๒. พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้น ท่านทำความดีตามที่ยึดถือกันอยู่ อย่างที่เข้าใจกันว่าสูงเลิศที่สุด ตามที่หมู่มนุษย์ตกลงยอมรับกัน ซึ่งยังไม่ใช่ความดีสูงสุด ที่เกิดจากปัญญาหยั่งรู้สัจธรรม
พระโพธิสัตว์ยังอยู่ระหว่างบำเพ็ญบารมี ยังไม่ได้บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่ได้บรรลุปัญญาสูงสุด ที่เป็นโพธิ ปัญญาของท่านจึงยังไม่ถึงสัจธรรม ยังไม่รู้ตัวความจริงที่แท้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดี ก็ว่าตามที่ยึดถือหรือตามที่ตกลงกันในสังคมนั้น ตามที่สอนกันมาว่าอันนี้ดี ก็ยึดถือเป็นความดี แม้อาจจะเหนือกว่าในบางกรณี เพราะพัฒนาปัญญามามากแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
เมื่อยึดถือในความดีใด ท่านก็พยายามทำความดีนั้นให้เต็มที่ถึงที่สุด ไม่มีใครทำได้อย่างพระโพธิสัตว์ เวลาทำความดีอันไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็อาจจะไม่ทำเท่ากับพระโพธิสัตว์ในความดีเฉพาะข้อนั้น อ้าว! ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะพระโพธิสัตว์ท่านตั้งใจทำความดีอย่างนั้นๆ ด้วยปณิธาน เวลานั้นท่านมีปณิธานในเรื่องนั้น ท่านก็ทำของท่าน จนกระทั่งเกินขนาดไปก็มี ความดีของพระโพธิสัตว์นั้น ไม่สมบูรณ์ เพราะเหตุว่าเป็นความดีตามที่ยึดถือกัน เขายึดถือมารู้กันมาอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น แต่ทำความดีนั้นได้สูงสุด
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า พระโพธิสัตว์ในหลายชาติบรรลุฌานสมาบัติ เพราะฌานสมาบัติเป็นความดีสูงสุดแล้วในยุคสมัยนั้น บางชาติก็ได้อภิญญา ๕ เช่นในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส ในสมัยนั้นก็ไม่มีใครได้อภิญญา ๕ เก่งเชี่ยวชาญอย่างสุเมธดาบส เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์ทำได้สูงสุดในความดีที่เขาทำได้กันในยุคนั้น แต่ฌานสมาบัติ ตลอดจนอภิญญาทั้ง ๕ นั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ตรัสว่า นี่ยังไม่ใช่ธรรมสูงสุด ยังไม่ใช่จุดหมาย ไม่เป็นอิสรภาพ ถ้าใครขืนหลงติดในความวิเศษเหล่านี้ ก็เป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำไป แต่พระโพธิสัตว์ก็ไปเอาจริงเอาจังกับความดีนั้น เพราะอะไร เพราะยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ถึงสัจธรรม ยังไม่ถึงโพธิญาณ
ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ก็อยู่กับความดีในระดับที่มนุษย์จะรู้กันนี่ถึงขั้นสูงสุดยอดเลย แต่ก็ไม่ถึงโพธิ ความดีของพระโพธิสัตว์จึงเป็นความดี ตามที่ยึดถือกันในโลกมนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าทรงพ้นเลยจากความยึดถืออันนี้ เพราะรู้ว่าอะไรเป็นความดีที่แท้โดยสัมพันธ์กับสัจธรรม จนกระทั่งอยู่พ้นบาปเหนือบุญได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อื่นๆ ทำความดีบริสุทธิ์ล้วนๆ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ เพราะไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีก อย่างที่กล่าวแล้ว และเพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทำความชั่วเหลืออยู่เลย
สองประการนี้คือข้อหย่อนของพระโพธิสัตว์ สรุปว่า พระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่หลุดพ้น จึง
ส่วนพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ก็เพราะพระองค์ผ่านการบำเพ็ญเพียรอย่างพระโพธิสัตว์มาแล้วจนสมบูรณ์ แล้วก็ทำความดีเพราะเป็นปกติธรรมดาของพระองค์เอง ไม่ต้องอาศัยปณิธาน
คติทั้งหมดที่นำมาพูดในวันนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจว่าเราจะต้องนับถือพระโพธิสัตว์ให้ถูกต้อง และรู้ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง ถ้าเราจะนับถือพระโพธิสัตว์ เราก็ควรจะเอาแบบอย่างพระโพธิสัตว์ ในการบำเพ็ญเพียรทำความดี ให้เสียสละได้อย่างพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ไปคอยขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์
ประการที่สอง ขอบเขตของพระโพธิสัตว์ก็คือ พระโพธิสัตว์ยังไม่บรรลุธรรมสูงสุด ยังไม่เข้าถึงปัญญาตรัสรู้ จึงยังมีจุดอ่อน แม้แต่ในการบำเพ็ญความดีที่เป็นสาระสำคัญของพระโพธิสัตว์นั้นเอง คือท่านยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป จนกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด ดังที่กล่าวมา
เมื่อพุทธศาสนิกชนรู้หลักอย่างนี้แล้ว ก็จะได้นับถือพระพุทธศาสนาและปฏิบัติต่อพระศาสนาได้ถูกต้อง เพราะความไม่รู้นี่แหละ จึงทำให้เราเชื่อถือและปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปต่างๆ