สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน1

ชื่อเรื่องนี้ กำหนดให้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ที่พระสงฆ์ปฏิบัติอยู่ พร้อมทั้งความมีส่วนร่วมและฐานะของพระสงฆ์ อันเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยสมัยปัจจุบัน คำว่าพระสงฆ์ในที่นี้ จำกัดเฉพาะพระสงฆ์ไทยในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท อันเป็นที่นับถือของประชาชนไทยส่วนใหญ่เท่านั้น การบรรยายตามแนวนี้ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง และประสบการณ์ในภาวการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่เป็นสำคัญ และก็มีผลเป็นเพียงการรวบรวมผลงานขึ้นไว้เป็นหลักฐานและเผยแพร่ต่อไปเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ตั้งชื่อเรื่อง เห็นว่า ได้เพ่งเล็งในแง่ของคุณค่าด้วยว่า บทบาทของพระสงฆ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ มีคุณโทษอย่างไร ทั้งแก่ตัวพระสงฆ์เอง แก่คณะสงฆ์ แก่พระพุทธศาสนา แก่สังคมไทยส่วนรวม มีความควรและไม่ควรอย่างใด ตลอดถึงว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วย การอภิปรายตามแนวนี้ จะรวบรวมเพียงข้อเท็จจริง และประเมินผลงานในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เพียงพอ ต้องกล่าวถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่เป็นรากฐานแห่งบทบาทนั้น สภาพของสถาบันคณะสงฆ์อันเป็นแหล่งของบทบาทนั้น และพื้นภาพทางประวัติศาสตร์ด้วย จึงจะช่วยให้ความเข้าใจในภาวการณ์ที่เป็นอยู่ชัดเจนยิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างทัศนคติให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

บทความนี้ จึงจะได้บรรยายและแสดงทัศนะ โดยแยกเป็นหัวข้อย่อยตามลำดับ เริ่มแต่บทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์เป็นต้นไป

หน้าที่และความผูกพันโดยหลักธรรม

คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายวินัย ได้กำหนดให้ชีวิตของพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องและผูกพันอยู่กับสังคมโดยพื้นฐานทีเดียว ชีวิตสังคมของพระสงฆ์นี้ อาจแยกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ความสัมพันธ์ภายในสังคมสงฆ์ ระหว่างพระสงฆ์ด้วยกันเอง และความสัมพันธ์ในสังคมส่วนรวม ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน ชีวิตสังคมเป็นข้อผูกพันและสำคัญเพียงไร จะเห็นได้ชัดเจนจากบทบัญญัติต่างๆ ในวินัยของสงฆ์ มีการอยู่ร่วมกันเป็นวัด การกำหนดเขตสีมาอุโบสถ การปวารณา การกราลกฐิน พุทธบัญญัติที่ให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจการต่างๆ ซึ่งเรียกว่าสังฆกรรม มีการอุปสมบท การระงับอธิกรณ์ เป็นต้น ตลอดถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีการเคารพกันตามอาวุโสเป็นต้น ซึ่งในที่นี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องชี้แจงแต่อย่างใด

ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับคฤหัสถ์นั้น พระสงฆ์ถูกกำหนดให้ต้องฝากชีวิตความเป็นอยู่ไว้กับคฤหัสถ์ เริ่มแต่อาหารซึ่งพระสงฆ์เป็นอยู่ด้วยบิณฑบาต คืออาหารที่คฤหัสถ์ถวาย ตลอดถึงปัจจัย ๔ อย่างอื่นๆ และความเป็นอยู่ที่ต้องอาศัยคฤหัสถ์เป็นประจำ เป็นข้อบังคับอยู่ในตัวให้ชีวิตของพระสงฆ์ผูกพันอยู่กับสังคมของคฤหัสถ์ ความผูกพันนี้ มิได้มีกำหนดแต่ในฝ่ายวินัยอย่างเดียวเท่านั้น แม้ในทางธรรม ก็มีพุทธพจน์ตรัสสอนและเตือนพระสงฆ์ให้ระลึกเสมอในภาวะนี้ เพื่อให้เกิดความสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ และความรู้สึกรับผิดชอบของตน เช่น

“บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น............ วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่”2

“ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่เหมาะสมสำหรับบำเพ็ญเพียร มี ๕ อย่างดังนี้ คือ................

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีทุพภิกขภัย ข้าวเสียหาย หาบิณฑบาตได้ยาก ไม่สะดวกที่จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ไม่เหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรข้อที่สาม

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย มีการก่อความกำเริบในป่าดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานอพยพหนีไป นี้เป็นสมัยที่ไม่เหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรข้อที่สี่”3

หน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์ เกิดขึ้นเพราะความผูกพันในด้านความเป็นอยู่นี้เป็นสำคัญส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น เมื่อกล่าวในแง่คุณธรรม พระสงฆ์ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ด้วยอาศัยเมตตาและกรุณาธรรมของตน พุทธพจน์ที่ตรัสสอนเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์ มีอยู่มาก พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหน้าที่นี้ ตั้งแต่ทรงเริ่มประกาศพระศาสนาทีเดียว ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ ในการส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนา เป็นต้น เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”4

“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศแบบการครองชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด

ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยกันและกัน ด้วยอามิสทาน และธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการสลัดโอฆะ เพื่อทำความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยอาการอย่างนี้”5

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด (เราจักทำให้) ปัจจัยของชนเหล่านั้น เป็นของมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และการบรรพชาของเราจักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีกำไร เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

อนึ่ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน ควรแท้ทีเดียว ที่จะทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะทำประโยชน์นั้น ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายก็ควรแท้ทีเดียวที่จะทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท”6

“ดูก่อนคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน พึงได้รับการบำรุงจากกุลบุตร โดยฐานะ ๕ คือ

๑) ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา

๒) ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา

๓) ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา

๔) ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู (คือเต็มใจต้อนรับ)

๕) ด้วยจัดหาอามิสทานถวาย

สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน เมื่อได้รับการบำรุงจากกุลบุตรโดยฐานะ ๕ อย่างแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐานะ ๖ คือ

๑) สอนให้ละเว้นจากความชั่ว

๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม

๔) สอนสิ่งที่ยังไม่เคยได้สดับเล่าเรียน

๕) ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน ในสิ่งที่ได้สดับเล่าเรียนแล้ว

๖) บอกทางสวรรค์ให้ (แนะนำวิธีครองชีวิต ให้ได้รับผลดีและความสุข)”7

นอกจากนี้ ในวินัยยังมีบทบัญญัติสำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องและมั่นคง ให้สถาบันคณะสงฆ์อยู่ในฐานะมีเกียรติ เป็นที่เคารพเทิดทูน ทำการอนุเคราะห์ประชาชนด้วยคุณธรรม หวังประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เพ่งอามิสหรือกลายเป็นการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เช่น ไม่ให้ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ด้วยการยอมตัวลงรับใช้เขาในกิจการต่างๆ8 ไม่ให้เป็นคนมักขอ9 ซึ่งทำให้คนเสื่อมศรัทธาและความเคารพจากสถาบันสงฆ์และพระศาสนา ให้มีการลงโทษผู้ทำลายความสัมพันธ์อันดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภิกษุหรือคฤหัสถ์ เช่นบัญญัติให้สงฆ์พิจารณาลงปฏิสาราณียกรรมแก่ภิกษุผู้ทำความผิดต่อคฤหัสถ์ หาทางกำจัดผลประโยชน์ของเขา ทำให้เขาเดือดร้อน ยุแหย่ให้คฤหัสถ์แตกแยกกัน หรือรับคำกับเขาแล้วไม่ทำจริง เป็นต้น โดยลงโทษให้ไปขอขมาต่อคฤหัสถ์นั้น10 และในทำนองเดียวกัน สำหรับคฤหัสถ์ที่ทำผิดต่อสงฆ์ ในความผิดที่คล้ายคลึงกันนั้น ก็มีบทบัญญัติให้สงฆ์ลงโทษคว่ำบาตร11 ได้เช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป หน้าที่และความผูกพันทางสังคมของพระสงฆ์ เกิดจากองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑. การดำรงชีวิตของพระสงฆ์ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย

๒. สภาวะและเหตุการณ์ในสังคม ย่อมมีผลเกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญสมณธรรม

๓. โดยคุณธรรมคือ เมตตา กรุณา จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์

ยังมีพุทธพจน์อีกเป็นอันมากที่ตรัสสอนเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมของพระสงฆ์ ขอยกมาแสดงเป็นตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่ง ดังนี้

“ความเป็นผู้มีมิตรดี (กัลยาณมิตร) มีสหายดี มีเพื่อนดี เท่ากับชีวิตพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”12

“ประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรจัดควรทำทั้งหลาย ทั้งงานสูง งานต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาสำหรับพิจารณา ร้อุบายในกิจนั้นๆ สามารถจัด สามารถทำได้........นี้ก็เป็นนาถกรณธรรมข้อหนึ่ง”13

“ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ เพราะความประพฤติในปฏิสันถาร และความเป็นผู้ฉลาดในอาจาระนั้น จักทำความสิ้นทุกข์ได้”14

“ปฏิปทาที่อิงอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาที่ให้ถึงนิพพาน เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทราบดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินในสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ”15

“ภิกษุพึ่งเสพการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไปผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้ยินดีในเขตป่า”16

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลาย จะไม่เข้ามาเกยติดฝั่งโน้นฝั่งนี้ ไม่จมเสียในระหว่างทาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์ฉุดเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดไว้ ไม่เน่าภายใน เธอทั้งหลายก็จักโน้มเอียงมุ่งดิ่งไปสู่นิพพาน

ก็มนุษย์ผู้ฉุดเอาไว้นั้นคืออะไร กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมนำตนเข้าไปวุ่นในกิจการที่เกิดขึ้นของเขา นี้แล เรียกว่ามนุษย์ฉุดเอาไว้”17

พุทธพจน์เหล่านี้ หลายข้อดูคล้ายขัดกับชีวิตสังคม และแย้งกันอยู่ในตัว ลักษณะที่ดูเผินๆ ว่าขัดกันนี้ มีทั่วไปในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นคำสอนที่เพ่งความคนละแง่ แล้วกลับมาเสริมกันให้สมบูรณ์ ในกรณีนี้ พุทธพจน์ที่ยกมาแสดงทั้งหมดนั้น เป็นกรอบสำหรับกำหนดขอบเขตชีวิตทางสังคมของพระสงฆ์ ให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะพอดีและถูกต้อง ช่วยรักษาผลประโยชน์ที่จะเกิดจากการปฏิบัติธรรมให้คงอยู่ ช่วยรักษาสถาบันสงฆ์ให้มั่นคง และรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนให้พอเหมาะพอดี และจะเป็นเกณฑ์สำหรับกำหนดขีดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างพุทธบริษัททั้งสองฝ่ายนี้ต่อไป

1บรรยายในการสัมมนาเรื่อง "พุทธศาสนากับสังคไทยปัจจุบัน" ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๒ ตีพิมพ์ในบันทึกการสัมมนาดังกล่าว จัดพิมพ์เป็นของชำร่วยในการที่พระเทพเมธี (กี มารชิโน) ป.ธ. ๙ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๔.
2องฺ.ทสก. ๒๔/๔๘/๙๒
3องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๔/๗๕.
4วินย. ๓/๔๒/๓๙.
5ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๔.
6องฺ.สตฺตก. ๒๓/๖๙/๑๓๗.
7ที.ปา. ๑๑/๒๐๔/๒๐๕.
8วินย. ๑/๖๒๒/๔๒๑.
9วินย. ๒/๕๓/๓๖ ; ๕๘/๔๑ ; ๖๒/๔๖ ; ๖๖/๕๑ ฯลฯ.
10วินย. ๖/๑๕๙/๖๘.
11วินย. ๗/๑๑๓/๔๒.
12สํ.ม. ๑๙/๙/๔.
13องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๖.
14ขุ.ธ. ๒๕/๓๕/๖๖.
15ขุ.ธ. ๒๕/๑๕/๒๔.
16ขุ.ธ. ๒๕/๓๑/๕๕.
17สํ.สฬ. ๑๘/๓๒๓/๒๒๔.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง