หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ หนทางดำเนินสู่มรรค

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นหัวข้อแรกในมรรค ท่านบอกว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบแล้ว สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบก็จะมีขึ้น แล้วจะมีสัมมาวาจา พูดชอบ สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ เป็นต้น แต่ทีนี้ตัวสัมมาทิฏฐิเองเล่าจะเริ่มต้นอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้อีกว่า ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ แปลว่าเสียงจากอื่น เสียงจากอื่นคืออะไร เสียงจากอื่นก็คือเสียงจากคนอื่น เสียงที่มาจากที่อื่น ความรู้ที่มาจากแหล่งอื่น คนอื่น ถ้าจะใช้ภาษาสมัยปัจจุบันก็ว่า จากสภาพแวดล้อมทางสังคม สภาพแวดล้อมทางสังคมมี ๒ ส่วน คือ ปรโตโฆสะที่ดีและที่ไม่ดี ปรโตโฆสะที่ไม่ดีท่านบอกว่านำไปสู่มิจฉาทิฏฐิ ปรโตโฆสะที่ดีนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจคิดเห็นเชื่อถือถูกต้อง ปรโตโฆสะนี้เป็นปัจจัยที่หนึ่ง

ปัจจัยที่ ๒ คือ โยนิโสมนสิการ เราแปลกันมาตามประเพณีว่า การทำในใจโดยแยบคาย ซึ่งต้องไปพิจารณาความหมายกันอีก อาตมภาพเลยลองเสนอคำแปลไปว่า ความรู้จักคิด คิดเป็น คิดถูกวิธี นี้เรียกว่า ‘โยนิโสมนสิการ’

สัมมาทิฏฐิจะเกิดได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบ ๒ ประการนี้และท่านเน้นมากเหลือเกิน มีพุทธพจน์ที่เน้นเรื่อง ๒ อย่างนี้มากมายหลายแห่ง เช่นตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับภิกษุผู้ยังศึกษาอยู่ เราไม่พิจารณาเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างใดที่จะเป็นสิ่งสำคัญเท่าปรโตโฆสะ ซึ่งปรโตโฆสะที่ดีก็ได้แก่ ความมีกัลยาณมิตร และสำหรับองค์ประกอบภายใน เราไม่พิจารณาเห็นองค์ประกอบใดสำคัญเท่าโยนิโสมนสิการเลย”

เป็นอันว่ามีองค์ประกอบ ๒ อย่าง ที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฏฐินำไปสู่มรรค คือ องค์ประกอบภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี และองค์ประกอบภายใน คือ โยนิโสมนสิการ ยังมีพุทธพจน์ทำนองนี้อีกมาก เช่น ตรัสว่า โยนิโสมนสิการก็ดี ปรโตโฆสะที่ดี คือ ความมีกัลยาณมิตรก็ดี (กัลยาณมิตรเป็นตัวอย่างเด่นชัดของปรโตโฆสะที่ดี ในส่วนที่เป็นบุคคล) นี้เป็นรุ่งอรุณของมรรคมีองค์ ๘ ประการ เมื่ออาทิตย์จะอุทัยขึ้นนั้น มีแสงอรุณนำมาก่อนฉันใด การที่มรรคจะเกิดขึ้น ก็มีแสงอรุณ คือ ความมีกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เป็นสิ่งที่นำมาก่อนฉันนั้น

สำหรับกัลยาณมิตร หรือปรโตโฆสะที่ดีนั้น จะพบคำสอนได้ในเรื่อง ‘การคบมิตร’ ซึ่งมีมากมายในพระพุทธศาสนา มีในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทั่วไป เป็นเรื่องที่มองเห็นกันอยู่แล้ว มีทั้งสำหรับชาวบ้าน สำหรับภิกษุ ที่ทั้งเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในขั้นต้น และในขั้นสูง เป็นเรื่องสำคัญที่หาคำสอนได้ง่าย ส่วนโยนิโสมนสิการก็ตรัสไว้มิใช่น้อย อาตมภาพคิดว่าในพระไตรปิฏกนั้นคงมีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ แห่ง แต่ทีนี้ บางทีเรามองข้ามไป อย่างในพระไตรปิฎกแปล บางทีแม้จะอ่านเราก็ไม่ได้สังเกต เพราะท่านแปลออกมาเสียว่า การทำในใจโดยแยบคาย อะไรอย่างนี้ ก็ทำให้มองข้ามๆ กันไป

สิ่งสำคัญก็คือ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ช่วยกันได้ ส่วนสัมมาทิฏฐินั้นเกิดอยู่ในตัวคน เมื่อเขามีความเห็นถูกต้อง เขาก็ดำเนินตามมรรคไป แต่ก่อนที่เขาจะมีสัมมาทิฏฐิเราจะทำอย่างไร นี้เป็นเรื่องที่มนุษย์จะช่วยกันได้

การที่จะจัดกิจกรรมในทางสังคม การที่จะให้การศึกษาอะไรต่างๆ นี้มันอยู่ที่จุดนี้ คือ เรื่องปรโตโฆสะที่ดี กับโยนิโสมนสิการ เช่นว่า เราจะสร้างปรโตโฆสะที่ดี ให้สังคมนี้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีกัลยาณมิตรขึ้นได้อย่างไร กัลยาณมิตรนี้ควรจะมีคุณภาพ คุณสมบัติอย่างไร เริ่มตั้งแต่คุณครูเป็นต้นไป โยนิโสมนสิการที่ว่ารู้จักคิด คิดเป็น คิดแยบคาย อะไรนี้ คือ ความคิดแบบไหน มีวิธีการทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นต้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ซึ่งอาตมภาพเห็นว่าอันนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องในวิชาการศึกษามาก และการที่เราบอกว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญานั้น มันก็เริ่มมาตั้งแต่จุดนี้ คือ เพราะสอนเรื่องโยนิโสมนสิการนี้เอง สำหรับจุดนี้อาตมภาพก็จะขอผ่านไปก่อน

อีกชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่ใช้เรียกในสมัยก่อน คือ คำว่า สัตถุศาสน์ อันนี้เป็นเรื่องของการแสดงตัวคำสอนแท้ๆ ซึ่งจะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะเวลาจำกัด ขอผ่านไปก่อน ขอพูดถึงหัวข้อที่ ๔

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง