ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สุขแท้ อยู่ในวิถีแห่งอิสรภาพ

เป็นอันว่า การที่เราแสวงหาชีวิตที่ดีให้มีความสุขที่แท้จริงนั้น ถ้าทำได้อย่างที่ว่ามานี้ก็เข้าถึงธรรมในพระพุทธศาสนา พูดไปพูดมาก็คือ เรื่องของการเข้าถึงธรรมในพระพุทธศาสนา โดยเอาสภาพชีวิตที่เป็นจริงนี่แหละมาเป็นฐานตรวจสอบ คือการมีความสุขสูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ รวม ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ การเข้าถึงธรรมในขั้นต้น ก็คือ เอาศีลมาใช้ หมายความว่า ในการที่เราอยู่ร่วมกัน ในโลกแห่งการบำเรอประสาทสัมผัส คือ ในโลกของการอยู่ด้วยกามนี้ ก็ให้มีศีลให้สังคมนี้สงบสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน เอื้อเฟื้อกัน การใช้กามบำรุงบำเรอกาย พร้อมทั้งตา หู จมูก ลิ้น ก็จะให้ความสุขได้

ระดับที่ ๒ ในการเข้าถึงธรรม ก็คือ การอบรมเจริญสมาธิ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงความสุขทางจิต

ระดับที่ ๓ เข้าถึงธรรมด้วยปัญญาที่ทำให้ปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง เข้าถึงโลกุตตระ

อาตมภาพก็ได้แบ่งให้เห็นแล้วว่า การสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีของมนุษย์นั้น มันเป็นลำดับขั้นของการก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มนุษย์ที่รู้ที่เข้าใจ มีปัญญา ก็จะทำความสุขให้เกิดแก่ตนได้พรั่งพร้อม และจะมีวิธีการมากมายในการหาความสุข พร้อมทั้งจะรู้ขอบเขตของความสุขในแต่ละระดับด้วยว่า มันให้ความสุขแก่เราได้แค่ไหน มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง มีโทษ หรือทางเสียอย่างไร แล้วเราจะได้ไม่หลงระเริงมัวเมาติดอยู่ในความสุขเหล่านั้น และจะได้พัฒนาตนให้ก้าวต่อไปจนกว่าจะเข้าถึงธรรม มีสุขแท้อยู่ในความจริง

แม้แต่ความสุขในขั้นจิตที่เข้าถึงฌานสมาบัติ ก็ยังไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และยังทำให้หลงติดอยู่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงตักเตือนมากว่า พวกที่บำเพ็ญฌานนี้ก็จะต้องไม่ประมาท ถ้ามัวติดสุขในฌาน ติดในสมาธิ ก็จะไปไม่ตลอด เพราะอย่างนี้ พวกนักบวชก่อนพุทธกาลก็เลยเป็น ฤาษี โยคี ดาบสอยู่เรื่อยไป ไม่รู้จักจบ ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก อยู่แค่นั้น ไม่รู้จักถึงอิสรภาพที่เป็นสุขแท้สักที คือได้แค่ฌาน ไม่ถึงนิพพาน

ความสุขแต่ละขั้นแต่ละระดับมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องจนถึงมีความสมบูรณ์อย่างไร จะเห็นได้จากลักษณะของความสุขในขั้นหรือระดับนั้นๆ ซึ่งได้พูดอย่างกว้างๆ กระจายๆ ไปแล้ว ในที่นี้จะสรุปให้เห็นเป็นลำดับดังนี้

ความสุขระดับที่ ๑ คือ ขั้นกาม มีลักษณะสำคัญ คือ ต้องอาศัยสิ่งบำเรอประสาททั้ง ๕ หรือขึ้นต่อวัตถุปรนเปรอจากภายนอก ท่านเรียกสั้นๆ ว่าขึ้นต่ออามิส

นอกจากนั้นยังมีลักษณะที่เป็นข้อเสียอย่างอื่นพ่วงมาด้วยอีกหลายอย่าง เช่น เป็นของหมดเปลือง แย่งชิงกันได้หรือต้องแย่งชิงกัน ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หรือไม่อาจให้เต็มอิ่มได้ แส่หาอารมณ์แปลกใหม่มาเติมหรือมาแทนเรื่อยไป มิฉะนั้นจะเบื่อหน่าย ไม่อาจอยู่ลำพังกับจิตใจของตนได้ และอาจทำให้หลงใหลระเริง หรือหมกมุ่นมัวเมาจนก่อให้เกิดทุกข์แก่ชีวิตและสังคมอย่างรุนแรง

ความสุขระดับที่ ๒ คือ ขั้นจิต มีลักษณะสำคัญคือ ยังเป็นของเฉพาะกาล สุขอยู่ได้ตราบเท่าที่ยังอยู่ในภาวะจิตที่เป็นสมาธิ หรือภาวะที่สงบดื่มด่ำดิ่งลึกนั้นๆ ออกมาจากภาวะจิตนั้นเมื่อใดก็เป็นอย่างเดิม ท่านเรียกสั้นๆ ว่า ขึ้นต่อสมัย

สุขระดับนี้มีข้อดีเพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง เช่น เป็นของไม่หมดเปลือง ไม่ต้องแย่งชิงกัน เพิ่มได้ไม่รู้จักหมด มีความรู้สึกเต็มอิ่มในตัว อยู่ลำพังจิตใจของตนเองได้ ไม่ต้องขึ้นต่อประสาททั้งห้า แต่มีข้อเสีย คือ ยังหลงติดหรือติดเพลินได้ จึงอาจมีผลกระทบต่อการทำกิจหน้าที่และต่อชีวิตและสังคม หยุดอยู่ไม่พัฒนาศักยภาพต่อไป และไม่ยั่งยืนเด็ดขาดดังกล่าวแล้วในลักษณะสำคัญ

ความสุขระดับที่ ๓ คือ ขั้นอิสระ มีลักษณะสำคัญคือ ปลอดพ้นจากข้อบกพร่องของความสุขสองระดับข้างต้นนั้นไปได้ ทั้งไม่ขึ้นต่อวัตถุปรนเปรอจากภายนอก และไม่เป็นของเฉพาะกาล เรียกสั้นๆ ว่า ไม่ขึ้นต่ออามิส และไม่ขึ้นต่อสมัย หรือพูดให้จำกัดกว่านั้นว่าไร้ทุกข์

สุขระดับนี้ พ้นจากข้อบกพร่องข้างต้นทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับของหมดเปลืองที่จะต้องแย่งชิงกัน มีความเต็มอิ่มในตัว อยู่ลำพังจิตใจของตนเองได้ ไม่ต้องขึ้นต่อประสาททั้งห้า ยั่งยืนเด็ดขาด ไม่จำกัดเฉพาะกาล คือเป็นไปตลอดเวลา ไม่ทำให้หลงติดหรือหมกมุ่นมัวเมา ส่งเสริมการทำกิจหน้าที่ เกื้อกูลต่อชีวิตและสังคมถ่ายเดียว และที่สำคัญคือ เป็นฐานรองรับหรือเป็นหลักประกันให้เสวยสุขสองระดับแรกได้อย่างเต็มตัวเต็มอิ่ม และอย่างไม่มีพิษภัย

พูดให้สั้นกว่านี้ จับสาระสำคัญว่า

  1. ความสุขระดับกาม ขึ้นต่ออามิส
  2. ความสุขระดับจิต ขึ้นต่อสมัย (และยังอาจหลงติด)
  3. ความสุขระดับอิสระ ทั้งไม่ขึ้นต่ออามิส และไม่ขึ้นต่อสมัย (ทั้งเป็นนิรามิส และเป็นอสมัย หรือ อสามายิก)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง