การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

– ๑ –
พัฒนาให้ทันโลกาภิวัตน์

ชอบใช้เทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักวิทยาศาสตร์

ในท่ามกลางกระแส “โลกาภิวัตน์” มีปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เราจะต้องเข้าไปวิเคราะห์แยกแยะดูมากมาย ปัจจัยส่วนหนึ่งที่สำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ ก็คือ มนุษยโลกปัจจุบันนี้ ได้สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาด้วยบทบาทที่เด่นชัดของเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวแสดง ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ จนกระทั่งว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เคยมีความภาคภูมิใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง และมีความหวังจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า จะสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่มนุษยชาติ แต่ในปัจจุบันความหวังนี้ได้เริ่มเลือนลางลงไป โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความรู้สึกมีความหวังและความภูมิใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลดลงมากแล้ว จนกระทั่งบางพวกถึงกับมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ดังที่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วบางส่วนตั้งกันเป็นกลุ่ม เพื่อต่อต้านเทคโนโลยี หรือไม่ยอมใช้เทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า อารยธรรมของมนุษย์ที่เจริญอยู่ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวเอกในการสร้างขึ้นมา ยุคสมัยปัจจุบันที่เราเรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูลก็ตาม ยุคเก่ากว่าที่เรียกว่ายุคอุตสาหกรรมก็ตาม ล้วนแต่เป็นยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวเอกในการสร้างสรรค์ขึ้นทั้งนั้น แต่มนุษย์ที่อยู่ในโลกจะต้องรู้เท่าทันและปฏิบัติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ต้องรู้ทั้งคุณและโทษ ขอบเขตความสำคัญ และข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นตามทันว่า เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร? เขาเกิดความรู้ตระหนักว่ามันเป็นปัจจัยที่ไม่เพียงพอในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สังคม เป็นต้น และมีโทษมากมายที่เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อย่างน้อยก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้ คนจะต้องรู้จักแยกความแตกต่างระหว่าง วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี แต่ปรากฏว่า ในสังคมที่กำลังพัฒนา คนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถแม้แต่จะแยกระหว่าง “วิทยาศาสตร์” กับ “เทคโนโลยี” แล้วก็แยกไม่ออกระหว่าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” กับ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” ในการที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้ผลนั้น จะต้องพัฒนาสังคมให้มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” เป็นอย่างน้อย แม้จะยังเป็นวัฒนธรรมที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่แยกไม่ออกระหว่างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ กับ วัฒนธรรมเทคโนโลยี เขาก็จะเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

“วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” หมายถึง วิถีชีวิต ตลอดจนจิตใจของคนที่นิยมเหตุผล มองสิ่งทั้งหลายโดยใช้ปัญญา ชอบพิสูจน์ทดสอบหาความจริง มีความใฝ่รู้ ต้องการเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งความคิดจิตใจดำเนินไปในเชิงของความเป็นเหตุเป็นผล อย่างนี้เรียกว่ามี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” องค์สำคัญคือ ความใฝ่รู้ การรู้จักใช้เหตุผล และการมองสิ่งต่างๆ โดยใช้วิจารณญาณ ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

ส่วน “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” หมายถึง วิถีชีวิตที่ชื่นชมนิยมให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยี มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วยผ่อนเบาและอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตและกิจการ ตลอดจนเสริมเติมบำรุงบำเรอความสุขความสนุกสนานบันเทิงในด้านการเสพและบริโภค ถ้าล้ำหน้าไปก็กลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมาก

ปัจจุบันนี้ในสังคมของเรา เราต้องยอมรับว่าชีวิตของคนขึ้นต่อเทคโนโลยีมาก เราอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เรากำลังมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี แต่เรามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์หรือเปล่า

วัฒนธรรมที่เป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญคือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เป็นฐาน วัฒนธรรมเทคโนโลยีอาจจะกลายเป็นปัจจัยตัวร้ายที่จะนำชีวิตและสังคมไปสู่หายนะ เพราะว่าในขณะที่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ทำให้คนใช้ปัญญา คิดค้นคว้าหาความรู้ เป็นผู้สร้างสรรค์ แต่วัฒนธรรมเทคโนโลยีทำให้เราคอยรอที่จะเสพและบริโภค โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวผู้ทำให้แก่เรา คือเราไม่ต้องทำและไม่ต้องใช้ปัญญา

เวลานี้พูดกันว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมบริโภค ในคำนี้แฝงนัยแห่งความหมายว่า สังคมได้บรรลุผลสำเร็จแห่งการสร้างสรรค์ด้วยกำลังอำนาจของเทคโนโลยี แล้วละเลิกความเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ หันมาเป็นผู้เสวยผลแห่งความสำเร็จนั้น ไม่เป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์อีกต่อไป (สังคมบางสังคมไม่ผ่านขั้นตอนของความเป็นผู้ผลิตหรือสร้างสรรค์มาด้วยซ้ำ อยู่ๆ ก็ข้ามขั้นมาเป็นสังคมบริโภคทันทีเลย)

เวลานี้ เราเป็นนักบริโภค เราติดอยู่กับ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” มีวิถีชีวิตที่ขึ้นต่อเทคโนโลยี และถือเอาเทคโนโลยีเป็นตัวบันดาลทำให้เกิดความสุขความสำเร็จ ใช่หรือไม่ ข้อนี้ในสังคมของเราก็พอมองเห็นได้ แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งชีวิตในทางสติปัญญาของเราเป็นอย่างไร คนมีความใฝ่รู้ไหม ต้องการเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ รู้จักใช้วิจารณญาณ เป็นคนที่ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือไม่ หรือเป็นคนที่ฮือไปตามข่าว ตื่นตูม มีข่าวอะไรมาก็เชื่อง่ายเฮกันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าไม่มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์”

ในการที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ คนจะต้องมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ การที่จะอยู่ในโลกได้อย่างดี คนจะต้องมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นี้เข้ากันได้กับการศึกษา ที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการศึกษาเลยทีเดียว ถ้าสังคมไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และคนไม่มีจิตใจวิทยาศาสตร์ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะเป็นไปในลักษณะของการบริโภค โน้มไปสู่ความฟุ้งเฟ้อ ฉาบฉวย อ่อนแอ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก และความเสื่อม

ถ้าหากว่า ที่ผ่านมา “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” เรายังสร้างไม่ได้ เราจะต้องหันมาสำรวจตัวเองให้หนัก และต้องเร่งแก้ไข อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญในความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นจะต้องถามตนเองว่า สังคมของเราได้ประสบความสำเร็จในการสร้าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” หรือเปล่า หรือมีเพียง “วัฒนธรรมเทคโนโลยี”เท่านั้น

ในหลักสูตรการศึกษาของเราก็มีวิชาวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้นได้ทำให้คนของเรามีจิตใจและท่าทีวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือทำได้เพียงให้เขามีความรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ถ้าได้เพียงแค่นี้ก็ต้องพูดว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเราไม่ประสบความสำเร็จ

ยิ่งกว่านั้น ต่อจากนี้เรายังจะต้องก้าวไปสู่การรู้เท่าทันถึงความไม่เพียงพอของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติอีกด้วย เพราะในด้านลบนั้นเวลานี้ก็ยอมรับกันแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่แหละที่เป็นตัวการนำปัญหามาสู่มนุษย์ในปัจจุบัน เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นต้น โดยเป็นปัจจัยตัวเอกที่ทำให้การพัฒนาไม่ยั่งยืน แต่ผลร้ายนั้นข้อสำคัญขึ้นอยู่กับการที่มนุษย์ไม่ได้พัฒนาตัวเองให้เพียงพอในการที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ฉะนั้นเวลานี้เราจึงหันมาเน้นความสำคัญในการพัฒนาคน

หันไปมองอย่างประเทศของเราเวลานี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็มาเน้นการพัฒนาคนเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะแผนต่อไปได้ทราบว่าเน้นเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาคน รวมทั้งพัฒนาจิตใจด้วย ที่จริงเราเริ่มเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มา ๒-๓ แผนแล้ว แต่การเอาจริงเอาจังยังไม่เต็มที่ ตอนนี้กำลังเร่งกันเป็นการใหญ่

แม้แต่ในระดับโลกก็ทราบกันอยู่ว่า องค์การสหประชาชาติ โดยทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ทศวรรษนี้ คือที่เรากำลังอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ถึง ๒๕๔๐ เป็น “ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ตามภาษาอังกฤษว่า The World Decade for Cultural Development

ในการประกาศทศวรรษนี้ ทางองค์การยูเนสโกที่เป็นเจ้าของเรื่อง ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ของโลกในเรื่องการพัฒนาเท่าที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนาน แล้วก็ได้แถลงเหตุผลชัดเจนว่า การพัฒนาของโลกในยุคที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่เน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งหมายความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการพัฒนาที่เน้นด้านวัตถุซึ่งต่อมาก็เกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นแล้วองค์การสหประชาชาติก็ได้แถลงถึงผลเสียผลร้ายต่างๆ ของการพัฒนาแบบนี้ ซึ่งทำให้เกิดโทษทั้งแก่ชีวิตบุคคลแก่สังคมและแก่สิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่มนุษย์มีความสามารถในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผลิตสิ่งบริโภคได้มากมาย แต่โลกมนุษย์ก็ยังคงมีความยากจนข้นแค้น ความขัดแย้งต่างๆ การเอารัดเอาเปรียบ มีการอดตายมาก เป็นเพราะมนุษย์เบียดเบียนกัน แย่งชิงกัน ตลอดจนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมสลายไป ทั้งนี้ก็เพราะการพัฒนาแบบนี้ เป็นการพัฒนาที่ผิดทาง เป็น misdirected development เป็นการพัฒนาเพียงด้านเดียว ไม่ครบไม่สมบูรณ์

การพัฒนาต่อไปนี้ จะต้องให้ความสำคัญแก่ปัจจัยด้านอื่นๆ หรือองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย องค์ประกอบที่สำคัญก็คือตัวมนุษย์นั่นเอง และมนุษย์ก็อยู่ภายใต้ความเป็นไปของวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมซึ่งเป็นผลรวมแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนในสังคม ทางองค์การสหประชาชาติจึงประกาศ “ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ขึ้นมาเพื่อให้ความสำคัญแก่การพัฒนาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของตัวคนที่มีจิตใจ อันโยงไปถึงคุณธรรมต่างๆ

นี้เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เราได้เห็นมาเป็นขั้นๆ แต่อย่างน้อยตอนนี้เราต้องให้คนของเรามีความรู้เท่าทันข้อดี ข้อเด่น และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง เริ่มแต่มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง