เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทพิเศษ ๒

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์1

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์กำลังเกร่อเหลือเกิน ถ้าปฏิบัติไม่ถูก เสียหลักเมื่อไร ก็ไปเลย คือทำให้ตกจากพระศาสนา ตัวเองก็พลัดตกจากพระพุทธศาสนา พร้อมกันนั้นก็พาให้เกิดผลเสียแก่สังคมส่วนรวม พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อมโทรม ดังนั้น จะต้องมีหลักที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง

คนสมัยพระพุทธเจ้าเชื่อถึงขนาดเอาฤทธิ์มาวัดกันว่า ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พระองค์จึงต้องทำลายความเข้าใจผิดของมนุษย์เสียใหม่ พระองค์ทรงใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ ปราบเสร็จ เข้าสู่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ (คือ) คำสอนที่เป็นจริง ทำให้เห็นความจริง ปฏิบัติ ก็พบความจริงแห่งความพ้นทุกข์

หลักพระพุทธศาสนา ต้องการพัฒนาคนให้เจริญงอกงามขึ้นในศีล สมาธิ ปัญญา คนยังไม่พัฒนา ก็ลุ่มหลงมัวเมาในฤทธิ์ หรือหวังผลจากฤทธิ์ เราทำอย่างไรจะพาเขาให้ก้าวจากจุดยืนนี้ไป เราจะต้องปฏิบัติให้เหมาะควรกับเหตุปัจจัยของแต่ละคน

คนจำนวนมากยังไม่แว่วเสียงธรรม ถ้าจะยอมละเว้นการประพฤติตามอำเภอใจ เพราะเชื่อถือและเกรงกลัวต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เขาเคว้งคว้างไม่มีหลักอะไร

ข้อสำคัญก็คือ อย่าหยุดจมกันอยู่กับความเชื่อแบบปฐมกัปเรื่อยไป หรือเอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปรับใช้สนองกิเลสของเขา ล่อให้เขาหาลาภให้แก่ตัว แทนที่จะช่วยยกเขาให้ขยับขึ้นมา

“ผู้สอน” ต้องรู้ก่อนว่า หลักพระพุทธศาสนาคืออะไร สอนให้รู้หลัก ผู้สามารถพอ สอนแป๊บเดียว ผู้ฟังก็ก้าวเข้ามาถึงจุดที่ต้องการได้เลย พระพุทธเจ้า ตามปกติไม่ทรงใช้ฤทธิ์ ทรงใช้วิธีเขี่ยผงในตา ผู้ไม่สามารถใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ให้ถึงความจริงได้ ก็อาศัยฤทธิ์เป็นสื่อเพื่อจูงเขาขึ้นมา แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เพื่อดึงเขาก้าวต่อ ไม่ใช่ดึงตัวเข้าไปหมกอยู่ให้เขาหลงยิ่งขึ้น ตัวเองหลงลาภสักการะ แทนที่จะมุ่งประโยชน์แก่เขา ก็กลายเป็นมุ่งจะไปเอาจากเขา กลายเป็นหลอกลวงเขาไป

จะพาเขาเดินก้าวหน้า เริ่มต้น ตัวเองต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ก่อน ต้องมีเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อเขา ไม่คิดหลอกลวงหาลาภสักการะจากเขา ต่อจากนั้นต้องปฏิบัติให้ถูกหลักการ ๓ อย่าง

หลักการที่ ๑ หลักกรรม คือ การที่จะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหารจะต้องไม่ให้เสียหลักกรรม เชื่อในหลักเหตุผล ได้แก่ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เชื่อในการกระทำของมนุษย์ว่า ผลที่ต้องการสำเร็จด้วยการกระทำ เมื่อเราหวังผลสำเร็จ เราต้องทำ และจะต้องทำเหตุดี เพื่อให้เกิดผลดี นี้คือหลักความเชื่อที่สำคัญ ถ้าทำให้คนรอคอยการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ผิดหลักกรรมทันที คือว่าผิดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนเลย

หลักการที่ ๒ หลักสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องก้าวต่อไป ไม่ใช่มัวเพลินหยุดนิ่ง พระจะต้องจูงให้เขาเดินหน้า

ตอนแรกอาจจะเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นกำลังใจก่อน แต่พฤติกรรมที่วุ่นวายพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องเบาบางลดน้อยลงไปตามลำดับ

ถ้าต้องมัวปลอบขวัญกันอยู่ ก็ไม่รู้จักเติบโตเป็นผู้ใหญ่สักที กลับยิ่งเสี่ยงภัยหนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นภัยในความเพลินเพลินที่เกิดจากความหลง และความประมาทของตัวเอง

ถ้าจะหาที่พักพิงอย่างนี้บ้าง ก็เอาพอช่วยให้สดชื่นมีกำลังวังชาขึ้น แล้วรีบลุกขึ้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป จนในที่สุด จะไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปเอง เพราะความเชื่อไม่ผิดหลักกรรม การปฏิบัติไม่ผิดหลักสิกขา

หลักการที่ ๓ คือความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ ประวัติเทพเจ้ามีแต่เรื่องวุ่นวายแย่งชิงรบราฆ่าฟันกัน คือฤทธิ์จะควบมากับกิเลส ในพุทธศาสนา ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ค่อยๆ โน้มมาสู่ปัญญา ความบริสุทธิ์ และคุณธรรม

ฤทธิ์อะไรก็สู้ฤทธิ์แห่งความจริงความดีและความบริสุทธิ์ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาสูงสุดที่ความบริสุทธิ์ ปัญญา และคุณธรรม เราสร้างพระพุทธรูปเป็นมนุษย์ธรรมดา นั่งงามสง่าด้วยธรรม ไม่ต้องแผลงฤทธิ์ สงบเย็นมีเมตตา ยิ้มแย้มให้คนอุ่นใจ สบายใจ มีความสุข นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้

ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า ตลอดจนเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเครื่องบำรุงขวัญให้อุ่นใจมั่นใจขึ้นมา แต่ถ้าหลงเพลินอยู่ ก็จะปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่คิดทำอะไรๆ ที่ควรทำตามเหตุตามผล ทอดทิ้งเรื่องเหตุปัจจัยเสีย เอาความหวังกล่อมใจจมอยู่ในความประมาท ไม่อยู่กับความเป็นจริง ก็คือหลอกตัวเองนั่นเอง

ถ้าความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในความหมายที่ลอยพ้นกิเลส หันสู่คุณพระรัตนตรัย ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากคุณธรรม มีความบริสุทธิ์ มีปัญญา มีกรุณาเป็นหลัก ก็ใช้ได้

เมื่อนับถือความศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกต้องแล้ว ก็ปฏิบัติตามหลัก คือ หลักกรรม ให้หวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยใช้ปัญญาทำที่เหตุปัจจัย และ หลักสิกขา ให้ฝึกฝนพัฒนาตน ก้าวหน้าในวิถีทางแห่งธรรมยิ่งขึ้นไป

1สรุปความ จากหนังสือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหารย์” ของพระธรรมปิฏก จัดทำโดยกลุ่มขันธ์ห้า เพื่อถวายเป็นมุทิตาจิตแด่พระธรรมปิฏก ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๗
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง