ อย่าง สามอย่างนี้มีข้อแตกต่างกันอย่างไร

๑. สังวร แปลตามตัวว่า ระวัง หรือ ปิดกั้น อันนี้เน้นในแง่รับเข้ามา คือคนเรารับสิ่งของภายนอกเข้ามาในตัว รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้เห็น ได้ยินอะไรต่างๆ มีประสบการณ์ เราก็รับเข้ามา

ทีนี้ การรับเข้ามานั้นมันก็มีทั้งทางบวกและทางลบ ทางบวกรับเข้ามาแล้วก็เป็นผลดี เป็นความดีงาม เป็นความเจริญก้าวหน้า ส่วนทางร้ายฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเรื่องความเสื่อมเสีย เป็นความชั่วเสียหาย หรือบางครั้งของนั้นเป็นกลางๆ แต่ใจรับไม่ดี วิธีรับหรือตั้งรับไม่ดี รับเข้ามาแล้วแปลความหมายไม่ดี เอามาทำให้เกิดผลเสีย และเกิดอกุศลธรรมขึ้น ตรงข้ามกับอีกคนหนึ่งหรืออีกเวลาหนึ่ง เมื่อรู้จักฝึกตนแล้ว รับเข้ามาแล้วก็ทำให้เกิดผลดีเป็นเรื่องกุศลธรรม

ขอยกตัวอย่าง เช่น มองเห็นคนประสบความทุกข์ นอนเจ็บปวด เดือดร้อนอยู่ พอเรามองเห็นก็เรียกว่าได้รับเข้ามาแล้ว อาจจะเกิดกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ได้ แล้วแต่ใจตั้งรับอย่างไร ท่านเรียกว่ามีมนสิการอย่างไร ทำในใจอย่างไร

ถ้ามีมนสิการดี ทำใจโดยดี โดยแยบคาย รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ก็เกิดกุศลธรรม เกิดกรุณาขึ้นมา คิดสงสารอยากจะช่วยเหลือ ปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ หรืออาจจะเกิดปัญญาพิจารณาความเป็นจริงว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แหละ ชีวิตและโลก โลกและชีวิตเป็นอย่างนี้ เกิดความเข้าใจสัจธรรมขึ้นมา จนถึงขั้นที่เกิดทั้งปัญญาและกรุณาก็ได้

เหมือนอย่างพระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนเสด็จออกบรรพชา ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ พระองค์เห็นแล้วก็เกิดความสังเวช เบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย และก็พิจารณามองเห็นแนวทางปฏิบัติที่สมควร เพื่อจะแก้ไขความทุกข์ของมนุษย์

แต่ทีนี้อีกคนหนึ่งหรืออีกเวลาหนึ่ง ตั้งใจรับไม่ดี มีอโยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยไม่แยบคาย กลับรู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง เกลียดชัง เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ กลายเป็นอกุศลธรรมไป

เพราะฉะนั้น เรื่องเดียวกัน ใจตั้งรับดีหรือไม่ดีก็มีผลดีผลเสียต่างกัน

นี่เรื่องการรับรู้ เป็นด่านแรกของเรา ต้องใช้หลักสังวร ซึ่งเป็นเครื่องระวังปิดกั้น โดยปิดกั้นไม่ให้สิ่งร้ายเข้ามา เช่น หลักอินทรียสังวร ซึ่งเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งที่ท่านเน้นมาก กล่าวคือการสังวรอินทรีย์หรือสำรวมอินทรีย์

สังวร แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า สำรวม ที่ว่าสำรวมอินทรีย์ ระมัดระวังปิดกั้น ท่านอธิบายว่า เมื่อรับรู้หรือว่าได้เห็นได้ยินสิ่งต่างๆ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ระวังไม่ให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำจิต ไม่ให้ความยินดียินร้ายเข้ามาครอบงำจิตใจ นี้เป็นเรื่องสังวรระวัง ปิดกั้นไม่ให้สิ่งร้ายเกิดขึ้น ไม่เปิดรับสิ่งไม่ดี แล้วจะได้เปิดช่องให้แก่สิ่งที่ดี

บังคับตนได้ และปรับปรุงต่อไปจนสมบูรณ์

๒. สัญญมะ แปลว่าควบคุมบังคับ หมายถึงการรู้จักควบคุมบังคับตนในการแสดงออก เมื่อกี้รับเข้า คราวนี้แสดงออก ในการแสดงออกของเราต้องมีการบังคับควบคุมให้ดี อย่าให้เกิดผลเสียหายเป็นโทษ โดยเฉพาะท่านเน้นในแง่อย่าให้เบียดเบียนผู้อื่น

พูดสั้นๆ ว่าเราต้องรู้จักควบคุมตนเอง ให้ตั้งอยู่ในศีล ในหลักความดีงาม เริ่มตั้งแต่ไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ก่อโทษผลร้ายต่อสังคม อย่างนี้เรียกว่าสัญญมะ

๓. ทมะ เมื่อมีด่านในการรับดี และมีเครื่องควบคุมตนเองในการแสดงออกดีแล้ว ต่อไปนี้ก็เข้าสู่ขั้นตัวจริง คือ ทมะ ซึ่งแปลว่า ฝึกฝนปรับปรุงตน ทีนี้ก็ทำให้เจริญก้าวหน้าไปในคุณความดีจนถึงที่สุด คุณความดีมีอะไรก็ทำไปและทำจนเต็มที่ ท่านเรียกว่าทำให้ไพบูลย์

เป็นอันว่ามีครบ ๓ อย่าง คือ สังวร สัญญมะ ทมะ มีสังวร สำหรับปิดกั้นในการรับไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามา มีสัญญมะ สำหรับควบคุมตนในการแสดงออก ไม่ให้เบียดเบียน ไม่ให้เกิดผลเสีย แล้วก็มีทมะ ไว้ปรับปรุงตัว ให้เจริญงอกงามในคุณความดียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุด ก็เป็นอันครบกระบวนการปฏิบัติธรรมในแง่หนึ่ง

การที่อาตมภาพแยกหลักธรรมชุดนี้ขึ้นมานั้น ก็ต้องการให้มองเห็นว่า เรื่องการฝึกตัวพัฒนาตนนี้ มีแง่ด้านต่างๆ ที่จะพิจารณาได้หลายอย่าง

ผู้ฝึกคนอื่น คือผู้มาช่วยให้เขาฝึกตน

อนึ่ง มีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะพูดไว้ด้วย คือว่า ในเมื่อมีการฝึก และมีผู้รับการฝึกแล้ว (การฝึกจะเรียกว่า ทม หรือ ทมนะ หรือทมถะ ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของไวยากรณ์ เรียกง่ายๆ ก็ทมะ อย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้ว ส่วนผู้รับการฝึกก็คือ ทมฺม ใน ปุริสทมฺม) จากนั้นก็ต้องมีผู้ฝึก เรียกว่า ทมกะ

ทีนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในทางพระศาสนา หรือทางธรรมนั้น ไม่ใช่คนอื่นจะมาฝึกเราได้ ความจริง ที่เรียกว่าผู้ฝึก หมายความว่า มาช่วยให้เราฝึกตนเอง

ผู้ฝึกคือผู้มาช่วยให้เราฝึกตนเอง เช่นอย่างพระพุทธเจ้าทรงเป็น ทมโก แปลว่าผู้ฝึก หรือ ทเมตุ ทเมตา แปลว่าผู้ฝึกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นทเมตา เช่นในข้อความว่า ภควา อทนฺตานํ ทเมตา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฝึก อทนฺตานํ ซึ่งคนผู้ยังไม่ได้ฝึก

ทีนี้ผู้ฝึกอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้มีความหมายว่ามาช่วยให้คนเขาฝึกตนเอง การมาทำหน้าที่ช่วยให้ผู้อื่นฝึกตนเองนั้น ท่านเรียกว่าทำหน้าที่กัลยาณมิตร ฉะนั้นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกอันหนึ่งจึงได้แก่หลักกัลยาณมิตร

พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์เป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อย่างพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า สัตว์ทั้งหลายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา เราตถาคตเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา พ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา พ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา พ้นจากความตาย เป็นต้น พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นี้คือทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร

ก็เลยมีหลักในพระพุทธศาสนาว่า ในกระบวนการฝึกนั้นสิ่งสำคัญจะต้องมีกัลยาณมิตรด้วย

ฉะนั้น ในสังคมของชาวพุทธ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะลืมก็คือจะต้องพยายามสร้างสรรค์กัลยาณมิตรให้มีขึ้น เพื่อจะได้ให้สังคมนี้ดี มีศีลธรรม เราจะให้คนเขาพัฒนาตน ฝึกตนขึ้นมาเองนั้น มักจะหวังได้ยาก ถ้ามีกัลยาณมิตรเป็นตัวอย่างและช่วยแนะนำ ก็มีหวังมากขึ้น

ฉะนั้น ในสังคมขณะนี้ ถ้ามีความเสื่อมโทรมมาก ก็ต้องการกัลยาณมิตรมาก เพื่อจะได้ช่วยกันทำให้คนมีโอกาสพัฒนาตน อันนี้เรื่อง ทมะ ก็ขอผ่านไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง