ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มีสุขแท้ที่ไร้ทุกข์เป็นฐาน สุขอื่นทุกประการก็เต็มอิ่มจริง

สำหรับคนที่สามารถสร้างชีวิตที่ดีงาม มีความสุขโดยมีปัญญารู้เท่าทันอย่างนี้แล้ว เมื่อเขาสร้างผลสำเร็จในทางจิตขึ้น เช่น ทำสมาธิได้สูง การทำสมาธิเข้าถึงภาวะดื่มด่ำทางจิตนั้น มันก็มาเป็นตัวประกอบเสริมความสุขของเขา ให้ความสุขนั้นมาก หรือพูดให้ถูกต้องแท้ก็ว่า มันก็เป็นความสุขที่เต็มบริบูรณ์ครบถ้วน คือเขาจะเสวยความสุขนั้นได้บริบูรณ์เต็มตามสภาพของมัน โดยไม่มีอะไรรบกวน ระคาย หรือบ่อนเบียนเลย เพราะมีรากฐานคือความไม่มีทุกข์ เป็นตัวรองรับ ฉะนั้น ความสุขด้านอื่นๆ ก็เป็นตัวเสริมความสุขของเขา โดยที่ว่าตัวเขามีความสุขแท้เป็นฐานหรือเป็นพื้นอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ คนที่ถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าเขามีความสุขทางจิตเข้ามาประกอบ ก็ยิ่งดี ถ้าได้ฌานสมาบัติด้วย เขาก็มีความสุขทางฌานสมาบัติเพิ่มเข้าอีก โดยที่เชื้อความทุกข์ไม่มีในใจ ที่จะทำให้ความสุขชนิดนั้นๆ ลดน้อยหรือแหว่งเว้าไป

เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายก็ใช้วิธีหาความสุขอย่างนี้ คือ วิถีชีวิตที่ดีท่านก็สร้างให้สำเร็จด้วยปัญญาแล้ว เสร็จแล้ว ท่านยังสามารถเข้าสมาธิเสวยฌานสมาบัติด้วย ดังนั้นในเวลาที่ท่านว่างจากงานการ ท่านก็ไปเข้าสมาธิ เข้าไปอยู่ในฌานสมาบัติที่ท่านเรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร หมายความว่าการเข้าฌานของท่านเหล่านี้ ท่านเรียกว่าเป็นการหาความสุขหรือพักผ่อนในเวลาปัจจุบัน เป็นวิธีการเท่านั้นเอง และเป็นตัวเสริมความสุข

แต่ในหมู่คนทั่วไป แม้แต่ชาวพุทธเอง บางทีก็มีการเข้าใจผิด นึกว่าการเข้าฌานสมาบัติได้นี้ เป็นการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา อันนี้ต้องระวังมาก เป็นการพลาดทีเดียว

พระพุทธศาสนาไม่ถือว่า การได้ผลสำเร็จทางจิตเป็นการเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุขที่แท้จริง เพราะมันยังไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง และเขาจะต้องออกมาสู่โลกที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็จะต้องเผชิญกับความเป็นจริงนั้น อันนี้คือ การที่เราก้าวจากความสุขทีละขั้น มาถึงขั้นที่ว่าอยู่โดยลำพังจิตใจของตัวเองก็ได้แล้วในขั้นจิต แล้วมาสู่ขั้นสุดท้ายคือ ขั้นปัญญาที่ทำให้หมดปัญหา แล้วต่อจากนั้น ความสุขขั้นต้นๆ ที่มีขึ้น ก็จะมาเป็นตัวเสริมหรือเพิ่มกำไรได้ทั้งหมด

สำหรับคนที่เข้าถึงความสุขในขั้นแห่งปัญญาแล้วนี้ จะมีความสุขทางจิตเข้ามาเป็นตัวเสริมให้สุขยิ่งขึ้น ถ้าเขาต้องการความสุขทางด้านประสาทสัมผัส ก็เอามาเป็นตัวเสริมได้อีก ไม่มีปัญหาเลย ฉะนั้น จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เรากำจัดเชื้อของความทุกข์ให้หมด ในทางพุทธศาสนาจึงเน้นถึงความหมดทุกข์ ไม่ได้เน้นถึงการแสวงหาความสุข เพราะว่าตัวความสุขนั้นๆ เราหาได้ด้วยวิธีการต่างๆ มากมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นตัวประกอบ ไม่ใช่ตัวแท้ของการแก้ปัญหา และไม่ใช่เป็นจุดหมายที่แท้จริง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง