การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทนำ
การศึกษาสู่ยุคโลกาภิวัตน์

มนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงทรัพยากร

ตอนแรก มีข้อสังเกตเกี่ยวกับถ้อยคำเล็กน้อย ในการที่จะเอาศาสนามาจัดการศึกษานั้น ในที่นี้แสดงความมุ่งหมายไว้ว่า เพื่อจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แสดงว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่ “ทรัพยากรมนุษย์”

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นคำที่ใช้ตามความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ เกิดขึ้นมาในช่วงระยะ ๒๕-๓๐ ปีนี้เอง (เกิดในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓ หรือ ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๐)

คำว่า “ทรัพยากร” นั้น แปลว่า แหล่งทรัพย์ หรือขุมทรัพย์ จึงให้ความรู้สึกในแง่ที่ว่า เป็นทุน หรือเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้เกื้อหนุน หรือเป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริมหรือทำความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ และต่อมาก็ใช้ในด้านสังคมด้วย เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” จึงทำให้เรามอง “มนุษย์” ในความหมายที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ โดยเอามนุษย์มาใช้เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งเหมือนกับทรัพยากรอย่างอื่น เพื่อจะได้สร้างสรรค์ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนทางด้านสังคมตามความหมายที่ขยายออกมา

พูดง่ายๆ ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” คือ คนในฐานะที่เป็นทุนหรือเป็นปัจจัยในการผลิตทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนประกอบที่จะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ความเจริญของสังคม

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ เราใช้คำนี้โดยถือว่าเป็นการใช้ตามความนิยมเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะพูดต่อไป จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า ความมุ่งหมายของเราในการพูดถึงมนุษย์นั้นไม่จำกัดอยู่แค่เป็น “ทรัพยากร” เพราะการมองมนุษย์เป็น “ทรัพยากร” จะทำให้การมองของเราแคบลง

“มนุษย์” เป็นชีวิตที่มีความประเสริฐ มีความสำคัญในตัวของมันเอง และชีวิตนั้นอาจจะมีความสมบูรณ์ได้แม้ในตัวของมันเอง ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือหรือส่วนประกอบที่จะเอามาใช้สร้างสรรค์สิ่งอื่นเท่านั้น ถ้าเราพูดว่าเป็น “ทรัพยากร” ก็เหมือนกับเราเอามนุษย์มาใช้เป็นประโยชน์ในการทำสิ่งอื่นอย่างที่พูดมาแล้วคือ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในที่นี้จะขอแยกความหมายของ “มนุษย์” ออกเป็น ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ “มนุษย์” ในฐานะที่เป็น “ทรัพยากร” ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม เรายอมรับว่า ในยุคปัจจุบันนี้ “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นทรัพยากรพิเศษที่มีความสำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรอื่นๆ ทั้งหมด ในการสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้า“ทรัพยากรมนุษย์”ไม่ดี ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย ฉะนั้น เราจึงต้องการคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดี มีสติปัญญา เชี่ยวชาญในวิชาการหรือวิชาชีพนั้นๆ เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีความประพฤติดี ไม่เหลวไหล รักงาน รู้จักรับผิดชอบ ขยันหมั่นเพียร และอดทน เป็นต้น เพื่อเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและในการสร้างสรรค์สังคม ดังที่กล่าวแล้ว

ชั้นที่ ๒ “มนุษย์” ในฐานะที่เป็น “ชีวิต” โดยที่ในตัวของมันเองสามารถทำให้เป็นชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ได้ ในแง่นี้เราจะต้องมองเป็นจุดหมายสูงสุดว่า เราจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มี “ชีวิต” ที่ดีงามในตัวของเขาเอง เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ มีอิสรภาพ มีความสุขในตัวเอง

มนุษย์ที่มีความเจริญงอกงามและพัฒนาอย่างดีแล้วนั้น ไม่ใช่เป็นเพียง “สิ่งที่ถูกนำไปใช้” เท่านั้น แต่มีความหมายในเชิงเป็น “ผู้กระทำ” ด้วย โดยเป็นผู้สามารถกระทำหรือนำการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีความหมายเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

“มนุษย์” ไม่ใช่เป็นเพียงสมบัติอันมีค่าที่จะถูกใช้ให้เป็นส่วนประกอบหรือเป็นทุนในการสร้างความเจริญที่มุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มนุษย์มีความสามารถยิ่งกว่านั้น แม้แต่ถ้าความมุ่งหมายและทิศทางของการพัฒนาที่เป็นอยู่นี้ผิดพลาด เขาก็สามารถมองเห็น และเป็นผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายและกระบวนการของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นอย่างอื่นไปก็ได้ และที่สำคัญยิ่งก็คือ ในทางย้อนกลับ เขาสามารถเรียนรู้จากสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาตัวของเขาเองขึ้นไปสู่ภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

จากการมองความหมายของ “มนุษย์” เป็น ๒ ชั้นดังกล่าว เราก็มามองความหมายของมนุษย์โดยสัมพันธ์กับการศึกษา

แน่นอนว่าการศึกษาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและสังคม ในแง่ของความสัมพันธ์กับสังคม การศึกษามีบทบาทในการตามสนองความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องช่วยผลิตกำลังคนให้แก่ประเทศ นี่เป็นการให้ความหมายของ “มนุษย์” ในเชิง “ทรัพยากร” ดังที่มีการสำรวจว่าประเทศของเรายังขาดแคลนกำลังคนในด้านไหนบ้าง ปัจจุบันนี้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกว่าจะขาดแคลน ฉะนั้นนโยบายของรัฐในการจัดการศึกษาจะต้องเบนมาให้ความสำคัญแก่การผลิตกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี่เป็นตัวอย่างของการมองการศึกษาในแง่ที่ว่า เราจัดการศึกษาเพื่อตามสนองความต้องการของสังคม

ถ้าเราจัดการศึกษาในแนวนี้นานๆ เราอาจจะลืมความมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษาอีกด้านหนึ่งไปเสียก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาจะเป็นตัวตามสังคม ซึ่งไม่ใช่บทบาทที่แท้จริง และจะกลายเป็นว่าเราให้อิทธิพลของสังคมมาเป็นตัวกำหนดการศึกษา หมายความว่า การศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราสร้างคนภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้ การศึกษากลายเป็น “ตัวถูกกำหนด” ไม่ใช่เป็น “ผู้กำหนด”

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคงจะต้องหันมาสนใจปัญหานี้ที่ว่า การศึกษาของเราได้เน้นในแง่ของการตามสนองความต้องการของสังคม เช่น การผลิตกำลังคนในด้านต่างๆ ในช่วง ๕ ปีข้างหน้า ในช่วงแผนพัฒนาฉบับนี้ เราขาดกำลังคนด้านไหนบ้าง เราก็ให้ความสนใจพิเศษในด้านนั้นๆ นี่เป็นการมองการศึกษาแบบ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แต่การศึกษาไม่ควรจะหยุดแค่บทบาทนี้ บทบาทที่แท้จริงของการศึกษากว้างไกลและมีความสำคัญยิ่งกว่านี้ บทบาทของการศึกษาที่สมบูรณ์ก็คือ บทบาทในการ “พัฒนาความเป็นคน” และ “นำสังคม”

บทบาทของการศึกษาในการ “นำสังคม” นั้น การศึกษาจะต้องเป็นตัวแก้ปัญหาของสังคม สังคมที่เดินอยู่ในปัจจุบันอาจจะเดินทางผิดก็ได้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปตามสนองความต้องการ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราจะทำเพียงแค่ตามสนองความต้องการของสังคมเท่านั้น ไม่พอ ถ้าหากว่าสังคมกำลังเดินทางผิด การศึกษาจะต้องเตือนให้ทราบ และชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ในการทำบทบาทนี้ การพัฒนามนุษย์จะเข้ามาสู่ความหมายที่สองคือ มองมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียง “ผู้ถูกนำไปใช้” แต่เราจะใช้การศึกษาสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้เขาพัฒนาในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นบุคคลผู้มีศักยภาพที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ตลอดจนกระทั่ง ถ้าหากว่าสังคม หรือแม้อารยธรรมของโลก มีความติดตันในแง่ใดแง่หนึ่ง การศึกษาก็จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขความติดตันของสังคมและของมนุษยชาติได้ด้วย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง