ขอย้อนกลับไปพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการที่ว่า คนชักไม่มองวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง เพราะวิทยาศาสตร์เองก็เข้าไม่ถึงความจริงแท้ เมื่อมองอย่างนี้ มนุษยศาสตร์ก็เริ่มตีตื้นขึ้นมา กลายเป็นว่าวิธีวิทยาศาสตร์ไม่เป็นตัวตัดสินในการเข้าถึงความจริง แต่มีวิธีการอื่นอีกในการเข้าถึงความจริง และเมื่อความหวังจากวิทยาศาสตร์ลดลง คนก็ย่อมเห็นคุณค่าของมนุษยศาสตร์มากขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อมองในแง่หนึ่ง มนุษยศาสตร์นี้กว้างที่สุด ยืดหยุ่นที่สุด เพราะวิชาอะไรที่เข้าแนววิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็เข้าหมวดวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเข้าหมวดสังคมศาสตร์ไม่ได้ เมื่อเข้า ๒ หมวดนั้นไม่ได้ก็ยังอยู่ในมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้นมนุษยศาสตร์จึงครอบคลุมหมด จะเห็นได้ว่าความจริงอะไรต่างๆ ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำผู้ก้าวหน้า คิดขึ้นมาแต่ยังใช้วิธีวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็เป็นวิชาสายมนุษยศาสตร์ เช่นอย่างความคิดของไอน์สไตน์ ก็มีมากมายที่ก้าวเลยไปกว่าที่วิทยาศาสตร์จะค้นถึงและพิสูจน์ได้ ความคิดของไอน์สไตน์อย่างนั้นที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ไปเป็นปรัชญา แต่อาจจะเรียกว่าปรัชญาวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาธรรมชาติเป็นต้น ในแง่นี้ ปรัชญาก็เลยหน้าวิทยาศาสตร์ไปอีก
ตกลงว่าในที่สุด มนุษยศาสตร์กว้างขวางยืดหยุ่นที่สุด ครอบคลุมหมด กลับกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับสังคมศาสตร์แคบ เพราะว่าได้เฉพาะส่วนที่เข้ากับวิธีวิทยาศาสตร์แล้วเท่านั้น
โดยเฉพาะเวลานี้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์เคยปฏิเสธกลับย้อนมาเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์อีก ขณะที่ในทางตรงกันข้ามวิชาอย่างเช่นวิชาจิตวิทยา เคยพยายามทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ในระยะหนึ่ง จิตวิทยาปฏิเสธไม่ศึกษาแล้ว ไม่เอาแล้วเรื่องจิตใจ เรื่องวิญญาณ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยศึกษาแต่เพียงพฤติกรรม จนกระทั่งบางทีเรียกวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาพฤติกรรมศาสตร์อะไรทำนองนี้ แต่เสร็จแล้วมาถึงยุคนี้เจ้าตัววิทยาศาสตร์เอง ในหมู่นักฟิสิกส์ใหม่กลับไปสนใจเรื่องจิตใจ หันไปสนใจเรื่อง mind เรื่อง consciousness อะไรทำนองนี้ ศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มี mind ได้ไหม มี consciousness ได้ไหม เรื่องอย่างนี้กลับกลายเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์ นี่แหละเป็นความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการ
เป็นอันว่า ตอนนี้ในการพัฒนาของวงวิชาการได้มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ความเชื่อถือและความหวังในคุณค่าของวิทยาศาสตร์ได้เสื่อมหรืออ่อนกำลังลง ฉะนั้นมนุษยศาสตร์นี่แหละควรจะมีความสำคัญมากขึ้น พร้อมนั้น ในเวลาเดียวกัน กระแสการพัฒนาของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า คนได้เห็นพิษภัยของการพัฒนาที่มุ่งเน้นทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ในเมื่อเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นโทษ การพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญก็พลอยลดความสำคัญลงไปด้วย คนก็หันมาเน้นการพัฒนาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็มาเน้นการพัฒนาคน บทบาทของมนุษยศาสตร์ก็น่าจะเด่นขึ้น
จะเห็นว่าการพัฒนาแนวใหม่ก็สอดคล้องกับความเจริญทางวิชาการเหมือนกัน คนหันมามองว่าจะต้องลดบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลง และเบนจุดเน้นของการพัฒนาจากการพัฒนาเศรษฐกิจมาที่การพัฒนาคน หรืออย่างน้อยก็ให้ประสานสอดคล้องกัน โดยมุ่งให้นำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลกันขององค์ ๓ อย่างนี้ คือ
๑) ตัวคน หรือชีวิตมนุษย์
๒) สังคม
๓) ธรรมชาติแวดล้อม
คนยุคปัจจุบันและต่อไปนี้จะต้องคิดกันมากว่าทำอย่างไรจะให้องค์ประกอบ ๓ ส่วนนี้อยู่ด้วยกันอย่างดีโดยสอดคล้องประสานกลมกลืน แต่เมื่อแนวความคิดเปลี่ยนไป ปฏิบัติการก็ไปไม่ทัน ไม่สอดคล้อง จึงยังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังสูงอยู่ ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลดลงไปนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ยังตื่นเต้นคลั่งไคล้เทคโนโลยี นอกจากนั้นความจำเป็นของประเทศ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม ก็เข้ามาบีบบังคับอีกว่าเราจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จะเห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย วิชาประเภทมนุษยศาสตร์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยด้อยอยู่ ทั้งๆ ที่โดยกระแสของความเจริญทางวิทยาการมันน่าจะเจริญขึ้นมา
ประเทศไทยเรา เวลานี้ต้องเน้นมากในเรื่องการพัฒนาประเทศ (ในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) เพราะเรายังล้าหลังไม่ทันประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว เราจึงเน้นให้มีการศึกษาหนักไปทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหนุนอุตสาหกรรม ทั้งที่พอจะรู้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมอย่างที่เป็นอยู่มีพิษภัยอย่างไร และในขณะที่ในกระแสของการพัฒนาใหม่ ควรจะเน้นความสำคัญของมนุษยศาสตร์มากขึ้น แต่ประเทศไทยเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ มันก็เกิดความไม่สอดคล้อง
ถ้าประเทศไทยมองกว้างมองไกลในแง่ที่คิดจะทำตัวให้เป็นผู้นำในโลก ก็คงยากที่จะสำเร็จ เพราะเรายังเป็นผู้ตามชนิดที่ล้าหลังอยู่ไกล คือยังอยู่ในกระแสการพัฒนาของยุคที่ผ่านไปแล้ว ที่ยังเน้นเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วชั้นนำเขาเข้ายุคที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (postindustrial age) ไปแล้ว เราแทบไม่มีเวลาคิดถึงการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางวิชาการเพราะต้องมัววุ่นกับการเร่งการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยังห่างเขาไกล
ทำอย่างไรคนไทยเราจะรู้เท่าทันและประสานความคิดให้เกิดความพอดี เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มาถึงระดับที่สามารถเป็นผู้นำหรืออย่างน้อยก็อยู่ในระดับที่ทันสากลเขาจริงๆ
เรื่องวิชาศึกษาทั่วไป ถ้าตกลงตามที่ว่ามานี้ก็เป็นอันว่า เราจะสร้างคนและจะสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพก็ให้เป็นเครื่องมือของคนที่เป็นบัณฑิตนั้น
ในการจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปนี้ คงจะต้องมองว่าเราจะ เอาคนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาวิชาเป็นหลัก เอาคุณภาพของคนเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เอาการรู้เนื้อหาวิชาเป็นเป้าหมาย หมายความว่าจุดหมายอยู่ที่ว่าคนอย่างไร ที่เราต้องการจะสร้างขึ้น จะให้เขามีคุณภาพอย่างไร แล้ววิชาอะไรก็ตามที่จะให้ได้คุณสมบัติที่จะสร้างคนได้อย่างนี้ เราก็เอาอย่างนั้น
เท่าที่ผ่านมา บางทีเราไปเน้นที่วิชาการว่าจะจัดวิชาการให้ครบตามนั้น ให้วิชาหมวดนี้เท่านั้นหมวดนั้นเท่านี้กี่ส่วน คราวนี้จะต้องจัดให้ได้ทั้ง ๒ ประการ คือ ให้ได้คุณภาพของคน และให้ได้เกณฑ์ทางวิชาการ ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความพอดี ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่าเมื่อความนิยมในปัจจุบันที่แบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็จะต้องให้ได้สัดได้ส่วนในเชิงวิชาการด้วย แต่จะต้องให้สัดส่วนนั้นประสานเข้ากับเป้าหมายที่เน้นคนเป็นหลัก เอาคนเป็นเป้า ตกลงกันว่า การศึกษายกคนเป็นเป้าหมาย เป็นหลัก แล้วในด้านตัววิชาการก็จัดสรรมาจากหมวดมนุษยศาสตร์ หมวดสังคมศาสตร์ หมวดวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ เอามาจัดให้ลงตัวพอดีที่จะให้คนเป็นอย่างนั้น แต่จะอย่างไรก็ตามต้องเอาคนเป็นหลักไว้ก่อน ไม่ใช่เอาแต่วิชาว่าจะต้องจัดให้ครบหมวดตามนั้นตามนี้