เพื่ออนาคตของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัญหาการศึกษาที่จะต้องแก้

ต่อไปนี้ก็อยากจะพูดถึงปัญหาของสังคมของเราในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือเป็นปัญหาทางการศึกษาที่จะต้องแก้ในเวลาที่สั้นนี้ ก็จะขอพูดแบบสรุปพอให้มองเห็นกว้างๆ ว่า เรามีปัญหาอะไรบ้าง

ข้อที่หนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากที่พูดมาแล้วก็คือ เรื่องที่ว่า การศึกษาสมัยใหม่ของเรานี้ ได้ทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน หรือท้องถิ่นของตน เรื่องนี้หลายท่านก็พูดกันอยู่ ซึ่งการแปลกแยกนี้ อาจจะมีลักษณะที่รุนแรงถึงกับทำให้ดูถูกวิถีชีวิตของชุมชน ไม่มีความภูมิใจในถิ่นของตน ในวัฒนธรรมของตน เมื่อไม่ภูมิใจและไปดูถูกเสียแล้ว ก็เลยไม่ยอมรับ ไม่อยากศึกษา เข้าไม่ถึง และเลยไม่รู้จักที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้น เมื่อแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่นของตน ก็จะมีลักษณะอีกประการหนึ่งคือ เกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูก เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ลูกไม่สืบต่ออาชีพของพ่อแม่ คนรุ่นใหม่เข้ากับชุมชนเดิมไม่ได้ ต่อจากนั้น ในแง่ของวัฒนธรรม ภูมิธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่นก็ถูกละเลยทอดทิ้ง เมื่อถูกละเลย ทอดทิ้ง สิ่งเหล่านั้นก็ค่อยๆ เลือนรางหายไป เหมือนกับถูกทำลายไปเอง ไม่มีผู้สืบต่อ

ผลเสียตามมาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรคนของท้องถิ่นถูกดูดสูบขุดออกไป ผลเสียข้อนี้สืบเนื่องจากลักษณะของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานภาพทางสังคม ซึ่งทำให้คนเล่าเรียนศึกษาเพื่อไต่เต้า อย่างที่ท่านอาจารย์รองปลัดกระทรวงฯ ท่านพูดบ่อยๆ ว่า ไต่บันไดดารา ทุกคนก็คิดจะเข้ากรุงกัน พยายามที่จะแสวงหาฐานะที่สูงในทางสังคม คนที่ดีที่สุดเก่งที่สุดของท้องถิ่นก็มีทางเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะละทิ้งถิ่นฐาน ออกจากชุมชนไป เมื่อละทิ้งถิ่นฐานออกจากชุมชนไป คนดีของชุมชนนั้นก็หมดไป เมื่อไม่มีคนดีมีคุณภาพ ชุมชนชนบทก็ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ

ข้อที่สอง ต่อจากปัญหานี้ ก็คือ การศึกษาของเรานั้น แต่เดิมมาที่เราจัดขึ้น มีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การสนองระบบราชการโดยผลิตคนเพื่อเข้ารับราชการ แล้วในปัจจุบันมันก็ขยายมาถึงว่าเพื่อมารับใช้ระบบอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ เป็นการดึงคนจากชนบทเข้าสู่เมืองทั้งนั้น ทีนี้ต่อมา ปัญหาก็มีขึ้นใหม่อีกว่า พอดึงไปดึงมา มากันมากเข้ามากเข้า ในที่สุดงานไม่พอทำ ก็เกิดปัญหาการว่างงานขึ้นในเมือง ทีนี้ทางฝ่ายชนบท คนดีมีคุณภาพออกไปเข้าเมืองหมด ก็เกิดอาการขาดแรงงานที่จะพัฒนาท้องถิ่น และในเวลาเดียวกัน คนที่เราดึงเข้ามาสู่เมืองนั้น ก็กลายเป็นคนที่แปลกแยกจากชุมชนเดิม เข้ามากรุงเทพฯ แล้วกลับไปท้องถิ่นไม่ได้อีก กลายเป็นคนที่ไร้ประโยชน์ จะมาช่วยในเมืองก็ช่วยไม่ได้เพราะว่าเต็มเสียแล้ว จะกลับไปช่วยท้องถิ่นตัวเองก็ไม่รู้จักชุมชนนั้น แปลกแยกเข้ากับเขาไม่ได้ และทำอะไรไม่ได้ ก็อุดตันหมด

ที่ร้ายกว่านั้นอีกคือ เมื่ออยู่ในกรุง ก็ไม่มีงานทำ จะกลับท้องถิ่นก็ไม่ได้ หรือไม่ยอม ก็เลยต้องสร้างปัญหาอยู่ในเมืองนั่นเอง คนก็ติดตันหมดทางไปทั้งในเมืองและในชนบท ปัญหาก็เพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในชนบท นี่เป็นความอับจนของการศึกษาอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นปัญหาการศึกษาที่พ่วงมากับลักษณะที่ว่า ได้กลายเป็นเครื่องมือเลื่อนฐานะทางสังคม ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมเจ้าคนนายคน

ต่อไปอีก ข้อที่สาม ก็คือ ปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา การกระจายโอกาสในทางการศึกษาไม่ทั่วถึง หรือไม่สม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการดำเนินการศึกษาแบบนี้ที่มีความพร้อมไม่เพียงพอ ตั้งแต่รัฐได้เริ่มต้นมาจนตลอดเวลา เท่าที่ผ่านมานี้ เราต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษากันมาเป็นปัญหาหนักทีเดียว แม้ว่าเราจะประสบผลสำเร็จพอสมควรในระดับประถมศึกษา ซึ่งเดี๋ยวนี้มีความเสมอภาคมากทีเดียว แต่ในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เราก็ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จ และแม้ในระดับประถมศึกษานั่นเอง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันก็กินเวลาตั้งเท่าไร และระหว่างนั้นมันได้ทำให้มีปัญหาแทรกซ้อนหรือคู่ขนานอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในเวลาสั้นๆ นี้ จะยกมาสักปัญหาเดียวเป็นตัวอย่าง คือ การที่วัดและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม อันนี้เป็นสภาพที่ได้เป็นมานาน จนกระทั่งตัวเลขพระเณรได้กลายเป็นดัชนีชี้สภาพความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และเป็นตัวเลขที่ชัดเจนมาก เราพูดได้ว่า วัดในเมืองในกรุงนี้ ก็คือ ชุมชนชนบทในเมือง วัดทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ พระเณรถ้าไม่ใช่ผู้บวชชั่วคราวในพรรษาแล้ว ๙๕% เป็นชาวนา ๙๙% เป็นชาวชนบททั้งสิ้น และเป็นผู้มาเพื่อการศึกษา และเข้ามาเพราะเข้าในระบบของรัฐไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตัวเลขของพระเณรเหล่านี้จึงสัมพันธ์กับการจัดการศึกษาของบ้านเมือง พอการศึกษาของบ้าน เมืองขยายไปถึงไหน ตัวเลขเณรก็หมดลงที่นั่น

ขอให้ดูเลยทุกแห่ง ถ้าการศึกษาของรัฐไปถึงไหน ตัวเลขเณรที่จะบวชก็หมดที่นั้น ฉะนั้น เวลานี้จึงมีตัวเลขเณรบวชมากที่สุดแถวๆ ภาคอีสาน และภาคเหนือที่ห่างไกล ถ้าเป็นภาคกลางก็มาจากชุมชนกันดารปลายแดน นี้ก็เป็นตัวอย่าง และเราจะต้องมองปัญหานี้รวมอยู่ในปัญหาการศึกษาของเรา คือของสังคมไทยทั้งหมดด้วย ขอพูดต่อไปก่อน เพราะเรื่องนี้เราอาจจะต้องโยงกลับมาอีกที

ทีนี้ ข้อที่สี่ เป็นปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับการศึกษา ซึ่งปรากฏชัดในปัจจุบันนี้ คือ การที่เราพัฒนาให้ทันสมัย สร้างความเจริญทางวัตถุ แล้วระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเข้ามา เราพยายามที่จะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น ถ้าไม่มีสติยับยั้งให้ดี ไม่รอบคอบ แก้ปัญหาไม่เป็นในระดับชาติ และการศึกษาไม่รู้จักนำสังคม ก็ทำให้ระบบวัตถุนิยมเฟื่องฟู ทีนี้ วัตถุนิยมที่เฟื่องฟูในลักษณะที่ไม่มีการนำทาง หรือปราศจากการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะเป็นวัตถุนิยมในลักษณะที่ส่งเสริมให้เกิดค่านิยมบริโภค ซึ่งเป็นวัตถุนิยมในด้านที่ไม่ดี ถ้าเป็นวัตถุนิยมในด้านส่งเสริมการผลิตก็ยังดี แต่น่าเสียใจที่ของเรานี้มันเป็นค่านิยมบริโภค

ขณะนี้ เรากำลังมีปัญหามาก กับการที่คนของเราส่วนมากมีค่านิยมบริโภค แทนที่จะมีค่านิยมในการผลิต แล้วเราก็ต้องมาคิดแก้ปัญหากันอย่างหนักว่า ทำอย่างไรจะให้คนของเรามีค่านิยมในการผลิต เวลานี้คนของเรามุ่งไปแต่ในทางว่ามีอะไรต่ออะไรเพื่อให้โก้เก๋โอ่อ่า วัดเกียรติวัดฐานะกันด้วยยศลาภ มีการแก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน เพื่ออำนาจ เพื่อเงินทอง เพื่อความโก้หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ไม่คิดในการที่จะสร้างสรรค์ทำงานผลิต เมื่อมีค่านิยมบริโภค ไม่ชอบผลิตอย่างนี้ แม้แต่การพัฒนาทางวัตถุก็ยากที่จะสำเร็จด้วยดี

ปัญหาต่อไป ข้อที่ห้า ก็คือ เรื่องความเสื่อมของสถาบันครู ครูมีสถานภาพทางสังคมตกต่ำ เสื่อมโทรมลงไป ลดคุณค่าจากความเป็นปูชนียบุคคล ปัจจุบันนี้ แม้แต่ตัวครูเองก็ไม่ค่อยจะยอมเป็นปูชนียบุคคลแล้ว และสังคมก็ไม่ค่อยยอมรับด้วย ฐานะของครูซึ่งเคยเป็นที่เคารพนับถือเดี๋ยวนี้เสื่อมทรามลงมาก นอกจากเสื่อมสถานภาพในทางสังคมแล้ว ก็มีคุณภาพเสื่อมลงด้วย เสื่อมลงเริ่มตั้งแต่การที่เอาคนที่มีสติปัญญาค่อนข้างด้อยมาให้ครุศึกษา เพราะว่าการเข้าสู่อาชีพครูกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายก็ไม่มีโอกาสที่จะคัดเลือกคนดีมีคุณภาพ ซ้ำร้ายรัฐเองก็อาจจะไม่ค่อยมีนโยบายส่งเสริมคุณภาพครูด้วย

ต่อไป ข้อที่หก ก็คือ ความเสื่อมโทรมจากคุณธรรม จริยธรรม และมีปัญหาทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่ครูสอนจริยธรรม นอกจากครูจะเป็นอาชีพหางแถวแล้ว ลึกลงไปในบรรดาครูด้วยกัน ครูจริยศึกษาเป็นครูหางแถวในบรรดาครูทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในเมื่อครูก็แย่อยู่แล้ว ครูจริยศึกษายิ่งแย่ แล้วจริยศึกษาจะไม่แย่ได้อย่างไร มีผู้พูดกันมาอยู่เรื่อยว่า เอาคนที่สอนอะไรไม่ได้ไปสอนศีลธรรม ไปสอนจริยศึกษา ปัจจุบันนี้ สังคมตระหนักถึงปัญหาจริยธรรมมากขึ้นแล้ว เพราะเราประสบปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมนี้มากมาย เราก็เริ่มตื่นตัว แต่ว่าจริยศึกษาก็ไม่ทันการอยู่นั่นเอง

นอกจากการขาดครูทางด้านจริยศึกษาที่มีคุณภาพแล้ว หันมาดูระบบการศึกษาของเราทั้งหมด อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี่ ทั้งๆ ที่เราก็พูดกันปาวๆ ว่า เราจะต้องส่งเสริมจริยศึกษา แต่เวลาสอบคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยนี่เราเอาอะไร เราก็เอาแต่เนื้อหาวิชาเป็นหลักอยู่นั่นแหละ แล้วโรงเรียนมัธยมก็ต้องสนองความต้องการของมหาวิทยาลัย เพราะเรามีค่านิยมในการที่ว่าเรียนเพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย ไต่เต้าให้สูงที่สุด เพราะฉะนั้น โรงเรียนมัธยมก็แข่งขันกัน ในการที่ว่า จะผลิตนักเรียนที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยให้มากที่สุด เมื่อทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียกร้องจริยธรรมแล้ว โรงเรียนมัธยมจะไปสนองทำไม ทางฝ่ายมัธยมก็ให้การศึกษาที่เน้นเนื้อหาวิชาไปตามเดิม

ทีนี้ ต่อไปอีก สุขภาพจิตของคนก็เสื่อมโทรมลงไปเหมือนในประเทศพัฒนาทั้งหลาย มีความเครียด ความกระวนกระวาย โรคจิต ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขัน ไร้น้ำใจ

ต่อไป ข้อที่เจ็ด ก็คือ ความเข้าใจต่อความหมายของการศึกษาเอง ปัญหานี้หยั่งลึกลงไปถึงรากฐานทีเดียว ดังที่พูดแต่แรกว่า เราให้การศึกษากันมาในระบบนี้ โดยเริ่มด้วยการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อแก้ปัญหานั้นผ่านไปได้แล้ว เราไม่ได้กลับมาตั้งหลักให้ดี การศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตคนเข้ารับราชการ และการที่จะก้าวหน้ามีฐานะในสังคม มีลาภยศ มีทรัพย์สมบัติวัตถุบริโภคมาก สนองค่านิยมที่จะเป็นเจ้าคนนายคน และต่อมาก็สนองค่านิยมบริโภคด้วย ต่อมา ชาวบ้านทั่วๆ ไปเขามองการศึกษาในความหมายอย่างไร เขาไม่เข้าใจความหมายของการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนของตน แต่เขาเข้าใจการศึกษาว่า คือ เครื่องมือในการเลื่อนสถานะทางสังคม อันนี้ชัดเจนมากทีเดียว ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากการดำเนินการศึกษาอย่างสมัยใหม่ ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยมาเข้ากับเรื่อง คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม และความต้องการแท้ ความต้องการเทียม ชาวบ้านก็มีความต้องการเทียม คือการที่จะแข่งขันวัดฐานะกันในทุกสิ่งทุกอย่าง การศึกษาก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการที่จะวัดฐานะกันด้วย ก็จึงสนองความต้องการนี้ ทีนี้ความต้องการแท้ที่ว่าจะให้มีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชน ก็เลยถูกละทิ้งมองข้ามไปหมด ชาวบ้านไม่มองเห็นการศึกษาในความหมายอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาจะมาพัฒนาชุมชนของเขาให้ได้ผลได้อย่างไร เพราะเขาไม่มอง ไม่สนับสนุนความหมายของการศึกษาในแง่นั้น

ต่อมา ปัญหาใหม่ก็เกิดซ้อนขึ้นมาบนปัญหาเก่านั้นอีก กล่าวคือ เมื่อลูกหลานของประชาชนเหล่านั้น หรือของชาวบ้านเหล่านั้น ได้รับการศึกษามาแล้ว ไม่สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ กลับมาว่างงาน แล้วกลับไปเป็นปัญหาแก่บ้าน ทีนี้ ผลต่อไป คืออะไร ผลก็คือ ประชาชนปัจจุบันกำลังเริ่มหมดศรัทธาในการศึกษา ประชาชนเริ่มไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เพราะว่าไม่สนองความต้องการของเขา อันนี้ก็เป็นอันตรายยิ่งใหญ่ด้วย

ทีนี้ต่อไปอะไรอีก นอกจากหมดศรัทธาในการศึกษาแล้ว ประชาชนกำลังมีปัญหาตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือว่า ชาวบ้านทั่วไปกำลังจะเพิ่มความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อถือในกลไกและระบบงานของรัฐ อันนี้จะเป็นปัญหามากเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐด้วย ในเรื่องนี้ รัฐจะต้องไม่มองเฉพาะรายงานตามสายราชการเท่านั้น ขอให้ฟังเสียงนกเสียงกาด้วย เพราะว่า คนที่อยู่นอกวงราชการนี้ บางทีก็ได้เห็นอะไรที่ชัดๆ เหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องนี้อย่าประมาท เพราะถ้าประชาชนหมดความเชื่อถือในกลไกระบบงานของรัฐเสียแล้ว จะเป็นสัญญาณอันตรายที่ร้ายแรง

เอาละ นี่ก็เป็นปัญหาต่างๆ ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งเราจะต้องแก้ แต่ได้บอกแล้วว่า ปัญหาเหล่านี้บางทีมันก็เป็นเพียงด้านต่างๆ ของปัญหาเดียวกัน แล้วก็เกิดมาจากเหตุเดียวกัน หรือเหตุปัจจัยกลุ่มเดียวกัน หรือในกระบวนการเดียวกัน เราจะต้องพยายามโยงให้เห็นถึงกัน สาเหตุใหญ่ๆ ของปัญหามีอะไรบ้าง ก็อย่างที่พูดมาแล้ว เช่น หนึ่ง การทำประเทศให้ทันสมัย แต่ต่อมาเมื่อจุดหมายเดิมเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการกระทำ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายใหม่รับให้พอดี การทำให้ทันสมัยนั้นก็เลยกลายเป็นการตามฝรั่งไป สอง ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน และชุมชนแตกสลาย ชนบทสูญเสียทรัพยากร ทรุดโทรมอ่อนแอ สาม เรื่องวัตถุนิยมที่มาออกผลในด้านค่านิยมบริโภค แล้วก็ สี่ การไม่รู้จักสังคมไทย นี้เป็นข้อสำคัญมาก ขอเน้นไว้ด้วย ต่อนี้ไปก็อยากจะพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาสักนิดหน่อย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง