การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์มองโดยความสัมพันธ์กับวิชาชีพ
และวิชาเฉพาะต่างๆ

 

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างบัณฑิต

ก่อนอื่นขอให้ระลึกไว้ในใจว่า วิชาศิลปศาสตร์มีอะไรบ้าง ลองทบทวนกัน วิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่ วิชาวรรณคดี ศาสนา ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ (อารยธรรม) ศิลปะ (ประณีตศิลป์) สังคมวิทยา การปกครอง (รัฐศาสตร์) เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย (นิติศาสตร์) จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น วิชาเหล่านี้มีจำนวนเกือบจะเท่ากับวิชาศิลปศาสตร์โบราณ ๑๘ ประการ

เบื้องแรกขอให้ดูความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างวิชาศิลปศาสตร์กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพว่า วิชาสองหมวดนี้ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ตามที่เราให้การศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าวิชาพื้นฐานเป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต คนจะเป็นบัณฑิตหรือไม่อยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์ ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้ว จะไม่สร้างความเป็นบัณฑิตได้

ถ้าอย่างนั้น วิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ มีไว้สำหรับทำอะไร ในเมื่อวิชาศิลปศาสตร์เป็นวิชาสำหรับสร้างบัณฑิตแล้ว หน้าที่ของวิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ นั้นก็คือ เป็นวิชาสำหรับสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต หมายความว่า เราจะต้องทำคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราก็ให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์แก่บัณฑิตสำหรับเอาไปใช้ทำงานหรือทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของวิชา หรือกิจกรรมนั้นๆ วิชาการสองพวกนี้จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับบัณฑิตจะไปใช้ทำงาน

ตอนแรกนั้นเรายังไม่มีบัณฑิต เราจะต้องสร้างคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาก่อน บัณฑิตนั้นหมายถึงคนมีสติปัญญา มีคุณธรรม และความดีงามอื่นๆ พร้อมอยู่ในตัว กล่าวคือ มีสติปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว มีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ได้พัฒนาแล้ว คนที่ได้พัฒนาแล้วเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เรียกว่า เป็นบัณฑิต แม้ถึงคนที่พัฒนาจวนจะสมบูรณ์ หรืออยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็อนุโลมเรียกว่าบัณฑิตได้ บัณฑิตนี้มีความเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม มีสติปัญญา ที่จะไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ที่จะไปทำหน้าที่ของตนเองต่อชีวิตของตน ต่อสังคม และต่อโลก แปลอย่างสั้นว่า บัณฑิตคือ ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

แต่บัณฑิตนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะไปทำงาน คือ จะต้องใช้วิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เรียกว่า วิชาชำนาญพิเศษ เป็นเครื่องมือ จะเห็นว่าวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นี้เป็นเครื่องมือจริงๆ มันไม่ได้ให้อะไรมากมาย ให้แต่ความถนัดจัดเจนเฉพาะด้าน เพราะเป็นอุปกรณ์หรือเป็นเครื่องมือเฉพาะ

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราให้เพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เขาก็อาจใช้อุปกรณ์ไปในทางที่ผิดพลาด หรือเลวร้าย ทำการที่ก่อผลร้าย เป็นโทษแก่สังคมและแก่เพื่อนมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สามารถสร้างคน ให้เป็นบัณฑิต เราอาจให้การศึกษาไปโดยกลายเป็นอย่างที่คนโบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” ซึ่งหมายความว่า วิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น มีอุปมาเสมือนเป็นดาบ หรือจะเป็นอุปกรณ์อื่นก็ได้ ซึ่งเมื่อให้ไปแล้วอาจจะนำไปใช้ในทางที่ดีหรือเลวก็ได้ ดังนั้นในการให้การศึกษาแก่ผู้เข้าเรียนเราจะต้องสร้าง ๒ อย่าง คือ

๑. สร้างความเป็นบัณฑิต

๒. สร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์

วิชาการที่จะสร้างความเป็นบัณฑิตก็คือ วิชาพื้นฐาน ได้แก่วิชา ประเภทศิลปศาสตร์นี้ ขอให้ไปวิเคราะห์ดูเอาเองว่าจริงหรือไม่

ศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐาน เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต โดยพัฒนาคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ส่วนวิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพเป็นวิชาการที่สร้างเครื่องมือหรือสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต เพื่อผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น จะได้ใช้ความเป็นบัณฑิตของตนทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง หรือมีความสามารถ และมีประสิทธิภาพในการที่จะทำงานที่ตนประสงค์ให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์

วิชาศิลปศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ทำคนให้เป็นคน ทำให้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นผู้มีความสามารถ และมีความพร้อมที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้วิชาชีพ และวิชาชำนาญเฉพาะด้าน ในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

อนึ่ง วิชาศิลปศาสตร์แต่ละอย่างนั้น นอกจากเป็นวิชาพื้นฐานแล้ว ยังอาจเลือกเอามาศึกษาเป็นวิชาเฉพาะหรือเป็นวิชาชีพได้ด้วย โดยศึกษาให้ชำนาญพิเศษจำเพาะในวิชานั้นๆ ในกรณีที่เลือกแยกออกมาศึกษาเพื่อความชำนาญพิเศษ หรือเพื่อเป็นวิชาชีพอย่างนั้น ก็จัดเข้าในจำพวกวิชาที่เป็นอุปกรณ์สำหรับบัณฑิตจะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์ทำประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการพูดถึงจุดหมายปลายทางระยะยาวจนถึงจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเรียนจบอุดมศึกษาแล้วก็เป็นบัณฑิต ดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นบัณฑิตก็ด้วยศิลปศาสตร์ โดยวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นอุปกรณ์

 

ศิลปศาสตร์มีจุดมุ่งหมายในระหว่างเพื่อสร้างนักศึกษา

อย่างไรก็ตามวิชาศิลปศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิชาพื้นฐานนั้น มิใช่จะทำหน้าที่สร้างสรรค์บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาตลอดกระบวนการพัฒนาบุคคลแล้วเท่านั้น แม้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ วิชาศิลปศาสตร์ก็ทำหน้าที่อย่างสำคัญตลอดกระบวนการศึกษานั้นด้วย

ในระหว่างกระบวนการศึกษานั้น ก่อนที่จะจบเป็นบัณฑิตนี้เราเป็นอะไร? เราเป็นนักศึกษา อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือกระบวนการพัฒนา ในระหว่างนี้ วิชาการประเภทไหนสร้างความเป็นนักศึกษา? วิชาจำพวกศิลปศาสตร์นี้แหละ เป็นวิชาที่สร้างความเป็นนักศึกษา

ความเป็นนักศึกษาก็คือ ความเป็นบุคคลผู้พร้อมที่จะไปเล่าเรียนวิชาการต่างๆ และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเล่าเรียนวิชาการเหล่านั้น เมื่อผู้เรียนมีความเป็นนักศึกษาแล้ว เขาจึงเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาการทั้งหลาย เช่น วิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายอย่างถูกต้องและได้ผลดี การเป็นผู้พร้อมที่จะเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมีความหมายกว้างทีเดียว

ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นนักศึกษา คือ เป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนั้น สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ก็คือ ความมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน เป็นธรรมดาว่า คนเราจะ ต้องมีแรงจูงใจก่อนที่จะศึกษาเล่าเรียน แรงจูงใจ ในการศึกษาเล่าเรียนมี ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ และสถานะทางสังคม โดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นทางผ่าน หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การมีอาชีพ รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ประเภทที่ ๒ คือ ความใฝ่รู้ ความรักวิชาการนั้นๆ อยากจะรู้มีความสนใจใฝ่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากรู้ความจริงของวิชาการนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และอยากทำให้ผลดีเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของวิชาการนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น คนที่จะเป็นครู เรียนครูเพื่ออะไร ถ้าเรียนด้วยแรงจูงใจ ประเภทที่ ๑ ก็คือ เรียนเพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง ส่วนแรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือ รักความเป็นครู รักวิชาและรักการทำหน้าที่ของครู อยากจะฝึกอบรมสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้ อยากจะรู้วิชาการต่างๆ ที่จะไปสอน และรักที่จะให้ความรู้แก่ผู้อื่น

การที่จะศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ มุ่งไปยังผลโดยตรงของสิ่งที่เราจะทำ แรงจูงใจที่ถูกต้องตรงตามธรรมชาติ สำหรับการศึกษาเล่าเรียนนั้นก็คือ ความใฝ่รู้ ความรักวิชาการนั้นๆ ที่เราจะไปศึกษา

การสอนวิชาพื้นฐานนั้นมีความประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อสร้างความเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน คือ ทำให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา รักวิชาการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมให้เขาเป็นคนที่เรียนเป็น จึงจะได้ความรู้จริง การที่จะเรียนเป็นก็ต้องรู้จักคิดเป็นค้นคว้าเป็น คือ ต้องเป็นคนใฝ่รู้ชอบค้นคว้าและต้องรู้วิธีค้นคว้า จึงต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นคนที่เรียกได้ว่า เป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน

วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาการสำหรับสร้างคนให้เป็นนักศึกษา คือ ให้เป็นผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะศึกษาเล่าเรียน เมื่อเขามีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้ว เขาก็จะสามารถไปเล่าเรียนวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างได้ผลดี และเล่าเรียนได้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อเขาจะได้ไปพัฒนาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ตนเอง และแก่สังคม ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ตามความมุ่งหมายของวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ มิใช่เล่าเรียนเพียงเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียวในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางที่ผิดพลาด

รวมความที่เป็นสาระสำคัญในตอนนี้ว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาชีพที่ ถ้ามองในแง่จุดหมายระยะยาว ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นบัณฑิต หรือถ้ามองช่วงสั้นในระหว่างกระบวนการ ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นนักศึกษา ส่วนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้น ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต และเป็นสิ่งที่นักศึกษาผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้วนั้นจะมาศึกษาเล่าเรียน

พูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐาน

ก) มีจุดหมายในระหว่าง เพื่อสร้างนักศึกษา คือ ผู้มีความพร้อมและ มีท่าทีที่ถูกต้องในการพัฒนาตน และในการเล่าเรียนฝึกฝนวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย

ข) มีจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างบัณฑิต คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่จะนำวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ ไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

 

องค์ประกอบ ๓ ประการของความเป็นบัณฑิต

บัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการศึกษาตามหลักแห่งวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานนั้น จะมีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดัง ต่อไปนี้

๑. เป็นผู้มีปัญญา รู้สัจธรรม สอดคล้องกับจุดหมายอันดับแรกของ การศึกษา กล่าวคือ การที่เราเล่าเรียนศึกษาสิ่งต่างๆ ก็เพื่อที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ

๒. เมื่อรู้สัจธรรมด้วยปัญญาแล้ว ก็ปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญาที่รู้สัจธรรมนั้นมาดำเนินชีวิตของตนเอง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดผลเกื้อกูลไร้โทษ การดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นจริยธรรม พูดง่ายๆ คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามสัจธรรมให้เกิดผลดี ก็เรียกว่าจริยธรรม

๓. เมื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง คือ ทำตามหลักจริยธรรมแล้ว ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จถึงจุดหมาย เป็นบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาได้ พ้นทุกข์ พบความสุข และบรรลุอิสรภาพ

เท่าที่กล่าวมา จะเห็นว่าวิชาศิลปศาสตร์ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นวิชาพื้นฐานในฐานะที่รองรับวิชาการอื่นๆ ไว้ให้มีความหมายและมีผลที่แท้จริง ฉะนั้น ในการสอนวิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนี้ จึงมีคติอย่างหนึ่งซึ่งคู่เคียงกับการสอนวิชาเฉพาะว่า “สอนวิชาชีพวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์”

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง