ถาม ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอดีตจนปัจจุบัน จะมีลูกศิษย์ลูกหาแบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเห็นว่า ควรเน้นการสอนสัจจธรรมล้วนๆ อีกพวกหนึ่งเห็นว่าอภินิหารเป็นอุบายอย่างหนึ่ง และยังอ้างสมัยพุทธกาลด้วยว่า บางครั้งพระอรหันต์บางองค์ยังต้องใช้อิทธิปาฏิหาริย์เป็นการดึงคนเหมือนกัน อยากกราบเรียนว่า ไม่ทราบว่าหลวงพ่อมีความคิดเห็นอย่างไร?
ตอบ ยุคนี้ควรพูดเรื่องนี้ที่สุด คำถามนี้ดีมาก เพราะเวลานี้กำลังเกร่อเหลือเกิน ถ้าปฏิบัติไม่ถูก เสียหลักเมื่อไรก็ไปเลย คือทำให้ตกจากพระศาสนา ตัวเองก็พลัดตกจากพระพุทธศาสนา พร้อมกันนั้นก็พาให้เกิดผลเสียแก่สังคมส่วนรวม พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อมโทรม ดังนั้นจะต้องมีหลัก เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน เพราะมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก
สำหรับพระพุทธเจ้าเราพูดกันทีหนึ่งแล้วว่า พระองค์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมอย่างไร คนสมัยนั้นเขาเชื่อถึงขนาดวัดกันว่า ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พระองค์จึงต้องทำลายความเข้าใจผิดของมนุษย์เสียใหม่ ให้เห็นว่ามันไม่ได้อยู่ที่สิ่งนี้ และสิ่งนี้มีปมไม่ดีด้วย พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์เพื่อปราบฤทธิ์ แต่พอปราบเสร็จแล้วพระองค์ก็ไม่ใช้อีก หมายความว่า คนไหนที่หลงเรื่องฤทธิ์ พระองค์ก็ปราบด้วยฤทธิ์ ปราบเสร็จ สำหรับคนนั้นก็จบกันเรื่องฤทธิ์ แล้วเข้าไปสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนที่เป็นจริง และทำให้เห็นความจริง เมื่อนำไปปฏิบัติก็พบความจริงแห่งความพ้นทุกข์เป็นที่น่าอัศจรรย์) แสดงความจริงเป็นสัจจธรรม ทรงใช้วิธีนี้ นี่คือหลักหนึ่งที่จะต้องเอามาใช้
ขณะนี้คนกำลังมีค่านิยมสูงในเรื่องการนิยมอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในทุกที่ เราต้องถือหลักของพระพุทธเจ้า คือ การเอาฤทธิ์ปราบฤทธิ์ ไม่ใช่ต้องการยกย่องฤทธิ์ และไม่ต้องการให้คนหลงระเริงและมัวเมาในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ในขณะที่เขายังหลงอยู่ เราต้องมีเป้าหมายให้เขาหายหลง แล้วก็หาวิธีว่าชักจูงอย่างไรให้เขาก้าวหน้าไป ในกรณีนี้จะมีหลักการที่ว่า หลักพระพุทธศาสนาต้องการพัฒนาคนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา แต่ตอนแรกคนเขายังไม่ได้พัฒนา เขาก็อยู่ของเขาที่จุดยืนของเขา (ลุ่มหลง มัวเมาในฤทธิ์หรือหวังผลจากฤทธิ์) เราทำไงจะพาเขาให้ก้าวจากจุดยืนนี้ไป ตอนนี้ก็จะมีปัญหาที่เป็นความละเอียดอ่อน ซึ่งมันก็จะมีความยืดหยุ่นและความแตกต่างเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นต่อปัจจัยว่า สำหรับคนที่เขายืนอยู่ เขาอยู่ในสภาพไหนที่จุดใด (เราจะต้องปฏิบัติให้เหมาะควรกับเหตุปัจจัยของแต่ละคน)
สำหรับคนหมู่ใหญ่ที่แตกต่างหลากหลายทั่วทั้งสังคมนี้ เราไม่สามารถกำหนดเลือกให้เป็นไปอย่างใจ คนจำนวนมากยังไม่แว่วเสียงของธรรมเลย ถ้าคนเหล่านี้จะยอมละเว้นการประพฤติตามอำเภอใจ ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์ และอยู่ให้เป็นปกติสุขได้บ้าง เพราะเชื่อถือและเกรงกลัวต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาล่องลอยเคว้งคว้างอย่างไม่มีหลักอะไรเลย ถ้าเขายังเข้าไม่ถึงสิ่งที่จริงแท้ดีกว่านั้น แม้จะได้แค่นี้ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวเหนี่ยวรั้งเสียเลย ข้อสำคัญก็คือ อย่าหยุดจมกันอยู่กับความเชื่อแบบปฐมกัปนั้นเรื่อยไป หรือเอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปรับใช้สนองกิเลสของเขา หรือใช้ล่อเขาเพื่อหาลาภให้แก่ตัว แทนที่จะใช้เพื่อช่วยเขาให้ขยับขึ้นมา เมื่อถึงจุดนี้ ก็ต้องพูดถึงปัจจัยที่สอง
ปัจจัยที่สองคือ “ผู้สอน” ผู้สอนต้องรู้ก่อนว่า หลักพระพุทธศาสนาคืออะไร จะต้องสอนให้เขารู้หลักนั้น ถ้าเป็นผู้สามารถพอ สอนแป๊บเดียว ผู้ฟังก็ก้าวมาถึงจุดที่ต้องการได้เลย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับฤทธิ์ อย่างพระพุทธเจ้า ปกติก็ไม่ทรงใช้ฤทธิ์แต่ใช้วิธีเขียผงในตา สอนทีเดียวเขาก็ข้ามมาอย่างที่พระองค์ต้องการเลย แต่ทีนี้ ในกรณีผู้สอนไม่มีความสามารถ หรือมีความสามารถไม่เพียงพอ ก็อาจจะไปสู่จุดที่พูดเมื่อกี้ว่า อาจจะเอาฤทธิ์เป็นสื่อชักจูง คือต้องยอมรับความสามารถของตัวว่า ฉันไม่มีความสามารถอย่างพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่จะสอนได้ขนาดนั้น ไม่สามารถใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ให้คนถึงความจริงได้ ก็เลยยังต้องอาศัยอันนี้เป็นสื่อเป็นอุบายเพื่อจูงคนขึ้นมา แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เพื่อดึงเขาก้าวต่อ ไม่ใช่ดึงตัวเข้าไปหมกอยู่กับเขา หรือไปทำให้เขาหลงยิ่งขึ้น หรือตัวเองหลงลาภสักการะ แทนที่จะมุ่งประโยชน์แก่เขา ก็กลายเป็นมุ่งจะไปเอาจากเขา ไปทำกับเขาเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตัว แล้วทำให้เขาหลง ก็กลายเป็นการหลอกลวงเขาไป อันนี้เป็นข้อพิจารณาในแง่แรงจูงใจ
เอาละ ตกลงจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ คือเรื่องเจตนาที่จะพาเขาเดินก้าวหน้า แต่เพราะความสามารถไม่พอก็เลยไปพบเขาที่จุดที่เขายืนอยู่แล้วจะพาเขาก้าวต่อไป นี่เป็นส่วนที่หนึ่งคือพูดในแง่แรงจูงใจ หรือ “เจตนา”
ในส่วนที่สองจะต้องปฏิบัติให้ถูกหลักการ แง่ที่สองนี่ก็สำคัญมาก ต้องไม่ให้ผิดหลักการ ๓ อย่าง จะต้องรู้ว่า หลักการทั้ง ๓ อย่างเป็นอย่างไร ขอให้เอาหลักการนี้มา พิจารณากัน
หลักการที่ ๑ คือ หลักกรรม ตามปกติความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นี้มีลักษณะทั่วไป ก็คือ การหวังผลสำเร็จจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้า พูดสั้นๆ ว่าหวังผลจากการดลบันดาล จุดนี้แหละสำคัญที่สุด ตนเองไม่ต้องทำความเพียร ได้แต่รอคอยผลสำเร็จที่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลให้ ก็นั่งคอยนอนคอย นั่งนอนรอคอยโชค หวังลาภเลื่อนลอย แล้วก็งอมืองอเท้า ไม่ทำ จุดนี้คือจุดตัดสิน จุดตัดสินที่หนึ่งคือหลักกรรม การที่จะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะต้องไม่ให้เสียหลักกรรม หลักกรรมขั้นต้นเป็นหลักความเชื่อ เชื่อในกรรม คือเชื่อในการกระทำ เชื่อในการกระทำ คือเชื่อในหลักเหตุผล ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย กรรมก็คือ หลักเหตุผลในแง่การกระทำของมนุษย์ว่า ผลที่ต้องการจะสำเร็จด้วยการกระทำ
ความเชื่อกรรมที่ว่าเป็นความเชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลแห่งการกระทำของมนุษย์นั้น ก็บ่งบอกว่า เมื่อทำเหตุดี ก็ให้เกิดผลดี เมื่อทำเหตุชั่ว ก็ให้เกิดผลชั่ว เมื่อเราต้องการผลดี ก็ต้องทำเหตุดี และต้องเว้นการกระทำชั่ว ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต้องให้มาสนับสนุนการกระทำดี ตามหลักกรรมนี้ ไม่ใช่ว่าอยากได้ผลดีก็อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ติดสินบนเทพเจ้าเอา แล้วจะทำดีหรือทำชั่ว หรือประพฤติเหลวไหลอย่างไรก็ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าก็จะดลบันดาลผลที่ต้องการให้ทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นก็เสียหลักกรรม ไม่อยู่ในพระพุทธศาสนา ไปๆ มาๆ ทั้งมนุษย์และทั้งเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะเสื่อมลงไปด้วยกัน จนถึงสภาพที่กลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ซื้อได้ด้วยเงิน
เมื่อเราหวังผลสำเร็จเราต้องทำ และจะต้องทำเหตุดี เพื่อให้เกิดผลที่ดี อย่าให้หลักการนี้เสียไปเป็นอันขาด อันนี้คือหลักความเชื่อที่สำคัญ ถ้าความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำให้คนรอคอยหวังผลสำเร็จจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วผิดหลักกรรมทันที อันนี้ถือว่าผิดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนเลย
ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า ตลอดจนเรื่องไสยศาสตร์ทั้งหลายนั้นก็เป็นเครื่องบำรุงขวัญปลอบขวัญ เมื่อคนยังมีพลังจิตพลังปัญญาไม่เข้มแข็งพอ ก็มักเรียกร้องใฝ่หาสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดความอุ่นใจมั่นใจขึ้นมา อย่างน้อยก็ทำให้มีที่เกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยว เป็นเครื่องปลอบใจ ชะโลมใจ ทำให้ชุ่มชื่นขึ้น มีความหวังขึ้น แต่ก็ต้องระวังอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีหลักกรรมมาคุมไว้ ก็จะมัวสบายใจ แช่มชื่นใจ อุ่นใจว่า เราได้ทำพิธีแล้ว เราได้บวงสรวงท่านแล้ว เดี๋ยวท่านก็จะบันดาลให้ พวกเรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง มีภัยอันตรายมา เดี๋ยวท่านก็จะช่วยเอง เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่เร่งคิดการและทำอะไรๆ ที่ควรทำตามเหตุตามผล ทอดทิ้งเรื่องเหตุปัจจัยเสีย เอาความหวังมากล่อมใจตัว เลยเพลิดเพลินจมอยู่ในความประมาท ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง ไม่อยู่กับความเป็นจริง ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงอะไร ไม่ได้เตรียมการป้องกันอะไร ในที่สุดก็พังพินาศ ชีวิตล่มจม สังคมเสื่อมสลาย และแม้แต่พระศาสนาต้องย่อยยับมา เพราะมัวหลงเพลินกับยากล่อมอย่างนี้เท่าไรแล้ว ควรจะได้บทเรียนกันเสียที อย่าดึงกันลงไปเลย จงดึงกันขึ้นมาเถิด
ในแง่นี้ก็เป็นอันว่า ถ้าความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังเป็นเพียงสิ่งส่งเสริมให้เกิดกำลังใจที่จะทำความเพียรพยายาม โดยหวังผลสำเร็จจากการลงมือทำและสนับสนุนให้ทำกรรมที่ดี ไม่ทำให้เกิดความประมาท ก็ยังพอใช้ได้ ไม่ผิดหลักกรรม ตัวตัดสินที่หนึ่งนี้อย่าให้ผิด ฉะนั้นเราดูเลยว่า การที่พระไปสอนให้คนเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีผลอย่างไร ท่านมีหลักในการสอนของท่านหรือเปล่า ถ้าสอนโน้มให้เขาออกจากหลักกรรมยิ่งขึ้นก็จะเป็นการทำผิดต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงที่สุด ฉะนั้น ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะต้องเป็นเพียงสิ่งที่เสริมให้เขายิ่งกระทำโดยมีกำลังใจและยิ่งทำการที่ดีเพื่อผลสำเร็จที่ถูกต้อง อันนี้จึงจะไม่ผิดหลักความเชื่อเรื่องกรรม
หลักการที่ ๒ ในพุทธศาสนา คือ หลักสิกขา หลักสิกขาคือหลักการฝึกฝนพัฒนาตน พุทธศาสนาสอนให้คนฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าใครต้องศึกษาทั้งนั้น ที่เราเข้ามาบวชก็เพื่อต้องการศึกษาเพื่อพัฒนาตนจนกระทั่งเป็นเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษาได้แก่อริยบุคคล ๓ คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี) และอเสขะ (ผู้ศึกษาจบสิ้นแล้วคือพระอรหันต์) กระบวนการปฏิบัติในพุทธศาสนาคือ สิกขา เพราะฉะนั้นถ้าเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ก็ต้องทำตามหลักการใหญ่ ที่เป็นหลักปฏิบัติ คือสิกขา ต้องศึกษาฝึกฝนพัฒนาตน อย่าให้ผิดหลักนี้ เมื่อเขาเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ต้องให้เขาโน้มจิตมาสู่การฝึกฝนพัฒนาตนและก้าวต่อ ไม่ใช่มัวเพลินหยุดนิ่ง ไม่ใช่หมกอยู่กับที่ ถ้าความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้เขาหมกตัวอยู่กับที่ ก็ผิดหลักปฏิบัติ ผิดหลักสิกขา พระจะต้องจูงให้เขาเดินหน้า
ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ต้องพัฒนาขึ้นไป ไม่ใช่ถอยหลังลงมา พฤติกรรมที่วุ่นวายเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ที่เป็นการพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกนี้ เมื่อเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรจะต้องเบาบางลดน้อยลงไปทุกวันๆ ไม่ใช่นับวันแต่ระบาดดาษดื่น แพร่หลายหนักหนามากขึ้น คนเรานั้นทางด้านร่างกายก็ต้องเจริญเติบโตขึ้นฉันใด ทางด้านจิตใจและภูมิปัญญาก็จะต้องเติบโตพัฒนาขึ้นฉันนั้น ถ้าต้องมัวปลอบขวัญกันอยู่ ก็ไม่รู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่สักที
เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เราพัฒนาขึ้น มีจิตใจและปัญญาที่เติบโตขึ้น จึงไม่ทรงสนับสนุนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้คนไปฝากความหวังไว้กับเครื่องปลอบใจภายนอก ถึงกับทรงให้ปรับอาบัติพระที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงสรรเสริญแต่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ที่ทำให้คนเข้าถึงความจริงได้ด้วยปัญญาของตนเอง ทำให้มนุษย์แก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้จริง
ในการเดินทางชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไป และเสี่ยงภัยมากมาย ท่ามกลางความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และอนาคตที่ไม่อาจรู้ได้นี้ ก็น่าเห็นใจ คนทั้งหลายมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามารถไม่เหมือนกัน เมื่อดิ้นรนกันไป หลายคนจะเหน็ดเหนื่อย ล้า อ่อนแรง บางทีรู้สึกแห้งโหย และหวั่นหวาด เมื่อยังไม่พบสิ่งจริงแท้ที่ดีกว่า เมื่อตัวเองยังทำอะไรไม่ได้ดีกว่านั้น ความมั่นใจในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความหวังในฤทธิ์เดชอภินิหาร ก็เหมือนที่พักใจให้ได้ความแช่มชื่นกลางหนทาง แต่ถ้ามัวเพลินติดอยู่ที่นั่น ก็จบสิ้นความก้าวหน้า ไม่ได้เดินทางต่อไป กลับยิ่งเสี่ยงภัยหนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นภัยในความเพลิดเพลินที่เกิดจากความหลง และความประมาทของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาที่พักอย่างนี้บ้าง ก็เอาพอช่วยให้สดชื่น มีกำลังวังชาขึ้น แล้วรีบลุกขึ้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป
ถ้าความเชื่อไม่ผิดหลักกรรม และการปฏิบัติไม่ผิดหลักสิกขานี้ แม้เขายังจะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่มันก็จะไม่พลาด แล้วเขาจะเดินหน้าต่อไป จนในที่สุด เขาจะไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปเอง เรายอมรับความจริงของปุถุชนว่า ธรรมชาติของเขา ยังไม่มีความเข้มแข็งพอ จิตใจของเขา ยังไม่เข้มแข็ง แล้วเราช่วยเขาแค่ไหน เราเป็นกัลยาณมิตรที่มีความสามารถขนาดไหน ต้องดูตัวเองด้วย ถ้าตัวเองมีความสามารถมากอย่างพระพุทธเจ้า เอาเลย สอนให้เลิกละไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ข้ามกระโดดไปเลย แต่ทีนี้ตัวเองก็ไม่มีความสามารถขนาดนั้น ก็เอาความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสื่อ แต่อย่าให้ผิดต่อหลักกรรมและต่อหลักสิกขา ถ้าอย่างนี้แล้วเขาจะเดินหน้าแล้วเขาจะพ้นเอง เมื่อเขามีความเข้มแข็งขึ้นมา เขาพัฒนาตัวไป เขาจะเข้มแข็งขึ้น เขาจะหลุดพ้นไปเอง แต่ข้อสำคัญต้องให้เขาเดินหน้านี่สองละ
หลักการที่ ๓ คือ ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ เราจะเห็นได้ชัด พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย เชื่อเทพเจ้าที่เต็มไปด้วยฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ยุ่งอยู่กับเรืองฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ งมงาย หวังผลสำเร็จจากการดลบันดาลของเทพเจ้า ไม่ต้องคิดทำอะไร อ้อนวอนบวงสรวงบูชายัญไป ไม่ต้องฝึกฝนตนเอง นี่ก็ผิดหลักสองข้อข้างต้น
เทพเจ้าที่คนนับถือที่มีฤทธิ์มีเดชนั้นคืออย่างไร ก็คือ ฤทธิ์ที่เกิดจากกิเลส ฤทธิ์แสดงกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งนั้นเลย ดังจะเห็นว่าเทพเจ้ามีโทสะแรง มีความโลภ มีราคะรุนแรง แย่งชิงคู่ครองกัน เบียดเบียนทำลายกัน โกรธแค้นกัน ยกทัพไปรบกัน เวลาสร้างเทวรูปขึ้นเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามักแสดงความฮึกห้าว โหดเหี้ยมทารุณ หรือแสดงความสามารถที่จะไปทำลายผู้อื่น ต้องทำให้มีมือมากๆ สองมือไม่พอ เอาสิบมือ เศียรเดียวไม่พอ เอาสิบเศียร ตาเดียวไม่พอ เอาหลายตา มือเท้ามีเยอะแล้วยังไม่พอ ต้องเอาอาวุธอีก ต้องมีจักร มีสังข์ มีคทา มีอะไรต่างๆ อาวุธเยอะแยะ แสดงรูปร่างท่าทางผาดโผนโจนทะยาน กำลังจะจัดการคนอื่น มีแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้น แล้วเรื่องที่เล่ามาประวัติเทพเจ้ามีแต่วุ่นวายทั้งนั้น คือ ฤทธิ์จะควบมากับกิเลส ความศักดิ์สิทธิ์อยู่กับกิเลส แต่มาในพุทธศาสนา ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ก็ค่อยโน้มมาสู่ปัญญาและคุณธรรม พอมาถึงพระพุทธศาสนา ฤทธิ์ทั้งหมดที่ผสมความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านั้น จะสู้ฤทธิ์แห่งความบริสุทธิ์ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาสูงสุดที่ความบริสุทธิ์ปัญญาและคุณธรรม เราสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา เป็นมนุษย์ธรรมดา นั่งงามสง่าด้วยธรรมะ ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ สงบเย็น มีเมตตา ยิ้มแย้ม ให้คนมีความอุ่นใจ สบายใจ มีความสุข มีพระปัญญาคุณ มีพระวิสุทธิคุณ มหากรุณาธิคุณ
ตกลงความศักดิ์สิทธิ์ก็โอนมาอยู่ที่ความบริสุทธิ์ คุณธรรม และปัญญา และนี่แหละคือความศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุด เพราะฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ที่ให้นับถือนี้จะต้องค่อยดึงจากความมีกิเลส สู่ความหมดกิเลส จากความเป็นอยู่ภายใต้อำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ สู่ความเป็นอยู่และกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจเหตุผลตามเหตุปัจจัย เราก็ดูว่า การสอนในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าหลักนี้หรือไม่ ดูว่าจูงคนให้เข้ามาสู่ความศักดิ์สิทธิ์แบบมีกิเลสน้อยลง มาสู่ความหมดกิเลส มาสู่ความหมดโลภะ โทสะ โมหะ มาสู่ความบริสุทธิ์ มีปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ มหากรุณาคุณหรือไม่ แค่นั้นเอง
เป็นอันว่าให้เลิกจากความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า พระนารายณ์ พระอิศวร พระอินทร์ พระพรหม ฯลฯ ที่มีฤทธิ์ แสดงตัณหา มานะ แสดงโทสะ โมหะ ที่มีกิเลสเรียกร้อง การอ้อนวอนบนบาน โปรดใครก็ช่วย ไม่โปรดก็แช่ง นำเขาให้เข้ามาหาพระรัตนตรัย ให้มั่นในคุณานุภาพของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้เขาได้เข้าสู่คุณธรรมมากขึ้น ซึ่งก็มาสัมพันธ์กับหลักการแห่งกรรม ให้เขาหวังผลสำเร็จจากการเพียรพยายามกระทำเอา และให้เขาฝึกฝนพัฒนา คือ ปฏิบัติตามหลักสิกขา เขาจะได้ฝึกฝนตัวเองให้ดีขึ้น และให้เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าหากว่า พระอาจารย์ไปสอนแล้วกลับทำให้เขาออกไปหาฤทธิ์ที่วุ่นวายกับกิเลสมากขึ้น ก็ผิดหลักทันที
รวมความว่า ในแง่หลักการสามอย่างนี้ชัดแล้ว ถ้าหากความศักดิ์สิทธิ์ยังอยู่ในหลักความเชื่อกรรม อยู่ในหลักปฏิบัติสิกขา และอยู่ในความหมายของความศักดิ์สิทธิ์แบบไม่มีกิเลส โดยหันมาสู่ความบริสุทธิ์ มีปัญญากรุณาเป็นหลัก ก็ใช้ได้ ถือว่าพออนุโลมได้